จาก ‘หมูเถื่อน’ ถึง ‘หมูเด้ง’ ปมร้อนโยกย้ายอธิบดี DSI ดราม่าท่วม

บทความในประเทศ

 

จาก ‘หมูเถื่อน’ ถึง ‘หมูเด้ง’

ปมร้อนโยกย้ายอธิบดี DSI

ดราม่าท่วม

 

การแก้ปัญหาเรื่อง “หมูเถื่อน” ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องหมูๆ เหมือนชื่อเสียแล้ว หลังเกิดการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องนี้

สืบเนื่องจาก 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้ง พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงกระทรวงยุติธรรม เป็นอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม

ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัย เนื่องจากก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน (27 พฤศจิกายน 2566) พ.ต.ต.สุริยา ได้นำคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เข้าตรวจค้นพยานหลักฐาน ที่สำนักงานใหญ่แม็คโคร ถนนพัฒนาการ แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ หลังพบมีเอกสารเกี่ยวข้องกับกลุ่มนายทุน บริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด และบริษัท เดอะ กู๊ด ช็อป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับ “คดีหมูเถื่อน” ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

 

จุดเริ่มต้นการนำเข้าหมูเถื่อน ต้องย้อนกลับไปถึงปี 2564 ที่ประเทศไทยพบการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) ทำให้ปริมาณหมูในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ และมีราคาสูงขึ้น จนเกิดการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่า

เรื่องหมูเถื่อนกลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 กรมศุลกากรได้ตรวจยึดซากหมูแช่แข็งตกค้างจำนวน 161 ตู้ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนที่ในเวลาต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ ที่ 59/2566

เรื่องหมูเถื่อนกลายเป็นประเด็นอีกครั้งครั้ง เมื่อปรากฏคลิป นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความไม่พอใจการทำงานของดีเอสไอ ระหว่างการหารือปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566

“ผมเชิญท่านมาพบ ท่านมาที่ทำเนียบรัฐบาลแล้วรอบหนึ่ง ทำไมช้าจัง จัดการให้มันเร็วๆ หน่อยได้ไหม มันจับมาได้ตั้งเยอะแยะแล้ว ทำไมไม่สั่งการสักที ผมสั่งการไปแล้วก็ไม่ทำ ไม่หาตัวรายใหญ่ เข้าถึงตัวไม่ได้สักที ตอนนี้มีกี่ราย ตอนนี้จับมามี 10 รายแล้วใช่ไหม”

 

ต่อมา พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงผลการประชุมหารือดังกล่าวว่า กรณีแก้ไขปัญหาหมูเถื่อน ดีเอสไอเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องที่กรมศุลกากรส่งของกลางมา จำนวน 161 ตู้ โดยแบ่งกลุ่มผู้กระทำผิดเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. บริษัทนำเข้า จึงได้ดำเนินคดีแจ้งข้อกล่าวหา จับกุมไปแล้วจำนวน 6 ราย

2. กลุ่มนายทุน ที่เป็นคนสั่งให้กลุ่มที่ 1 นำหมูเถื่อนเข้าไทย ซึ่งดีเอสไอได้ออกหมายจับ 2 บริษัทแล้ว

3. กลุ่มผู้ดูแลเรื่องห้องเย็น ที่ได้กระจายนำหมูเถื่อนไปแช่ที่ต่างๆ อยู่ทั่วประเทศ

พ.ต.ต.สุริยา กล่าวต่อว่า ของกลางที่ดีเอสไอได้รับมา นอกจากจำนวน 161 ตู้แล้วนั้น เมื่อได้สืบค้นต่อไปพบว่า ตั้งแต่ปี 2563-2566 กลุ่มขบวนการนำเข้า มีการลักลอบนำเข้าเศษชิ้นส่วนซากสัตว์มาก่อนหน้านั้นแล้ว จำนวน 2,386 ตู้ ดีเอสไอกำลังสอบสวนว่ามีใครเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวบ้าง และเรื่องนี้ดีเอสไอจะดำเนินการให้ถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหากลุ่มที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นนายทุนเจ้าใหญ่ ที่มีคำสั่งซื้อให้บริษัทชิปปิ้งนำเข้าหมูเถื่อนสู่ประเทศไทย ถือว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีบทบาท เพราะมีการรับคำสั่งซื้อมาจากผู้สั่งที่เป็นรายย่อยทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตัวกลางที่ทำให้เนื้อหมูเถื่อนกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงความคืบหน้า และได้นำภาพแผนผังความเชื่อมโยงในคดีดังกล่าว แสดงประกอบการแถลงข่าว

ซึ่งผังดังกล่าวนั้นชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของกลุ่มบุคคลทั้ง 3 กลุ่ม ตั้งแต่ฝ่ายข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ และบริษัทเอกชน ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกระทำความผิดในลักษณะองค์กรอาชญากรรม

จากนั้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหมูเถื่อน ว่าหากมีนักการเมืองใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง นายกฯ ยืนยันใช่หรือไม่จะไม่ปล่อยไว้แน่

นายเศรษฐากล่าวว่า หากทำผิดก็ไม่ปล่อยไว้ เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องจัดการตรงนี้ไป

