ในประเทศ/จับตาพรรค New Citizen ‘ธนาธร-ปิยบุตร’ นำทัพ เจาะกระแสคนรุ่นใหม่

ในประเทศ

จับตาพรรค New Citizen

‘ธนาธร-ปิยบุตร’ นำทัพ

เจาะกระแสคนรุ่นใหม่

ในบรรยากาศยื่นจดแจ้งตั้งพรรคการเมืองที่ดำเนินไปอย่างคึกคัก สะท้อนอารมณ์โหยหาระบอบประชาธิปไตย
1 ในจำนวนกว่า 50 กลุ่ม พรรคการเมืองของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นกระแสร้อนแรงตั้งแต่ยังไม่ทันจดแจ้งชื่อพรรค
โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์
ก้าวแรกบนเส้นทางการเมืองของ “ธนาธร-ปิยบุตร”
ในนามพรรค “พลเมืองใหม่”
การประกาศเป็นพรรค “นอมินี” ให้กับประชาชน เป็นพรรคตัวแทน “คนรุ่นใหม่” ที่พร้อมเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองไปจากสภาวการณ์ปัจจุบัน
ปฏิกิริยาจากผู้คนหลายฝ่ายทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ชื่นชมยินดี และดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นสิ่งที่ทั้ง “ธนาธร” และ “ปิยบุตร” คาดการณ์ไว้แล้วว่าต้องเผชิญตั้งแต่วินาทีแรก ที่ย่างแหย่ลงบนสนามการเมือง
ดังเช่น นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวไว้
เมื่อตัดสินใจเล่นการเมือง คงไม่ต้องหวาดกลัวอะไร เขาคงทราบอยู่แล้วว่าการเมืองไทยไม่ใช่การเมืองโดยทฤษฎี ไม่ใช่การเมืองในฝัน
แต่เป็นการเมืองที่เกิดในชีวิตจริง เป็นการเมืองไร้รูปแบบ อะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอด
การตัดสินใจลงเล่นการเมืองอย่างแน่วแน่ แสดงว่า
ได้ศึกษาและเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว

ถึงกระแส “พรรคธนาธร” จะร้อนแรงในโลกโซเชียล
ก็เป็นความร้อนแรงที่ดำเนินไปทั้ง 2 ด้าน ทั้งสนับสนุน ทั้งต่อต้าน ทั้งชื่นชม ทั้งถากถาง
ภายในกระแสต้าน ส่วนหนึ่งพุ่งตรงไปยังนามสกุล “จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่เป็นทางเชื่อมต่อไปยัง นายทักษิณ ชินวัตร ต่อไปยังพรรคเพื่อไทย และกลุ่ม นปช. คนเสื้อแดง
มีการโพสต์ข้อความหยามหยัน พรรคการเมืองที่กำลังจะตั้งขึ้น ไม่ใช่พรรคคนรุ่นใหม่ตามที่อวดอ้าง แต่เป็นเผด็จการทุนนิยม ที่ไม่ได้ชั่วช้าน้อยไปกว่าเผด็จการทหาร
รวมถึงการมีบทบาทอยู่เบื้องหลังเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” ให้กับนักศึกษาและประชาชน กลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี จวบจนปัจจุบัน
แต่ที่เป็นประเด็นให้ฝ่ายอนุรักษนิยม คนรุ่นเก่า มักหยิบมาเป็นเครื่องมือทำลาย “ธนาธร-ปิยบุตร” คือจุดยืนของคนทั้งสอง ที่มีต่อกฎหมายอาญา มาตรา 112 และต่อสถาบันเบื้องสูง
ข้อกล่าวหาเหล่านี้ สัมผัสได้จากโลกโซเชียลในอีกมุม ไม่ว่าจากเฟซบุ๊กของราชนิกุลท่านหนึ่ง นักแต่งเพลงใหญ่บางคน รวมถึงข้อเขียนของคอลัมนิสต์นักหนังสือพิมพ์บางฉบับ
ที่อิงแอบอยู่กับขั้วอำนาจปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มคนเหล่านี้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับ “ธนาธร-ปิยบุตร” ด้วยถ้อยคำและข้อกล่าวหาที่ค่อนข้างรุนแรง คุณูปการอย่างหนึ่งก็คือทำให้สังคมได้รับรู้ อะไรคือความแตกต่าง
ระหว่าง “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่”
ไม่เกี่ยวกับอายุ แต่เกี่ยวกับแนวคิด

