คุยกับทูต | ปาเวล ปีเตล สัมพันธ์ไทย-เช็ก ฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ (1)

“ในการรักษาสมดุลของชีวิต กีฬา เป็นทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผม เพราะกีฬาช่วยทำให้ผมมีชีวิตอยู่ได้ในช่วงเวลาที่มีความยากลำบาก”

วันนี้ เรานำท่านผู้อ่านมารู้จักกับนายปาเวล ปีเตล (H. E. Mr. Pavel Pitel) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย ซึ่งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ปีที่ผ่านมา

“ความรับผิดชอบในฐานะนักการทูต แน่นอนว่า ทำให้ผมยุ่งมาก แต่ก็พยายามหาเวลาออกกำลังกาย เช่น โยคะ เทนนิส แบดมินตัน เรือใบ วิ่ง หรือบาสเกตบอล”

โดยปกติ ธรรมชาติร่างกายของเราจะมีกลไกในการปกป้องและรักษาตนเองจากการเจ็บป่วยได้ แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาสมดุลของทั้งร่างกายและจิตใจ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยป้องกันการเจ็บป่วย ทั้งยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้เซลล์และอวัยวะภายในร่างกายมีความสมบูรณ์ แข็งแรง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังเช่น ทูตปาเวล ซึ่งอยู่ในวัยสี่สิบตอนปลาย มีรูปร่างสูงโปร่ง สมส่วน และกระฉับกระเฉงอย่างมาก สมกับเป็นนักกีฬาตัวยง

ร่วมงาน วันโยคะสากล ครั้งที่ 9 ที่กรุงเทพฯ 18 มิถุนายน 2023
วิ่ง 10 ไมล์ในเวลา 2 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 21 มีนาตม 2023 จัดโดย Supersports

“หลังสำเร็จการศึกษาสาขาการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็ได้เข้าทำงานในสถาบันการเงิน เกี่ยวกับการวิเคราะห์หุ้น ตลาดหุ้น พันธบัตร ภายหลังจึงรู้สึกว่า ผมชอบศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แต่ไม่ได้อยากเป็นนักเศรษฐศาสตร์”

“การเข้าสู่วงการทูตก็ด้วยความบังเอิญอย่างแท้จริง เมื่อได้รับข้อเสนองานจากกระทรวงต่างประเทศ ผมจึงตัดสินใจสมัคร นับว่าโชคดีมากที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งทางการทูต ในปี 1998 และไม่เคยเสียใจเลยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

นายปาเวล ปีเตล (H. E. Mr. Pavel Pitel) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย

การออกไปประจำการต่างประเทศ (ออกโพสท์)

“ครั้งแรกที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย จากนั้นที่เมืองซิดนีย์ในออสเตรเลีย ต่อมาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และปัจจุบันครั้งที่สี่ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของผมที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต”

“เมื่อผมออกโพสท์ครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ได้เดินทางไปเยือนประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ่อยมาก เช่น อินโดนีเซีย และไทย”

“ในเวลานั้นผมชอบการปีนเขาในอินเดียมาก ผมกับเพื่อนๆ และผู้ร่วมงานในสถานทูต รวมทั้งลูกหาบ เดินทางไปตามธารน้ำแข็งแห่งหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัย ระดับความสูงน่าจะเกือบ 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เรากางเต็นท์นอนกันกลางหิมะที่มีธารน้ำแข็งสวยงาม และยังได้เดินตามเส้นทางแถวๆ เทือกเขาอันนะปุรณะ (Annapurna Massif) อันงดงามซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยด้านตะวันตก ในประเทศเนปาล”

“นับว่าผมโชคดีมากที่ได้เห็นโลกจากมุมที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ออสเตรเลีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘The Land Down Under’ จนถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ และอินเดีย ซึ่งในเวลานั้นยังมีความยากจนและด้อยโอกาสอยู่มาก แต่ตอนนี้ อินเดีย ประเทศซึ่งมีประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม หลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ก็นับเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจมาก”

นักผจญภัยในต่างแดน

“การเดินทางเพื่อรับใช้ประเทศในฐานะนักการทูต เต็มไปด้วยการผจญภัยหลากหลาย เหลือเชื่อ หนึ่งในประสบการณ์ที่น่าจดจำที่สุดคือ เหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่ผมมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริการกงสุล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายความสามารถอย่างยิ่ง”

นายปาเวล ปีเตล (Mr. Pavel Pitel) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูต

การตัดสินใจรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

“อิทธิพลจากหลายปัจจัย สืบเนื่องจากความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเช็ก หรือที่รู้จักกันในชื่อทั่วไปว่า เช็กเกีย (Czechia) ตั้งอยู่บนพื้นฐานของไมตรีจิต และความร่วมมือระหว่างกันมาโดยตลอด และประเทศไทยเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาด้วยมรดกทางวัฒนธรรม จิตวิญญาณที่หลากหลาย และภาวะเศรษฐกิจที่ไม่หยุดนิ่ง”

“จากศักยภาพในการทำงานและผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน ทำให้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจต่อการดําเนินงานทางการทูตเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของเราให้ได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น”

เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

“นอกจากนี้ ผมต้องการให้ลูกๆ ของผมได้สัมผัสด้วยตัวเอง มีประสบการณ์การใช้ชีวิตในเอเชีย เพื่อที่พวกเขาจะได้พัฒนาความเข้าใจในภูมิภาคที่มีพลวัตและสวยงามแห่งนี้”

เป้าหมายในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน

“เป้าหมายของเราครอบคลุมในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา ภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์ การบินและอวกาศ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยว และโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม”

หน้าที่หลักของสถานเอกอัครราชทูต

“สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่หลากหลาย ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางการเมือง การส่งเสริมการค้าและการลงทุน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม บริการกงสุล การส่งเสริมการท่องเที่ยว และความร่วมมือด้านการศึกษา”

“นอกจากนี้ เรายังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการทูตสาธารณะ จัดกิจกรรมและความคิดริเริ่มเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐเช็กและประเทศไทย”

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง H.E. Mr. Pavel Pitel (นายปาเวล ปีเตล)

ความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐเช็กกับอาเซียน (ASEAN)

“เรารักษาความสัมพันธ์ในเชิงบวกและเติบโตกับอาเซียน (สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เราให้ความสำคัญกับอาเซียนในฐานะองค์กรระดับภูมิภาค และพยายามอย่างแข็งขันในการกระชับความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม”

“สาธารณรัฐเช็กยังให้การสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการส่งเสริมเสถียรภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค”

“ในฐานะประธานสหภาพยุโรป สาธารณรัฐเช็กประสบความสำเร็จในการสรุปการประชุมสุดยอด EU-ASEAN ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2022”

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสาธารณรัฐเช็ก

“เรามียุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 เมื่อได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลของเรา ซึ่งตระหนักดีถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเจรจาและความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทย”

“เราให้การสนับสนุนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่ ‘เสรีและเปิดกว้าง’ ตามกฎเกณฑ์ในอินโด-แปซิฟิก และพยายามที่จะมีส่วนร่วมในสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาในระดับภูมิภาคผ่านข้อตกลงทวิภาคีและพหุภาคี”

เอกอัครราชทูตและภริยาถ่ายภาพร่วมกับอธิบดีกรมยุโรปของไทย

สาธารณรัฐเช็ก กับวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน

“สาธารณรัฐเช็กขอประณามการรุกรานยูเครนของจักรวรรดิรัสเซียอย่างแข็งกร้าว รัฐบาลของเราได้แสดงการสนับสนุนหลักพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น อำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในความพยายามทางการทูต เพื่อหาทางยุติความขัดแย้งอย่างสันติ”

“และเราควรเตือนตนเองว่า นี่เป็นครั้งที่สองแล้ว ที่รัสเซียเพิกเฉยต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน หลังเข้ายึดครองไครเมียและส่วนอื่นๆ ของยูเครนอย่างผิดกฎหมายในปี 2014”

“น่าเสียดายที่ในเวลานั้น ประเทศในยุโรปพยายามโอนอ่อนให้รัสเซียโดยการตอบโต้เพียงในระดับการทูตเท่านั้น เช่นเดียวกับหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ได้ผลในระยะยาว จึงทำให้ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเข้าใจว่า การยอมตามเป็นจุดอ่อนและพยายามผลักดันข้อจำกัดต่อไป”

“แต่ครั้งนี้โชคดี ที่เขาได้พบกับการต่อต้านอย่างแข็งขันของชาวยูเครน ตลอดจนการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากมิตรสหายของยูเครนทั่วโลก”

“เช็กเกียก็มีประสบการณ์ที่น่าเศร้าของตัวเองจากการรุกรานของรัสเซียในปี 1968 เมื่อรถถังของรัสเซียได้ทำลายความหวังในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนของเรา และทำให้ประเทศของเราเสียหายอย่างไม่สามารถแก้ไขได้”

“เช็กเกียจึงสนับสนุนยูเครนนับตั้งแต่วินาทีแรก เราประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของสหภาพยุโรป เราให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่ผู้ปกป้องยูเครน และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต”

“ก่อนรัสเซียเข้ารุกรานยูเครน เช็กเกียเป็นที่พักอาศัยของชาวยูเครน 200,000 คน เช็กเกียมีประชากรเพียง 10 ล้านคน และ ณ วันนี้ เราให้ที่พักอาศัยแก่ผู้ลี้ภัยอีก 500,000 คน จึงถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กซึ่งบ้านของพวกเขาถูกทำลายโดยขีปนาวุธของรัสเซีย ส่วนผู้ชายก็ต้องอยู่ข้างหลังเพื่อต่อสู้กับการรุกรานที่ยืดเยื้อ โดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin