บทความพิเศษ : เรื่องง่ายๆ กับปัญหาในกระบวนการสอบสวน

การสอบสวนคดีอาญาเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นที่พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานไว้ในสำนวน เพื่อจะส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาต่อไปว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่

ดังนั้น การสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวนที่มีประสิทธิภาพ ย่อมจะทำให้การปราบปรามอาชญากรรมสัมฤทธิผล โดยที่ศาลสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ถูกต้อง

ซึ่งส่งผลต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมโดยไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอหรือจับผิดตัว

ปัจจัยที่ทำให้การสอบสวนคดีอาญาสัมฤทธิผลหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับผู้บริหารงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนเป็นสำคัญที่จะกำหนดทิศทาง ขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ในบทความชิ้นนี้จะนำเสนอ กระบวนการสอบสวนในนวนิยายขนาดสั้น เรื่องง่ายๆ ของ เลโอนาร์โด ชัชชา (Leonardo Sciascia,1921-1989) นักเขียนและปัญญาชนคนสำคัญของอิตาลี ซึ่งเนื้อหากล่าวถึงคดีฆ่าตัวตายที่ดูไม่ซับซ้อน แต่กลายเป็นเหตุฆาตกรรมลึกลับที่ตำรวจไม่กล้าสรุปสำนวน

โดยจะวิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรค รวมถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อกระบวนการสอบสวน

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อนายรอสแชลลาโทร.หาตำรวจ อยากให้มาตรวจดูอะไรบางอย่าง

จ่าเป็นคนรับเรื่องและแจ้งให้สารวัตรทราบ สารวัตรตอบว่า “เป็นไปไม่ได้” และสรุปว่าเป็น “เรื่องล้อเล่น” แต่ก็สั่งให้จ่าแวะไปดูในวันรุ่งขึ้น

แล้วก็พบศพในบ้านหลังนั้น โดยจ่าคิดว่านายรอสแชลลาฆ่าตัวตาย จึงปะติดปะต่อเรื่องราว ความคิดและความรู้สึกเพื่อเขียนรายงาน

แต่กลับพบข้อความ “ผมพบ” จึงเห็นเหตุฆาตกรรมเบื้องหลังฉากฆ่าตัวตาย

แล้วอีกสองชั่วโมงต่อมา ทั้งผู้กำกับ อัยการ แพทย์ ช่างภาพ นักข่าวและฝ่ายพิสูจน์หลักฐานก็เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ รวมทั้งคาราบิเนียรีด้วย

“Carabiniere/i เป็นหน่วยงานหนึ่งของทหาร ปฏิบัติหน้าที่เดียวกับตำรวจ จึงชิงดีชิงเด่นกัน” – ผู้แปล (น.21)

การมาถึงของผู้กำกับและนายพล (คาราบิเนียรี) จึงเข้าลักษณะ “โยนงานกันทำ แต่แย่งงานกันคุม” เมื่อ “เกิดมุมมองต่างกันระหว่างคาราบิเนียรีกับตำรวจขึ้นมาทันทีและไม่มีทางโอนอ่อน ทั้งนี้ ด้วยอคติ ไม่ว่าใครจะมาเป็นตัวแทนของทั้งสององค์กรก็ตาม ข้อพิพาทอันเก่าแก่และยาวนานทำให้พวกเขาแตกแยก และประชาชนทุกคนที่บังเอิญไปอยู่ตรงกลางก็เลยย่ำแย่ไปตามๆ กัน” (น.23)

จากข้อความข้างต้นจะเห็นว่า เกิดความทับซ้อนกันในกระบวนการสอบสวนและกลายเป็นปัญหาเชิง objective หมายถึงจุดประสงค์ เป้าหมาย ไม่ลำเอียง ยุติธรรม ไม่เอาความรู้สึกหรือความเห็นส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง

กรณีดังกล่าวจึงเกิดเป็นภววิสัย (objectivity) ในการดำเนินคดีอาญาที่พึงปฏิบัติในฐานะเจ้าพนักงานที่เกี่ยวโยงถึงความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับผู้ใด ความละเอียดถี่ถ้วน ความสมบูรณ์ตามความเป็นจริง การสิ้นกระแสความ การไม่มีฉันทาคติ การปฏิบัติตามเนื้อผ้า

แต่เมื่อเกิดอคติในพนักงานสอบสวนแล้ว ประชาชนจึงเป็นผู้รับผลกระทบในความปลอดภัย สิทธิและเสรีภาพในชีวิตนั่นเอง