การเมืองเหมือนเหรียญมีสองด้าน
กรณีการตั้งพรรคของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ก็เช่นเดียวกัน
เมื่อมีกระแสต้าน ย่อมมีกระแสหนุน
ไม่กี่วันหลังประกาศถึงการเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองที่เป็นพลังของคนรุ่นใหม่ โลกโซเชียลซึ่งเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ก็ตื่นตัวตอบรับอย่างสูง
เห็นได้จากการที่กลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ ออกมาอาสาช่วยกันตั้งชื่อพรรคให้กับธนาธรจำนวนมาก มีทั้งการเสนอแบบจริงจัง และเสนอแบบเอามัน
ไม่นานกระแส “#ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค” ก็กลายเป็นแฮชแท็กอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์
การท้าดวลสงครามเกม ROV แบบไลฟ์สด ระหว่างทีม “ธนาธร-ปิยบุตร+3” กับทีม “สมบัติ บุญงามอนงค์+4” ได้ดึงดูดความสนใจจากชาวเน็ต ให้เข้ามาแสดงความคิดเห็น แบ่งทีมเชียร์กันอย่างชัดเจน
หลังให้สัมภาษณ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ The101.world หัวข้อ “คนรุ่นใหม่กับการเมืองแห่งอนาคต” โดยมีผู้สนใจติดตามมากกว่าแสนคน
ต่อมา นายธนาธรยังโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit ถึงการตัดสินใจเข้าสู่เวทีการเมือง ตอนหนึ่งระบุ
ถึงเวลาก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง หลังจากปรึกษาเรื่องอนาคตกับครอบครัว ทุกคนให้การสนับสนุน ไม่มีใครสาปส่ง มีแต่ให้กำลังใจในรูปแบบแตกต่างกันไปตามที่แต่ละคนพึงมีให้
แม่คือปัญหาใหญ่ ก่อนถกเถียงกันกลัวว่าจะทำให้เสียใจ แม่ถามว่าสำหรับผม ไทยซัมมิตหรือประเทศไทย อย่างไหนสำคัญกว่ากัน
ผมตอบสั้นๆ ด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ประเทศไทย
แม่มีสีหน้าผิดหวัง ถึงแม้ไม่เห็นด้วย ไม่ได้อวยพร แต่ไม่ห้ามปราม ให้กำลังใจ หรือเอ่ยคำสนับสนุนใดๆ สำหรับผม นั่นคือการอนุมัติและเห็นชอบแบบแม่
คำถามสุดท้าย แม่ถามว่า ถ้าวันใดผมมีอำนาจ คงมีคนมาเสนอทั้งผู้หญิงและเงินทอง จะรับไหม ตอบไว้ตรงนี้ จะไม่ทำให้หม่าม้าผิดหวัง
แม่สอนเสมอให้เป็นคนซื่อสัตย์ ผมจะเดินก้าวต่อไปด้วยความซื่อสัตย์
ต่ออุดมการณ์ และต่อประชาชน

