เส้นทางชีวิตเปลี่ยนสี “ธาริต เพ็งดิษฐ์” กับวิบากกรรมยึดทรัพย์-ไล่ออก

ชื่อของ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กลายเป็นที่ฮือฮาอีกครั้งจากประโยค “ถ้าไม่ฟังกัน พวกอั้วปฏิวัติ” ในฐานะ “ผู้กุมความลับ” เหตุการณ์การล้อมปราบเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ หลักสี่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ และตัวแทนญาติคนตาย 99 ศพ ได้แถลงผ่านสื่อมวลชน ร้องขอศาลฎีกาให้คืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต 99 ศพ และครอบครัวผู้ตายกับผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553

โดยนายธาริต ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ในช่วงแรกของการมีการดำเนินคดี ต้องเรียนเพื่อให้เข้าใจ จะมีการพูดเสมอว่า แกนนำนปช. ถูกดำเนินคดี แล้วทำไม อภิสิทธิ์-สุเทพ หรือทหาร ต้องถูกดำเนินคดีอีก เพราะถูกบิดเบือนว่า นปช.ร้าย เป็นคนผิด สมควรตาย คนสั่งยิงไม่สมควรต้องรับผิด ตรรกะนี้ไม่ใช่

“นปช. ลุงป้าที่เขาไปชุมนุม เขาไม่ได้ผิด แกนนำ ถูกดำเนินคดีกล่าวหาว่าผิด ก็ดำเนินคดีไป ภาษาดีเอสไอเรียกว่า ล้ำเส้นเข้าไปใน เรดโซน ผิดกฎหมาย ขณะที่ ศอฉ.ก็เข้าไปในเรดโซน คือใช้คำสั่งให้ทหารเอา เอ็ม 16 เข้าไปในพื้นที่ ก็ทราบดีว่า 99 ศพ และผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน”

“ผมถูกเรียกเข้าไปในค่ายทหารแห่งหนึ่งในถนนราชดำเนิน คนที่เรียกผมเข้าไป อาจไม่ควรต้องถูกเปิดเผยชื่อ แต่เป็นทหารชั้นผู้ใหญ่มาก และเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ และว่า ธาริต อย่าดำเนินคดีเรื่อง 99 ศพ ถ้าไม่ฟังกัน พวกอั้วปฏิวัติ ผมจะทำอย่างไร ในเมื่อศาลได้ชี้มาว่าการตาย มันเกิดจากทหารใช้อาวุธสงคราม มีการสั่งการต่างๆ ถ้าผมไม่ทำ ก็อยู่ไม่ได้ คนอื่นก็ต้องทำ เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ได้ตามลำพัง ทำเป็นคณะกรรมการสอบสวน มีตำรวจร่วม อัยการร่วม”

“ผมถือว่าเป็นการขู่ ครั้งนั้น บอกด้วยว่า พวกอั้วปฏิวัติ แล้ว ลื้อจะโดนย้ายคนแรก เหตุปฏิวัติมีการพูดกันเยอะ 9 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการพูดความจริงชัดเจนว่า ปฏิวัติ เพราะอะไร พูดเรื่องจำนำข้าวบ้าง จริงหรือเปล่า พูดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยบ้าง จริงหรือเปล่า มีกปปส.เข้ามา ถูกดำเนินคดี แล้วยังไง”

“แต่ที่แน่ๆ ปฏิวัติ ยังไม่ครบ 24 ชั่วโมง คนที่ถูกย้ายทันที คือนายธาริต และ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งรับผิดชอบดำเนินคดี 99 ศพ เป็นความเชื่อของผม ภายใต้ข้อเท็จจริงที่สัมผัสในฐานะข้าราชการมืออาชีพ ที่ทำงานด้านนี้ ว่านี่คือเหตุสำคัญของการปฏิวัติ”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของการ “ดับเครื่องชน” ของนายธาริต เปิดเบื้องหลังคดี 99 ศพ ก่อนฟังศาลฎีกาวันที่ 10 ก.ค.66

พร้อมยืนยันว่าไม่สนใจว่าจะติดคุกหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องการให้ความจริงถูกบิดเบือน และที่สำคัญตนอยากเรียกร้องให้คืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งถึงแก่ความตาย 99 ศพ พร้อมครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้บาดเจ็บอีก 2,000 คน

