เมื่อ ‘บิ๊กตู่’ ส่งสัญญาณไปต่อ กองทัพเกาะติด ‘บิ๊กบี้’ ขยับ ตท.23 จ่อยกแผง

เมื่อ ‘บิ๊กตู่’ ส่งสัญญาณไปต่อ กองทัพเกาะติด ‘บิ๊กบี้’ ขยับ ตท.23 จ่อยกแผง ‘บิ๊กจ๋า’ Phoenix มาแรง ‘บิ๊กตุ๊ด’ ชี้เป้า ‘นภา 1’

 

หลังการประกาศไปต่อบนเส้นทางสายการเมือง แม้จะไปได้แค่อีก 2 ปีก็ตาม กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สถานการณ์การเมืองก็เข้มข้นโดยพลัน

พล.อ.ประยุทธ์ดูจะมั่นใจว่าจะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 3 หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้จะระบุว่า ไปได้แค่ปี 2568 ก็ตาม

แต่การลงทุนแยกทางกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ มาตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ และระดมทรัพยากรทั้งหมดจากผู้สนับสนุน เพื่อให้ได้ ส.ส.มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ ทั้งต้องมากกว่า 25 คน เพื่อให้พรรคสามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้ และทั้งต้องให้มากพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือไม่น้อยกว่าพรรคที่จะร่วมรัฐบาลมากนัก

รวมทั้งเชื่อว่า มี “ดีล” กับพรรคภูมิใจไทย ในการจับขั้วร่วมรัฐบาล แม้พรรคภูมิใจไทยจะได้ ส.ส.มากกว่าก็ตาม แต่มีสัญญาณว่า พรรคภูมิใจไทยจะยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีใน 2 ปีแรก จากนั้นเสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ก็จะเป็นนายกฯ ต่อในอีก 2 ปี ที่อาจทำให้นายอนุทินและพรรคภูมิใจไทยยอมดีลด้วย

อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า เมื่อตนเองไปต่อได้แค่ปี 2568 “และจะหาคนใหม่ที่เหมาะสม และเป็นที่ยอมรับ มาทำต่อ” นั้น อาจหมายถึง นายอนุทิน ที่อาจทำให้พรรคภูมิใจไทยมีความหวัง

เพราะถึงอย่างไรก็ต้องยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก่อน เพราะในสภามี 250 ส.ว.ที่พร้อมจะโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อยู่แล้ว

แต่จะมีสิ่งใดรับประกัน แม้สัญญาใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จะส่งไม้ต่อให้นายอนุทิน เพราะหากในพรรคร่วมรัฐบาลสมัยหน้า มีพรรคพลังประชารัฐ ที่คาดว่าจะเสนอชื่อพี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่แล้ว เมื่อถึงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์อาจส่งไม้ต่อให้ พล.อ.ประวิตรก็ได้

หรือ พล.อ.ประยุทธ์อาจเตรียมทายาททางการเมืองไว้ เช่น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ชื่นชมในความสามารถ ระดับอดีตผู้พิพากษา โปรไฟล์ดี แถมเป็นลูกทหาร หรืออาจเป็นบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองราชเลขาธิการ และอดีต ผบ.ทบ. น้องรัก ที่เป็นผู้ช่วยอยู่เบื้องหลังมาตลอด และมีชื่อถูกพาดพิงในเหตุการณ์ต่างๆ และ behind the scene ของ พล.อ.ประยุทธ์เสมอๆ เพียงแต่ว่าในเวลานี้ ยังไม่มีสัญญาณไฟเขียว แต่ในอีก 2 ปีข้างหน้า ไม่มีใครหยั่งรู้ฟ้าดินได้

หรือในอีกทางหนี่ง พล.อ.ประยุทธ์จะยอมหยุดตัวเองที่ปี 2568 จริงหรือไม่ เพราะหากย้อนกลับไปที่การยอมแยกทางแยกพรรค ตั้งพรรค รทสช. ระดมกระแสกระสุนสู้ศึกเลือกตั้ง ก็ไม่น่าจะเพื่อไปต่อแค่ปี 2568 แต่มีแผนที่จะอยู่ให้นานที่สุด เท่าที่จะทำได้

เพราะมีกระแสข่าวสะพัดทั้งการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้ง เรื่องนายกฯ ขาดตอน เพื่อที่จะไปต่อ ครบเทอมในปี 2570 รวมทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเอาข้อกำหนดนายกฯ 8 ปีออกไป เพราะ ส.ว.บางคนก็เริ่มเสนอออกมาแล้ว

