ไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ดันทุรัง : ย้อนรอยเส้นทาง เมื่อรัฐบาลประยุทธ์-ทัพเรือไทย อยากได้เรือดำน้ำจีน

โครงการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ของกองทัพเรือไทย นับเป็นโครงการ “บิ๊กโปรเจ็กต์” อมตะตลอดกาลที่ “ราชนาวีไทย” แสดงเจตจำนงต้องการ “เรือดำน้ำ” มานานหลายปี หลังปลดประจำการ “เรือดำน้ำ” ยี่ห้อปลาดิบยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้ง 4 ลำแรกของไทย

นั่นคือ ร.ล.มัจฉาณุ ลำที่สอง, ร.ล.วิรุณ, ร.ล.สินสมุทร, ร.ล.พลายชุมพล ในปี พ.ศ.2494

แม้ว่า “ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)” ทุกยุคทุกสมัยจะมีความพยายามสานต่อโปรเจ็กต์แห่งความฝันเพียงใด แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลมาโดยตลอด อันเนื่องมาจากสาเหตุงบประมาณที่มหาศาลและสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีงบไม่เพียงพอ

แต่ความฝันอยากมีเรือดำน้ำ เป็นจริงได้ที่สุดหลังการรัฐประหารปี 2557 นี้เอง

เริ่มจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ได้รื้อลิ้นชักหยิบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง

ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาและคัดเลือกได้ศึกษารายละเอียด และการดำเนินกาจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือและผลักดันโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ

มติชนสุดสัปดาห์ จึงขอพาผู้อ่านไปย้อนดูมหากาพย์จัดซื้อเรือดำน้ำจีน ว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร จุดเปลี่ยนอยู่ตรงไหน และเราเดินทางกันมาแบบงงๆ ถึงจุดนี้ได้อย่างไร ที่แม้แต่เครื่องยนต์สำคัญก็ยังอาจจะได้เครื่องที่ไม่ตรงกับในสัญญา…

8 กรกฎาคม 2558

ทำเรือทำแผนเสร็จ ยันดำอ่าวไทยได้ชัวร์ / พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เปิดเผย ขั้นตอนของกองทัพเรือเสร็จแล้ว เป็นเรือของสาธารณรัฐประชาชนจีน รุ่น เอส26 ที จำนวน 3 ลำ “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพอเราจะจัดหาเรือดำน้ำแล้วไม่ได้ แต่ทำไมพอซื้ออย่างอื่นแล้วเฉย พอพูดถึงเรือดำน้ำ ก็ไปคิดกันอย่างโน้นอย่างนี้ อ่าวไทยไม่ได้ตื้นถึงขนาดใช้เรือดำน้ำไม่ได้ เพราะไปศึกษาในรายละเอียดมาแล้ว” พล.ร.อ.ไกรสรกล่าว

“เรือดำน้ำของจีนแบบเอส 26 ที ตอบโจทย์มากสุด เพราะของยุโรปเสนอขายแค่เรือ ไม่มีอาวุธและการดูแลรักษา ตลอดจนถึงการซ่อมบำรุง มาแต่เรือเราก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีอาวุธ ส่วนของจีนมีพร้อม รวมทั้งอะไหล่อีก 8 ปี” พล.ร.อ.ไกรสรกล่าว

1 กรกฎาคม 2559

ซื้อแน่เรือดำน้ำจีน 3ลำ ลำละ1.2หมื่นล้าน /พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้สัมภาษณ์ว่า แผนจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ มูลค่าลำละ 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น ถือว่าไม่มากเนื่องจากสามารถผ่อนชำระเป็นเวลาร่วม 10 ปี ทั้งยังสามารถใช้งานได้ยาวนาน ส่วนเรื่องเทคโนโลยีของจีนที่หลายฝ่ายยังมีข้อกังขาว่าสู้ชาติอื่นไม่ได้นั้น ตนรับรองว่ามันดีแล้ว ใช้ได้แน่นอน แล้วเป็นเทคโนโลยีใหม่ ทรัพยากรธรรมชาติฝั่งอันดามันของเรามีจำนวนมาก อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านเราก็ล้วนแต่มีเรือดำน้ำทั้งหมด เมียนมายังมีตั้ง 10 ลำ ซึ่งไม่ได้ซื้อเรือเก่าเลย

