ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล : จากชีวิตนักดนตรี สู่ชีวิตการเมือง กับภารกิจ ประธานวิปฝ่ายค้าน

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ภาพชีวิตของปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ในช่วงเวลานั้น คือภาพของนักดนตรีมือเบสฝีมือดีในวงดนตรีดังระดับประเทศ และเขาเพิ่งจะร่วมกับเพื่อนก่อตั้งธุรกิจ Startup ด้าน Fintech

…จากชีวิตนักดนตรีทำงานตอนกลางคืน ชีวิตก็ผกผันกลายมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตลอด 4 ปีต่อมา

และในปีที่ 5 ของการเป็น ส.ส.สมัยที่2 ปกรณ์วุฒิ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็น “ประธานวิปฝ่ายค้าน”  มีหน้าที่เป็นผู้นำในการดำเนินงานให้การปฏิบัติงานระหว่างคณะรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกในพรรคร่วมรัฐบาล เรื่องเกี่ยวข้องกับการเสนอร่างกฎหมาย ญัตติ การตอบกระทู้ถาม รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ให้สภาดําเนินไปด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

ผู้คนคุ้นหน้าปกรณ์วุฒิ ผ่านการให้สัมภาษณ์บ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงที่สภามีวาระการเมือง กฏหมายสำคัญ

ผลงานของปกรณ์วุฒิ ตลอดการดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนฯ 4 ปี ยิ่งน่าสนใจ

คลิปการอภิปรายของปกรณ์วุฒิ กลายเป็นข่าวฮือฮาในหลายครั้ง ยิ่งผลงานรูปธรรมท้ายๆก่อนหมดสมัยยิ่งสำคัญ คือการยื่นอภิปรายซักฟอก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยในขณะนั้น จนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดการปฏิบัติหน้าที่และถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีการซุกหุ้น

เราเริ่มทำความรู้จักเขา ตัวตนและวิธีคิดการทำงานการเมืองของเขาจากเรื่องนี้….

 

เบื้องหลังสอย ศักดิ์สยาม

ปกรณ์วุฒิ เล่าเบื้องหลังปฏิบัติการ “สอย” “ศักดิ์สยาม” บ้านใหญ่เมืองบุรีรัมย์ จุดเริ่มต้นมาจากมีแหล่งข่าวให้ข้อมูลมา ประกอบกับพรรคมอบหมายให้ตนเองดู ก็เลยไปพูดคุยกับแหล่งข่าวที่มาให้ข้อมูล

เมื่ออ่านเรื่องราวต่างๆก็พบว่า มีข้อมูลครบครัน ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็ครบถ้วน ทั้งยังชี้ประเด็นให้เห็นข้อพิรุธในหลายจุด จนปกรณ์วุฒิ สนใจ และลงมือค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ได้เอกสารที่ชี้มูลความผิดชัดเจน จนมั่นใจว่าคดีนี้เอาอยู่

นำมาสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะยังไม่มีหลักฐานสำคัญอย่างรายการเคลื่อนไหวทางบัญชี แต่ปกรณ์วุฒิก็มั่นใจในหลักมาก จึงอภิปรายในลักษณะกล่าวหานายศักดิ์สยาม พร้อมบอกเล่าพฤติการณ์ต่างๆ จนนำมาสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญและ ปปช.ไปพร้อมๆกัน

ทั้งนี้ ปกรณ์วุฒิ ย้ำว่า ต้องให้ความเป็นธรรมว่า ตลอดระยะเวลาที่สืบค้นเรื่องนี้ มีหลายคนเป็นห่วง แต่ก็ยืนยันว่าไม่เคยถูกข่มขู่ คุกคามใดๆเลย ไม่เคยมีแรงกดดันใดๆ ต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเอง

ส่วนแนวคิดเรื่องการยื่นยุบพรรคนั้น ปกรณ์วุฒิ ย้ำจุดยืน ต่อให้จะโกรธหรือเกลียดกันยังไง แต่ความชอบธรรมที่จะให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจมายุบพรรคการเมือง ก็ไม่ใช่เรื่องถูกต้องอยู่ดีเพราะมันไม่ได้สัดส่วน โทษยุบพรรคการเมืองไม่ควรมีอยู่ หรือจะมีอยู่ก็ต้องพบการกระทำผิดร้ายแรงชนิดที่ไม่สามารถโต้เถียงได้เลย

 

อุปสรรคก้าวไกลคือคนกลัวเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามถึงการทำงานด้านกฏหมายในรัฐสภายุคนี้ของพรรคก้าวไกล คิดว่าอะไรจะเป็นอุปสรรคใหญ่ ประธานวิปฝ่ายค้าน เล่าว่า เราต้องทำงานอย่างมีความหวัง ยกตัวอย่างย้อนกลับไปไม่กี่ปีก่อน ใครจะไปคิดว่าเรื่องสมรสเท่าเทียมจะผ่านเข้าสู่การพิจารณาของสภา แต่วันนี้กลายเป็นเรื่องที่ทุกพรรคเห็นชอบตรงกันหมด นี่อีกหนึ่งหมุดหมายความสำเร็จของประชาชน

