ต้นชะโนด ในป่าคำชะโนด สถานที่แห่งความเชื่อเรื่องพญานาค จ.อุดรธานี

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับคำว่า “ชะโนด” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมาหลายสิบปี ชื่อเสียงนั้นเป็นทั้งพื้นที่เร้นลับ และเป็นที่ศรัทธาของคนมากมาย แต่ว่าอยู่ๆ ก็เกิดน้ำท่วมทำให้เป็นที่กล่าวถึงโด่งดังมากขึ้นไปอีก

พื้นที่นี้คือ “ป่าคำชะโนด” ตั้งอยู่ที่บ้านโนนเมือง ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

มีผู้กล่าวถึงตำนานป่าคำชะโนดไปต่างๆ นานา แต่ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์บอกได้ว่า ป่าคำชะโนดนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่สาธารณะ มีเอกสารสิทธิ์เป็นหนังสือสำคัญที่หลวง (นสล.) จำนวน 417 ไร่

คำว่า “ป่าคำชะโนด” นี้ได้นำเอาศัพท์ 2 คำมารวมกัน คือคำว่า “คำ” หมายถึง พื้นที่ที่มีน้ำซับหรือมีน้ำซึมจากใต้ดินขึ้นมาขังบนผิวดิน คนอีสานเรียกพื้นที่ในลักษณะนี้ว่า “น้ำคำ”

ส่วนคำว่าชะโนด เป็นพืชชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ปาล์ม มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Taraw palm หรือ Ceylon oak มีชื่อวิทยาศาสตร์ Livistona saribus (Lour.) Merr. ex Cheval. เป็นพืชที่พบอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย จึงมีชื่อเรียกในท้องถิ่นต่างๆ หลากหลายได้ เช่น ค้อพรุ จะทัง (สุราษฎร์ธานี) ค้อสร้อย (กรุงเทพฯ) ซือแด (มาเลย์-นราธิวาส) ร็อก (ตรัง) ซึ่งชื่อเรียกว่า ร็อก เป็นคำเรียกอย่างเป็นทางการของไทยของพืชชนิดนี้ ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักเพราะมักเรียกว่าชะโนดกันทั่วไป

ในภาคอีสานยังจะพบต้นชะโนดได้ที่บริเวณสวนรุกขชาติน้ำผุดทัพลาว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ด้วย และในต่างประเทศพบต้นชะโนดได้ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม บอร์เนียว ชวา มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ไปถึงออสเตรเลียและแหลมปลายสุดของทวีปแอฟริกา

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าพบตามหมู่เกาะโพลิเนเชียน มณฑลกวางดงและยูนนานของประเทศจีนด้วย

ชะโนด เป็นไม้ที่มีใบเหมือนใบตาล ลำต้นเหมือนต้นมะพร้าว ลูกเป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายหมาก สูงเต็มที่ประมาณ 30 เมตร ส่วนของตายอดนำมาใช้ประกอบอาหาร การเก็บตายอดมาเป็นอาหารทำให้ลำต้นตายได้ ส่วนของเยื่อหุ้มรอบๆ ต้นอ่อนในเมล็ดเมื่อนำมาแช่ในน้ำส้มสายชูหรือน้ำเกลือนำมากินได้ หรือส่วนของผลนำไปหมักดองทำเป็นเครื่องดื่ม ส่วนของช่อดอกคั้นน้ำไปทำน้ำตาลก็ได้ ส่วนของใบใช้ทำเสื่อและหมวก ใบอ่อนมีเส้นใยยาวใช้ทำไม้กวาด ส่วนกลางของใบใช้เป่าเป็นเพลงได้ ส่วนยอดที่อ่อนอยู่ใช้ทำเบาะรองนั่ง ทำความสะอาดภาชนะ ส่วนของหนามนั้นภูมิปัญญาพื้นบ้านใช้ทำกับดักสัตว์

 

เอกสาร CRC World Dictionary of Palms ได้กล่าวไว้ว่า ชะโนดสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรได้ โดยใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาเพิ่มพลังทางเพศ ยาระบาย ยาถ่ายและแก้หวัด ส่วนของผลใช้เป็นยาถ่าย ใช้แก้อาการระบบประสาทผิดปกติ หอบหืดและทอนซิลอักเสบ และยังมีวิธีรมควันใช้แก้โรคผิวหนังบางประเภท

ส่วนของเกสรตัวผู้นำมาผสมกับน้ำผึ้งและขิง เป็นยาแก้อาการเป็นหมันของผู้ชายได้ และหนามที่อยู่ที่ใบต่ำสุดให้นำมาบดแล้วนำไปต้ม ใช้อมแก้เจ็บในช่องปาก

ค้อ

พอรู้จักต้นชะโนดแล้ว น่าจะรู้จักพืชอีกชนิดหนึ่งที่คล้ายกับชะโนดมาก คือ ค้อ มีชื่อสามัญว่า Mountain serdang มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Livistona speciosa Kurz ในประเทศไทยพบได้ทั้งทางภาคเหนือ อีสานและใต้ โดยมีชื่อท้องถิ่น ดังนี้ ก๊อแล่ (เชียงใหม่) ค้อ (ภาคเหนือ ภาคอีสาน ประจวบคีรีขันธ์) ทอ หลู่หล่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) สิเหรง (ปัตตานี) ในอดีตพบมากที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกสถานที่นั่นเอง

ค้อเป็นปาล์มต้นเดี่ยว ชอบขึ้นอยู่บนภูเขา ขนาดของลำต้นประมาณ 30 เซนติเมตร สูงได้ถึง 25 เมตร ใบเป็นรูปพัด จักเว้าลึกไม่ถึงครึ่งตัวใบ จีบเวียนรอบใบสวยงาม ใบอ่อนสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกเป็นช่อออกระหว่างกาบใบ ช่อยาว 1.50 เมตร ผลกลมรี ขนาด 2 เซนติเมตร ผลแก่สีเขียวคล้ำ ผลสุกรับประทานได้ ผลแก่มีสีน้ำเงินอมเทา เป็นสีธรรมชาติที่ค่อนข้างแปลก เหมือนไม่ใช่สีธรรมชาติ

ค้อต่างจากชะโนดตรงที่ค้อมีผลขนาดใหญ่กว่าชะโนด คนอีสานตอนบนโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งโขงและประชาชนในประเทศลาวนิยมนำผลมารับประทาน โดยนำผลมาล้างให้สะอาด ขัดเอาผิวที่เป็นสีน้ำเงินอมเทาออกให้หมด ถ้าไม่ขัดผิวออกจะทำให้มีรสฝาดมาก จากนั้นนำไปดองในน้ำเกลือประมาณ 5-7 วัน นำมารับประทานกับข้าว

ส่วนการใช้ประโยชน์ทางยาคล้ายกับชะโนด ในประเทศลาวเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการซื้อขายในตลาดทั่วไปและส่งออกไปยังประเทศจีน ใบตากแห้งใช้มุงหลังคา ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าค้อเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เป็นเครื่องดื่มหรือผลไม้ที่ใช้ลดความเสี่ยงจากโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ดี

ที่นำเอา ชะโนดและค้อ มาเสนอเพื่อให้เห็นประโยชน์มากกว่าความเชื่อศรัทธา หากช่วยกันส่งเสริมการศึกษาวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ อีกไม่นานเราอาจได้อาหารและเครื่องดื่มบำรุงขวัญ บำรุงจิตใจและบำรุงร่างกายจากต้นชะโนดมีค่าเท่าทองคำก็ได้ ใครจะรู้