แมลงวันในไร่ส้ม / ส่องอนาคตสิ่งพิมพ์ “คู่สร้างคู่สม” ปิดตัว ปิดตำนาน “ล้านเล่ม” เฟซบุ๊กรายได้สู่หลัก “ล้านล้านบาท”

แมลงวันในไร่ส้ม

ส่องอนาคตสิ่งพิมพ์

“คู่สร้างคู่สม” ปิดตัว ปิดตำนาน “ล้านเล่ม”

เฟซบุ๊กรายได้สู่หลัก “ล้านล้านบาท”

เรียกเสียงฮือฮาจากวงการนักอ่าน เมื่อมีข่าวว่า นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม เป็นฉบับที่ 1005 ปีที่ 38 จะเป็นฉบับสุดท้าย

คู่สร้างคู่สมวางแผงในปี 2523 โดยมี ดำรง พุฒตาล พิธีกรดัง เป็นเจ้าของ

ดำรงเปิดใจผ่านรายการของสถานีทีเอ็นเอ็นว่า

“ผมหยุดผลิตหนังสือแล้ว ไม่ทำอีกต่อไป ไม่ทำแล้ว”

“เราเป็นแชมป์ตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึงปัจจุบัน ไม่มีใครมียอดพิมพ์เท่าเรา แม้กระทั่งในปัจจุบัน เคยพิมพ์ได้มากที่สุดเดือนละ 1.6 ล้านฉบับ ยืนยันว่าเดือนมกราคม 2561 จะไม่มีอีกแล้ว”

ประเด็นสำคัญได้แก่ การถูกลอกเนื้อหา

“ในเรื่องของดวง ระยะหลังดวงถูกคัดลอกลงโซเชียลโดยที่เราไม่ยินยอม ทำให้ผู้อ่านหันไปอ่านในโซเชียลแทนที่จะซื้อหนังสือ ทำให้เราสูญเสียผู้อ่าน”

“โซเชียลทำให้เราท้อใจ”

“เราเจอแบบนี้ทำให้เราต้องเลิก นับเป็นเหตุผลเดียวกับนิตยสารที่ปิดตัวไปก่อนหน้านี้”

“แล้วที่ปิดคือ กระบวนการผลิตของนิตยสารมีขั้นตอนเยอะ และเมื่อผู้อ่านไม่อ่าน แผงหนังสือกระทบ ตัวแทนขายก็กระทบ ตอนนั้นเราตัดสินใจรับสมัครสมาชิก ปรากฏว่าคนรับสมัครมีแค่หลักพัน ไม่คุ้ม และก่อนหน้านี้เราไปให้พนักงานออกไปแล้ว 3-4 ล็อตแล้ว และที่เขาไม่สมัครสมาชิกเพราะไม่มีใครอ่านหนังสือ”

“คู่สร้างคู่สม” วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2523 ในราคา 8 บาท พัฒนามาจากรายการโทรทัศน์และวิทยุที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมผู้ฟังมาก่อน ฉบับปฐมฤกษ์ นำภาพของ ทาริกา ธิดาทิตย์ นักแสดงชื่อดังในสมัยนั้นมาขึ้นปก

ปกล่าสุดที่วางจำหน่ายไปเมื่อ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นภาพ ณเดชน์ คูกิมิยะ และ ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ โดยมีคอลัมน์ดูดวงเป็นคอลัมน์ยอดนิยม

การปิดตัวของคู่สร้างคู่สม ที่เคยมียอดขายเป็นล้าน และน่าจะพอยืนหยัดอยู่ต่อไปได้อีกระยะใหญ่ๆ ตอกย้ำหนักแน่นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ปฏิเสธไม่ได้ในแวดวงสิ่งพิมพ์และสื่อ

ก่อนหน้านั้น วันที่ 9 ธันวาคม มติชนออนไลน์รายงานว่า “ดิฉัน” นิตยสารที่อยู่มานานถึง 37 ปี ปัจจุบันมี คุณหญิงสุวิมล ผึ่งประเสริฐ เป็นบรรณาธิการอำนวยการ ต้องปิดตัวลง โดยนิตยสารดิฉันฉบับสุดท้ายคือฉบับเดือนธันวาคม 2560 โดยหน้าปกเป็นรูป เวียร์-เบลล่า ถ่ายปกคู่กัน

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า การปิดตัวดังกล่าว พนักงานในกองบรรณาธิการเพิ่งจะได้ทราบเรื่องนี้เมื่อค่ำของวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่พอจะระแคะระคายมาสักระยะหนึ่งว่านิตยสารจะปิดตัวลง แต่ที่ยังไม่ได้ยื่นหนังสือลาออกกัน เพราะรอเงินชดเชย

ทำให้มีการนำข่าวเก่าเมื่อปี 2558 มาโพสต์ใหม่อีกรอบ

เป็นข่าวจากการที่ นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ พับลิชชิ่ง จำกัด ผู้ผลิตนิตยสารดิฉัน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 เคลียร์ข่าวสะพัดว่านิตยสารดิฉันจะหยุดผลิต

โดย “ปีย์” ยืนยันในเฟซบุ๊กว่า ปัจจุบันยังมียอดขายเท่าเดิม และจะทำไปจนตาย พร้อมปรับปรุงให้ทันกับโลกสมัยใหม่เสมอ หากผู้อ่านคนไหนมีความคิดดีๆ สามารถบอกกันได้

กระแสข่าวดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากในเดือนพฤศจิกายน 2558 นิตยสาร “เปรียว” ที่อยู่มานานกว่า 35 ปี ได้ประกาศปิดตัว และจะยุติการวางแผนภายในสิ้นปี 2558