4 กรกฎาคม 2559

สหรัฐฯไม่ขายให้ / พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า คณะกรรมการขึ้นมาคัดเลือกเรือดำน้ำจากประเทศต่างๆ และมีมติเอกฉันท์เลือกเรือดำน้ำของประเทศจีน เลือกที่ผลิตจากประเทศจีน ไม่ใช่เพราะอาวุธและยุทโธปกรณ์จะซื้อที่ไหนก็ได้ แต่ตอนนี้ไทยซื้อจากสหรัฐอเมริกาไม่ได้

“ถ้าเราไปซื้อที่อื่นเราซื้อไม่ได้แบบนี้ เพราะ1ลำมีราคามากกว่าของจีนถึง 3 เท่าตัว ถ้าไปซื้อของประเทศอื่นได้ 1 ลำ แต่ของจีนได้ 3 ลำ และใช้งานได้นาน แต่ถ้าเรามีเงินมากเราก็ซื้อได้หมด ผมเองก็อยากได้เรือดำน้ำของยุโรป ส่วนที่มีการมองว่าเราจะเป็นหนูทดลอง เพราะรุ่นที่ซื้อจากจีนนั้นยังไม่มีประเทศใดใช้ ผมมองว่าจีนเขามีประกัน 10-15 ปี มีการรับประกันซ่อมแซม และมีท่าเรือพร้อม ไม่ใช่อยู่ดีๆจะนำมาใช้” พล.อ.ประวิตร กล่าว

1 กันยายน 2559

ปชช.90.4% ไม่เห็นด้วยโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ / พีเพิลโพล (ประเทศไทย) เป็นการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ ผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,375 คน เห็นด้วยกับ โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ จำนวน 3 ลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาทหรือไม่ ? เห็นด้วย 5.1% (121 คน) ไม่เห็นด้วย 90.4% (2,148 คน)

24 มกราคม 2560

ครม.เคาะซื้อเรือดำน้ำจีน 1 ลำ มูลค่า 1.35 หมื่นล้าน / พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษก ทร. กล่าวถึงกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากจีน ผ่านความเห็นชอบแล้วจากรัฐบาล-สนช. เตรียมจัดซื้อลำแรกปี 2560 ในงบประมาณ 13,500 ล้านบาท มีราคาแพงกว่าซื้อเหมา 3 ลำ ราคาเหมาจ่าย 36,000 ล้านบาท เป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพราะทางกองทัพเรือได้งบประมาณมาเท่านี้ โดยเป็นราคาแพคเกจ รวมระบบ อาวุธ การฝึกศึกษา อบรม ส่งบุคลากรจากจีนมาไทย และการซ่อมบำรุง ใช้เวลาต่อเรือ 6 ปี

7 มีนาคม 2560

ดูแผนสร้างโรงซ่อมเรือดำน้ำ / พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมหน่วยงานของกองทัพเรือ ดูการเตรียมความพร้อมในการซ่อมบำรุงเรือดำน้ำที่จะมีเข้าประจำการในอนาคต

21 มีนาคม 2560

เรือดำน้ำจีนถูกสุด ซื้อ 2 แถม 1 คุณภาพใช้ได้ / พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า เรือดำน้ำซื้อ 2 ลำ แถมมา 1 ลำ ขอให้ทุกคนเข้าใจเหตุผลความจำเป็นในการที่จะต้องมี และถ้าต้องมี จะซื้อจากไหน เพราะเราผลิตเองไม่ได้ และไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อของแพงๆ

“กรณีนี้รู้สึกว่าราคาจะถูกที่สุด และคุณภาพใช้ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

28 มีนาคม 2560

ฟุ้งซื้อราคามิตรภาพ-ก็ดำน้ำได้เหมือนกัน / พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า วางช่วงเวลาไว้ 3 ระยะ คือระหว่างปี 2560-2566, 2564-2569, และ2565-2570 เป็นการใช้จ่ายเงินในวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท และเป็นราคามิตรภาพ ปกติเรือดำน้ำ ราคาลำละ 1.8 หมื่นล้านบาท แต่เท่าที่พูดคุยวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาทซื้อได้ถึง 3 ลำ เหมือนกับซื้อ 2 ลำ แถม 1 ลำ รวมถึงระบบอาวุธด้วยพร้อม

“ถามผมว่าผมอยากซื้อของประเทศอื่นไหม ผมก็อยากซื้ออาจจะดูดี ชื่อเสียงดี คุณภาพดีกว่า 3 เท่า แล้วจะซื้อได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่ก็ดำน้ำได้เหมือนกัน คนก็ปลอดภัย มันก็มีวิธีการที่จะต้องคิดใหม่ ในการจัดซื้อจัดหาจำเป็นก็ต้องทำ ถ้าไม่จำเป็นจะไปทำให้เมื่อยและถูกตำหนิทำไม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