กรณีการเสนอกฏหมายก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล ปกรณ์วุฒิ เห็นว่าหลายร่างฯที่ก้าวไกลเสนอไป อาจจะไม่ผ่านในสมัยที่แล้ว และจะไม่ผ่านในสมัยนี้ แต่ก้าวไกลหวังว่าซักสิ่งที่เราต้องการ วันหนึ่งมันจะเป็นฉันทามติของสังคมที่ไม่ว่าพรรคการเมืองจะเห็นแตกต่างกันอย่างไร แต่ว่าในเรื่องนี้ทุกพรรคเห็นตรงกัน คิดว่า สุราก้าวหน้า จะเป็นหมุดหมายต่อไป ที่ทุกพรรคการเมืองต้องกลับมาเอาด้วยกับเรื่องนี้

“ถ้าวันนี้ นายกฯเซ็นเห็นชอบร่างฯกยเลิกกฏหมายเกณฑ์ทหารขึ้นมา มันก็จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ controversial มากขนาดนั้นในสังคมอีกแล้ว คนจะไม่ต่อต้านในลักษณะห้ามเลิกเกณฑ์ทหารอีกแล้ว ทั้งๆที่ย้อนกลับไป 5 – 10 ปีที่แล้ว เรื่องเหล่านี้เกือบจะเป็นเรื่องต้องห้ามด้วยซ้ำ พรรคไหนพูดขึ้นมาคือคนไม่รักชาติ”ปกรณ์วุฒิ กล่าวยกตัวอย่าง

และว่า “ทุกวันนี้ความสำเร็จของสภาชุดนี้อาจไม่ได้หมายความว่าต้องผ่านกฏหมายให้ได้กี่ชุด แต่มันคือการทำงานทางความคิดให้สังคมเข้าใจ ว่าถ้าอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้า มีความก้าวหน้า ทัดเทียมประเทศนาๆ เราควรจะแก้ไขอะไรบ้าง และในที่สุดหลายๆประเด็นจะเป็นฉันทามติสังคมที่เราจะไม่ต้องมาเถียงกันอีกต่อไป ”

สำหรับอุปสรรคข้างหน้าที่จะทำให้ก้าวไกลผ่านกฏหมายไม่ได้ตามที่หวัง ปกรณ์วุฒิ มองว่า เรื่องใหญ่คือการกลัวการเปลี่ยนแปลง ของผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงสร้างที่เป็นอยู่ที่จะพยายามบอกว่าการเปลี่ยนคือการทำให้ประเทศชาติแย่ลง คนที่เสนอเปลี่ยนคือคนไม่รักชาติ ถ้ารักชาติจริงต้องให้ประเทศเป็นแบบเดิม

“ผมคิดว่าการเลือกตั้งทุกครั้งมันสะท้อนให้เห็นบางอย่างที่ประชาชนส่งเสียงออกมาผ่านคูหา และในที่สุดแล้วเราไม่สามารถปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าทุกฝ่ายอยากที่จะอยู่ในประเทศนี้อย่างสันติ สงบสุข ทุกฝ่ายจะอยู่ร่วมกันได้ โดยแต่ละฝ่ายอาจจะเสียประโยชน์บ้าง ได้ประโยชน์บ้าง ผมคิดว่าการยอมรับเสียงของประชาชนแล้วเปลี่ยนแปลงหาทางออกไปเรื่อยๆ คือทางออกที่ดีที่สุด ดีกว่าที่จะยืนยันไม่ยอมเปลี่ยนอะไรเลย และนำไปสู่ความอึดอัด ความรุนแรงในอนาคต ”
หลายๆที่ความขัดแย้งมันรุนแรงถึงขั้นมีสงครามกลางเมือง หรือความขัดแย้งที่ฝังลึกมากๆ มันเป็นเพราะคนกลุ่มหนึ่งเขาไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลย เขากลายเป็นพลเมืองชั้นสนองที่ไม่มีอำนาจในประเทศนั้น มันก็เลยปะทุออกมา แต่ถ้าทุกฝ่ายยอมที่จะเปลี่ยนแปลงตาม ซึ่งก็ไม่ได้เปลี่ยนแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในวันเดียว ค่อยๆเปลี่ยนก็ได้ มันทำให้ยังอยู่ร่วมกันได้ อันไหนที่มันช้าไป อีกฝั่งหนึ่งก็จะส่งเสียง อยู่กันแบบนี้ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง สันติสุข และการเปลี่ยนผ่านโดยสงบมันเป็นไปได้

 

ก้าวไกลต่างหากคือฝ่ายประนีประนอม

เมื่อถามว่า คนมองว่าก้าวไกลมีท่าทีทางการเมืองแข็งกร้าวเกินไป ถ้าลดความแข็งกร้าวลงมา กฏหมายก้าวหน้าก็จะมีโอกาสผ่านสภา มากกว่านี้?

