เปิดใจ “บาส นัฐวุฒิ” กับสูตร ขยัน-หน้าด้าน ที่พาฉลาดเกมส์โกงไประดับโลก

“มากเกินไปหลายสิบเท่า” ในฐานะผู้กำกับการแสดง ที่ผลงาน “ฉลาดเกมส์โกง” ได้รับการต้อนรับจากผู้ชมทั้งในและต่างประเทศชนิดที่ต้องใช้คำว่า “ถล่มทลาย” เพราะไปฉายมาแล้วราว 20 ประเทศ และทำรายได้แล้วราวๆ 1,700 ล้านบาท บาส นัฐวุฒิ พูนพิริยะ จึงพูดประโยคดังกล่าวด้วยท่าทียินดียิ่ง

ก่อนจะว่า “จริงๆ ตอนแรกไม่ได้คาดหวัง แค่ไม่ขาดทุนในเมืองไทย แล้วตัวหนังออกมาเป็นที่พอใจของทีมงาน ของคนดู ก็ดีใจแล้ว แฮปปี้แล้ว พอมันไปไกลกว่า ก็รู้สึกดี”

ทั้งนี้ คนทำบอกว่า ถ้าจะให้ประเมินว่าทำไมงานชิ้นนี้ถึง “โดน” คนดู เขาก็ว่าถ้าเป็นในส่วนโซนเอเชีย ก็น่าจะเพราะมีวัฒนธรรมการเรียนร่วม ดังนั้น พอเขานำประเด็นที่คุ้นเคยมาเล่าด้วย “ท่าทีแบบรถไฟเหาะ” เลยทำให้คนสนุกกับมันง่ายขึ้น

ขณะที่ผู้ชมในโซนยุโรปและอเมริกาไม่เข้าใจบริบทเกี่ยวกับการศึกษาอย่างที่เห็นในหนัง แต่ก็ยังพอจะตามได้ พร้อมกันนั้นก็รู้สึกเช่นเดียวกันว่าหนังสนุก

และด้วยเหตุผลนั้น ตอนนี้นอกจากชื่อเสียงที่ได้รับ เขาจึงถูกบริษัทหลายๆ แห่งในต่างประเทศทาบทามให้ไปร่วมงานด้วย

“คุยๆ อยู่ แต่ต้องดูหลายๆ อย่าง” ว่าอย่างนั้น

กับสิ่งต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามา บาสว่านอกเหนือจากความรู้สึกดีที่บอกแล้ว “เอาจริงๆ ผมเหมือนเดิมทุกอย่างเลยนะ”

แต่ “อาจจะใช้เวลาเช็กเรตติ้งบนโซเชียลมากขึ้นหน่อย” เขายอมรับพลางหัวเราะ

“อันนี้เป็นเอฟเฟ็กต์แรงสุด บางทีคนรอบข้างด่า เราก็เออว่ะ ความสำเร็จเป็นยาเสพติดหอมหวานเหมือนกัน แต่รวมๆ ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าผมเก่งขึ้น หรือมีอำนาจต่อรองมากขึ้น”

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รู้สึกกดดันว่า จะต้องแบกรับความคาดหวังของคนดูกับงานชิ้นต่อไป

“ไม่ได้คิดไปถึงขนาดนั้น คือพอหนังมีท่าทีว่าประสบความสำเร็จ ความคิดแรกที่มีต่อตัวเองคือกรณีเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นในการทำหนังเรื่องหน้า คือไม่มีคนดูหนังเลย หรือมีแต่คนด่าหนัง ซึ่งมันก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น อย่าไปคาดหวังอะไรพวกนั้น”

“เราไม่มีทางรู้ เรากำหนดไม่ได้”

เพราะที่เป็นมาก็อย่างที่เห็นคือหนังดีบางทีก็ไม่มีคนดู ขณะหนังแย่ๆ แต่คนดูล้นหลามก็เคยปรากฏ

“สิ่งที่เรากำหนดได้อย่างเดียวก็คือตัวเรา งานที่เราทำคืออะไร มีความหมายอะไรกับเรา มีความหมายอะไรกับวงการ ตรงนี้มากกว่าคือสิ่งสำคัญ”

ซึ่งโดยส่วนตัวที่คิดไว้นั้น คือ “ไม่อยากวนลูปอยู่ที่เดิม หมายถึงถ้าเรื่องนี้มันซัคเซส ก็ไม่อยากทำฉลาดเกมส์โกง 2 3 4 5 ไม่อยากทำหนังที่รสชาติเหมือนกับเรื่องอื่น ถ้าเราปลดล็อกตรงนี้ แล้วไปหาล็อกต่อไปปลดดีกว่า น่าจะสนุกกว่า”

ทั้งนี้ จะบอกตอนนี้ไม่ได้ว่าล็อกต่อไปที่เล็งไว้ว่าจะปลดจะเป็นเรื่องอะไร ออกแนวไหน หากที่สามารถประกาศได้แน่นอนคือ “มันต้องมีอารมณ์สำหรับเรา”

“คือเราจะเล่ายังไงก็ได้ จะเล่าไอเดียอะไรก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องสื่อสารอารมณ์บางอย่างกับคนดูได้ อันนี้เหมือนเวลาเข้าพิพิธภัณฑ์ แล้วไปเจอภาพที่ไม่รู้ว่าคนวาดคิดอะไรอยู่ แต่ภาพมันควรส่งผลอะไรกับเรา สีแบบนี้ คอมโพสิชั่นแบบนี้ อย่างภาพแวนโก๊ะ ถามว่าคิดอะไรอยู่น่ะ เราไม่เข้าใจหรอก แต่มันส่งผลอะไรกับเรา ณ ขณะนั้น อันนี้มันสำคัญ”

