กำเนิด “ทัทมาดอ (กองทัพพม่า)” กับกลยุทธ์ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” ของอังกฤษ

ตะขิ่น ออง ซาน (ต่อมาเป็นนายพล ออง ซาน บิดาแห่งทัดมาดอ : กองทัพพม่า)

กำเนิด “ทัทมาดอ (กองทัพพม่า)”

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า…กองทัพพม่าในปัจจุบันนี้มาก่อมาตั้งในแผ่นดินไทยนี่เอง

อังกฤษเข้าปกครองพม่าอย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ.1886 เจ้าอาณานิคมศึกษาหาข้อมูลมาเป็นอย่างดีว่า “ชาวพม่าแท้” กับบรรดา “ชนกลุ่มน้อย” ที่มีถิ่นพำนักอาศัยตามชายขอบประเทศนั้น มีความผูกพันกันอย่างหลวมๆ เป็นปรปักษ์ต่อกันเป็นครั้งคราว บรรดาชนกลุ่มน้อยต่างๆ บางกลุ่มมีวัฒนธรรมเจริญทัดเทียมกับชาวพม่า เช่น พวกไทยใหญ่ในรัฐฉานมีระบบศักดินา มี “เจ้าฟ้า” ปกครองสืบทอดบัลลังก์ต่อกันมา เทียบเคียงได้กับระบอบกษัตริย์ของพม่า

อังกฤษรู้เท่าทันเกมในการชิงไหวชิงพริบของคนเหล่านี้ จึงใช้นโยบาย “แบ่งแยกแล้วปกครอง (Dovode and Rule) คือ แยกชาวพม่าแท้ (Proper Burma) ออกจากชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามแนวชายแดน (Frontier Areas)

สำหรับชาวพม่าแท้ (Proper Burma) นั้น อังกฤษได้วางรากฐานการปกครอง โดยส่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษเข้ามาปกครอง จัดตั้งสภา วางรากฐานให้คนพม่าส่วนกลางเรียนรู้การปกครองตามแบบฉบับของอังกฤษ หากแต่บรรดาชนกลุ่มน้อยตามขอบชายแดนนั้น อังกฤษจะปล่อยให้ปกครองตนเองเคยทำอย่างไรก็ให้ทำอย่างนั้นต่อไป

ความแตกต่างในลักษณะทวิมาตรฐานนี้ อังกฤษก็ไม่ต้องเหนื่อยยากอะไร คน 2 กลุ่มในที่สุดจะระแวงกันเอง และประการสำคัญก็คือจะไม่มีวันที่จะมารวมตัวกัน แล้วกัดเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้

ทุกวันนี้…นี่ก็ปี ค.ศ.2001 แล้ว มรดกเลือดที่อังกฤษวางรากฐานไว้ บัดนี้ชาวพม่าแท้กับบรรดาชนกลุ่มน้อยก็ยังคงต้องรบกันต่อไป

ผมขอแถมเป็นความรู้สักเล็กน้อยว่า การแบ่งเขตการปกครองของพม่านั้น แบ่งออกเป็น 7 รัฐ (State) และ 7 เขต (Division) ด้วยความที่ประเทศพม่าไม่เป็นเนื้อเดียวกันนั้นจะสังเกตได้จาก

พม่าใช้คำว่า “รัฐ” กับพื้นที่อาศัยของบรรดาชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ ได้แก่ รัฐมอญ รัฐอะระกัน (ยะไข่) รัฐชิน รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน รัฐคะยาห์ และ รัฐกะเหรี่ยง

แต่พม่าใช้คำว่า “เขต” (Division) กับพื้นที่ที่มีชาวพม่าแท้อาศัยอยู่หนาแน่น เช่น เขต สะแกง เขตมะกวย เขตพะโค เขตมัณฑะเลย์ เขตอิระวดี เขตตะนาวศรี และ เขตย่างกุ้ง

อังกฤษวางหมากไว้ 2 ชั้น ก่อนการจัดตั้งกองทัพพม่า เพื่อมิให้เป็นหอกข้างแคร่สำหรับอังกฤษเอง กล่าวคือ อังกฤษสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยเข้ามาเป็นข้าราชการทหาร ตำรวจ มากกว่าชาวพม่าแท้เพียงเท่านี้อังกฤษก็ปกครองได้ง่าย ใช้งานได้ทุกรูปแบบ และหมดห่วงเรื่องจะรวมตัวกันหันมาแข็งข้อกับนายตัวเอง

