ย้อนนาทีบุกรวบอธิบดี รีดใต้โต๊ะแลกโยกย้าย ตะลึงเงินซองเป็นฟ่อน เจ้าตัวอ้างถูกกลั่นแกล้ง

นับเป็นคดีสุดอื้อฉาวส่งท้ายปีที่เกิดขึ้นในแวดวงราชการ เมื่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และตำรวจ ปปป.ผนึกกำลังบุกจับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับอธิบดีคาห้องทำงาน

ในขณะที่เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกรม หลังมีหลักฐานว่าเรียกรับสินบนเพื่อช่วยเหลือในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย

พร้อมหลักฐานเป็นเงินสดที่ลงบันทึกประจำวันไว้ แถมหลังจากตรวจสอบห้องทำงาน พบเงินสดในซองปิดผนึก เขียนชื่อเจ้าของซองชัดเจนอีกกว่า 5 ล้านบาท

สร้างความตกตะลึงให้กับข้าราชการที่มาร่วมประชุม เพราะอธิบดีคนดังกล่าวเพิ่งมีคำสั่งงดรับกระเช้าของขวัญปีใหม่ แต่กลับมีซองเงินเต็มห้อง!!!

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าตัวปฏิเสธ และได้รับการประกันตัวออกไปต่อสู้คดี ก็ต้องว่ากันต่อตามพยานหลักฐาน

แต่ก็ส่งผลถึงความเชื่อมั่น และกลายเป็นคำถามถึงความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงต้นสังกัด และรัฐบาลที่อ้างถึงความสุจริตเป็นที่ตั้งอยู่ตลอดเวลา

ว่าจริงหรือไม่อย่างไร!??

ชัยวัฒน์โชว์หลักฐาน

บุกจับอธิบดีคาห้องทำงาน

การบุกจับอธิบดีครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ในขณะที่มีการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ของกรมเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง และมีอีกส่วนที่เข้าร่วมเพื่อรออวยพรปีใหม่ให้กับอธิบดี

ขณะที่การประชุมดำเนินไป เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บุกเข้ามาในห้องประชุมกะทันหัน พร้อมเชิญตัวนายรัชฎาเข้าไปในห้องเพื่อพูดคุย ท่ามกลางความงุนงงให้กับข้าราชการที่ร่วมประชุมอยู่

โดยที่มาของเรื่องดังกล่าว เกิดจากการได้รับข้อมูลว่า นายรัชฎามีพฤติกรรมใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชา แลกกับการไม่ถูกโยกย้ายตำแหน่ง โดยเรียกเก็บเงินจากหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามทั่วประเทศ หากหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถนำเงินมาจ่ายให้ได้ ก็จะถูกโยกย้ายออกจากตำแหน่งเดิมและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในพื้นที่ที่ห่างไกลจากภูมิลำเนา

จนทุกคนต้องวิ่งเต้นกับอธิบดี เพื่อไม่ให้ถูกโยกย้ายรายละประมาณ 200,000-300,000 บาท นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นรายเดือน เพิ่มเติมจากที่เรียกเก็บในอัตราดังกล่าวอีกด้วย

เจ้าหน้าที่สืบสวนกิจการพิเศษ ป.ป.ช. และตำรวจ บก.ปปป. ได้นำเงินสดจำนวน 98,000 บาท ที่ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน นำไปมอบให้กับผู้เสียหาย ที่มีนัดจะพบอธิบดีในช่วงเช้าวันดังกล่าว พร้อมวางกำลังเฝ้าสังเกตการณ์โดยรอบ

เมื่ออธิบดีรับซองเงินดังกล่าว แล้วไปเป็นประธานการประชุม เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปแสดงตนพร้อมจับกุมนายรัชฎา พร้อมนำมาตรวจค้นห้องทำงาน ซึ่งก็พบเงินสด 98,000 บาท วางอยู่บนโต๊ะทำงาน ตรวจสอบพบหมายเลขธนบัตรตรงกับที่ลงบันทึกประจำวันทุกฉบับ