5 เมษายน 2560

ขนาดกบฎต่างประเทศ ยังมีเรือดำน้ำ / พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นของกองทัพเรือในการที่จะมีเรือดำน้ำเนื่องจากกองทัพเรือได้ตรวจสภาวะแวดล้อมในภูมิภาคของโลกแล้วเราเจอภัยคุกคามในรูปแบบ ต่างๆอาทิ กรณีของเรือเกาหลี ถูกยิงด้วยอาวุธใต้น้ำจนถึงขณะนี้ ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง หรือแม้แต่กบฏ พยัคฆ์ทมิฬอีแลมใช้เรือดำน้ำ ในการต่อตี เรือปฏิบัติการตามชายฝั่งของศรีลังกา นี่คือตัวอย่าง หากเรายังมีจุดอ่อนเช่นนี้

24 เมษายน 2560

แอบนำเรื่องเรือดำน้ำเข้าครม.จนผ่านเรียบร้อย /โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ที (Yuan Class S26T) จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา แต่เพิ่งถูกเปิดเผย

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า า ครม.มีมติอนุมัติโครงการดังกล่าวจริง ที่ไม่แถลงเพราะเป็นเอกสารลับ หรือมุมแดง และเป็นโหมดงานด้านความมั่นคง จึงไม่จำเป็นต้องแถลง

25 เมษายน 2560

อนุมัติเรือดำน้ำนานแล้ว งงจะรู้ไปทำไม / พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า “ผมจำไม่ได้ ผ่านไปนานแล้ว เอาเป็นว่าผมอยู่ในที่ประชุมแล้วกัน พวกสื่อจะรู้ไปทำไม หรือจะต้องถามด้วยว่าจะหายใจอย่างไร จะต้องถามกันอย่างไร จะเกิดประโยชน์อะไรกับประเทศบ้าง ในเมื่ออนุมัติแล้ว แล้วเป็นอย่างไร ก็ให้รู้ว่าอนุมัติแล้วก็จบ ไม่ต้องไปลงว่าอนุมัติวันที่เท่าไร ในเมื่อเป็นเอกสารลับก็ต้องลับอย่างนี้ ดีก็แล้วกันไม่เห็นเป็นอะไรเลย และยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการอนุมัติเงียบ ครม.ทั้งคณะรู้ทั้งหมด

26 เมษายน 2560

คำนึงปากท้อง-ทำไมต้องเป็นความลับ / น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนมูลค่า 1.35 หมื่นล้าน ในฐานะเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็เข้าใจในเรื่องความต้องการที่จะมีเรือดำน้ำไว้เพื่อป้องกันประเทศเพื่อความมั่นคง แต่วันนี้บ้านเมืองยังอยู่ในสภาวะปกติ อาจมีบางส่วนที่สามารถที่จะชะลอได้ แล้วนำงบประมาณนั้นไปใช้ในสิ่งที่เร่งด่วนกว่า ซึ่งในวันข้างหน้าหากมีงบประมาณและมีความสามารถในการหารายได้มากขึ้น มีงบประมาณเหลือเพียงพอ ก็สามารถที่จะซื้อสิ่งที่ต้องการหรือต้องใช้ในอนาคตได้

การนำเข้ามาพิจารณาในครม.ไม่ควรจะพิจารณาในลักษณะของวาระลับเพราะเรื่องนี้ประชาชนติดตามกันทั้งประเทศอย่างน้อยควรให้มีโอกาสได้รับทราบ ถ้าการใช้ริมแดงแบบนี้ตลอดจะไม่มีโอกาสได้รู้ แม้กระทั่งการตรวจสอบความคุ้มค่าในการลงทุนหรือแม้กระทั่งราคาซื้อ ประชาชนทุกคนต้องติดตามเงินงบประมาณที่เกิดจากเงินภาษีของประชาชน ยิ่งยามบ้านเมืองเช่นนี้จะต้องมาช่วยกันดู สมัยดิฉันเมื่อพิจารณาแล้วก็ได้ขอให้ทางกองทัพเรือชะลอในการจัดซื้อและเอาเงินไปพัฒนาส่วนอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนแทน” ยิ่งลักษณ์ กล่าว

27 เมษายน 2560

มติเรือดำน้ำไม่งดงาม / นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ระบุว่า เมื่อมีการที่อนุมัติไปแล้วแต่ไม่ได้มาแถลงมติ จนกระทั่งมีคนไปรู้จึงทำให้ไม่ค่อยงดงามเท่าไหร่ เพราะคนที่ไม่เห็นด้วยก็มีอยู่แล้ว คนที่หวาดระแวงว่าจะมีอะไรหรือไม่ก็มีอยู่แล้ว