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้นำคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เข้าตรวจค้นพยานหลักฐาน ที่สำนักงานใหญ่แม็คโคร หลังพบมีเอกสารเกี่ยวข้องกับกลุ่มนายทุน บริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด และบริษัท เดอะ กู๊ด ช็อป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน โดยมี นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร (แม็คโคร) เป็นผู้แทนต้อนรับ และให้ความร่วมมือในการตรวจค้น

นางศิริพรกล่าวอีกว่า ขอยืนยันเนื้อหมูรับซื้อจากแหล่งผลิตในประเทศไทย 100% มีใบรับรองจากกรมปศุสัตว์ทุกล็อต และไม่สนับสนุนการนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย ส่วนเครื่องในหมู (ตับหมู) ยอมรับติดต่อซื้อจากบริษัทผู้ค้าที่ปรากฏเป็นข่าวจริง แต่มีเอกสารครบถ้วนจากกรมปศุสัตว์ เป็นการสั่งซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะสามารถนำเข้าได้บางช่วง หรือความต้องการเกินกว่าการผลิตในประเทศและรัฐบาลอนุญาต ซึ่งในปัจจุบันแม็คโครรับซื้อเครื่องในหมูจากภายในประเทศถึง 99%

นางศิริพรกล่าวต่อว่า บริษัทผู้ค้าดังกล่าวกับแม็คโครรับซื้อสินค้ากันมาหลายปี ประเภทแช่แข็ง เช่น ปลา อาหารทะเล ซึ่งมีเอกสารถูกต้องและเป็น 1 ใน 2,000 กว่ารายบริษัทคู่ค้า แต่การยกเลิกสั่งซื้อจากบริษัทดังกล่าว ทั้งเนื้อหมู เมื่อช่วงกลางปี 2565 ตรวจสอบพบว่ามีการเจือปนสารเร่งเนื้อแดงเกินปริมาณ ส่วนตับหมู ยกเลิกสั่งซื้อประมาณต้นปี 2566 เพราะตรวจสอบแล้วไม่ได้คุณภาพ เคยตักเตือนชี้แจงแล้วแต่ก็ไม่ปรับปรุงแก้ไขจึงหยุดรับซื้อทันที

 

ด้าน พ.ต.ต.สุริยา กล่าวว่า ดีเอสไอขยายผลจากการเข้าค้น 2 บริษัทผู้ต้องหาดังกล่าว พบพยานหลักฐานการจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัทแม็คโคร และห้องเย็น จ.สมุทรสาคร โดยพบเอกสารที่ผู้ต้องหาใช้ยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการแจ้งสำแดงอันเป็นเท็จ ดีเอสไอต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ารายการสินค้าต่างๆ ของผู้ต้องหานำส่งไปที่ไหนบ้าง ซึ่งมีหลักฐานบางส่วนระบุว่ามีการส่งสินค้ามายังแม็คโคร จึงเป็นที่มาขอหมายศาลเข้าตรวจสอบเอกสาร เบื้องต้นยังไม่ชี้ชัดว่าการรับซื้อของแม็คโครมีความผิดพลาดหรือถูกต้องอย่างไร แต่เอกสารการซื้อขายมีมาต่อเนื่องตามรูปแบบทุกขั้นตอน

พ.ต.ต.สุริยา กล่าวต่อว่า จากนี้ดีเอสไอจะรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานหาความชัดเจนภายใน 1 เดือน และทางเเม็คโครก็ยินดีให้ไปสำรวจที่ห้องเก็บคลังสินค้า 2 แห่งดังกล่าว เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏ นอกจากนี้ ภายหลังการตรวจสอบเอกสารการซื้อขายที่ผ่านมาก่อนมีการหยุดการสั่งซื้อนั้น

พบมูลค่าที่ทางแม็คโครเป็นคู่ค้ากับบริษัทผู้ต้องหา โดยสั่งเนื้อหมูแช่แข็ง และตับหมูแช่เเข็ง รวมมูลค่ากว่า 390 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติโยกย้าย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และกลายเป็นดราม่าที่ถล่มรัฐบาลทันที ว่าสาเหตุที่แท้จริงของการโยกย้ายครั้งนี้คืออะไรกันแน่

ด้านนายณรงเดช อุฬารกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล รองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แปลกใจกับการโยกย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในครั้งนี้

เพราะจากการที่ได้ติดตามปัญหาเรื่องหมูเถื่อนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ พบว่าการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความคืบหน้ามาก สามารถขยายผลจากหมูเถื่อน 161 ตู้ (5 ล้านกิโลกรัม)

ในส่วนที่รับเป็นคดีพิเศษ ไปสู่การค้นพบทางเอกสารว่ามีหมูเถื่อนอีกอย่างน้อยกว่า 2,300 ตู้ (70 ล้านกิโลกรัม) ที่ได้นำเข้ามาแล้ว และยังไม่ทราบว่าขณะนี้ได้กระจายไปอยู่ที่ใดบ้าง

แม้รัฐบาลจะประกาศให้การแก้ปัญหา “หมูเถื่อน” เป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล แต่การโยกย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ครั้งนี้ ย่อมทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยต่อเหตุผลที่แท้จริงของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้