เรื่องนี้ ปกรณ์วุฒิ ให้ความเห็นว่า ถ้ามองเรื่องความแข็งกร้าวหรือกร้าวร้าวผ่านการประชุมสภาที่มีการถ่ายทอดสด หรือสัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ

“..ผมว่าถ้านับความ aggressive ผมว่าพรรคอื่น aggressive กว่าผมอีก เขาด่าผมแบบไม่ไว้หน้าเลยนะ นี่พูดกันตรงๆ ผมว่าก็เห็นๆอยู่ โอเค พรรคผมก็มีคนที่พูดแรง พูดตรงๆ และด้วยลีลาที่อาจจะรู้สึกว่าทำไมดุจัง แต่ผมจะบอกแบบนี้ว่า การทำงานเบื้องหลังในสภา จริงๆผมเป็นคนที่โคตรประนีประนอมเลย คือวิปรัฐบาลมาขออะไรที่มันไม่เหนือบ่ากว่าแรง ผมยกให้หมดเลยนะ ยกจนกระทั่งบางครั้งผมโดนคนในพรรคด่า ว่าทำไมยอมเขาไปหมด ผมก็ถามไปว่าถ้าไม่ยอมเขาแล้วเราได้อะไร มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ระดับที่ต้องมาช่วงชิงขนาดนั้น และถ้าพูดกันแบบทฤษฎีเกมเลย คุณไม่ยอมเขา คุณเอาอะไรไปสู้เขาคุณเป็นเสียงข้างน้อยในสภา วันดีคือดีเขาโกรธคุณ อยากเอาคุณกลับ เขาทำได้ทุกอย่าง เอาของคุณไปได้ทุกอย่าง แล้วจะทำให้มันเกิดเรื่องทำไม…” ปกรณ์วุฒิ ระบุ

และว่า “ส่วนเรื่องเกมในสภาประเภทนับองค์ประชุม ไม่แสดงตน ผมคิดว่าอันนี้มันคือแทกติก ในการที่บางครั้งมันก็ไม่ไหว ขออะไรก็ไม่เคยได้ มันก็ต้องแสดงให้เห็นว่าผมก็มีอำนาจต่อรองเหมือนกัน คุณกล้าให้ทั้งประเทศเห็นไหมว่า 300 กว่าคนของคุณ นั่งกันอยู่จริงๆแค่ร้อยคน นี่คือตัวอย่างว่าเรามีอำนาจต่อรองอะไร ทำไปเพื่อที่จะทำให้การเจรจามันกลับมามีบรรยากาศที่ดีขึ้น ไม่ใช่ผมเสนออะไรไปก็ไม่เอาๆๆ”

“ถ้าถามผม พรรคก้าวไกล ประนีประนอมมากๆ ในหลายๆเรื่องๆ ผมว่าประนีประนอมมากกว่าพรรคการเมืองใหญ่ๆในสภาในอดีตเยอะครับ” ปกรณ์วุฒิ ระบุ

ส่วนการทำงานของพรรคก้าวไกลหลังจากนี้ ปกรณ์วุฒิ ยืนยันว่าการทำหน้าที่ยังเหมือนเดิม ว่ากันไปตามเนื้อหาและหลักการ ไม่ได้ดูว่าใครเป็นคนเสนอ ถ้ารัฐบาลเสนอมาแล้วเราเห็นด้วย เราก็ยกมือให้ เช่น พรบ.อากาศสะอาด ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปค้าน แนวทางการทำงานของพรรคก้าวไกลในรัฐสภาชุดนี้ถ้าเทียบกับชุดที่แล้วก็จะเห็นความเป็นก้าวไกลชัดเจนขึ้น มีความเป็นฝ่ายค้านมากขึ้น เพราะครั้งที่แล้ว พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านและก็มีส.ส.มากกว่าก้าวไกลเยอะ การกำหนดวาระต่างๆของฝ่ายค้านที่อาจเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็ทำเต็มที่ไปในแนวทางเดียวกันโดยอาจไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน

 

เข้าใจเพื่อไทย แต่ก็ยังคาใจคำอธิบาย

เมื่อถามถึงมุมมองเรื่องการทำงานของพรรคเพื่อไทยที่เคยเป็นเพื่อทำงานฝ่ายค้านร่วมกันมา ปกรณ์วุฒิ มองว่า ถ้าพูดกันอย่างแฟร์ๆ แกนนำรัฐบาลที่มีพรรคร่วมหลายพรรค จะทำอะไรไม่ได้เต็ม100% ก็ต้องเข้าใจเรื่องนี้ ว่าจะทำนโยบายของตัวเองอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่หลายเรื่องก็เข้าใจไม่ได้