1 พฤษภาคม 2560

ยกคณะชี้แจง / พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมคณะ ชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการ ณ โรงเก็บอากาศยาน เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ลั่นซื้อ เรือดำน้ำจีน”เหมาะสม พิจารณารอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ข้อดีของการใช้งานเรือดำน้ำแบบ S26T 1. ด้านการซ่อนพรางตัว 2. ด้านระบบอาวุธที่มีหลากหลายและรุนแรง 3. ด้านความปลอดภัย

พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมคณะ ชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการ

2 พฤษภาคม 2560

ไม่ต้องแจงเรือดำน้ำ / พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากล่าวในที่ประชุมกรณีที่กองทัพเรือแถลงข่าวชี้แจงการจัดซื้อเรือดำน้ำโดยละเอียด ว่า เรื่องลักษณะนี้ ไม่จำเป็นต้องชี้แจงมาขนาดนี้ว่าเรื่องดำน้ำที่เราซื้อมีอะไรอย่างไรบ้าง ทำให้ต่างชาติรู้กันหมดในเรื่องความมั่นคงไม่ใช่เรื่องที่เราต้องชี้แจง เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องความมั่นคง เป็นเรื่องความลับทุกประเทศเขาทำเหมือนกันหมด คือ ไม่ได้ชี้แจงในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง

5 พฤษภาคม 2560

ลงนามเซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำ / พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาจัดซื้อเรือดำน้ำจีน ในฐานะตัวแทนกองทัพเรือ ได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T จากบริษัท CSOC รัฐวิสาหกิจของกลาโหมจีน แบบ G to G แล้ววันนี้

9 พฤษภาคม 2560

สตง.ไม่พบผิดปกติซื้อเรือดำน้ำ / พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงกรณีความคืบหน้าในการตรวจสอบการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ว่า จากการดูจากข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฏยังไม่พบนัยสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่ถือเป็นภาระและเรื่องงบประมาณ การทำจีทูจี เป็นการกำหนดให้เป็นการซื้อขายเป็นรัฐต่อรัฐ ก็เป็นผลดีต่ออนาคต เพราะจะมีหลักประกัน ที่รัฐบาลจีนจะเข้ามารับผิดชอบดูแล

26 กรกฎาคม 2560

มติผู้ตรวจฯ ยันจัดซื้อโปร่งใสไม่ขัดรัฐธรรมนูญ / นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลง ยืนยัน จากการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว มิได้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด กรณีนี้จึงไม่เป็นไปตามมาตรา 230 และ 231 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

“การดำเนินการจัดซื้อเรือดำน้ำได้ดำเนินการภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ ไม่ได้เป็นการสร้างภาระแก่ประเทศชาติหรือประชาชนโดยไม่จำเป็น” นายรักษเกชา ระบุ

15 มกราคม 2563

ผบ.ทร. เดินหน้าเรือดำน้ำลำที่ 2-3 จากจีน / พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงแผนงานหลังรัฐสภาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณซึ่งมีโครงการเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ว่า เรื่องเรือดำน้ำจบไปตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่มาพูดว่ามีหรือไม่มี ตอนนี้เดินไปตามแผนงานและโครงการ ในงบประมาณปี 63 ก็ดำเนินงานตามปกติในการจัดซื้อจัดจ้างตามระบบราชการ ไม่มีอะไรแปลกใหม่

21 สิงหาคม 2563

เสียงค้านสู้ไม่ไหว มติผ่านจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ / ที่ประชุมอนุกรรมธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ที่มีนายสุพล ฟองงาม เป็นประธาน แจ้งว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท

23 สิงหาคม 2563

จ่ายก้อนแรกแค่3.9พันล้าน/ กองทัพเรือออกเอกสารแจงใช้งบในกรอบจ่าย’เรือดำน้ำ’ ชี้ปี’64 งวดแรก 3.9 พันล้าน ไม่ใช่ 22,500 ล้านตามข่าว โอดยอมชะลองบ’63 ช่วยโควิด-19 ไม่มีใครพูดถึง

