สงครามยูเครน ทำให้หวนคิดถึงโซ่มนุษย์แห่งบอลติก 1989! | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ใครที่ติดตามข่าวสงครามยูเครนคงจะสังเกตได้ว่า 3 ประเทศเล็กๆ ในทะเลบอลติกที่มีชายแดนติดกับรัสเซียล้วนยืนอยู่ข้างยูเครน…และต่อต้านรัสเซียอย่างเปิดเผย

ทั้งๆ ที่ทั้งสามประเทศนี้เคยมีความผูกพัน (ทั้งรักทั้งชัง) กับอดีตสหภาพโซเวียตอย่างใกล้ชิดทั้งสิ้น

เพราะภูมิรัฐศาสตร์กำหนดให้เป็นเช่นนั้น

ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่อาจจะเป็นคำตอบต่อคำถามว่าทำไม 3 ชาติบอลติกนี้จึงตัดสินใจเลือกข้างในสงครามครั้งนี้

และไฉนทั้ง 3 ประเทศนี้วันนี้จึงล้วนเป็นสมาชิกของ EU และ NATO เต็มตัว?

ย้อนกลับไปเหตุการณ์ที่ยังตราตรึงความทรงจำของผู้คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องนี้คือที่เรียกว่า The Baltic Way (ลิทัวเนียประชากร 2.8 ล้าน, ลัตเวีย (1.8 ล้าน) และเอสโตเนีย (1.3 ล้าน) หรือ Baltic Chain หรือ Chain of Freedom

ขนานนามปรากฏการณ์ครั้งนั้นว่า “หนทางแห่งบอลติก” หรือ “ห่วงโซ่บอลติก” หรือ “ห่วงโซ่แห่งเสรีภาพ”

นั่นคือการเดินขบวนทางการเมืองอย่างสันติที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 1989 ที่เปลี่ยนการเมืองของสหภาพโซเวียตอย่างไม่มีวันหวนกลับไปเหมือนเดิมอีก

มีผู้เข้าร่วมจับมือสร้างเป็น “โซ่มนุษย์” ประมาณสองล้านคนทอดยาว 690 กิโลเมตรข้ามสามรัฐบอลติกทั้ง 3

ในยามนั้นการแสดงออกเช่นนั้นต้องถือว่าเป็นความกล้าหาญทางการเมืองอย่างยิ่ง

เป็นการแสดงออก “อารยะขัดขืน” ที่ท้าทายอำนาจยักษ์

เพราะตอนนั้น ทั้ง 3 ประเทศยังอยู่ภายใต้การยึดครองของสหภาพโซเวียต

รัฐบาลกลางที่มอสโกถือว่าทั้ง 3 ประเทศแถบทะเลบอลติกเป็นส่วนหนึ่งของของสหภาพโซเวียต

แต่ในปี 1989 นั้นมีสัญญาณแห่งรอยปริค่อยๆ ชัดขึ้น หลายประเทศในสหภาพโซเวียตที่ตอนนั้นอยู่ใต้การนำของประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ

การเดินขบวนครั้งประวัติศาสตร์นั้นเป็นการต่อยอดจากการประท้วง “วันริบบิ้นสีดำ” ที่จัดขึ้นในเมืองทางตะวันตกในทศวรรษที่ 1980

เป็นวันครบรอบ 50 ปีของสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ ซึ่งโปแลนด์ ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโรมาเนีย (ในฐานะ “เขตอิทธิพล”) แบ่งระหว่างสหภาพโซเวียตและนาซีเยอรมนี

เป็นสนธิสัญญาโซเวียต-นาซีที่นำไปสู่การปะทุของสงครามโลกครั้งที่สองในเดือนกันยายน 1939

และเป็นจังหวะเดียวกับการที่สหภาพโซเวียตบุกเข้ายึดครองกลุ่มประเทศบอลติกในเดือนมิถุนายนในปีต่อมา

การก่อตัวของ “โซ่มนุษย์บอลติก” ครั้งนั้นจัดขึ้นโดยกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของทะเลบอลติก : นั่นคือ Rahvarinne ของเอสโตเนีย, แนวร่วม Tautas ของลัตเวีย และ S?j?dis ของลิทัวเนีย