“ที่บอกว่าทำทุกนโยบายหาเสียงของตัวเองไม่ได้เพราะเป็นรัฐบาลผสม อันนี้ผมเข้าใจได้ เช่นเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยเคยบอก ถ้าร่วมรัฐบาลกับก้าวไกล ดิจิทัลวอลเล็ตก็คงหายไปเลย เพราะมันขัดกันเองกับนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้าก้าวไกล นี่คือข้อจำกัดรัฐบาลผสม แต่บางเรื่องคล้ายๆกับจะเปลี่ยนจุดยืนของตัวเองไปเลย ยกตัวอย่างเรื่องการปฏิรูปกองทัพ เพื่อไทยเป็นอีกพรรคที่เสียงแข็งมากตอนหาเสียง เช่นการยกเลิกเกณฑ์ทหาร คุณเศรษฐา ตอนหาเสียง ก็เคยทวิตเรื่องยุบ กอ.รมน. เรื่องเลิกเกณฑ์ทหารนี่พรรคเพื่อไทยพูดทั้งพรรค ปฏิรูปกองทัพ ลดนายพล แต่วันนี้ ก็เข้าใจว่าความเป็นรัฐมนตรีจะมาปากแจ๋วแบบพรรคก้าวไกลก็คงยาก มันก็ต้องมีท่าทีที่สุดขุมรอบคอบ แต่ในท่าทีที่สุขุมรอบคอบ กลับเห็นการเปลี่ยนไปของแนวคิด จากยกเลิกเกณฑ์ทหารกลายเป็นความเห็นใจนายพลทั้งหลาย กลายเป็นความเข้าอกเข้าใจจนเกินพอดี แผนที่บอกจะลดเกณฑ์ทหารเป็นสมัครใจทั้งหมดก็ได้ยินแต่คำพูด ผมไม่เห็นตัวเลข ถ้าผมหาเสียงก่อนเลือกตั้งมาว่า ผมจะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่พอหลังเลือกตั้งกลับบอกจะไม่ออกกฏหมายเลิก เปลี่ยนเป็นค่อยๆลด สิ่งที่ผมต้องทำ ณ วันที่บอกคือ ต้องบอกว่าปีแรกจะเลิกเท่าไหร่ ปีที่ 2 ลดเท่าไหร่ และจะไม่มีการบังคับเกณฑ์ปีไหน นี่คือสิ่งที่ต้องทำเมื่อเราไม่ได้ทำตามสัญญา แต่พอมันไม่มีอะไรเลย มันก็ดูแปลก..” ปกรณ์วุฒิ ระบุ

ปกรณ์วุฒิ ระบุเพิ่มว่า ตัวคุณสุทินพูดเมื่อหลายเดือนที่แล้วว่าการเลิกเกณฑ์ทหารมันขัดรัฐธรรมนูย คำถามแรกคือแล้วตอนหาเสียง คุณพูดเรื่องเลิกเกณฑ์ทหารได้ยังไง คำถามที่สองถ้าคุณไปอ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 เขาบอกว่าหน้าที่ของปวงชนชาวไทยต้องรับราชการทหารตามที่กฏหมายกำหนด เขียนไว้แค่นี้เอง แล้วการที่คุณเขียนกฏหมายว่าไม่บังคับเกณฑ์ มันจะขัดรัฐธรรมนูญได้อย่างไร มันเป็นข้ออ้างที่ถูกหยิบยกมาแล้วรับฟังไม่ได้

เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน10,000 บาท ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงต่อเนื่องนับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2566 ปกรณ์วุฒิ ก็ให้ความเห็นไว้ว่า เป็นนโยบายที่เห็นต่างกันตั้งแต่ตอนหาเสียง พรรคก้าวไกลมองว่าประเทศไทยมีวิกฤตความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจมันไปได้แต่กระจุกอยู่คนข้างบน ไม่ลงสู่คนข้างล่าง จุดยืนของเพื่อไทยคือมุ่งการขยายเค้กให้ใหญ่ก่อน แล้วค่อยแบ่งเค้กทีหลัง แต่ก้าวไกลจะบอกว่า เราสร้างกติการการแบ่งเค้กก่อนแล้วให้มันโตเท่าๆกันทุกส่วน นั่นคือมุมมองที่ต่างกันของ 2 พรรค เป็นที่มาว่าเราไม่เห็นด้วยกับการทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่ก้าวไกลก็ไม่ได้ต้านขนาดนั้น เพราะเป็นการมองเศรษฐกิจคนละมุม และพรรคเพื่อไทยก็หาเสียงว่าไม่กู้ เราก็มองว่าโอเค พอรับได้ ถ้าบริหารจัดการเก่ง แจกเงินดิจิทัลคนละหมื่นถ้วนหน้าได้โดยไม่ต้องกู้ ส่วนตัวก็มองว่าเพื่อไทยเจ๋งนะ เรื่องบริหารจัดการงบประมาณ แต่สุดท้ายผลกลับมาสู่การกู้เงิน ต้องย้ำว่าประเด็นหลักใหญ่ที่เราค้านตอนนี้คือเรื่องนี้