24 สิงหาคม 2563

กองทัพเรือแจงโปร่งใส่ ก้าวไกลโผล่ฟัง / กองทัพเรือแถลงยืนยัน จัดหาเรือดำน้ำอย่างโปร่งใส ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมตอบโต้ นายยุทธพงษ์ จรัสเสถียร ส.ส.เพื่อไทย บิดเบือน สร้างความแตกแยก ทำกองทัพถูกเกลียดชัง ชี้หวังผลทางการเมืองไม่เหมาะสม ยกกรณีจำนำข้าวเป็นจีทูจีเก๊ แต่กองทัพเรือซื้อจีทูจีถูกต้อง โดยมี นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และประธานวิปพรรคก้าวไกล และนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล รองประธานคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร โผล่ร่วมฟังงานแถลงข่าวชี้แจงเหตุผลการจัดหาเรือดำน้ำ

กองทัพเรือแถลงยืนยัน จัดหาเรือดำน้ำอย่างโปร่งใส ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมตอบโต้ นายยุทธพงษ์ จรัสเสถียร ส.ส.เพื่อไทย

25 สิงหาคม 2563

ไทยภักดีจุดยืนเห็นด้วยกองทัพ / นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี แสดงจุดยืนเห็นด้วยกองทัพ หนุนทุ่ม 2.2 หมื่นล้าน ซื้อเรือดำน้ำ ชี้ ประเทศรอบบ้านไทย ล้วนมีศักยภาพเรื่องเรือดำน้ำกันเกือบทั้งสิ้น

25 สิงหาคม 2563

มติ “ประชาธิปัตย์” ก็ไม่เอาเรือดำน้ำ / พรรคประชาธิปัตย์ มีมติให้กองทัพเรือถอน การจัดซื้อเรือดำน้ำออกจากกมธ.งบชุดใหญ่ ขู่หากไม่ถอย โหวตไม่ผ่านแน่ โดยได้แจ้งพรรคพลังประชารัฐแล้ว ว่าประชาธิปัตย์ ไม่เอาเรือดำน้ำ

31 สิงหาคม 2563

นายกฯสั่งชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำอีก 1 ปี / โฆษกรัฐบาลระบุ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้พูดคุยเป็นการภายในกับกระทรวงกลาโหม และกองทัพเรือ ได้ข้อสรุปว่า ให้กองทัพเรือพิจารณาชะลอการสั่งซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3
กองทัพเรือ จึงส่งเอกสาร เเจ้ง กมธ.งบประมาณ ขอปรับลดงบในการจัดหาเรือดำน้ำ จำนวน 2 ลำ ในปีงบประมาณ 2564 ทั้งหมด คงเหลืองบประมาณในปีงบประมาณ 2464 จำนวน 0 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ

31 สิงหาคม 2563

แฟลชม็อบค้านเรือดำน้ำ / บริเวณสกายวอล์ก หน้าศูนย์การค้ามาบุญครอง องค์กรปลดเผด็จการเพื่อเสรีภาพ (Dictatorship Demolition Organisation-DDO) นัดทำกิจกรรม “ภาษีที่โบยบิน” คัดค้านการจัดซื้อเรือดำน้ำ พร้อมมีการปล่อยลูกโป่งที่มีสัญลักษณ์เรือดำน้ำติดอยู่

แฟลชม็อบค้านเรือดำน้ำ บริเวณสกายวอล์ก หน้าศูนย์การค้ามาบุญครอง

2 กันยายน 2563

จุดธูปแห่เรือดำน้ำน.ศ.บริกรรมคาถา ปล่อยลงสระม.รังสิต / ที่ลานพระศรีศาสดามหาวิทยาลัยรังสิต อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี กลุ่ม ‘พะยอมเก๋า’ จัดกิจกรรม ‘รังสิตไม่ใช่ขี้ข้าเผด็จการ’ จัดกิจกรรม ถือป้าย ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ นำขบวน ตามด้วยเรือดำน้ำจำลอง มีตัวเลขข้างเรือ 999997 เดินวนรอบสถานที่จัดชุมนุม 1 รอบ จากนั้น มีการจุดธูป แล้วประกาศทำพิธีปล่อยเรือดำน้ำลงในสระ กล่าวบริกรรมคาถา โดยเอ่ยนามพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ สร้างความฮือฮาให้ผู้ชุมนุม

จุดธูปแห่เรือดำน้ำน.ศ.บริกรรมคาถา ปล่อยลงสระม.รังสิต
จุดธูปแห่เรือดำน้ำน.ศ.บริกรรมคาถา ปล่อยลงสระม.รังสิต

 