ทุกครั้งที่ชาวพม่าแท้รวมตัวกันต่อต้านขัดขืนคำสั่งของอังกฤษ ผู้ปกครองอังกฤษก็จะใช้ทหารตำรวจ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยเข้าทำการปราบปราม โดยเฉพาะกะเหรี่ยงที่อังกฤษดูเหมือนจะเอาใจใส่เป็นพิเศษ จะได้รับมอบหมายให้เป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ปราบปรามชาวพม่าผู้แข็งข้ออยู่เสมอๆ

แล้วอย่างงี้พม่ากับกะเหรี่ยงจะรักกันได้อย่างไร?

ยิ่งนานวัน “ยาพิษเคลือบน้ำตาล” ที่ชาวอังกฤษมอบให้แก่ชาวพม่า และชนกลุ่มน้อยนั้นยิ่งได้ผล ชาวพม่าแท้นับวันจะจงเกลียดจงชังอังกฤษเข้ากระดูกดำ ในทางตรงข้ามกับบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลายกลับได้รับการดูแล วางรากฐานชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีวันดีคืน มีการสอนภาษาอังกฤษ จัดตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ทั้งนี้ รวมไปถึงการเผยแพร่ศาสนาเข้าไปอีกด้วย บทบาทในทางสังคมเหล่านี้ทหารอังกฤษเพียงแต่กำกับดูแลเท่านั้น หมอสอนศาสนา บาทหลวง แม่ชีทั้งหลายเป็นผู้ดำเนินการครับ

สถานการณ์เข้าขั้นที่เรียกว่าบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลายยอมเป็นทาสรับใช้อังกฤษ เชื่อฟัง และยอมตายแทนอังกฤษก็ว่าได้ อังกฤษก็อยู่ในพม่าได้อย่างราชา

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในพม่าอีกหลายประการที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบ ได้แก่

สภาพภูมิประเทศของพม่า ซึ่งถ้าเราจะจินตนาการว่าชายขอบประเทศนั้นล้อมรอบด้วยภูเขาสูงเหมือนเกือกม้าเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาชนกลุ่มน้อยนับร้อยเผ่าพันธุ์ แต่บริเวณที่ราบลุ่มกลางประเทศเป็นที่อยู่ของพวกพม่าแท้ ไม่ปะปนกัน ก็เท่ากับว่าภูมิประเทศที่เป็นเขาสูง ป่าทึบ ที่ราบลุ่ม เป็นปัจจัยแยกแยะคนพม่าออกจากชนกลุ่มน้อย

การเดินทางไปมาหาสู่ในสมัยก่อนไม่เอื้ออำนวย ก็เลยต่างคนต่างอยู่ การเรียนรู้และการผสมผสานกัน รวมทั้งความรู้สึก “สำนึกร่วมในความเป็นชาติ” น่าจะเป็นสิ่งที่ห่างไกล และประการสำคัญในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีผู้นำในลักษณะ “เจ้า” ปกครองอาณาเขตของตนเอง บ้างก็มี “กษัตริย์” ปกครอง

ไฉนเลยจะยอมรวมกันได้?

มาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านจะยังไม่เห็นวี่แววกองทัพพม่าเลยใช่ไหมครับ เพราะอะไร? ก็เพราะอังกฤษแยกสลายการรวมตัวทุกรูปแบบของคนพม่าแท้โดยสิ้นเชิง

เรื่องราวในประวัติศาสตร์นี้ คงจะพอให้เราเห็นภาพบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้อ่านคงจะเคยเห็นว่าบรรดาผู้นำชนกลุ่มน้อยในพม่าสามารถให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว บางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ ใช้ชื่อเป็นฝรั่งมังค่า เช่น เจ้าฝาแฝด จอห์นนี่ เจ้าหนูน้อยลูเธอร์ (แฝดลิ้นดำสูบบุหรี่เหมือนโรงสี) ตั้งชื่อกลุ่มเป็นภาษาอังกฤษ เช่น God’s Army และทุกกลุ่มตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษเพื่อการต่อสู้กับรัฐบาลพม่า