“การที่เพื่อไทยบอกว่าดิจิทัลวอลเล็ตคือนโยบายที่พรรคหาเสียงไว้ ดังนั้นจึงต้องทำ ผมกำลังบอกว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่คุณทำวันนี้ ไม่ใช่นโยบายที่คุณหาเสียงไว้ เพราะคุณหาเสียงไว้ว่าคุณไม่กู้ นี่คือนโยบายอะไรไม่รู้ คุณไม่ได้หาเสียงไว้แบบนี้ ” ปกรณ์วุฒิ ระบุ

เมื่อถามว่าแล้วมีนโยบายไหนของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ก้าวไกลจะพอหนุนได้บ้าง? ประธานวิปฝ่ายค้านตอบกลับมาทันทีว่า “สุราก้าวหน้า จริงๆก็มีสุราพื้นบ้านที่เพื่อไทยหาเสียงไว้ครับ”

ปกรณ์วุฒิ ออกปากขอเชียร์พรรคเพื่อไทยเดินหน้าทำเรื่องนี้ทันที พร้อมระบุว่า ขณะนี้ ร่างกฏหมายของ เท่าภิภพ (เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.ก้าวไกล) จ่อรออยู่แล้ว ของพรรคเพื่อไทยเอาเข้ามาประกบรอได้เลย ส่งเข้ามาได้เลย ก้าวไกลยินดีสนับสนุนเต็มที่

เมื่อถามความรู้สึกที่มีต่อเพื่อไทย จากที่เคยเป็นเพื่อนฝ่ายค้าน ปัจจุบันกลายเป็นตรงข้ามกันทางการเมือง? ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ถามว่าเป็นไปไหม ก็ต้องตอบว่าเปลี่ยน เราเห็นคนที่เคยอยากจะสู้ไปด้วยกัน ที่อาจจะเห็นต่างกันบางเรื่องแต่จุดยืนใหญ่เราเหมือนกัน วันนึงมันเห็นเพื่อนเราเปลี่ยนไป ก็คงรู้สึกอะไรบ้าง แต่ด้วยการเมือง เราก็เข้าใจได้ ทุกวันนี้ก็คุยกับวิปรัฐบาลราบรื่นดี

 

ignore คนที่ไม่รับฟังเหตุผล 

เมื่อถามว่ารู้จัก “นางแบก” หรือไม่? ปกรณ์วุฒิ ตอบกลับทันทีว่ารู้จัก ความรู้สึกที่มีก็คือการ ignore ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย เพราะส่วนตัวมั่นใจว่าไม่ใช่สลิ่มเฟส 2 ต้องกลับมาดูที่ปัจจุบันว่าเราเป็นอะไร ตั้งแต่ตั้งพรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงพรรคก้าวไกล เขาก็ยอมรับว่าเขาเคยเป็น กปปส.มาก่อน เคยเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนการรัฐประหารมาก่อน

แต่พอเวลาผ่านไป เขาก็รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ได้แก้ปัญหาประเทศ คำถามคือ เราไม่ได้ต้องการแบบนี้หรือครับ? เราไม่ได้ต้องการให้คนที่เคยเห็นดีเห็นงามกับการปล้นอำนาจประชาชน หันกลับมาสนับสนุนประชาธิปไตยหรือครับ? คิดว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ส่วนตัวคิดว่าการรวมคนที่เคยสนับสนุนการรัฐประหาร มาสนับสนุนพรรคก้าวไกล ที่สังคมมองว่า radical ที่สุดในวันนี้ ผมว่ามันคืดความสำเร็จของการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

“ผมเลือก ignore เพราะผมคิดว่าเอาเวลาไปทำอย่างอื่น มีประโยชน์กว่า บางคนเขาไม่ได้มาเพื่อรับฟังเหตุผลของเรา ดังนั้นก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปอธิบายเหตุผลของเราให้กับคนที่ไม่เปิดหู เปิดใจรับฟัง เอาเวลาไปตั้งใจทำงานดีกว่า” ปกรณ์วุฒิ ระบุ

ปกรณ์วุฒิ ยังให้ความเห็นฝากไปถึง “ด้อมส้ม” เอฟซีกองเชียร์ก้าวไกลว่า เวลาดีเบตกับใครในโลกออนไลน์ ก็อย่าเอามาคิดให้ขุ่นเคืองใจมากนัก ให้ลองคิดว่าเป็นการฝึกซ้อมการใช้ logic ของเรา ว่ายังอยู่ในร่องในรอยหรือไม่ ผมคิดว่านี่ก็เป็นวิธีการฝึกที่ดี ก่อนเป็นนักการเมืองผมก็เคยผ่านจุดนี้ ยังเคยไปคอมเมนต์เถียงกับคนเชียร์ คสช. มันก็เป็นการฝึกการใช้ logic ว่าเราจะชี้อย่างไรว่าตรรกะที่คนเชียร์คสช.ใช้มันผิด จนถึงแสดงวิธีการเปรียบเทียบตรรกะที่ควรจะเป็น ก็เป็นการฝึก ไม่เก็บมาเป็นเรื่องขุ่นเคืองใจมากนัก