4 กันยายน 2563

แจ้งความหมิ่นกองทัพเรือ / น.อ.อรรณพ แจ่มศรีใส ผู้อำนวยการกองกฤษฎีกา สำนักงานพระธรรมนูญทหารเรือ รับมอบอำนาจจากกองทัพเรือ โดย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาร ผช.ผบ.ทร. แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี กับ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานหมิ่นประมาทกองทัพเรือ ทำให้กองทัพเรือได้รับความเสียหาย กรณี แถลงข่าวที่ทำการพรรคเพื่อไทย มีข้อความการจัดสร้างเรือดำน้ำของกองทัพเรือ สรุปความได้ว่า ข้อตกลงนั้นไม่ใช่สัญญาจีทูจี ปกปิดเอกสารมาตลอดสัญญาดังกล่าว เป็นโมฆะ

กองทัพเรือ โดย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาร ผช.ผบ.ทร. แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี กับ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานหมิ่นประมาทกองทัพเรือ ทำให้กองทัพเรือได้รับความเสียหาย

 

6 กันยายน 2563

มีเรือดำน้ำไปทำไม / เพจ กองทัพเรือ โดย โฆษกกองทัพเรือ เผยแพร่บทความเรื่อง มีเรือดำน้ำไปทำไม ให้เหตุผลหลัก ไทยเสียเปรียบด้านภูมิศาสตร์

8 กันยายน 2563

เอาไว้เบ่งให้รู้ว่าไทยกล้ามใหญ่ / นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงควา​มจำเป็นในการซื้อเรือดำน้ำ ไทยมีสองฝั่งทะเล ซึ่งมองว่าควรจะมีเรือดำน้ำ 3 ลำ เพื่อปกป้องและเฝ้าระวัง และเบ่งกล้ามให้รู้ว่าเรากล้ามใหญ่ โดยระหว่างที่นายสันติให้สัมภาษณ์ ได้ยกแขนขวาขึ้นมาทำท่าเบ่งกล้ามประกอบด้วย

9 กันยายน 2563

บริษัทจีนที่ทร.ซื้อเรือดำน้ำ ไม่ใช่ตัวแทนรบ. / นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายกลางรัฐสภา ระบุ เจอพิรุธเพียบ บริษัทจีนที่กองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำ ไม่ใช่ตัวแทนรัฐบาลจีน บริษัทแม่เปิดที่ไทยทุนจด แค่ 5ล้าน หากการซื้อขายครั้งนี้เป็นแบบรัฐต่อรัฐจริง จะต้องมีหนังสือฟูลส์ พาวเวอร์จากรัฐบาล

19 กันยายน 2563

แห่เรือดำน้ำม็อบราษฏร / มีการกิจกรรมการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการแห่เรือดำน้ำจำลองจากบริเวณด้านล่างมายังเวทีใหญ่

 

แห่เรือดำน้ำจำลองจากบริเวณด้านล่างมายังเวทีใหญ่ ม้อบราษฎณ

11 กุมภาพันธ์ 2564

ทัพเรือมาใหม่หวังเปลี่ยนวิธีคิดคนไทย / กองทัพเรือได้ทำการเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เรือดำน้ำไทย Thai Submarines” มีเป้าหมายเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเรือดำน้ำในอดีต และที่กำลังต่ออยู่ในประเทศจีน เพื่อให้ความรู้ บอกความสำคัญของเรือดำน้ำในโลกยุคปัจจุบัน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นและสอบถาม ค้นคว้าข้อมูล เปิดกว้างแลกเปลี่ยนความเห็น

1 มีนาคม 2564

‘โจ้’ ลั่น พร้อมสู้คดี / นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และ กมธ.งบประมาณ ปี 2564 แถลงถึงกรณีตำรวจดำเนินข้อหาหมิ่นกองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำ ว่า ตนเป็นคนแรกที่ออกมาต่อสู้ตัดงบกองทัพเรือไม่ให้ซื้อเรือดำน้ำ เพราะประชาชนกำลังลำบากจากสถานการณ์โควิด ซึ่งตนพร้อมที่จะต่อสู้คดีกับกองทัพ

“ผมถือว่ากองทัพเรือกำลังคุกคาม ส.ส.และ กมธ. ดังนั้น เมื่อเปิดศึกกันแล้วก็จะสู้ โดยจะทำหนังสือร้อง ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ และเอาผิดกับกองทัพเรือ โดยผมมีเอกสารหลักฐานทั้งหมด แรงมา ก็ต้อแรงกลับ” นายยุทธพงศ์กล่าว

17 กรกฎาคม 2564

เสนอจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ ในงบปี’65 จริง / กองทัพเรือยอมรับเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 มูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้าน ในงบฯปี’65 เจรจาจ่ายงวดแรก 1 ใน 3 ยืนยันมีหน้าที่ต้องเสนอ เตรียมข้อมูลแจง กมธ.

