“ฮวย-หวย-หวยบนดิน”สู่“หวยN3” กองสลากฯยัน ไม่ซ้ำรอยยุคทักษิณ “กินรวบ ไม่กินแบ่ง”

จริงๆ แล้ว คนไทยกับหวยคุ้นเคยกันยาวนานหลายชั่วอายุคน

หากย้อนกลับไปดูตํานานของการออก “ลอตเตอรี่” (หวยซึ่งมาจากคําว่า ฮวย ในภาษาจีน) ในประเทศไทย ริเริ่มขึ้นโดยชาวอังกฤษ คือ เฮนรี่ อลาบาสเตอร์ เป็นผู้นําเข้ามาเมื่อปี พ.ศ.2417 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในครั้งแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติ ที่นําสินค้ามาแสดงในการจัดพิพิธภัณฑ์ที่ตึกคองคาเคีย พระบรมมหาราชวัง โดยกรมทหารมหาดเล็กเป็นผู้รับผิดชอบ

การออกลอตเตอรี่ดูเหมือนจะเป็นช่องทางที่ง่ายที่สุด ในการระดมทุนจากประชาชนโดยที่ประชาชนเองก็เต็มใจจะร่วมระดมทุนด้วย บทบาทเดียวกันนี้ของลอตเตอรี่ในอดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น โดยเริ่มต้นชัดเจนขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 พันธมิตรมีความ – ประสงค์จะกู้เงินจากสยาม แต่ไม่สามารถให้กู้จากงบประมาณแผ่นดินโดยตรงได้ สภารักชาติของอังกฤษจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต กู้เงินจากประชาชนด้วยการออกลอตเตอรี่ในปี พ.ศ.2460

พ.ศ.2466 รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ออก “ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท” หารายได้บํารุงกองเสือป่าจํานวน 1 ล้านฉบับ ฉบับละ 1 บาท และรัฐบาลหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475) ก็ยังนําการระดมทุนเช่นนี้มาใช้อย่างต่อเนื่อง เกิด “ลอตเตอรี่รัฐบาลสยาม” (2476)

ในปี พ.ศ.2482 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้โอนกิจการสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากบํารุงเทศบาล มาสังกัดกระทรวงการคลัง มีการแต่งตั้งคณะกรรมการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้นชุดแรก โดยมีพระยาพรหมทัตศรีพิลาส เป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2482 ในวันดังกล่าวจึงถือเป็นวันสถาปนาสํานักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน

การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้พัฒนาเรื่อยมา จนกระทั่งปี พ.ศ.2517 ได้มีการออกพระราชบัญญัติสํานักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้น โดยกําหนดให้สํานักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง

สํานักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก่อตั้งมามากกว่า 80 ปีแล้ว มีการพิมพ์สลากฯ ออกจําหน่าย 3 ประเภท คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล สลากบํารุงการกุศล และ สลากฯ แบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ประเภทแรก คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล ออกตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 งวดละ 30 ล้านฉบับ มี 30 ชุด ชุดละ 1 ล้านฉบับ จําหน่ายราคาฉบับละ 40 บาท ออกจําหน่ายเดือนละ 2 งวด

ประเภทที่สอง สลากบำรุงการกุศล สลากฯ ประเภทนี้ออกมาเพื่อเป็นการระดมทุนในการจัดทําโครงการอันเป็นสาธารณประโยชน์รัฐบาลได้อนุมัติให้สํานักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ออกสลากพิเศษตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 แต่มีลักษณะและใช้ผลการออกรางวัลเดียวกันกับสลากกินแบ่งรัฐบาล จําหน่ายงวดละ 16 ล้านฉบับ ฉบับละ 40 บาท จําหน่ายเดือนละ 2 งวด