นอกจากนี้ ยังพบซองเงินภายในห้องดังกล่าว มีเงินสดยัดแน่นมูลกว่าอีกเกือบ 5 ล้านบาทด้วย

จึงแจ้งข้อหาความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การสอบสวนชั้นจับกุม นายรัชฎาให้การภาคเสธว่ารับซองดังกล่าวมาจริง แต่ไม่ทราบว่าข้างในมีเงินอยู่ ส่วนเงินอีกกว่า 5 ล้านที่อยู่ในห้อง ไม่ได้ชี้แจงถึงที่มาที่ไป

โดยหลังจากสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ให้ประกันในชั้นพนักงานสอบสวน ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 4 แสนบาท ซึ่งพนักงานสอบสวนพิจารณาเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นข้าราชการระดับสูง มีตำแหน่งหน้าที่การงานมั่นคง ประกอบมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่น่าหลบหนี

อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว!!!

ตะลึงเงินเป็นฟ่อน

แฉรีดเงินลูกน้องแลกโยกย้าย

สําหรับการวางแผนล่อซื้อครั้งนี้ มีจุดเริ่มต้นจากที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ปปป. เพื่อแจ้งเอาผิดนายรัชฎา หลังพบว่ามีพฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่เหมาะสม กลั่นแกล้งโยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ที่ไม่ยอมจ่ายเงินวิ่งเต้นจำนวน 500,000 บาท ไปยังตำแหน่งอื่นๆ ที่ห่างไกลจากภูมิลำเนาหรือที่พักอาศัย

อีกทั้งยังมีพฤติกรรมเรียกเก็บเงินจากหัวหน้าหน่วยงานภาคสนาม คิดตามอัตราส่วนจากหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ เช่น อุทยานแห่งชาติ, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะเก็บ 18.5 เปอร์เซ็นต์ จากหมวดงบฯ ดำเนินงานและค่าใช้สอย หรือหน่วยป้องกันไฟป่า 30 เปอร์เซ็นต์ จากหมวดงบฯ ดำเนินงาน และค่าใช้สอย

ซึ่งจากการรวบรวมพยานหลักฐานภายในห้องทำงานของนายรัชฎา พบซองเงินต่างๆ รวมเงินกว่า 5 ล้านบาท โดยแต่ละซองมีชื่อบุคคล เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมอุทยานฯ ชัดเจน ประมาณ 20 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบและออกหมายเรียกมาสอบสวน

ทั้งนี้ พบว่าซองเงินต่างๆ มีตัวเลขยอดเงินแต่ละซองแตกต่างกัน บางซองมีเงินถึง 1.6 ล้านบาท บางซองมียอดเงินหลักหมื่น แต่มีเศษปลีกย่อยหลักร้อย ซึ่งสอดคล้องกับพยานที่ระบุว่าการเรียกรับเงินคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของงบประมาณที่ได้รับ ทำให้ยอดเงินแตกต่างกันออกไป

โดยต่อจากนี้หลังจากสอบสวนบุคคลที่มีชื่อบนซองแล้วจะดำเนินคดีหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ให้ความร่วมมือ ให้การเป็นประโยชน์ ก็จะกันตัวไว้เป็นพยาน

นอกจากนี้ พบว่ายังมีหลักฐานสำคัญเป็นคลิปเสียงสนทนาในขณะเจรจาส่งมอบซองเงินรายเดือน ซึ่งสอดคล้องกับซองเงินของกลางที่ตรวจยึดได้จากลิ้นชักห้องทำงานนายรัชฎา รวมทั้งบทสนทนาการต่อรองเงินค่าวิ่งเต้นโยกย้ายตำแหน่ง ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นภายในหน่วยงาน โดยมีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ รายหนึ่งถูกร้านค้าฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะติดค้างเงินค่าน้ำมันและวัสดุของใช้ต่างๆ เป็นเงินกว่า 4 แสนบาท แต่หาเงินมาคืนไม่ได้เพราะนำเงินที่เบิกมาแล้วส่งให้นายรัชฎาไปหมดแล้ว

ด้านนายรัชฎาให้การว่าที่ถูกร้องเรียนเพราะมีปัญหาขัดแย้งส่วนตัวกับนายชัยวัฒน์

อ้างว่าถูกกลั่นแกล้งนั่นเอง!!!