18 กรกฎาคม 2564

นักการเมืองตบเท้าเบรกเรือดำน้ำ / ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขณะนั้น เปิดเผยว่า ในฐานะเลขาฯพรรค พปชร. ว่า พรรค พปชร.ไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนกับการจัดซื้อเรือดำน้ำในช่วงเวลานี้ เนื่องจากประเทศอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรง

ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทองและโฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่าตามที่กองทัพเรือเสนอซื้อเรือดำน้ำ และระบุว่าทำตามหน้าที่ ส่วนตัวเองนั้นก็มีหน้าที่พิจารณา และ “พวกผมภูมิใจไทย” ไม่เอาเรือดำน้ำ และว่า ควรจะเอาเงินไปซื้อวัคซีนให้กับเด็กนักเรียน

19 กรกฎาคม 2564

เรือดำน้ำล่ม / ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในส่วนกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้แจ้งต่อที่ประชุมทันทีว่า ขอถอนวาระการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ ออกจากการพิจารณาของที่ประชุม จากนั้นที่ประชุม จึงพิจารณางบประมาณส่วนอื่นๆ ของกระทรวงกลาโหมไปตามวาระปกติ

6 มกราคม 2565

ทร.ถอยไม่ดันซื้อเรือดำน้ำจีนลำ 2 และ 3 งบปี 66 / พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) ได้พิจารณาจัดทำงบประมาณของทร.ในปีงบประมาณ 2566 จะไม่เสนอของบจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนลำที่ 2 และ 3 ในกรอบวงเงิน 22,500 ล้านบาท เนื่องจากพิจารณาแล้วว่างบก้อนนี้สูง ควรจะนำงบประมาณส่วนนี้มาใช้ในการพัฒนา ทร. และซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่

28 กุมภาพันธ์ 2565

เยอรมันไม่ขายเครื่องให้/ พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ยอมรับมี การจัดซื้อเรือดำน้ำโดยไม่มีเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเรือดำน้ำที่เยอรมันเป็นผู้ผลิต เนื่องจากเยอรมันไม่ออกใบอนุญาตการขายให้กับทางจีน เป็นปัญหาที่ทางจีนต้องดำเนินการแก้ไข เนื่องจากกองทัพเรือได้ยืนยันความต้องการเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รุ่น MTU396 จากเยอรมัน ตามข้อตกลงไปแล้ว

3 มีนาคม 2565

เอาเครื่องยนต์เยอรมัน ไม่เอาสเปกใกล้เคียง / พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการจัดหาเรือดำน้ำ กล่าว เราว่า ได้ยืนยันกับทางจีนไปว่าเราปฏิบัติตามสัญญา ได้ยืนยันไปแล้วว่าต้องเป็น MTU 396

1 เมษายน 2565

สื่อมะกันแฉปัญหาเครื่องยนต์ / VOA NEWS เผยแพร่รายงานข่าว จีนสั่งระงับโครงการต่อเรือดำน้ำที่ไทยสั่งซื้อไว้ หลังรัฐบาลเยอรมนีปฏิเสธที่จะส่งเครื่องยนต์ชั้นสูงที่จำเป็นสำหรับการสร้างเรือดำน้ำดังกล่าวให้จีน

4 เมษายน 2565

‘ลั่น’ถ้าไม่ได้เครื่องยนต์ ยกเลิกได้ / พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าว ว่า ให้นโยบายไปแล้วว่าให้ดำเนินการให้สำเร็จ เพราะอยู่ในสัญญาอยู่แล้ว แต่หากไม่ได้ก็คือไม่ได้ ต้องทำใหม่ ต้องเป็นอย่างนั้นละมั้ง ถ้ามันไม่ได้จะเอามาทำไม มันไม่มีเครื่อง แล้วไปพูดว่ารัฐบาลจะซื้อเรือดำน้ำที่ไม่มีเครื่องจะซื้อมาทำไม ในเมื่อสัญญาเซ็นไว้แล้วทำไม่ได้ก็ต้องหาวิธีการจะทำอย่างไรต่อไป ทุกอย่างมันต้องแก้อย่างนี้ไม่ใช่หรือ

5 เมษายน 2565

ยันเรือดำน้ำ มีเครื่องยนต์ / พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีจะยกเลิกการจัดซื้อเรือดำน้ำ ในฐานะที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงมองว่าจะยกเลิกได้หรือไม่ เนื่องจากไม่มีเครื่องยนต์ ว่า “มี” ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่จะไม่ได้เครื่องยนต์ MTU ของประเทศเยอรมันตามที่ระบุในสัญญา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “เดี๋ยวได้หมด”