กับงานภาพยนตร์ที่ผ่านมา ทั้งภาพยนตร์สั้นหลายๆ เรื่อง รวมถึงภาพยนตร์เรื่องยาวอย่าง “ฉลาดเกมส์โกง” และ “เคาท์ดาวน์” อันเป็นงานก่อนหน้าที่ก็ได้รับเสียงชื่นชมเช่นกัน แต่กระนั้นบาสบอกว่าเขายังไม่ใช่ผู้กำกับการแสดงที่ดี

“แค่ที่ใช้ได้แล้วกัน”

“แต่เอาจริงๆ แค่ตอบว่าที่ใช้ได้ยังฟังดูน่าหมั่นไส้เลย คือรู้สึกว่าศิลปะการทำหนัง คำว่าดี ไม่ดี ไม่ใช่แค่หนังหรอก ทุกงานศิลปะ คำว่าดี ใช่ ไม่ใช่ มันเป็นความคิดส่วนบุคคลมาก สำหรับคนที่ชอบดูหนังสนุก ชอบหนังฮอลลีวู้ด อาจจะมองว่าหนังเราออกมาสนุก เก่งจัง แต่คนที่ชอบหนังอีกแบบหนึ่ง อาจไม่ชอบก็ได้ เพราะฉะนั้น ฟันธงไม่ได้หรอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี เราแค่ทำในสิ่งที่เราเชื่อ แล้วไม่พยายามโกงใคร หมายถึงไม่โกงตัวเอง ไม่โกงคนร่วมงาน แล้วก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่คิดว่าจะดีได้ ที่เหลืออย่าไปยึดติดกับสิ่งเหล่านี้เลย มันไม่มีอยู่จริง”

“มันเป็นแค่ความคิดเห็น และความคิดเห็นของความคิดเห็น”

“ตั้งแต่ทำหนังเรื่องแรก ทำโฆษณา เราก็อยู่กับการทำหนัง เอาหนังไปฉายให้คนดู บางครั้งเขาก็เกลียดหนังเรา บางครั้งลูกค้าก็ไม่ซื้อ อะไรพวกนี้เราผ่านมาหมดแล้ว เลยรู้สึกว่าไม่มีอะไรแน่นอน หนังบางเรื่องตอนออกฉายได้รางวัล มีแต่คนชื่นชม เวลาผ่านไป 10 ปี สิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่แล้ว ในขณะที่บางเรื่องตอนออกฉายใหม่ๆ มีแต่คนด่า ไม่มีคนดู 20 ปีต่อมา กลายเป็นหนังคลาสสิค” นี่คือสิ่งที่เขายกตัวอย่างประกอบของคำที่ว่า “มันไม่มีอยู่จริง” ข้างต้น

และเมื่อถามถึงเคล็ดลับหรือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เขาก้าวมาถึงวันนี้ บาสบอกทันที “ขยันทำงานหนักอย่างเดียวเลย”

“และหน้าด้านต่อโชคชะตา”

“รู้สึกตลอดเวลาว่าเป็นคนเริ่มช้า เริ่มทำหนังค่อนข้างช้าถ้าเทียบกับเจนเดียวกัน บางคนทำหนังตั้งแต่อายุ 20 กว่า เราทำเรื่องแรกก็ 30 ต้นๆ เอาเวลาไปใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก ขัดส้วมอยู่ แต่ก็ไม่รู้สึกซัฟเฟอร์อะไร แค่รู้สึกว่าการทำสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราใกล้ความฝันที่เราอยากทำมากขึ้น ก็หน้าด้านทำมันต่อไป แค่อาจจะต้องเหนื่อยหน่อยเท่านั้นเอง”

อย่างไรก็ดี จะว่าไปการเริ่มช้า เริ่มเร็ว ประสบความสำเร็จมาก น้อย หรือจะไม่ประสบความสำเร็จเลย “ทุกวันนี้มันไม่มีความหมายแล้ว”

“หมายถึงว่าเคยมีอยู่ช่วงหนึ่งตอนเรียนจบใหม่ รู้ตัวเองว่าอยากเป็นคนทำหนัง พยายามอย่างมากที่จะทำยังไงก็ได้ที่จะทำ”

ช่วงนั้นเขาจึงพยายามเขียนบท หางานทำ ทำหนังสั้นส่งประกวด ฯลฯ

“แล้วพอถึงจุดหนึ่ง มันเหนื่อย ทำไมไม่ประสบความสำเร็จสักที หนีไปเมืองนอกก็ยังไม่เกิด นึกว่าไปอยู่โน่นจะทำหนังสั้นฉายประกวดก็ไม่ได้ทำ จนรู้สึกว่าบางอย่างในโลกถ้าเราคอนโทรลไม่ได้ เราก็แค่ต้องหาทางอยู่ร่วมกับมันอย่างมีความสุข ถึงปรับสปีดการทำงาน ปรับสปีดความคาดหวัง ใช้ชีวิตทำงานเหมือนหายใจน่ะ ตามสเต็ปชีวิตไป ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องพยายามมากเกิน อยู่ในระดับที่เรารู้สึกว่าคอนโทรลได้”

“ทุกครั้งที่ทำงานจึงไม่เคยแบบ ทำหนังเรื่องนี้จะต้องได้ร้อยล้าน จะได้รางวัล ไม่เคยคิด ก็แค่รับผิดชอบสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด”

“เพราะงั้นเรื่องต่อไป สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับหนังของเราคือหนังเจ๊ง ไม่มีคนดู หนังห่วย คนด่า ก็แค่นั้น เราคอนโทรลพวกนั้นไม่ได้ไง”

“อย่างเดียวที่เราคอนโทรลได้คือคุณภาพในการทำงาน ความตั้งใจของเราในการทำงาน นั่นแหละครับ”