ด้วยเพราะการเมืองกลายเป็นสมรภูมิรบของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะต้องสู้กับระบอบทักษิณ เพื่อครองอำนาจรัฐ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องสกัดกั้นไม่ให้พรรคก้าวไกลเติบโต เพื่อปกป้องการปฏิรูปสถาบัน

ขณะที่กองทัพยังคงถูกจับตามอง ในฐานะฐานอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ผู้ที่จะปกป้องสถาบัน โดยในปี 2566 ยังคงมีบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เป็น ผบ.ทบ.คอแดง อยู่เป็นปีที่ 3 และจะเกษียณ 30 กันยายน 2566 เช่นเดียวกับบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุดคอแดง

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะพยายามกระชับระยะห่างกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ทั้งเมื่อพบหน้า ก็จะเข้าพูดคุย มากกว่าคุยกับ ผบ.เหล่าทัพคนอื่น และมีนัดหมายรับประทานอาหารกับ ผบ.เหล่าทัพ เป็นระยะๆ ก็ตาม แต่จุดยืนของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ที่เป็นทหารอาชีพ เคยประกาศให้ลบทิ้งคำว่า ปฏิวัติรัฐประหาร ไปได้เลย

แต่ด้วยเหตุที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ไม่ใช่สายตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเป็นทหารคอแดง และเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย จึงอยู่ในสาย “พระราม 5” ที่ก็มีทหารคอแดงคนสำคัญหลายคนอยู่ในเครือข่าย

ยิ่งตอนนี้เป็นที่รู้กันภายในว่า “กลับมาแล้ว” ที่จะทำให้ทุกอย่างเป๊ะขึ้น โดยเฉพาะการจัดแถวทหารคอแดง หลังจากที่การแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมา พล.อ.ณรงค์พันธ์อาจเกรงใจนายทหารรุ่นพี่ จึงทำให้การจัดวางตัวนายทหารออกมาเช่นที่เห็น

ดังนั้น ทั้งสนามการเมือง และสถานการณ์ ขั้วอำนาจในกองทัพจึงเข้มข้นไม่แพ้กัน แถมกองทัพถูกจับตาเขม็งว่า จะวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมืองในการเลือกตั้ง เพื่อช่วย พล.อ.ประยุทธ์คัมแบ๊กสู่อำนาจ รวมทั้งทหารขั้วของ พล.อ.ประวิตรด้วย

พล.อ.ณรงค์พันธ์ที่คุมเหล่าทัพ ทบ. ที่มีกำลังพลมากที่สุด จึงถูกจับตามองทุกการขยับ

จึงไม่แปลก ที่ก่อนหน้านี้จะมีข่าวสะพัดใน ทบ. ถึงการที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ถูกล้วงคอ ถูกแฮ็กไลน์ และโทรศัพท์มือถือ จนทำให้ต้องเปลี่ยนมือถือ และทำระบบแอพพลิเคชั่นไลน์ใหม่

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ใครที่พยายามจะแฮ็กโทรศัพท์มือถือของ ผบ.ทบ. ที่เป็นหัวหน้าของฝ่ายความมั่นคง สาย ทบ. ที่คุมงานการข่าวกรอง และการสั่งการต่างๆ และที่สำคัญที่สุดคือ คุมกำลังทหารที่ถืออาวุธมากที่สุด อีกทั้งมีระบบเชื่อมต่อกับบุคคลสำคัญ ทั้งฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายความมั่นคง

เพราะ 2 ปีบนเก้าอี้ ผบ.ทบ.นั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์ได้จัดวางฐานอำนาจ แม่ทัพนายกอง ในทุกการแต่งตั้งโยกย้าย ทั้งระดับนายพล ผู้การกรม และผู้บังคับกองพัน โดยเฉพาะ ผบ.หน่วย ทหารคอแดง จนถูกมองว่า พยายามลดอำนาจ 3 ป. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ใน ทบ.

พล.อ.ณรงค์พันธ์ ถือเป็น ผบ.ทบ.ที่พูดน้อย โลว์โปรไฟล์ และเป็นสายธรรมะธัมโม โดยไปทำบุญตักบาตรที่วัดเบญจมบพิตรฯ เกือบทุกเช้า ไปทำบุญ ไหว้พระ ที่วัดราชาฯ

แต่มีความกล้าในการตัดสินใจ

พล.อ.เจริญชัย และ พล.อ.สุขสรรค์

เรื่องหนึ่งคือ การสั่งทุบทิ้งบ่อน้ำพุ หน้าสนามหญ้าหน้า บก.ทบ. ที่เป็นซากความขัดแย้งระหว่าง 2 อดีต ผบ.ทบ. บิ๊กโด่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร กับบิ๊กหมู พล.อ.ธีรชัย นาควานิช อดีตองคมนตรี เพราะ พล.อ.อุดมเดชสร้างในปี 2558 แต่เมื่อ พล.อ.ธีรชัยขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.ต่อ ก็สั่งปิดบ่อน้ำพุ ห้ามใช้งานทันที