กลับกลายเป็นนักการเมืองทั้งจากพรรคใหญ่ พรรคเก่า และพรรคขนาดกลาง
ที่แสดงท่าทีต่อพรรคการเมืองของ “ธนาธร-ปิยบุตร” ด้วยความระมัดระวัง
ด้านหนึ่ง ยินดีต้อนรับ ด้านหนึ่ง แสดงความเป็นห่วง แต่ไม่มีใครต่อต้านคัดค้าน เพราะการต่อต้านคัดค้านย่อมแสดงถึงการเป็นปฏิปักษ์กับแนวคิดคนรุ่นใหม่
นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวว่า
คนรุ่นใหม่พบเหตุการณ์พิเศษที่เกิดกับประเทศมากมาย อาทิ การรัฐประหารปี 2549 การชุมนุมกลุ่ม นปช. กลุ่ม กปปส. และการรัฐประหารปี 2557
หลังการรัฐประหารไม่มีความเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศ ไม่ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น คนรุ่นใหม่จะต้องทบทวนวิธีการเคลื่อนไหว อาจจะต้องมีองค์กรจริงจัง เพื่อให้การเมืองกลับมาเป็นของคนรุ่นใหม่
วันใดที่คนรุ่นใหม่มีพรรคการเมืองเป็นของตนเองจะทำให้มีอำนาจต่อรองกับคนรุ่นเก่า
การจัดตั้งพรรคของนายธนาธร จึงน่าสนใจ
นายนิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา มองว่า พรรคการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญ
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่ตรงที่ การเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้ง จะเป็นการเมืองระยะเปลี่ยนผ่าน ที่มีกรอบจำกัดการทำงานด้วยแนวคิดหรือนโยบายใหม่ๆ
พรรคคนรุ่นใหม่ที่มีความฝัน และปรารถนาจะสร้างความเปลี่ยนแปลง อาจถูกจำกัดด้วยยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป ที่ออกแบบตีกรอบไว้แล้ว

ในจังหวะไล่เลี่ยกับที่ธนาธรประกาศเตรียมจัดตั้งพรรคการเมือง
เว็บไซต์ “ประชาไท” ได้เปิดตัวกลุ่ม “เพื่อนธนาธร” หนุ่ม-สาวคนรุ่นใหม่ที่ได้ร่วมหารือถึงอนาคตสังคมไทยกับนายธนาธร
มีทั้งเพื่อนผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวคนพิการ เพื่อนจากสถาบันเทคโนโลยีเพื่อสังคม จากองค์กร New Ground เพื่อนนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย
เจ้าของเพจ Thai Consent เพื่อนนักออกแบบกราฟิกและบอร์ดเกม เพื่อนแกนนำกลุ่มเยาวชนอาสา เพื่อนนักเขียน นักแปล นักจัดรายการทีวี นักรณรงค์การเมือง มัคคุเทศก์ และเพื่อนนักปรุงเบียร์
“เมื่อคนรุ่นใหม่พูดถึงการเมือง พูดถึงสังคมที่อยากเห็น คุณลักษณะประการหนึ่งที่พบเห็นได้น้อยในหมู่นักการเมืองเชี่ยวสนามคือความกล้าที่จะฝันให้ใหญ่
พวกเขาไม่แยแสว่าสิ่งที่พวกเขาฝันและจะลงมือทำนั้น ใครจะมองว่าเป็นความเพ้อฝันหรือไร้เดียงสา การไม่ทำอะไรเลยต่างหากที่อาจเป็นความไร้เดียงสาต่อชีวิตและสังคม” เว็บไซต์ประชาไท ระบุ
เช้าวันที่ 15 มีนาคม ธนาธรนัดแนะกลุ่มสื่อมวลชนร่วม “#กินกาแฟกับธนาธร” เพื่อปรับทัศนคติทางการเมือง และร่วมพูดคุยเปิดใจกับ “กลุ่มเพื่อนธนาธร”
ช่วงสายได้เดินทางไปยื่นเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองที่ กกต.
จากนี้จึงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่า
พรรค “พลเมืองใหม่” จะได้รับการต้อนรับเข้าสู่สนามการเมืองในชีวิตจริง ภายนอกโลกโซเชียล ด้วยบรรยากาศอย่างไร
ต้อนรับอย่างอบอุ่น หรือทิ้งให้เหน็บหนาว
พลังคนรุ่นใหม่จะให้คำตอบเมื่อการเลือกตั้งมาถึง