ถ้าผู้มีอำนาจคิดยาวๆ เขาจะไม่ยุบก้าวไกล

เมื่อถามถึงสถานการณ์ของพรรคก้าวไกลวันนี้ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่ากำลังเผชิญชะตากรรมการถูกยุบพรรค ปกรณ์วุฒิ ตอบกลับทันทีว่า ไม่ได้รู้สึกกลัว หลักคิดก็คือ มันไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในอำนาจของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ควรจะต้องเอาเวลาไปกลัว เพราะสุดท้ายก็ควบคุมไม่ได้ว่าจะโดนยุบหรือไม่โดนยุบ ที่สำคัญเราผ่านการโดนยุบพรรคมาแล้ว 1 ครั้ง

“ผมก็ยังมองว่าถ้าผู้มีอำนาจ คิดยาวๆ (สำหรับตัวเขาเองด้วยนะ) คือผมเรียนเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เขาบอกว่าทุกๆคนตัดสินใจ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง อันนี้คือข้อสมมติที่เป็นจริงมาก ถ้าผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองในระยะยาวจริงๆ เขาจะไม่ยุบก้าวไกล ผมคิดว่ามันจะเป็นโทษกับเขามากกว่าที่จะปล่อยให้พรรคก้าวไกลอยู่ต่อไป” ปกรณ์วุฒิ กล่าว

ปัจจุบัน ปกรณ์วุฒิ ยังดำรงตำแหน่งเป็น “ประธานวิปฝ่ายค้าน” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในงานสภา ปกรณ์วุฒิ เล่าที่มาที่ไปของการได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนี้ว่า เกิดจากการติดตามนายพิธา ไปพบปะสมาคมต่างๆ พอมีการเลือกตั้ง งานสภาเพิ่มความสำคัญเข้ามา ซึ่งตนก็เคยเข้าไปทำงานกิจการสภา เมื่อพรรคก้าวไกลรู้ตัวว่าต้องเป็นฝ่ายค้านแน่ๆ นายพิธาก็โทรหาตน บอกว่า “คุณพร้อมเป็นประธานวิปฯไหม” ก็ไม่รู้จะปฏิเสธยังไง เพราะนายพิธาโทรมาขอโดยตรง เพราะตนเคยเป็นวิปฯมาก่อน

“พูดจริงๆ 4 ปีที่แล้ว ผมเป็นวิปแค่ 1 ปี เป็นแทนพี่วิโรจน์ที่ลาออกไปลงผู้ว่าฯ มีคนที่เขาเป็นนานกว่าผม แต่เขาบอกว่าไม่อยากเป็นประธานวิปฯ อยากไปทำอย่างอื่น ซึ่งเมื่อโอกาสมาถึงผม ฝ่ายบริหารน่าจะคิดมาแล้วแหละ ก็เลยไม่ปฏิเสธครับ…” ปกรณ์วุฒิ กล่าวเปิดใจ

ส่วนสิ่งที่อยากทำในหน้าที่ประธานวิปฝ่ายค้าน ปกรณ์วุฒิ ระบุว่า “อยากให้สภาชุดนี้ เป็นชุดที่พิจารณากฏหมาย ที่พิจารณาโดยสส. ให้มากกว่าที่เคยเป็น ผมจะพยายามหาสถิติที่ผ่านๆมา ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารด้วยสภา สภาสักชุดหนึ่ง พิจารณากฏหมายที่ ส.ส.เสนอเองได้กี่ฉบับ เพราะชุดที่ 25 ทำได้น้อยมาก มันเป็นสภาที่รอสแตมป์ให้ครม.ส่งมา แต่กฏหมายที่ส.ส.ซึ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติเสนอกันเอง กลับพิจารณาได้น้อยมาก ผมคิดว่าผมอยากผลักดันเรื่องนี้ อย่างจริงจัง”

 

จากนักดนตรีวงดัง สู่ ประธานวิปฝ่ายค้าน

ปกรณ์วุฒิ ยังย้อนความสนใจเรื่องการเมืองให้ฟังถึงความสนใจทางการเมือง ว่าแต่ก่อนก็สนใจการเมืองในการเลือกตั้งตามปกติ เช่น เลือกตั้ง ส.ส. – ส.ว. ที่รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของพลเมืองในการกำหนดอนาคตประเทศ และตนเองไม่เคยขาดการเลือกตั้งสักครั้ง