โดยที่บ่อน้ำพุที่ถูกปิดตาย ที่หน้า บก.ทบ. ยังคงตั้งประจานความขัดแย้งในอดีตเรื่อยมา ผ่าน ผบ.ทบ.หลายคน แต่ไม่มีใครแตะต้อง เพราะความเกรงใจ แต่ที่สุด ในช่วงปิด บก.ทบ. ช่วงโควิด พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็สั่งทุบทิ้งบ่อน้ำพุนั้นทิ้งเลย เพราะความสูงขวางกั้น การเดิน การจัดกิจกรรมต่างๆ และให้กำลังพลออกกำลังกายในสนามหญ้าได้ง่ายขึ้น และสนามหญ้ากลับมาสวยงาม ในยามที่ต้องรับแขก

รวมทั้งการที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์สั่งปรับภูมิทัศน์ บก.ทบ. และเป็นครั้งแรกที่สร้างกำแพงประวัติศาสตร์ จารึกชื่อวีรชน และทหารนับพันนาย ที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่สงครามโลก ครั้งที่ 1 จนถึงสงครามมหาเอเชียบูรพา สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม จนถึงการปราบปรามคอมมิวนิสต์ และการรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ และชายแดนภาคใต้

โดยเฉพาะการจารึกชื่อ เสธ.เปา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และทหารที่เสียชีวิต รวม 6 นาย จากเหตุกระชับพื้นที่คนเสื้อแดง ในปี 2553 เช่นเดียวกับที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ของกองทัพไทย

พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร, พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ

ดังนั้น จึงน่าจับตามองบทบาทของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ในปีสุดท้าย ก่อนเกษียณจาก ผบ.ทบ. ที่คาดกันว่า จะมีตำแหน่งสำคัญรองรับหลังจากนั้น โดยเฉพาะการเลือก ผบ.ทบ.คนใหม่ ระหว่างบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. และรอง ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ทหารเสือฯ สายตรง พล.อ.ประยุทธ์ และบิ๊กโต พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผช.ผบ.ทบ. และ เสธ.ฉก.ทม.รอ.904 สายตรง ทั้ง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์

ทั้ง พล.อ.เจริญชัย และ พล.อ.สุขสรรค์ เป็นเพื่อน ตท.23 ด้วยกัน และเกษียณ 2567 พร้อมกัน จึงจะมีแค่คนใดคนหนึ่งที่เป็น ผบ.ทบ.เท่านั้น และเป็นเรื่องของชะตาฟ้าลิขิตด้วย

และจะมีผลต่อการดูแลสถานการณ์ทางการเมืองในปลายปีหน้า และปี 2567

และแม้สไตล์ของ 2 ตัวเต็งจะไม่เหมือน พล.อ.ณรงค์พันธ์ แต่ทว่า จุดยืนเหมือนกัน แต่ที่ถูกจับตาคือ สายสัมพันธ์ จะใกล้ชิดกับ 3 ป.มากกว่า จึงทำให้อะไรก็เกิดขึ้นได้

 

นอกจากที่ ทบ. ที่ ตท.23 ชิงเก้าอี้กันเองแล้ว ที่กองทัพอากาศก็น่าจับตามอง เพราะ ตท.23 ถึง 3 คน ที่ชิงเก้าอี้ ผบ.ทอ.กัน คือ บิ๊กหนึ่ง Canon พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา รอง ผบ.ทอ. บิ๊กณะ Vigor พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ เสธ.ทอ. และบิ๊กจ๋า Pheonix พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร ผช.ผบ.ทอ. ที่เกษียณ 2567 พร้อมกัน

แต่หากย้อนดูที่มา ก็เชื่อกันว่า บิ๊กป้อง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ อดีต ผบ.ทอ. วางตัว พล.อ.อ.ณรงค์ไว้เป็น ผบ.ทอ.ต่อจากบิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ. ตามสูตรอำนาจ จากความสนิทสนมที่ว่า “ป้อง-ตุ๊ด-ณะ” เป็นคนละ1 ปี

ส่วน พล.อ.อ.ชานนท์ ที่ถูกมองข้าม ในยุคบิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ เป็น ผบ.ทอ. ต่อมาถึง พล.อ.อ.นภาเดช เพราะถูกตีตราว่าเป็นสายตรง พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบทอ. ที่ขัดแย้งกับ พล.อ.อ.แอร์บูล

แต่การที่ พล.อ.อ.ชานนท์ยังคงอยู่ใน ทอ.ต่อ ไม่โดนเตะไปเป็นรองปลัดกลาโหมในโผที่ผ่านมา แถมได้ขึ้นเป็นรอง ผบ.ทอ. ก็ถือว่าไม่ธรรมดา และไม่อาจมองข้าม เพราะในแง่ความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับใน ทอ.