เป็นอันว่า จากวันนั้น “ดิฉัน” อยู่ต่อมาได้อีก 2 ปี ก่อนปิดตัวลงจริงๆ

เว็บไซต์ลงทุนแมน หรือ longtunman.com เสนอบทวิเคราะห์เมื่อ 17 ธันวาคม ว่า หลายคนรู้ดีว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ เริ่มมีปัญหาหลังจากที่สื่อดิจิตอลเข้ามา และกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดก็ไม่ใช่กลุ่มไหน ซึ่งก็คือกลุ่มนิตยสาร เพราะรายได้หลักจากเงินโฆษณาลดลงมากที่สุดในบรรดาธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์

ช่วงปี 2555-2559 เม็ดเงินค่าโฆษณาของนิตยสารลดลงจาก 5,221 ล้านบาท จนเหลือเพียง 2,977 ล้านบาท ลดลงกว่า 43% ในระยะเวลา 5 ปี

ในขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ลดลง 35% จาก 15,183 ล้านบาท เหลือ 9,841 ล้านบาท

ลงทุนแมนระบุว่า เม็ดเงินโฆษณาหายไปอยู่กับกลุ่มสื่อโฆษณาออนไลน์ที่ชื่อว่า Digital Advertising นั่นเอง

ขณะที่เม็ดเงินค่าโฆษณาบนสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงอย่างน่าใจหาย เม็ดเงินค่าโฆษณาบนสื่อดิจิตอลกลับเพิ่มขึ้นกว่า 255% จาก 2,783 ล้านบาท ไปสู่ 9,883 ล้านบาท

สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรของบริษัทในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พร้อมกับยกตัวเลขรายได้ของบริษัท แอ็ดวานซ์ พับลิชชิ่ง จำกัด ผู้ผลิตหนังสือดิฉัน ระบุว่า ปี 2557 รายได้ 91 ล้านบาท ขาดทุน 5 ล้านบาท, ปี 2558 รายได้ 78 ล้านบาท ขาดทุน 14 ล้านบาท, ปี 2559 รายได้ 65 ล้านบาท ขาดทุน 34 ล้านบาท

ส่วน “คู่สร้างคู่สม” ภายใต้บริษัท คู่สร้าง-คู่สม (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต ปี 2557 รายได้ 336 ล้านบาท กำไร 112 ล้านบาท, ปี 2558 รายได้ 296 ล้านบาท กำไร 100 ล้านบาท, ปี 2559 รายได้ 200 ล้านบาท กำไร 64 ล้านบาท

นั่นคือบทวิเคราะห์และตัวเลขจากลงทุนแมน ซึ่งจะเห็นถึงจังหวะการตัดสินใจของคู่สร้างคู่สม ที่อาจต่างจากสื่ออื่นๆ

ลงทุนแมนยังยกตัวเลขของโซเชียลมีเดียระดับโลกมาประกอบ นั่นคือบริษัทเฟซบุ๊ก ผู้เป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม

ปี 2557 รายได้ 405,135 ล้านบาท กำไร 95,548 ล้านบาท, ปี 2558 รายได้ 582,645 ล้านบาท กำไร 119,857 ล้านบาท, ปี 2559 รายได้ 898,213 ล้านบาท กำไร 332,044 ล้านบาท

และปีนี้จะเป็นปีแรกที่เฟซบุ๊กมีรายได้เข้าสู่หลักล้านล้านบาท

การปิดตัวเองของคู่สร้างคู่สม ที่เคยพิมพ์มากถึง 1.6 ล้านฉบับต่อเดือน ตอกย้ำอีกครั้งว่า ตลาดหนังสือ โดยเฉพาะแม็กกาซีน ไปต่อได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ

นิตยสารดังๆ ที่พาเหรดปิดไปก่อนหน้า จากปี 2558-2559-2560 มีรายชื่อยาวเหยียด

ไม่ว่าจะเป็น ไรเตอร์, บางกอก, ขวัญเรือน, พลอยแกมเพชร, อิมเมจ ฯลฯ

ส่วนหนังสือพิมพ์ที่ปิดตัวไปแล้วได้แก่ “บ้านเมือง” เมื่อปลายปี 2559

ในครั้งนั้น “ฉลามเขียว” คอลัมนิสต์บ้านเมือง เขียนลาผู้อ่าน มีเนื้อความตอนหนึ่ง กล่าวถึงสาเหตุที่สื่อล้มระเนระนาดว่า เพราะสื่อออนไลน์นั่นก็ถูกส่วนหนึ่ง

แต่ถ้าชาติบ้านเมืองยังปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่มันก็จะไม่ซ้ำเติมแรงเร็วขนาดนี้ สื่อสิ่งพิมพ์สามารถที่จะทำสื่อออนไลน์ควบคู่ไปได้ ก็พอจะอยู่รอดได้

ฉลามเขียวชี้ว่า เหตุการณ์ชัตดาวน์ก่อผลสะเทือนรุนแรง และกลับมาทำร้ายวงการสื่อที่ส่วนหนึ่งไปเป่านกหวีดเรียกอำนาจพิเศษ ทำให้เกิดการซ้ำเติมเศรษฐกิจจนไปไม่รอด

พร้อมกับฝากถึงนักข่าว คนทำงานสื่อว่า “เป็นนักข่าว-อย่าฝักใฝ่เผด็จการ”

ตอกย้ำอีกครั้งว่า การพังพินาศรอบนี้ มีสาเหตุจากเทคโนโลยีใหม่มากำหนดก็จริง แต่ปัจจัยภายในของวงการเอง มีส่วนเร่งให้วันนั้นมาถึงเร็วขึ้น