สนทนาการเขียนกับเฮมิงเวย์ และบทสุดท้ายในชีวิต

สนทนาการเขียนกับเฮมิงเวย์ และบทสุดท้ายในชีวิต 

“เมื่อคุณเริ่มต้นเขียนหนังสือใหม่ๆ นั้นไม่มีใครเขามานั่งสังเกตคุณหรอก นั่นเป็นพรอย่างหนึ่งของการเริ่มต้นนะ” 

ผมฟุบหลับอยู่บนหนังสือเล่มหนาของ เออร์เนสท์ เฮมิงเวย์ ปกติผมจะตื่นตอนตี 4 ชงกาแฟและเริ่มต้นอ่านหนังสือ แต่คืนนี้ติดพันอ่านจนเคลิ้มหลับคาโต๊ะทำงานตัวเก่า…และฝัน เฮมิงเวย์มาเข้าฝันผม 

ผมฝันว่าผมได้ลงเรือลำหนึ่งยาว 40 ฟิต ซึ่งชายร่างใหญ่ผู้ชื่นชอบการตกปลาพอๆ กับชอบเขียนหนังสือคนนี้บอกว่า มันชื่อ ‘ฟิลาร์’ แมรี่-ภรรยาของเขาก็นั่งมาด้วยเงียบๆ กับนายเรือที่ชื่อ เจกี้ คีย์ ซึ่งเขาบอกผมเกี่ยวกับเฮมิงเวย์ว่า  

“แกตกปลาได้ทั้งวัน เวลาจะนอนก็นอนมันลงไปทั้งเครื่องทรง หลับฟี้อยู่บนดาดฟ้าเรือที่โคลงเคลงอยู่อย่างนั้นเอง พอรุ่งเช้า แกก็ตกปลาของแกต่อไปอีก”  

เฮมิงเวย์ซึ่งนั่งฟังอยู่หัวเราะเสียงดังออกมา “เจกี้ แกก็พูดเกินไป” จากนั้นเขาก็หันมาสบตาผมและถามว่า ผมมีอะไรจะถามต่อไหมเกี่ยวกับการเขียนหนังสือ เพราะอย่างที่ทราบกันว่านักประพันธ์ใหญ่ผู้นี้รักความเป็นส่วนตัวเอามาก ไม่ชอบให้สัมภาษณ์ การได้นั่งเรือออกนอกท่าเรือฮาวานา ร่วมไปกับเขาและคนสนิทจึงนับเป็นโอกาสอันดีที่เขาเปิดใจให้ซักถามได้ตามอัธยาศัย ผมจึงไม่รอช้าถามถึงเรื่องที่เพิ่งอ่านจบไป 

“ในเรื่อง The Old Man and The Sea นั้น คุณเอาแนวคิดในการเขียนมาได้อย่างไรครับ? 

เฮมิงเวย์เกาคาง ทำท่าครุ่นคิด ก่อนตอบ  

“เพราะว่าผมรู้ภาวะของคนที่อยู่กับปลาในเวลาอย่างนั้นดี ผมรู้ว่าเวลาสู้อยู่กับปลานั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้างที่ในเรือ และที่ในทะเล จากนั้นผมก็มองหาคนที่ผมรู้จักกันมานานๆ เป็นเวลาสักยี่สิบปีเข้าคนหนึ่งให้เข้ามาอยู่ในจินตนาการว่าเขาเกิดมาประสบกับสภาพการณ์แบบนั้นขึ้น” 

ผมชอบนะเรื่องนี้ ผมกล่าวชื่นชมออกไปตรงๆ โดยเฉพาะตอนหนึ่งที่เขาเขียนว่า  

“เจ้าปลา” เขาพูดดังๆ ด้วยเสียงนิ่มนวล “ฉันจะอยู่กับแกจนกว่าฉันจะตาย” เฮมิงเวย์เพียงแต่โคลงศีรษะรับ ก่อนจะผายมือเชิญให้ผมถามต่อ 

“ในการเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่งนี้ คุณต้องใช้เวลานานเท่าไรครับ? 

“เรื่องนี้มันก็ขึ้นอยู่กับหนังสือว่าจะเป็นแนวไหน หนังสือดีๆ เล่มหนึ่งอาจต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปีครึ่ง” 

“คุณทำงานวันละกี่ชั่วโมงครับ? 

“ผมจะตื่นทำงานหกโมง และพยายามไม่ทำงานให้เลยเวลาเที่ยงวัน” 

“ก่อนจะเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่ง คุณต้องทำเค้าเรื่องย่อหรือต้องทำบันทึกต่างๆ ไว้มากไหมครับ? 