แต่ที่น่าสังเกตคือ การที่ พล.อ.อ.อลงกรณ์ ผบ.ทอ. ชี้เป้ามาที่ พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ ว่าเป็นแคนดิเดต ผบ.ทอ. ในขณะที่พบปะกับนักข่าว พร้อมชื่นชมในความสามารถ โดยเฉพาะในการดูแลการรักษาความปลอดภัย ช่วงการประชุมเอเปคที่ผ่านมา ในการใช้แผนป้องกันประเทศ นำเครื่องบินรุ่นต่างๆ มาบินลาดตระเวน รวมทั้งเครื่องบิน SAAB 340 AEW มาบินเป็น บก.ลอยฟ้า สแกนดูแล รปภ. จนทุกอย่างเรียบร้อย

ทั้งนี้ พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์เป็น ผช.ผบ.ทอ.ที่ได้รับมอบหมายสายงานกิจการพิเศษ อีกทั้งเป็นระดับ 5 เสืออากาศ คนเดียวที่ พล.อ.อ.อลงกรณ์ชวนไปร่วมงานพบปะสื่อ ที่กองบิน 5 สัปดาห์ก่อน

พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์เป็นนักบิน F5 และ F16 ที่เติบโตมาจากกองบิน 4 ตาคลี นครสวรรค์ และเป็นอดีต ผช.ทูตทหารอากาศ ประจำเยอรมนี ที่เติบโตมาในสายยุทธการ เป็นเจ้ากรมข่าว ทอ. และเจ้ากรมยุทธการ ทอ. ก่อนขึ้นรอง เสธ.ทอ. และเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ทอ. และมาเป็น ผช.ผบ.ทอ. ในการโยกย้ายตุลาคมที่ผ่านมา

ดังนั้น จึงเป็นแคนดิเดต ผบ.ทอ. ที่ไม่อาจมองข้าม เพราะถือเป็นคนเก่งอีกคนของรุ่น และเป็นเพื่อนรักของ พล.อ.อ.ชานนท์

 

ขณะที่ พล.อ.อ.อลงกรณ์ออกตัวไว้ว่า ไม่อยากให้ถึงวันที่ต้องตัดสินใจเลือก ผบ.ทอ.คนใหม่เลย โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม 2566 ที่จะต้องเสนอชื่อ ผบ.ทอ.คนใหม่ อยากจะลาออกเลยด้วยซ้ำ เพราะไม่อยากทำให้ใครเสียใจ ผิดหวัง เพราะทุกคนคือน้องๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องตัดสินใจ

ท่ามกลางการจับตามองว่า พล.อ.อ.อลงกรณ์จะทำตามที่ พล.อ.อ.นภาเดชวางตัว พล.อ.อ.ณรงค์ไว้หรือไม่ เพราะ พล.อ.อ.นภาเดชเป็นคนตัดสินใจเสนอชื่อ พล.อ.อ.อลงกรณ์เป็น ผบ.ทอ.มาแล้ว ทั้งๆ ที่ถูกมองว่าเป็นแคนดิเดตที่มีโปรไฟล์ไม่เด่นเท่าคนอื่นๆ แต่ พล.อ.อ.นภาเดชเลือกเพราะเป็นคนจิตใจดี และมีความสนิทสนมกันมาตั้งแต่วัยเด็ก

แต่ก็ยังมีบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล ผช.ผบ.ทอ. ตท.24 ที่เป็นแคนดิเดตอีกคน ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2568

แต่ก็ต้องรอดูการเมืองด้วยว่า ตอนนั้นใครเป็นรัฐบาล เป็นนายกฯ และเป็น รมว.กลาโหม ที่จะมีบทบาทสำคัญในการเลือก ผบ.ทอ. และ ผบ.เหล่าทัพในเวลานั้น

กองทัพเองก็รอลุ้นว่า พล.อ.ประยุทธ์จะผ่านศึกเลือกตั้ง กลับมาครองอำนาจรัฐ เป็นนายกฯ ได้หรือไม่ เพราะหากอำนาจเปลี่ยนขั้ว ย่อมเกิดแรงกระเพื่อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้