มาสนใจการเมืองจริงๆ คือเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 บริเวรแยกราชประสงค์ เพราะตนเองอาศัยอยู่ที่คอนโดฯ แถวนั้น ในแง่หนึ่งจึงเป็นผู้ได้รับผลกระทบ และในช่วงที่มีการยิงกันจึงได้ยินเสียงปืนตลอดเวลา ตอนนั้นเริ่มมีการเล่นเฟสบุ๊กกันแล้ว ซึ่งเมื่อได้เห็นความเห็นบางอย่างทำให้เรารู้สึกว่า ในฐานะคนที่ไม่ได้อินกับการเคลื่อนไหวคนเสื้อแดงในลักษณะต้องไปร่วมต่อสู้ด้วย รวมถึงไม่ได้อินกับเสื้อเหลืองในการปิดสนามบินด้วย มันมีคนกลุ่มหนึ่งมองว่าคนอีกกลุ่มสมควรที่จะตายเพราะว่าเห็นไม่เหมือนกัน นั่นคือจุดที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเราทำให้ประเทศมาถึงจุดๆนี้ได้อย่างไร เราอนุญาตให้การสังหารคนเป็นความชอบธรรมได้อย่างไร จึงยิ่งสนใจการเมืองมากขึ้น และขณะนั้นก็อ่านหนังสือเยอะ อ่านเรื่อง 14 ตุลา โดย้เฉพาะเรื่อง 6 ตุลา ทำให้เปลี่ยนมุมมองทางการเมืองของตนเองไปเยอะ อ่านหนังสือ ฟังเสวนา ดูสารคดีการเมือง ตามที่สนใจ ขณะเดียวกันก็เล่นดนตรีไปด้วย ผมชอบอ่านหนังสือที่มันไม่เกี่ยวกับอาชีพ อ่านปรัชญา อ่านนิยาย คือใช้หนังสือในการผ่อนคลาย คล้ายกับดูหนัง

มันไม่ใช่การเปลี่ยนมุมมองทางการเมือง แต่คือการปลุกมุมมองทางการเมืองของตัวเองมากกว่า ให้สนใจเรื่องนีมากขึ้น กระทั่งเกิดการชุมนุม กปปส. นั่นก็คือการชุมนุมของมุมมองคนกลุ่มเดิม ที่มองเห็นคนอีกกลุ่มไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้ง นำมาสู่การเกิดรัฐประหาร จึงชัดเจนในจุดยืนต่อต้านรัฐประหารอย่างเต็มตัว

“แน่นอน ผมไม่ได้ออกไปต่อสู้แบบรังสิมันต์ โรม แต่ผมก็มีจุดยืนในแบบของผมที่เพื่อนทุกคนรู้ว่าผมคิดแบบนี้ ต่อต้านแบบนี้ จนกระทั่งพรรคอนาคตใหม่ตั้ง ผมมีเพื่อนจะไปสมัครสมาชิกพรรค แล้วเขาเห็นว่า พรรคอนาคตใหม่เหมาะกับผมแน่ๆ เป็นเพื่อนที่คุยกันบ่อย เขารู้แนวคิดผมเป็นอย่างไรก็มาชวน ผมเห็นคลิปคุณธนาธร อาจารย์ปิยบุตรแว้บๆ ตอนนั้นก็ชอบ ก็เลยบอกเพื่อนมึงจะไปสมัคร งั้นกูไปสมัครด้วย”

ปกรณ์วุฒิ ยอมรับว่าตอนนั้นคาดหวังจะเป็นแค่สมาชิกพรรค แค่รู้สึกว่าพรรคอนาคตใหม่ คือตัวแทนทางความคิด ชีวิตนี้ก็ไม่เคยเป็นสมาชิกแพรรคการเมืองมาก่อน แต่ความอัดอั้นในช่วง คสช. ทำให้มีความคิดว่าอยากสนับสนุนคนที่คิดเหมือนเราให้ไปเปลี่ยนให้ประเทศนี้มันดีขึ้น ให้มันไม่ต้องมีรัฐประหารอีกต่อไป แค่นั้นเลย จากนั้นก็ไปสมัครสมาชิกพรรคแบบตลอดชีพ

“ ตอนนั้นในหัวไม่ได้คิดถึงการสมัครส.ส.อยู่แล้ว ผมคิดว่าเขาก็มีคนของเขาอยู่แล้ว เราไปสมัครสมาชิก วันดีคืนดี เขตบ้านผมมาหาเสียง เดี๋ยวผมไปช่วยเดินในหมู่บ้านก็ได้ คิดแค่นั้นเลย”

วันที่ไปสมัคร ปกรณ์วุฒิ เล่าว่า วันที่ไปคนในพรรคไม่ค่อยเยอะก็ไปเจอทีมกรุงเทพฯ ของพรรค เลยมีโอกาสได้คุยกันเรื่อยเปื่อย ดูเขาวางแผนหาเสียง หลังจากนั้นผมก็กลับ