ขอยกตัวอย่างชื่อกองกำลังของชนกลุ่มน้อยที่ลงนาม “หยุด” ยิงกับรัฐบาลนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 จนถึงปี ค.ศ.1996 มีดังนี้

1. Myanmar National Democratic Alliance (MNDA)

2. Myanmar National Solidarity Party (MNSP)

3. National Democratic Alliance Army Military and Local Administration Committee

4. Shan State Army (SSA)

5. New Democratic Army (NDA)

6. Kachin Democratic Army (KDA)

7. Pa-O National Organization (PNO)

8. Paluang State Liberation Party (PSLP)

9. Kayan National Guards (KNG)

10. Kachin Independence Organization (KIO)

11. Kayinni National Liberation Front (KNLF)

12. Kayan Pyithit Party (KPP)

13. Shan State Nationalities Peoples Liberation Organization

14. Karenni National Progressive Party (KNPP)

15. New Mon State Party (NMSP)

ในปัจจุบันบางกลุ่มก็เปลี่ยนใจไปรวมตัวจับขั้วกันใหม่หันมาจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลพม่าอีกก็มีในการต่อสู้และเปิดเผยข้อมูลของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ต่อสังคมโลก เขาใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ผมเคยอ่านข้อมูลการประชาสัมพันธ์ของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ทางอินเตอร์เน็ต และเชื่อว่าสังคมโลกเข้าใจ เห็นใจชนกลุ่มน้อย จึงและกดดันรัฐบาลพม่าทุกรูปแบบ

ขมิ้นกับปูน-พม่ากับชนกลุ่มน้อย ฉันใดก็ฉันนั้น

เป็นอันว่า เมื่ออังกฤษปกครองพม่าเป็นอาณานิคมนั้น อังกฤษสนับสนุนชนกลุ่มน้อยออกหน้าออกตา โดยเฉพาะกะเหรี่ยง ฉาน (ไทยใหญ่) และ คะฉิ่น ผลักดันคนพวกนี้ให้ได้รับการศึกษาตามแนวทางโลกตะวันตก บางคนโชคดีได้ไปเรียนต่อในประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาก็ได้บรรจุให้เข้าทำงานในระดับบริหารภายใต้การกำกับดูแลของอังกฤษ หนำซ้ำอังกฤษสนับสนุนให้เข้ามาเป็นทหาร-ตำรวจ อีกต่างหาก

ความรู้สึกของชาวพม่านั้น “อกไหม้ไส้ขม”

ชาวพม่าไม่คิดกอบกู้เกียรติภูมิของตัวเองบ้างละหรือ? มีครับ กล่าวคือในห้วงปี ค.ศ.1930-1931 ขบวนการชาตินิยมของนักศึกษา ประชาชนชาวพม่า ซึ่งได้รวมตัวกันมาก่อนแล้วอย่างลับๆ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ขบวนการชาตินิยม” ได้เป็นกำลังหลักก่อการกบฏต่ออังกฤษที่เรียกว่า “กบฏซาย่า ซัน (Saya San Rebellion)” ที่พอจะเล่าสู่กันพอสังเขปดังนี้

ในช่วงปี ค.ศ.1930 ถือเป็นปีข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกต่ำ พืชผลขายไม่ได้ราคาทั่วโลก ประชากรพม่าก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ชาวนาไม่มีเงินใช้หนี้นายทุน ประกอบกับในสังคมเมือง ชาวพม่าที่รับจ้างทำงานในเมืองก็เกิดเขม่นกับพวกแขกอินเดียที่อพยพเข้ามาแย่งงานกรรมกรพม่า กรรมกรอินเดียทำงานหนักกว่า ค่าแรงต่ำกว่า (โดยเฉพาะกรรมกรตามท่าเรือ) เหตุการณ์เหล่านี้คุกรุ่นมานานแล้ว นอกจากนั้น บรรดาคนงานพม่าก็ยังด้อยกว่าคนจีนที่อดทนกว่า หากินเก่งกว่าอีกด้วย จึงทำให้ทั้งในชนบทและในเมือง “ชาวพม่าแท้” เจ้าของประเทศแทบจะอดตาย