เรื่องง่ายๆ ในสายตาผู้กำกับ กลายเป็นเรื่องยุ่งยากตามความต้องการของนายพล เมื่อจ่าเล่าทุกอย่างเกี่ยวกับคดีและสิ่งที่เคลือบแคลงให้ฟังทั้งจากปากคำและในรายงาน สารวัตรจึงถูกตามตัวให้มาทำหน้าที่สอบสวน

อาจารย์ฟรันเซาะ เพื่อนเก่าของผู้ตายก็เดินทางมาให้ข้อมูล ซึ่งมีความน่าเชื่อถือให้ช่วยคลี่คลายคดี หากสารวัตรคลำทางไปอย่างถูกต้อง การสอบสวนก็สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

แต่กลับเกิดเหตุฆาตกรรมซ้อน เมื่อนายสถานี (รถไฟ) และคนงานผู้ช่วยถูกฆ่า มีคนขับรถวอลโว่ไปเห็นหลังเหตุการณ์ และถูกเรียกตัวมาให้ปากคำ จนถูกสารวัตรและผู้กำกับสั่งกักตัว

กรณีดังกล่าวจะเห็นถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเป็นภววิสัยในการทำงานของพนักงานสอบสวน คือ ความรู้ความสามารถของสารวัตรที่ขาดความละเอียดรอบคอบ เอาอารมณ์เป็นใหญ่ จึงทำให้กระบวนการสอบสวนเริ่มต้นไม่ถูกต้อง ประกอบกับการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชา จึงทำให้ขาดอิสระในการสอบสวน ซึ่งเป็นอีกปัญหานอกจากอคติที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

และการกระทำของสารวัตรและผู้กำกับก็เป็นผู้สอบสวนที่ไม่ให้ความสะดวกแก่พยานในคดีด้วย

เมื่อผู้กำกับและนายพลรายงานความคืบหน้าของคดีต่อพนักงานอัยการ แต่พนักงานอัยการกลับสั่งฝากขังคนขับวอลโว่โดยไม่รีบสอบปากคำ กลับให้ความสนใจพูดคุยกับอาจารย์ฟรันเซาะ พยานอีกคน และตามตัวภรรยากับลูกชายผู้ตายมาให้ปากคำเพิ่มเติม รวมถึงบาทหลวงผู้ดูแลบ้านหลังเกิดเหตุด้วย

เลโอนาร์โด ชัชชา (Leonardo Sciascia) ใช้วิธีเล่าเรื่องเสมือนมีตัวตน (personal narrator) แบบผู้รู้ (omnisicient) ที่จะเป็นเพียง “เสียง” ที่วิจารณ์หรือตัดสินตัวละคร โดยให้ “จ่า” เป็นตัวดำเนินเรื่องที่ชวนติดตาม สร้างบุคลิกตัวละครหลากมิติ (round charactor) หมายถึง ตัวละครที่มีลักษณะหลากหลาย อาจขัดแย้งและคาดเดาได้ยาก พัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงนิสัยหรือทัศนคติได้ตามเหตุการณ์และสร้างความประหลาดใจให้ผู้อ่านสงสัยและสับสนในความคิด

คำพูดและการกระทำของตัวละคร โดยเปิดเผยตัวตนของตัวละครออกมาทีละตัวเพื่อให้ผู้อ่านตรวจสอบและร่วมสืบสวน

ระหว่างนั้นก็แทรกเรื่องราวชีวิตที่สัมพันธ์กัน เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายปมการหายไปของภาพวาดและเหตุฆาตกรรมสามศพ กับน้ำหนักความสำคัญและความน่าเชื่อถือของตัวละครที่มีความซับซ้อน

และผู้เขียนยังชาญฉลาดในการเบี่ยงเบนประเด็นและสรุปเรื่องความตายของสารวัตรมากกว่าการตามหาฆาตกรที่แท้จริงและจบแบบหักมุม

เรื่องง่ายๆ ของ เลโอนาร์โด ชัชชา (Leonardo Sciascia) อาจสรุปปัญหาในกระบวนการสอบสวนว่า เนื่องจากไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ เพราะสภาพแวดล้อมไม่อาจแก้ไขหรือไม่ชัดเจนจนพิสูจน์ความจริง