แต่แล้วก็มีคนโทรมาบอกว่ากำลังเปิดรับสมัครคนลงส.ส. แล้วถามผมว่าสนใจลงสมัครไหม ตอนนั้นผมคิดในใจ ชีวิตนี้ได้มีรูปอยู่บนป้ายหาเสียง ครั้งหนึ่งในชีวิต ก็ดีนะ จากนั้นตนก็ตอบตกลงไปสมัคร โดยเป็นการสมัครแบบเขต ที่ห้วยขวางบ้านผม เพราะตอนที่ถาม เขาไม่ได้บอกว่าสมัครแบบไหน ก็คิดว่าสมัครแบบเขตเพื่อเก็บแต้มให้พรรค ตอนนั้นคิดในใจเล่นๆ ได้สัก 4-5 พันแต็ม ก็ดีแล้ว

ภาพจาก เฟสบุ๊ก ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล – Pakornwut Udompipatskul

 

หลังสมัครเสร็จ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าคนสมัครเขตห้วยขวางเยอะมาก เเขาเอาโปรไฟล์ผู้สมัครทุกคนมาดู แล้วก็บอกว่า “คุณปกรณ์วุฒิไปลงแบบบัญชีรายชื่อได้ไหม..” ผมก็ตอบไปว่าไม่มีปัญหาครับ ผมอยู่ตรงไหนก็ได้ ตอนนั้นก็คิดว่าอันดับ 70-80 อะไรแบบนั้น ลงๆไปเหอะ เดี๋ยวไปช่วย ส.ส.เขตห้วยขวางหาเสียงก็ได้ สุดท้ายเขาโทรมาบอกว่าอยู่อันดับที่ 37

ปกรณ์วุฒิ เล่าให้ฟังด้วยท่าทียิ้มแย้มเคล้าเสียงหัวเราะ ตอนโทรมาแจ้งลำดับส.ส. ตอนนั้นกำลังเล่นดนตรีอยู่บนเวที เขาโทรมาไม่ได้รับ พอเล่นเสร็จก็โทรกลับ จนท.ก็บอกว่า “คุณปกรณ์วุฒิ อยู่ลำดับ 37 นะคะ”

“ผมจำได้เลย ผมหันไปหาเพื่อน เฮ้ยกูได้อันดับ 37 หว่ะ วันนั้นทุกคนก็ตื่นเต้นนะ แต่มันเป็นความตื่นเต้นที่ทุกคนไม่มีใครคิดว่าจะได้ โห อันดับที่ 37 เลยหรอ นี่คือเป็นคนไปสมัครที่ไมา่รู้จักใครเป็นการส่วนตัวเลย เขาให้ลำดับที่ 37 เลยหรือ ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นส.ส.อยู่แล้ว ” ปกรณ์วุฒิ ระบุ

ปกรณ์วุฒิ ยังเล่าให้ฟังถึงการทำงานตลอดเวลาที่เป็นส.ส.พรรคก้าวไกล ยอมรับว่าทุกคนเหนื่อย เพราะเป็นการทำงานในบริบทที่จะทำอะไรก็มีแต่การขัดขวาง มันคือภารกิจเข็นครกขึ้นภูเขา มีคนที่พยายามจะยันเราลงตลอดเวลา แต่ถามว่าหมดไฟไหม นั่นคือสิ่งที่คนที่พยายามขัดขวางพรรคก้าวไกลต้องการ ดังนั้นผมและพรรคก้าวไกลให้ไม่ได้ มันก็ต้องสู้ไปแบบนี้

ย้อนกลับไปถามเสียดายไหม? กับโอกาสการได้เป็นรัฐบาล หากพรรคก้าวไกลยอมถอย ไม่ยกเรื่อง 112 ขึ้นมาเป็นเงื่อนไข อาจได้เป็นรัฐบาล ปกรณ์วุฒิ ระบุว่า

“ไปถามทุกคนก็ได้ครับ ถ้าถอยเรื่อง 112 จะได้เป็นหรือเปล่า ผมว่าทุกคนมีคำตอบว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือแค่ข้ออ้าง …

…อีกเรื่องหนึ่ง อ.ปิยบุตร เคยพูดสมัยอนาคตใหม่ว่า เรื่องบางเรื่อง ถ้าเรายอมถอย ก็ต้องถามตัวเองว่าเราตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาทำไม แล้วถ้าคำตอบนั้นมันทำให้เราสูญเสียตัวตนบางอย่าง ก็ไม่จำเป็นต้องมายืนอยู่ตรงนี้ก็ได้ ดังนั้นจะทำหรือไม่ทำอะไร ก็ต้องถามตัวเองบ่อยๆ ว่าเรามายืนอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร?” ปกรณ์วุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

ภาพจากเฟสบุ๊ก – ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล – Pakornwut Udompipatskul