“ไม่หรอก ผมลงมือเขียนเลย การเขียนนวนิยายนั้นคือการคิดประดิษฐ์ได้สำเร็จ มันก็จะเห็นเป็นจริงเป็นจังได้ยิ่งกว่าเรื่องจริงๆ ตั้งเยอะแยะ คนที่เขียนเรื่องนวนิยายนั้นถ้าเขาไม่โกหกเขียนแล้วก็ต้องถือว่าเขากลายเป็นคนโกหกแล้วละ” 

ผมพยักหน้าหงึกอย่างคล้อยตาม ช่วงเวลาไม่กี่คำถาม ผมแอบคิดถึงช่วงเวลาสั้นๆ เหมือนว่าผมได้กลายเป็นเด็กหนุ่มคนนั้นที่กำลังสนทนากับลุงซานติอาโก หลังจากที่แกพ่ายท่าอ้ายฉลามกาลาโน และขณะที่ผมกำลังครุ่นคิดอยู่นั้น เฮมิงเวย์มองออกไปยังท้องทะเลที่กว้างใหญ่ แล้วพูดขึ้นว่า 

“มหาสมุทรมันโต ส่วนเรือหาปลาลำเล็กยากที่จะมองเห็น” ซึ่งเป็นประโยคเดียวกับที่ชายเฒ่าพูดกับเด็กหนุ่ม ก่อนจะหันกลับมายิ้มให้ผม และบอกให้ผมถามได้อีกคำถามเดียว เพราะหลังจากนั้นเขาจะลุกไปตกปลา ผมไม่อยากถามถึงผลงานเรื่องอื่นหรืองานมาสเตอร์พีชชิ้นใดของเขา ผมเลยถามถึงหนังสือแทน 

“คุณอ่านหนังสือมากไหม? 

“อ่านมาก อ่านตลอดเวลาเลย เมื่อหยุดงานเขียนหนังสือประจำวันแล้ว ผมก็ไม่อยากกลับไปคิดถึงเรื่องงานนั้นอีก ผมจึงอ่านหนังสือให้มันลืมเสียเลย” 

และนั่นคือช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมได้เรียนรู้จากเขา ก่อนที่ความจริงจะปลุกให้ผมตื่น  

ผมมองนาฬิกาแขวนผนัง เกือบตี 2 เข้าไปแล้ว ผมตาสว่าง ยังหวนคิดเรื่องในฝันถึงเฮมิงเวย์ โดยเฉพาะเมื่อตอนกลับขึ้นฝั่ง และหลายปีถัดจากนั้น ในปี ค.ศ. 1961 ที่เขาได้จบชีวิตของตัวเองลงด้วยกระบอกปืนในบ้านที่ไอดาโฮ  

ผมได้รับรู้ความรู้สึกลึกๆ ของคุณผ่านบันทึกจากคนสนิทของคุณ เอ.อี.ฮอท์ชเนอร์ ที่กล่าวว่า 

 สาเหตุที่สมรรถภาพการทำงานของเออร์เนสท์ต้องถดถอยลงนั้น ก็น่าจะเป็นเพราะการทำงานเกี่ยวกับต้นฉบับเรื่องเอ มูฟวะเบิล ฟีสท์อย่างหามรุ่งหามค่ำนั่นเอง แต่เขาก็ทำงานไม่ได้จริงจังอย่างคิด เขาสะเทือนใจอย่างรุนแรงที่สูญเสียบ้านฟินก้า แม้ว่าแมรี่จะแนะว่าให้ไปหาอพาร์ตเม้นท์อยู่ในปารีสหรือ เวนิศ หรือไม่ก็หาเรือลำใหม่สักลำหนึ่งเพื่อออกท่องทะเลไปที่ไหนก็ได้ แต่ก็ไม่ช่วยให้เออร์เนสท์เกิดความกระตือรือร้นแต่อย่างใด เขามักพูดถึงเรื่องการฆ่าตัวตายบ่อยครั้งขึ้น และบางทีก็ยืนถือปืนอยู่หน้าราวปืนเหม่อมองไปยังทิวเขาไกลๆ 

“คุณจะคิดยังไงกับเรื่องของชายคนหนึ่งที่มีอายุหกสิบสองปีและรู้ตัวดีว่าไม่อาจจะเขียนหนังสือทั้งเรื่องยาวเรื่องสั้นตามที่เคยสัญญากับตัวเองไว้ได้อีกแล้ว? ทั้งจะทำการงานอย่างอื่นตามที่ตัวมุ่งมาดเมื่อสมัยยังสบายดีก็ทำไม่ได้ด้วย? 

“ผมเคยเขียนดีกว่านั้นมาก และเดี๋ยวนี้ผมทำไม่ได้ ถ้าผมไม่อาจรักษาคำพูดของตัวเองให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้แล้ว ความเป็นจริงเป็นจังก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คุณเข้าใจหรือเปล่า? นั่นแหละคือวิธีที่ผมดำรงชีวิตของผมสืบมา และสิ่งนั้นแหละที่จะทำให้ผมต้องอยู่ หรือไม่อยู่” 

…และใช่ เฮมิงเวย์พูดถูก 

“มนุษย์มิได้เกิดมาเพื่อจะพ่ายแพ้ การทำลายมนุษย์นั้นย่อมทำกันได้ แต่จะทำให้มนุษย์พ่ายแพ้นั้นทำไม่ได้” 

อยากหลับตาแล้วฝันถึงคุณอีกสักครั้งจังครับ เออร์เนสท์ เฮมิงเวย์  

อย่างน้อยๆ ก็เพื่อให้ผมได้กล่าวลาและขอบคุณที่ให้ผมได้ร่วมนั่งเรือไปกับคุณ 

 

ข้อมูลประกอบการเขียน 

เรื่องสั้นคัดสรร The Old Man And The Sea  แปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์ 

เพื่อนนักอ่าน ฉบับที่ 5 กันยายน 2529 ฉบับปาป้าเฮมิงเวย์ 

ตัวเอียงนำมาจากหนังสือทั้งสองเล่มนี้