ชาวบ้านในเมือง เยเต็ก ในอำเภอธารวดีที่รวมตัวกันได้เป็นปึกแผ่น ตั้ง อู ยา จ่อ (อดีตพระสงฆ์) เป็นหัวหน้า จัดตั้งสมาคมกาลอง (Galon) รวบรวมบรรดาเยาวชนพม่าจัดตั้งและขยายเครือข่ายออกไปทุกหนทุกแห่งที่มีความทุกข์ยาก เมื่อถึงคราวลำบาก ชาวพม่ารวมตัวกันเป็นปึกเป็นแผ่นเป็นครั้งแรกอย่างได้ผลยิ่ง

เพื่อเป็นการลดแรงเสียดทาน อังกฤษตั้งชาวพม่าแท้ ชื่อ นายโจเซฟ ออกัสตัส หม่อง จี ให้บรรดาศักดิ์เป็นถึง “ท่านเซอร์” (นับเป็นชาวพื้นเมืองคนแรกของพม่าที่ได้รับบรรดาศักดิ์นี้)

ท่านเซอร์โจเซฟ หม่อง จี เดินทางไปแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนที่อำเภอธารวดีอยู่ทางตอนเหนือของย่างกุ้ง ชาวบ้านร้องขอให้ยกเลิกหรือพักชำระหนี้ 1 ปี เซอร์โจเซฟปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย

วันต่อมาบรรดาชาวนาที่รวมตัวกันก็ประกาศเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล

อู ยา จ่อ ไปเทียบเชิญ ซาย่า ซัน (Saya San) มาเป็นหัวหอกดำเนินการ ซาย่า ซัน ประกาศสถาปนาตัวเองเป็น “กษัตริย์” ทันที จัดตั้งกองทัพชาวนาเป็นฐาน รู้ทั้งรู้ว่ากองทัพชาวนามีแต่มือเปล่า จะต้องสู้รบตบมือกับกองทัพอังกฤษซึ่งมีปืนเล็กยาวใช้แล้ว

พวกชาวบ้านที่เข้าร่วมกับกบฏ ซาย่า ซัน เริ่มลงมือผลิตอาวุธเท่าที่พอจะดัดแปลงได้ เช่น ท่อเหล็กจากตัวถังจักรยาน ผลิตธนู หอก ดาบ

ชาวพม่าจำนวนไม่น้อยเห็นชอบกับ ซาย่า ซัน ที่จะสถาปนาระบอบกษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ชาวพม่าพร้อมใจกันจัดทำบัลลังก์พร้อมฉัตรประดับเกียรติยศ พูดกันปากต่อปากว่า ซาย่า ซัน เป็น “เทพ” ลงมาจุติเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากจน

กองกำลังกบฏ ซาย่า ซัน ทำงานได้ผล ชาวบ้านผู้ยากจน คับแค้น ยึดที่ดิน ทวงเงินคืนมาได้จากเจ้าของที่ดิน เรื่องราวของกบฏ ซาย่า ซัน เริ่มผันแปรไปเป็น “ขบวนการชาตินิยม” ต่อต้านอังกฤษผู้กดขี่

การปล้นสะดมแพร่กระจายออกไปใน 12 เมือง หัวหน้ากบฏไปตั้งกองบัญชาการในป่าลึก Pegu Yona ทางเหนือของกรุงย่างกุ้ง อังกฤษเห็นสถานการณ์ลุกลามจึงส่งกำลังเข้าปราบปรามโจมตีกองกำลังกบฏในป่า

กองกำลังทหารอังกฤษปราบปรามอย่างเฉียบขาด รุนแรง ด้วยอาวุธทันสมัย ในช่วงนี้พม่าบันทึกประวัติศาสตร์ของตนเองไว้อย่างขมขื่น ชาวบ้านบางหมู่บ้านถูกสังหารทิ้งทั้งหมด โดยการตัดหัวเสียบต้นเสา หมู่บ้านแห่งหนึ่งถูกตัดหัว 15 หัว แล้วนำไปเสียบไว้ที่หน้าที่ทำการรัฐบาล ทหารอังกฤษถ่ายรูปผลงานการตัดหัวกบฏไปลงหนังสือพิมพ์ในอังกฤษ และแถลงผลงานในสภาผู้แทนฯ ของอังกฤษ