เป้าหมายคือการเรียกร้องความสนใจจากทั่วโลกให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะขอเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต

ตอกย้ำถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทั้ง 3 ประเทศ

ถือว่าเป็นการรณรงค์ที่ก่อให้เกิดผลกว้างไกล

เป็นภาพที่เร้าความรู้สึกและดึงดูดอารมณ์ของคนทั่วโลกในยามนั้นได้อย่างชะงัด

เพราะ 3 ชาติเล็กๆ นี้ไม่มีวิธีอื่นใดที่จะหาทางปลดแอกจากอำนาจบารมีอันมหาศาลของมอสโกในยามนั้นได้

เป็นการต่อสู้ที่ไม่ได้เน้นเฉพาะด้านการเมือง หากแต่ยังตอกย้ำถึงจิตวิญญาณของคนตัวเล็กๆ ที่ต้องการจะเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำจากยักษ์ใหญ่ข้างบ้าน

 

ทางการโซเวียตตอบโต้ด้วยวาทศิลป์ที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ไม่อาจระงับเสียงเรียกร้องจากประชาชนทั้ง 3 รัฐนั้นได้

เพราะช่องว่างเริ่มจะถ่างกว้างขึ้นจนถึงจุดที่มิอาจย่อตัวหรือปิดกั้นการเคลื่อนไหวของชาวบ้านได้อีกต่อไป

เพียงแค่ 7 เดือนหลังจากการประท้วง ลิทัวเนียกลายเป็นสาธารณรัฐโซเวียตแห่งแรกที่ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช

สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 1939 ได้แบ่ง “รัฐบอลติก (ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย)” ออกเป็น “เขตอิทธิพล” ของเยอรมนีและโซเวียต

ถือเป็นการ “แบ่งเค้ก” ระหว่างสตาลินแห่งรัสเซียกับฮิตเลอร์ของนาซีเยอรมนีด้วยกำลังล้วนๆ

ไม่ได้ใส่ใจความยินยอมของประเทศเล็กๆ ที่มีชายแดนติดอยู่กับตนแต่อย่างไร

หลัง “การลุกฮือ”ในปี 1989 เป็นต้นมา วันที่ 23 สิงหาคมได้กลายเป็นวันรำลึกอย่างเป็นทางการทั้งในประเทศแถบบอลติก สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ

เรียกขานเป็น “Black Ribbon Day” เพื่อรำลึกถึงเหยื่อของลัทธิสตาลินและนาซีแห่งยุโรป

พิธีสาร “ลับ” ของสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพที่ว่านี้สหภาพโซเวียตเคยปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง

แม้ว่าเอกสารที่มีความสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่สองจะได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางโดยนักวิชาการชาวตะวันตกหลังจากปรากฏขึ้นระหว่างการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กเพื่อลงโทษแกนนำนาซีเยอรมนีก็ตาม

มอสโกอ้างว่าไม่มีการบังคับขู่เข็ญใดๆ และรัฐบอลติกทั้งสามเข้าร่วมสหภาพด้วยความสมัครใจทั้งสิ้น

แต่รัฐบอลติกทั้ง 3 ยืนยันว่าได้ถูกผนวกเข้ากับสหภาพโซเวียตอย่างผิดกฎหมายและถูกกดดันบังคับ

นักการทูตบอลติกได้โยงสนธิสัญญานี้กับการยึดครองโดยสหภาพโซเวียตให้เห็นว่าอำนาจการปกครองของโซเวียตในสาธารณรัฐทั้งสามไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย

ดังนั้น กฎหมายของโซเวียตทั้งหมดจึงเป็นโมฆะตั้งแต่ปี 1940

 

ตลอดเวลาของความขัดแย้งในช่วงนั้น มอสโกได้นำเสนอแนวทางว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจาก “ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ”

และยืนยันว่าสหภาพโซเวียตเป็น “ผู้สร้างสันติ” เพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยในสาธารณรัฐที่มีปัญหา