24 มิถุนายน 2565

ไม่มีใครไปซื้อเรือไม่มีเครื่องยนต์ / นายกฯ ระบุ กรณีเรือดำน้ำที่ขาดเครื่องยนต์ ก็ยังต้องรออีก 60 วัน ซึ่งเป็นไปตามสัญญา การดำเนินการต่างๆ ก็มีสัญญาระบุไว้ทั้งหมด คงไม่มีใครไปซื้อเรือดำน้ำที่ไม่มีเครื่องยนต์

9 สิงหาคม 2565

ยืดเวลาให้จีน / กองทัพเรือยืดเวลาพิจารณาสเปกเครื่องยนต์จีนใหม่ ถึง 15 ก.ย. เตรียมเรียกเครื่องตัวจริงพิสูจน์ หากผ่าน กองทัพเรือไทย-ศรีลังกา ใช้เป็น 2 ประเทศแรก ยันไม่มีใบสั่งรัฐบาล ขณะที่จีนจ่อใช้งานโชว์ เพื่อปลดล็อคขัดสัญญา

22 พฤศจิกายน 2565

เรือดำน้ำดีเลย์เกินปี’67 / พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาเรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ คงดีเลย์เกินปี’67 ออกไป ปัจจุบันเกิดปัญหา ความล่าช้าในการจัดหาเครื่องยนต์ ทั้งนี้ หากการประชุมทั้ง 3 ฝ่ายที่จะเกิดขึ้นเดือน ธ.ค.นี้

“ตอนนี้เราก็ยังมีสิทธิยกเลิกได้ตลอด แต่ก็ต้องเจรจากันก่อน ซึ่งเขาก็พยายามเจรจากับกองทัพจีนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย” พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าว

13 ธันวาคม 2565

ทร.แพร่คลิปโชว์เครื่องยนต์จีน / พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่า ตนไม่ทราบว่าเหตุใดกองทัพเรือต้องพยายามชี้แจง เผยแพร่คลิปวิดีโออธิบายการขับเคลื่อนเรือดำน้ำด้วยเครื่องยนต์จากจีน ดูเหมือนเป็นความพยายามอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่จะนำไปสู่การแก้ไขสัญญาและยอมรับเครื่องยนต์ดีเซล CHD 620 ที่ผลิตจากจีน แทนเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมันใช่หรือไม่ ซึ่งหากในการเจรจาวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้ กองทัพเรือยอมแก้ไขสัญญา ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล CHD 620 ของจีนในเรือดำน้ำ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีประเทศใดใช้งานเครื่องยนต์ดังกล่าวมาก่อน แม้แต่ประเทศจีนเอง

15 ธันวาคม 2565

โต้ข่าวตอบรับ-จ่อส่งคนไปดูเครื่องยนต์จีน / พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า กองทัพเรืออยู่ระหว่าง เร่งหารือจีนกรณีเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ยันยังไม่ได้มีการตอบรับหรือปฏิเสธการใช้เครื่องยนต์ฯดังกล่าว โดยกองทัพเรือมีความจำเป็นที่จะต้องจัดส่งคณะผู้แทนไปเข้าร่วมการทดสอบทดลอง ณ โรงงานผู้ผลิตที่ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพิ่มเติมในระหว่างเดือน มกราคม ถึงเดือนเมษายน 2566 ย้ำ ยุทโธปกรณ์จะต้องจัดหาอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นสำคัญ

 

20 ตุลาคม 2566

เรือดำน้ำจมแล้ว! สุทินเสนอจีน ซื้อเรือฟริเกตแทน หวั่นมีปัญหา ใส่เครื่องยนต์จีน นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พิจารณาชะลอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำและเปลี่ยนมาเป็นเรือฟริเกตกับประเทศจีน

โดยระบุว่า “โครงการเรือดำน้ำไม่ยกเลิกไม่พับไม่ระงับ โดยให้ชะลอระยะหนึ่งเพื่อแก้ปัญหานี้ให้เสร็จเมื่อได้เรือฟริเกตแล้วบวกกับเรือฟริเกตเดิมที่มีโครงการจัดหา ก็มาบวกเข้าไปส่วนเรือดำน้ำก็เดินหน้าต่อไป วันใดที่มีความพร้อมประเทศมีความพร้อมก็ทำเรื่องนี้ต่อ”