28 พฤศจิกายน 1931 กว่าทุกอย่างจะจบลงชาวพม่าถูกสังหารไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนถูกจับขังคุกประมาณเก้าพันคน ซาย่า ซัน และบริวารใกล้ชิดถูกจับแขวนคอ รวม 128 คน ส่วนฝ่าย รัฐบาลบาดเจ็บประมาณ 50 คน เชื่อกันว่ากองกำลังฝ่ายอังกฤษที่ปราบกบฏพม่านั้น อังกฤษใช้ชนกลุ่มน้อยเป็นกำลังหลักมาปราบปรามคนพม่า

รอยแค้นนี้ พม่าคงไม่สามารถยกโทษให้อังกฤษ และชนกลุ่มน้อยได้ง่ายๆ

ตัวอย่างของกบฏ ซาย่า ซัน นี้เป็นอุทาหรณ์ว่าชาวพม่าเองกล้าหาญพอที่จะต่อสู้กับจักรวรรดิ์นิยมอังกฤษ และเป็นรากฐานสำคัญให้ชาวพม่ารวมตัวรวมใจกันเป็นชาตินิยม และเป็นการปูทางในการจัดตั้งกองทัพของตนเองเพื่อเตรียมกอบกู้เอกราช

ความเคลื่อนไหวของชาวพม่าในช่วงนี้เริ่มก่อตัวเป็นรูปธรรมมากขึ้น บรรดาแกนนำเคลื่อนไหวเป็นพวกนักศึกษา โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แต่เดิมคนพม่าให้เกียรติคนอังกฤษ (หรือชาวยุโรป) โดยเรียกว่า “ตะขิ่น” แล้วตามด้วยชื่อคน หมายถึงเขาคนนั้นเป็น “เจ้านาย” แต่ต่อมาแกนนำนักศึกษาเหล่านี้รณรงค์ให้ใช้คำนำหน้า “ตะขิ่น” กับผู้นำพม่าเสียเองเพื่อต้องการให้รู้ว่าอังกฤษจะไม่ใช่เจ้านายของพม่าอีกต่อไป

“ตะขิ่น” ที่เป็นดาวรุ่งเตรียมการเรียกร้องเอกราชในขณะนั้นล้วนศึกษาในมหาวิทยาลัยในย่างกุ้ง มี 5 คน คือ ตะขิ่น นุ (ต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อ อู นุ) ตะขิ่น ออง ซาน (ต่อมาเป็นนายพล ออง ซาน บิดาแห่งทัดมาดอ : กองทัพพม่า) ตะขิ่น จ่อ เยน ตะขิ่น เต็ง เป และ ตะขิ่น รา ชิด (เป็นมุสลิม อินเดีย)

หากท่านผู้อ่านที่เคยได้รับรู้เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ในประเทศไทย ฉันใด เหตุการณ์นักศึกษาพม่าผู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ก็ฉันนั้น

ตะขิ่น 5 คนนี้ จัดตั้ง Rangoon University Student’s Union หรือ RUSU เป็นองค์กรขับเคลื่อน โดยมีตะขิ่น นุ เป็นประธาน

ในปี 1936 นักเรียน นักศึกษาในย่างกุ้ง และอีกหลายเมือง พร้อมใจก่อการสไตร์คขับไล่อังกฤษครั้งใหญ่ ผลปรากฏว่า ตะขิ่น นุ และ ตะขิ่น ออง ซาน ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย นักเรียนนักศึกษายิ่งก่อความรุนแรงหนักขึ้นอีก จนกระทั่งอังกฤษต้องยอมให้ทั้ง 2 คน กลับเข้ามามีสถานภาพเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ในขณะนั้นความรู้สึกต่อต้านอังกฤษได้แผ่ซ่านกระจายไปในทุกชุมชนของชาวพม่าแล้ว แม้กระทั่งสังคมชนบทก็ขานรับ เพราะความยากจนอันเป็นผลจากการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ

ไฟแห่งการเรียกร้องเอกราชในพม่าได้ถูกจุดขึ้นแล้ว