เป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่ประชาชนของทั้ง 3 ประเทศนี้เกิดความหวั่นเกรงอย่างสูงเพราะเริ่มเห็นอาการ “ผิดปกติ” จากเพื่อนบ้านที่มีผู้นำที่ฝักใฝ่มอสโก

ผู้นำ Erich Honecker ของเยอรมนีตะวันออก และ Nicolae Ceau?escu ของโรมาเนียเสนอพร้อมจะให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่สหภาพโซเวียตหากตัดสินใจใช้กำลังและสลายการประท้วงของสามประเทศบอลติก

มอสโกตอบโต้การประท้วงบอลติกด้วยอาการของผู้ไม่ยอมปล่อยให้รัฐในอาณัติหลุดออกจากการควบคุมของตน

วันที่ 15 สิงหาคม1989 สื่อทางการโซเวียตเริ่มแสดงปฏิกิริยาตอบโต้การนัดหยุดงานของคนงานในเอสโตเนีย

หนังสือพิมพ์ปราฟดา กระบอกเสียงทางการของสหภาพโซเวียตตีพิมพ์คำวิจารณ์อย่างรุนแรงเกี่ยวกับ “โรคฮิสทีเรีย” (ความบ้าคลั่ง) ซึ่งขับเคลื่อนโดย “กลุ่มหัวรุนแรง” ที่แสวงหา “กลุ่มชาตินิยมแคบๆ” ที่เห็นแก่ตัว

ที่สหภาพโซเวียตเห็นว่าเป็นเพียงความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเล็กๆ ที่ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่

เพราะหากทั้ง 3 รัฐยังอยู่ใต้มอสโกก็ยังจะได้ประโยชน์มากกว่า

นั่นสะท้อนว่าผู้นำโซเวียตไม่เข้าใจถึงความมุ่งมั่นและการตัดสินใจเด็ดเดี่ยวของคนทั้ง 3 รัฐที่ไม่ต้องการจะอยู่ใต้การปกครองของตนอีกต่อไป

 

วันที่ 17 สิงหาคม คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตได้เผยแพร่ “นโยบายใหม่” เกี่ยวกับสาธารณรัฐสหภาพในปราฟดาเพื่อปรามการเคลื่อนไหวต่อต้าน

แต่ “นโยบายใหม่” ก็ยังไม่มีอะไร “ใหม่” สำหรับผู้เรียกร้องเสรีภาพอยู่ดี

เพราะคนทั้ง 3 ชาตินี้มองทะลุว่านโยบายใหม่ยังคงให้รัสเซียกุมอำนาจการบริหารพวกเขาอยู่ดี

วันที่ 18 สิงหาคม ปราฟดาตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของอเล็กซานเดอร์ นิโคลาเยวิช ยาโคฟเลฟ ประธานคณะกรรมาธิการ 26 คนซึ่งตั้งขึ้นโดยสภาผู้แทนประชาชนเพื่อตรวจสอบสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพและพิธีสารลับ

ในระหว่างการสัมภาษณ์นั้นเอง เจ้าหน้าที่ระดับสูงรัสเซียคนนี้ยอมรับว่าพิธีสารลับนั้นมีอยู่จริง

แต่ยืนยันว่าไม่มีเกี่ยวโยงกับการที่สหภาพโซเวียตผนวกรัฐบอลติกเป็นของมอสโกแต่อย่างใด

การยอมรับนั้นช้าไปแล้ว

อีกทั้งการอ้างว่าเอกสารลับไม่เกี่ยวกับการผนวกดินแดนของพวกเขาก็ยิ่งกระพือความไม่พอใจรุนแรงขึ้นอีก

เป็นที่มาของการก่อตัวของคนทั้ง 3 ประเทศในทะเลบอลติกกว่า 2 ล้านคนมาจับมือกันสร้าง “ห่วงโซ่มนุษย์” ที่ยาวเหยียดไปทั้ง 3 ประเทศเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 1989

สงครามยูเครนแห่งปี 2023 วันนี้ทำให้หลายคนรำลึกถึงช่วงจังหวะแห่งการ “ลุกฮือ-แยกตัว” ของรัฐบอลติกอีกครั้งหนึ่ง