“ธาริต” นักกฎหมายมือฉมัง
กับจุดเปลี่ยนสำคัญยุค “ทักษิณ”

ธาริต สำเร็จนิติศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม จาก ม.ธุรกิจบัณฑิต (ปี 2525) 2 ปีต่อมาสอบได้เป็นเนติบัณฑิต และคว้าปริญญาโททางกฎหมายจุฬาลงกรณ์ เป็นศิษย์เอกของ “อาจารย์ป้อม” ดร.วีระพงษ์ บุญโญภาส เจ้าพ่อกฎหมายฟอกเงินแห่งจุฬาฯ

ในวงการกฎหมาย ต้องถือว่า “ธาริต” เป็นนักกฎหมายที่ฉลาด เก่ง และคล่องมากๆ ข้อเท็จจริงส่วนนี้ไม่มีใครปฎิเสธ ชีวิตการทำงานเริ่มต้นที่ตำแหน่งอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์

จากนั้นก็สอบเป็นอัยการในปี 2532 ได้พบกับ “วรรษมล” ที่ปากช่อง จ.นครราชสีมา และกลายเป็นตำนานรัก จนมาถึงทุกวันนี้

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ “ธาริต” เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อฝีมือของอัยการหนุ่มเข้าตา “หมอมิ้ง” น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รองนายกฯ ในขณะนั้น จึงได้ถูกชวนไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาให้แก่ “เดอะกิ้น” พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาใหญ่ของนายกฯ ทักษิณ

ในช่วงรัฐบาลทักษิณ “ธาริต” เป็นหนึ่งในคณะทำงานยกร่างกฎหมายกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะเห็นได้ว่า “ธาริต” อยู่กับพรรคไทยรักไทยและทักษิณ ได้อย่างดีเยี่ยม

จนถึงรัฐบาล “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ธาริตย้ายจากสำนักงานอัยการสูงสุด มานั่งเป็น รองอธิบดี ดีเอสไอ. เป็นความรุ่งเรืองในวิชาชีพที่เพื่อนรุ่นเดียวกันตามไม่ทัน

แต่ในห้วงเวลาที่ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ นั่งเป็นอธิบดี ดีเอสไอ. และตำรวจพาเหรดเข้ามายึด ดีเอสไอ. “ธาริต” ได้แว้บออกไปร่วมร่างกฎหมายและร่วมจัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) และที่สำคัญ เขาได้นั่งเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท. ในวันที่ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” นั่งเป็น อธิบดี ดีเอสไอ.

ในวันที่เริ่มก่อตั้ง ป.ป.ท. แรกๆ มีหลายคน เห็น “วรรษมล เพ็งดิษฐ์” และเด็กๆ ไปวางระบบภายใน ป.ป.ท. อย่างรู้งาน

ทำงานให้กับนาย “ทุกคน”
และทุก “สี”

เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว พรรคประชาธิปัตย์ผงาดขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง “เดอะตุ๋ย” พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค นั่งเป็น รมว. กระทรวงยุติธรรม

“ธาริต” ในตำแหน่ง เลขาธิการ ป.ป.ท. แสดงฝีมือโค่นยักษ์ใหญ่ ล้มตึง เมื่อเขาออกมาแฉว่า วิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. ไม่โปร่งใส เอาเงินกองทุนหลายหมื่นล้านไปลงทุนบนความเสี่ยง ผลก็คือ วิสิฐ จบเห่ “ธาริต” ขึ้นหม้อ กลายเป็นฮีโร่ ผู้ปกป้องผลประโยชน์ของข้าราชการ

กลางตุลาคม 2552 ธาริต เพ็งดิษฐ์ กลับมาผงาด เป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แทน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่ถูกย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม (มติ ครม. 29 ก.ย.2552) แล้ว พลันเสียงวิจารณ์ก็กระหึ่มไปทั้ง ดีเอสไอ. ว่าธาริตเป็นสายตรงจาก “อภิสิทธิ์-สุเทพ เทือกสุบรรณ”?