ประเภทที่สาม สลากฯ แบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว เกิดจากมติคณะรัฐมนตรี (8 กรกฎาคม 2546) ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) หวยบนดินพิมพ์จําหน่ายเป็น 3 รูปแบบ คือ แบบราคาฉบับละ 20 บาท แบบราคาฉบับละ 50 บาท และ แบบราคาฉบับละ 100 บาท ตามจํานวนการสั่งจองของตัวแทนจําหน่ายซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละงวดจะมีจํานวนไม่เท่ากัน (ออกจำหน่ายงวดแรก 1 ส.ค. 2546 และงวดสุดท้าย 16 พ.ย. 2549 รวม 80 งวด มีรายได้เข้ารัฐ 135,000 ล้านบาท ข้อมูล : กองสลาก)

เหตุผลง่ายๆ ของการออกหวยบนคืนก็คือ ต้องการทําลายเครือข่ายหวยใต้ดินที่มีผู้มีอิทธิพล อยู่เบื้องหลัง และต้องการนํารายได้จากหวยมาใช้ประโยชน์

(Photo by MIKE CLARKE / AFP)

ปิดฉากหวยบนดินยุคทักษิณ
กินแบ่ง-กินรวบ

กระทั่งเมื่อ 19 ก.ย. 2549 รัฐบาลนายทักษิณถูกรัฐประหาร และแต่งตั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกฯ และรมว.คัลง สั่งแก้ไขให้หวยบนดินถูกต้อง

21 พ.ย. 49 นำเรื่องเข้า ครม. โดยให้เว้นการออกหวยบนดินไป 2 งวด และ 29 พ.ย. นำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร โดนถล่มหนัก วันถัดมา ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จึงถูกถอนออกจากสภา หวยบนดินเลยเลื่อนยาวไม่มีกำหนด

ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ (และอดีตรัฐมนตรี-ผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลรวม 47 คน) ในคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (หวยบนดิน) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในปี 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า “…เงินรายได้จากโครงการนี้  แม้ว่าโครงการนี้จะทำให้มีรายได้จากการขายสลากกว่า 1.2 แสนล้านบาท แต่การบริหารงานกลับขาดทุน 7 งวด เป็นเงินกว่า 1.6 พันล้านบาท ทำให้เห็นว่าโครงการนี้ไม่ได้มีการบริหารความเสี่ยงในการจ่ายเงินให้กับผู้ที่ถูกรางวัล…”

“…อีกทั้งเงินรายได้กว่าร้อยละ 80 ที่สมทบเข้ากองทุนจ่ายเงินรางวัลและส่วนหนึ่งต้องนำกลับคืนสู่สังคม แต่กลับมีการ “ใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์” ไม่มีรายละเอียดการใช้จ่าย ซึ่งขัดต่อหลักการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงพิพากษาให้ลงโทษจำคุกนายทักษิณเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ตามความผิดประมาวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ส่วนความผิดฐานยักยอกทรัพย์ศาลยกฟ้อง…”

“…แม้หักค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน เงินสมทบ ค่าบริหารและเงินคืนสู่สังคมแล้ว ก็ยังคงมีเงินรวมประมาณนับแสนล้านบาทที่ไม่ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เงินจำนวนดังกล่าวจะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติให้นำเงินของรัฐออกไปใช้โดยไม่มีสิทธิ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และเป็นการปฏิบัติหน้าท่ในการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้…โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน) ไม่ใช่การออกสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือสลากการกุศลงวดพิเศษ แต่เป็นการออกสลากกินรวบ…

 

รัฐบาลใหม่ ออกหวยแบบใหม่
สู้หวยใต้ดิน-แก้ปัญหาขายสลากเกินราคา

14 มี.ค. 66 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล คือ สลากแบบตัวเลข 6 หลัก (L6) และแบบตัวเลข 3 หลัก (N3) โดยที่ประชุมได้สั่งการให้สำนักงานสลากฯ ไปจัดทำร่างประกาศกำหนดประเภท และรูปแบบสลากฯ รูปแบบใหม่ แล้วนำมาเสนอให้ที่ ครม. เห็นชอบอีกครั้ง โดย ผอ.สำนักงานสลากฯ ระบุว่า จะเสนอ ครม. โดยเร็วที่สุด และเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบให้ล่าช้า แม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่ยังสามารถเห็นชอบในรายละเอียดตามที่ ครม.ได้เห็นชอบในหลักการไปแล้วได้