พนักงานสอบสวนยังเป็นผู้ขาดความรู้ความสามารถ เพิกเฉยในความเคลือบแคลงบางแง่มุมที่น่าเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีตามความเห็นของจ่า การไม่เทน้ำหนักในการสอบปากคำพยานสำคัญอย่างคนขับวอลโว่ ความโชคร้ายจากการสงสัยและกล่าวหาพวกเดียวกันจนเกิด “อุบัติเหตุ” ปืนจ่าลั่นจนสารวัตรตาย และความล้มเหลวในการสอบสวนทั้งจากผู้กำกับ สารวัตร นายพลและอัยการ ที่นำไปสู่การไม่สามารถแก้ไขปัญหาในคดีอาญาจนนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

สาเหตุเพราะความเป็นภววิสัยของพนักงานสอบสวนจากปัจจัย ทั้งด้านความรู้ความสามารถและทัศนคติ การขาดแคลนพนักงานสอบสวนหรือผู้ช่วย อคติและการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง จนกลายเป็นปัญหาในกระบวนการสอบสวนในนวนิยายขนาดสั้นเรื่องดังกล่าว

ที่แม้การสอบสวน การแสวงหาพยานหลักฐาน การสอบปากคำพยานจะมีพนักงานอัยการเข้าร่วมด้วย แต่กลับไม่ทำให้การสอบสวนรัดกุมหรือหนักแน่นและคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ถูกลงโทษได้ เพราะสารวัตรตายในขณะที่ยังไม่มีการสรุปสำนวน

เรื่องง่ายๆ ของ เลโอนาร์โด ชัชชา (Leonardo Sciascia) จึงจบลงแบบง่ายๆ คล้ายผู้เขียนต้องการสะท้อนหรือเสียดสีการชิงดีชิงเด่นกันระหว่างพนักงานสอบสวนของอิตาลีที่ขาดประสิทธิภาพและการทำงานแบบไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพนักงานสอบสวน (ตำรวจและคาราบิเนียรี) และอัยการผู้ร่วมสอบสวนและฟ้องคดี โดยให้ภาพเปรียบของการสอบสวนที่เริ่มต้นโดยพนักงานสอบสวน กลับต้องพบจุดจบคือความตายของสารวัตรเจ้าของสำนวน (ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นเรื่องภาพวาดด้วย)

สุดท้ายอัยการซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกันกลับตัดสินใจเชื่อการกล่าวหาของจ่าและการชิงสรุปแบบรวบรัดของผู้กำกับ ที่ไม่ได้ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ทำให้เกิดความผิดพลาดจนคดีพลิก เพราะมุ่งไปทางค้นหาความผิด แต่ไม่พิสูจน์ให้เห็นความผิดตามที่กล่าวหา

และยังไม่เรียกคนขับวอลโว่มาสอบปากคำเพิ่มเติมด้วยตนเองอีกครั้ง

จึงกลายเป็นภววิสัยของพนักงานสอบสวนที่ขาดอิสระและความรอบคอบถี่ถ้วน ได้แต่รับฟังและพิจารณาความเห็นของผู้กำกับและจ่าที่อาจไม่เป็นไปหรือชอบด้วยกฎหมาย เพราะการกระทำหรือกระบวนการส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้รับการตรวจสอบหรือหาข้อความจริงจนสิ้นสงสัย

สุดท้ายฆาตกรและผู้บงการเรื่องภาพวาดจึงมาปรากฏตัวบนสถานีตำรวจและลอยนวลอยู่ในสังคมในตอนจบ ซึ่งส่งผลต่อศรัทธา ความเชื่อมั่น และการได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันตามกฎหมายของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมและการสอบสวนว่า “คนซิซิลีฆ่ากันเองมาตั้งนานแล้ว เพราะอะไรไม่รู้” (น.48) หรือ “แล้วจะไปหาเรื่องเดือดร้อนอีกทำไมวะ แถมยังหนักว่าเดิมเสียอีก” (น.70)

ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมและการสอบสวนจึงต้องปฏิรูปและได้รับการพัฒนาเพื่อความถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม

บรรณานุกรม

เลโอนาร์โด ชัชชา. (2560). เรื่องง่ายๆ. กรุงเทพฯ : อ่านอิตาลี

ศิพร โกวิท. (2551). ความเป็นภววิสัยของการสอบสวน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://libdoc.dpu.ac.th/thesis. สืบค้นเมื่อ [16 มกราคม 2561].

อิราวดี ไตลังคะ. (2545). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.