แต่ถ้ามองโลกให้เป็นจริง “ธาริต” ทำงานให้กับนาย “ทุกคน” นายจะสีอะไร จะสีเหลือง สีแดง หรือ สีน้ำเงิน ไม่ใช่เรื่องของคนชื่อ “ธาริต”

คนที่เคยร่วมงานกับ “ธาริต” บอกว่า ใครได้ธาริตเป็นลูกน้อง “โคตรโชคดี” เพราะเขาเป็นคนที่เก่ง ฉลาด ขยัน และทุ่มเท จนตัวตายเพื่อนาย!

ฉะนั้น ใครที่บอกว่า ธาริตรับใช้ประชาธิปัตย์ ต้องพูดใหม่ให้ถูกว่า ธาริตรับใช้ “นาย” มากกว่ารับใช้พรรค

ตัวอย่างของ “มือทำงาน” ที่อุทิศตัวเพื่อนาย ที่ถูกบันทึกในตำนานการเมืองคือ “นิพัทธ์ พุกกะณะสุต” คนโตแห่งกระทรวงการคลัง แมวเก้าชีวิตที่อยู่ได้ทุกรัฐบาล

“ธาริต” เป็นนักกฎหมายที่มีต้นทุนสูง เพราะมีคอนเน็กชั่นที่ดีกับทุกพรรคและทุกคน ในพรรคประชาธิปัตย์ “ธาริต” สนิทกับกูรูใหญ่ ปชป. “มารุต บุนนาค”

ในวงการกฎหมาย “ธาริต” เป็นศิษย์เอกของ “ศ.ดร.คณิต ณ นคร” เพราะเคยนั่งหน้าห้องอัยการสุงสุด จนรู้ใจนายเป็นอย่างดี และที่สำคัญ “ธาริต” มีคอนเน็กชั่นที่ดีเยี่ยมกับบรรดานักข่าว

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

“ธาริต” กับ
“พรรคประชาธิปัตย์”

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า นายธาริตได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีดีเอสไอเมื่อปี 2552 ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

มีบทบาทเป็น 1 ในกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช. ปี 2553 ที่ลงเอยด้วยผู้เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

ผลงานที่ “ธาริต” ทำให้ อภิสิทธิ์-เทพเทือก มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การตัดท่อน้ำเลี้ยงเสื้อแดง อย่างเบ็ดเสร็จ

ไม่นับรวมการแทงความเห็นไม่สั่งฟ้อง “คดีทีพีไอ.” ไซฟ่อนเงิน ของ ดีเอสไอ. กรณีเงินบริจาคของพีทีไอ 258 ล้านบาทให้ประชาธิปัตย์ ตามความผิด พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผู้จะถูกดำเนินดคีมีทั้งผู้บริหารพีทีไอและผู้บริหารประชาธิปัตย์

ปรากฏว่าหลังนายธาริต แสดงความเห็นขัดแย้งกับพนักงานสอบสวนชุดนี้ แล้วยังพูดจาขัดแย้งกรณีที่พนักงานสอบสวนชุดดังกล่าวไปแจ้งความว่าถูกงัดรถฉกโน้ตบุ๊กที่มีข้อมูลคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

พนักงานสอบสวนจำนวนหนึ่งจึงตัดสินใจลาออก

หลังจากนั้นไม่นานดีเอสไอในยุคนายธาริต ก็สร้างความฮือฮาไปทั่วประเทศ ด้วยการสั่งไม่ฟ้องคดีไซฟ่อนเงินพีทีไอดังกล่าว

ทำให้คณะทำงานของประชาธิปัตย์บางคน ถึงกับให้สัมภาษณ์อย่างเนื้อเต้นว่า การสั่งไม่ฟ้องของดีเอสไอ เป็นผลดีต่อคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

ที่น่าแปลกก็คือ ก่อนหน้าที่ดีเอสไอจะไม่ฟ้องคดีไซฟ่อนเงินด้วยเหตุผลว่า ไม่เป็นการทำนิติกรรมอำพรางแต่อย่างใด

อัยการเพิ่งสั่งฟ้อง ส่งสำนวนคดีเงิน 258 ล้านไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุชัดว่าเป็นกรณีการทำนิติกรรมอำพราง

แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องเดียวกัน พนักงานสอบสวนดีเอสไอเดิมชี้ว่าเป็นนิติกรรมอำพราง และอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าข่ายนิติกรรมอำพราง แต่ดีเอสไอยุคธาริตบอกว่าไม่ใช่นิติกรรมอำพราง

“ธาริต” กับ
“พรรคเพื่อไทย”

กระทั่งเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยกลับเข้ามาเป็นรัฐบาล นายธาริตยังคงเหนียวแน่นอยู่บนเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอ ชนิดเหนือความคาดหมายของใครหลายคน

นายธาริตใช้โอกาสนี้ทำงานสนองนโยบายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มที่เช่นกัน ไม่ว่าคดีก่อสร้าง 396 โรงพักทดแทน คดีบุกรุกเขาแพง เป็นต้น

โดยเฉพาะการรื้อฟื้นคดีการตายในการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องตกอยู่ในฐานะจำเลยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นั่นทำให้ในการชุมชุมม็อบ กปปส. ของ “กำนันสุเทพ” ในปี 2556-2557 นายธาริตกลายเป็น 1 ในเป้าหมายสำคัญของการเป่านกหวีดล้างแค้น

จนเมื่อม็อบ กปปส. บรรลุเป้าหมาย จากการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยคณะทหาร คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นายธาริตก็ถูกคำสั่งย้ายเข้ากรุสำนักนายกรัฐมนตรี

วิบากกรรม
ถูกยึดทรัพย์-ไล่ออก

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แค่ 2 วัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งฉบับที่ 8/2557 วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ย้ายนายธาริตจากอธิบดีดีเอสไอ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และสังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีถึงปัจจุบัน

ต่อมาต้นปี 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีมีเหตุอันควรสงสัยได้ว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ร่ำรวยผิดปกติ

ผลไต่สวนข้อเท็จจริงพบว่า นายธาริตมีทรัพย์สินจำนวนมาก หรือมีหนี้สินลดลงมากเกินกว่าฐานะและรายได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐพึงมีได้ ทั้งยังปรากฏพฤติการณ์โอน ยักย้าย แปรสภาพหรือซุกซ่อนทรัพย์สิน รวมทั้งให้บุคคลอื่นถือทรัพย์สินแทน ป.ป.ช. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่านายธาริตร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่า 346,652,588 บาท

แต่เนื่องจากทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติดังกล่าวบางส่วนได้โอน ยักย้าย แปรสภาพหรือซุกซ่อนทรัพย์สิน ทำให้ไม่สามารถติดตามทรัพย์สินได้ คงเหลือทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งอายัดไว้ชั่วคราว 90,260,687 บาท

ดังนั้น ทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติในส่วนที่เหลือ 256,391,901 บาท ให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของนายธาริตและภรรยา

โดย ป.ป.ช. ส่งรายงานและสำนวนการไต่สวนให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 80 และมาตรา 83 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

อีกทั้งให้แจ้งผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจดำเนินการลงโทษทางวินัย อันเป็นที่มาของคำสั่ง “ไล่ออก” 

วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ธาริต ฟังคำพิพากษา คดี 99 ศพ ร้องนำคดีเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

วิบากกรรมในเรือนจำ

ธันวาคม ปี 2561 นายธาริต ถูกพิพากษาจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานหมิ่นประมาท “สุเทพ”

คดีนี้นายสุเทพ โจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2556 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 ม.ค. – 4 ก.พ. 2556 นายธาริตขณะดำรงตำเเหน่งอธิบดีดีเอสไอ แถลงแถลงข่าวข่าวผ่านสื่อมวลชนกล่าวหาว่า นายสุเทพ โจทก์ ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สั่งการไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำสัญญาก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 396 แห่งเป็นรายภาค ตามที่ สตช.เสนอ แต่กลับให้รวมสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเพียงรายเดียว

ทำให้บริษัทพีซีซี ดิเวลล็อปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล จนเกิดปัญหาที่ไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จทันตามกำหนด ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง

กรกฎาคม ปี 2566 ศาลฎีกาสั่งจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ แจ้งข้อหา “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สั่งฆ่าประชาชน 99 ศพ

โดยคดีนี้ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณีนายธาริตกับพวกแจ้งข้อหาดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ในการสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553