มีรายงานว่า ระหว่างการพิจารณาวาระ นำเสนอการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 2565 ช่วงหนึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามประธานบอร์ดกองสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มาชี้แจงว่า การกำหนดประเภทใหม่นี้ยังเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลใช่หรือไม่ ยืนยันกับ ครม.ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเมื่อสิบปีที่แล้ว

ประธานบอร์ดกองสลากฯจึงยืนยันว่า ไม่ซ้ำรอยแน่นอน เพราะครั้งนี้เป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่ผิดหลัก ไม่เหมือนกับครั้งก่อนที่เป็นสลากกินรวบ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับว่า ช่วยดูแลอย่าให้มีการทุจริต และอย่าให้ขายเกินราคา

โดยรูปแบบสลากแบบตัวเลข 6 หลัก (L6) ทั้งการจำหน่าย การซื้อ การออกรางวัล จะเหมือนลอตเตอรี่ในปัจจุบัน แต่ไม่ต้องพิมพ์ เน้นขายทางดิจิทัล โดยขายใบ 80 บาท

สลากเลข 3 หลัก
มีทั้ง
โต๊ด เต็ง และแจ็กพอต

วิธีการเล่น ให้เลือกหมายเลข 000 ถึง 999 จำนวน 1 หมายเลขต่อการเลือกซื้อ 1 ครั้ง ราคายังไม่กำหนด แต่คาดขายครั้งละ 20-50 บาท

มีลุ้น 4 รางวัล ได้แก่

รางวัลสามตรง ตรงเลข-ตรงหลัก หรือเต็งได้ 30% ของเงินรางวัล

รางวัลสามสลับหลักตรงเลข-สลับหลัก หรือโต้ด ได้ 30% ของเงินรางวัล

และรางวัลสองตรง ได้ 39%

และรางวัลพิเศษ 1%

โดยเงินรางวัลทั้งหมดจะนำมาจาก 60% ของยอดขายในแต่ละงวด หากงวดไหนมีคนถูกรางวัลหลายคนจะต้องมาหารเฉลี่ยกัน ตามสัดส่วนวงเงินที่กำหนด ยิ่งถูกน้อย ยิ่งหารน้อย ยิ่งถูกมากยิ่งหารมาก

อย่างไรก็ตาม หากงวดใดไม่มีผู้ถูกรางวัล จะนำเงินรางวัลมาสมทบเป็นแจ๊กพ็อต โดยสมทบเงินรางวัลได้ไม่เกิน 1 งวด โดยการออกรางวัล ออกเดือนละ 2 ครั้ง ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน ส่วนวิธีการขายอาจเปิดรับสมัครคนขายใหม่ เช่น ขายผ่านแท็บเล็ต แอพพลิเคชั่น เป็นต้น

 

 


หมายเหตุ : สำหรับยอดเงินบริจาคจากโครงการสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (อดีตนายกฯ ทักษิณ) ตามเว็บไซต์กองสลากที่รายงาน มีดังนี้

(รายได้สุทธิ 72 งวด  ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2549 เป็นเงินทั้งสิ้น 28,267,666,369.36 บาท)

1. ทุนการศึกษาเด็กโครงการเขียนเรียงความ งวดที่ 1 125,000,000.00 บาท
2. สัปดาห์วิทยาศาสตร์ 35,500,000.00 บาท
3. ทุนการศึกษาเด็กโครงการเขียนเรียงความ งวดที่ 2 400,590,000.00 บาท
4. โครงการอ่าน เขียน เรียน เที่ยว 10,000,000.00 บาท
5. โครงการทุนการศึกษาต่อของนักเรียนระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) 50,113,732.00 บาท
6. โครงการเสริมความรู้และสร้างรายได้นักเรียนในระหว่างปิดภาคฤดูร้อน 10,000,000.00 บาท
7. โครงการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ 600,000.00 บาท
8. โครงการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ 289,626,730.00 บาท
9. โครงการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ 195,072,737.00 บาท
10. โครงการทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 1 773,000.00 บาท
11. ทุนการศึกษาเด็กโครงการเขียนเรียงความ งวดที่ 3 402,519,000.00 บาท
12. โครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” 446,469,420.00 บาท
13. ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย 2,000,000.00 บาท
14. ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย 470,227,000.00 บาท
15. ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยที่ศึกษา ณ ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย 11,340,000.00 บาท
16. โครงการเขียนเรียงความสำหรับเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส 402,519,000.00 บาท
17. โครงการประชาสัมพันธ์งานและพัฒนายุทธศาสตร์ สำหรับแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส 31,000,000.00 บาท
18. ทุนการศึกษาบุตรธิดาอาสาสมัครสาธารณสุข 2,000,000.00 บาท
19. ทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดาผู้ทำประโยชน์แก่สังคมและราชการ 526,221,000.00 บาท
20. พิธีมอบทุนสนับสนุนการศึกษาในส่วนของต่างจังหวัด 600,000.00 บาท
21. โครงการทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 1 (1 อำเภอ 1 ทุน) 186,297,575.00 บาท
22. ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย 1,691,773,173.00 บาท
23. ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย 8,950,000.00 บาท
24. ทุนการศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา 4,521,067.00 บาท
25. ทุนการศึกษาของนักเรียนระดับอุดมศึกษา 276,360,892.00 บาท
26. ทุนการศึกษาของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอ 3,463,308.00 บาท
27. โครงการบัณฑิตเพื่อความมั่นคง 1,374,000.00 บาท
28. โครงการแก้ไขปัญหาเด็กที่ได้รับผลกระทบ เด็กด้อยโอกาส 49,700,000.00 บาท
29. ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อยแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อน 120,348,960.00 บาท
30. ทุนการศึกษาโครงการเขียนเรียงความสำหรับเด็กและเยาวชน 798,499,960.00 บาท
31. ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย งวดที่ 3 852,584,110.00 บาท
32. โครงการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส 9,496,000.00 บาท
33. ทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดาผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและราชการ 317,355,680.00 บาท
34. โครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” 91,227,307.00 บาท
35. โครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” 9,778,067.00 บาท
36. โครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” 3,463,308.00 บาท
37. โครงการแก้ไขปัญหาเด็กพิการ เด็กเร่ร่อน และเด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคเอดส์
19,102,290.00 บาท
38. ค่าใช้จ่ายจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ประจำปี 2548 35,000,000.00 บาท
39. ค่าใช้จ่ายโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ประจำเดือนกันยายน 2548 385,091,348.00 บาท
40. ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยที่ศึกษา ณ ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย 3,024,000.00 บาท
41. โครงการ “โรงเรียนแกนนำจัดการเรียนร่วมระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคล
ออทิสติก” 2,424,114.00 บาท
42. ค่าใช้จ่ายในกระบวนการคัดเลือกผู้รับทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 2 44,065,000.00 บาท
43. ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย งวดที่ 1 สำหรับทุนการศึกษาปี 2548 1,590,320,300.00 บาท
44. ทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดาผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและราชการ งวดที่ 1 สำหรับทุนการศึกษาปี 2548 606,667,840.00 บาท
45. ทุนการศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา 4,513,391.00 บาท
46. ทุนการศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา 273,437,422.29 บาท
47. โครงการแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 2
ปี 2549 88,013,264.50 บาท
48. ทุนการศึกษาแก่บุตร-ธิดาผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและราชการ งวดที่ 2 สำหรับทุนการศึกษาปี 2548 2,170,034,540.00 บาท