จับถึงห้องทำงาน

รมว.ทส.โต้พัลวันโยงการเมือง

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างมาก จนเกิดการตั้งคำถามว่า การที่คนระดับอธิบดีเรียกรับเงินใต้โต๊ะจากลูกน้อง เป็นการกระทำเพียงคนเดียว หรือมีขบวนการเข้าไปเกี่ยวข้อง และจะเชื่อมโยงไปถึงไหน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 336/2565 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ให้นายรัชฎามาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ทราบข่าวก็ตกใจ ทุกอย่างขอให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ยืนยันว่าตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2562 ก็มอบนโยบายกับผู้บริหารกระทรวง ในเรื่องตำแหน่ง ให้ดำเนินการโดยสุจริต

พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นก็ย้ำปลัดกระทรวงไปอีกในเรื่องความโปร่งใส ไม่ให้ซื้อขายตำแหน่ง ส่วนจะต้องรื้อโผหรือไม่ ตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้รายละเอียด และระเบียบราชการเป็นอย่างไร

ส่วนที่มีการตั้งคำถามว่าอาจมีฝ่ายการเมืองเกี่ยวข้อง ยิ่งในช่วงใกล้เลือกตั้ง นายวราวุธระบุว่า เรื่องแบบนี้เรามักได้ยินกันอยู่เสมอ เพราะเป็นเรื่องง่ายที่จะอ้างโยงมาถึงภาคการเมือง ใครก็พูดได้ แต่ต้องเอาข้อเท็จจริงมาว่ากัน

ขณะที่นายชัยวัฒน์เข้าให้ปากคำตำรวจ ปปป. เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 พร้อมมอบเอกสารหลักฐานประกอบคำร้อง ยืนยันไม่ได้มีเรื่องขัดแย้งเป็นส่วนตัวอะไรกับนายรัชฎา แถมระบุว่าก่อนหน้านี้เคยได้เข้าพูดคุย ขอร้องว่าอย่าเก็บเงินแบบนี้เลย มันไม่ถูกต้อง เพราะการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ลำบากมากพออยู่แล้ว ชีวิตเดินป่า ลาดตระเวน ปกป้องป่าแทบจะไม่มีความสุข แล้วต้องกระเบียดกระเสียรหาเงินให้นาย มันไม่ถูกต้อง

หลังจากเกิดเรื่องมีคนเข้ามาให้กำลังใจ บางคนโทรศัพท์มาหา บอกขอบคุณพี่ที่ทำเพื่อพวกผม ผมจะตอบแทนด้วยการดูแลรักษาป่าแทนพี่ ผมเหลืออายุราชการอีกปีกว่า ก็โอเคแล้ว คุ้มแล้วกับสิ่งที่ทำ และไม่เกรงกลัวหากจะมีการข่มขู่คุกคาม

“ช่วงปลายตุลาคม เข้าไปคุยกับอธิบดี หลังจากกลับเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ซึ่งทั้งเดือนก็อยู่ช่วยน้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี และศรีสะเกษ ก็เจอปัญหาเจ้าหน้าที่เราต้องไปกู้เงิน จำนำรถ เพื่อเอาเงินมาจ่ายในระบบ จึงไปคุยกับอธิบดี บอกไม่ไหวหรอกเรื่องแบบนี้ ถ้าเก็บแบบนี้เขาจะทำงานอย่างไร เมื่อก่อนก็ไม่มีเก็บแบบนี้ แต่คุยแล้วเขาไม่ยอม ยืนยันจะให้จ่ายแบบเดิม จึงจำเป็นต้องนำข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ จนถูกจับกุมในที่สุด”

เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันต่อไป!!!