สองทูตมหาอำนาจในไทย ที่ยืนยันเราไม่ต้องเลือกข้าง | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ถ้าจะประเมินบทบาทของมหาอำนาจสหรัฐและจีนในประเทศไทยก็ต้องพิเคราะห์จากถ้อยแถลงจากสถานทูตทั้งสองแห่งในกรุงเทพฯ

รัฐบาลใหม่ของไทยจะปรับนโยบายให้มี “ดุลยภาพ” หรือแนวทางการ “รักษาระยะห่างอันเหมาะควร” กับปักกิ่งและวอชิงตันอย่างไรก็อยู่ที่จะมีการประสานเชื่อมโยงและตอกย้ำจุดยืนกับเอกอัครราชทูตของสองประเทศนี้อย่างไร

ทุกวันนี้ เอกอัครราชทูตของทั้งสองประเทศในกรุงเทพฯ มีความคึกคักในการสื่อสารกับคนไทยพอสมควร

แตกต่างไปจากแต่ก่อนที่สองสถานทูตนี้จะไม่ให้ความสำคัญกับการตอบคำถามของสื่อและนักวิชาการไทยเท่าใดนัก

วันนี้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องนโยบายสื่อสารกับอย่างมีนัยสำคัญ เพราะข่าวสารที่รวดเร็วและกว้างขวางขึ้น

มหาอำนาจไม่อาจจะ “เก็บเงียบ” ด้วยวลี “ไม่ขอแสดงความเห็น” (No comment) ได้เหมือนแต่ก่อน

เพราะถ้าไม่ชี้แจงหรืออธิบายต่อข่าวสารที่ออกมาเกี่ยวกับตนก็จะถูกตีความไปได้ทุกแนวทางซึ่งก็ถูกส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว, ร้อนแรงและกว้างขวางในโซเชียลมีเดียทันที

ทั้งสหรัฐและจีนจึงมีสถานทูตและทีมทำงานที่ใหญ่และหลากหลาย

ทั้งสองประเทศล้วนใช้ “การทูตเชิงรุก” มากกว่าที่จะรอต่อสนองต่อคำถามที่เกิดขึ้น

เพราะข่าวสารและความเห็นต่อสองประเทศยักษ์นี้เกิดขึ้นตลอดเวลา

และมีผลต่อภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ที่เป็นไปทั้งด้านบวกและลบได้อย่างทันท่วงที

เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยชื่อ หาน จื้อเฉียง และของสหรัฐชื่อ Robert F. Godec

ทั้งสองท่านตอบคำถามของสื่อและมีปฏิสัมพันธ์กับนักวิชาการ, นักธุรกิจและนักเคลื่อนไหวในสังคมอย่างต่อเนื่องมาตลอด

ทั้งสองสถานทูตมีเจ้าหน้าที่พูดภาษาไทยอย่างคล่องแคล่ว มีเว็บไซต์และเพจในโซเชียลมีเดียที่ให้ข้อมูลทางการเป็นประจำ

แม้ว่าบางครั้ง ทั้งสองสถานทูตจะนำเอาถ้อยแถลงที่ต่อว่าต่อขานระหว่างกันมานำเสนอในช่องทางโซเชียลมีเดียของตน แต่ท่านทูตทั้งสองก็ใช้ความเป็นนักการทูตที่ให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างดี

ที่ผมถือว่าเป็นการแสดงจุดยืนที่น่าชื่นชมและหวังว่านโยบายหลักของสองมหาอำนาจจะเป็นจริงในทางปฏิบัติในทุกมิติก็คือคำมั่นจากเอกอัครราชทูตทั้งสองประเทศที่ยืนยันมั่นเหมาะว่า

อเมริกาและจีนไม่ต้องการให้ประเทศในย่านนี้รวมถึงประเทศไทยที่จะต้องถือหางข้างใดข้างหนึ่ง

ขอให้ทุกประเทศตัดสินดำเนินนโยบายต่างประเทศของตนที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน

นั่นคือจุดยืนจากปักกิ่งและวอชิงตันที่ผมถือว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้อง

ดังนั้น เมื่อมีคำถามเกี่ยวกับบางเรื่องบางราวที่อาจจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันเกี่ยวกับนโยนายของมหาอำนาจต่อไทยเราก็คาดหวังว่าจะได้คำตอบที่สอดคล้องต้องกันกับหลักการนี้

 

ผมติดตามคำให้สัมภาษณ์ของเอกอัครราชทูตจากทั้งสองประเทศอย่างใกล้ชิดและพินิจพิเคราะห์

เช่นกรณีไทยกับสหรัฐ ที่มีข้อกล่าวหาจากบางส่วนของสังคมไทยว่าด้วยความพยายามจะแทรกแซงกิจการภายใน, การเลือกตั้ง และแม้แต่เรื่องอาจจะมีแผนใช้ฐานทัพในไทย

หรือกรณีกับจีนว่าด้วยอิทธิพลที่ขยายตัวมากขึ้นของจีนในย่านนี้รวมถึงในไทยในด้านต่างๆ

รวมถึงเรื่อง “ทุนจีนสีเทา” ที่คนไทยได้รับรู้ด้วยความกังวลกันพอสมควร

ผมก็จะเก็บคำตอบของสถานทูตทั้งสองแห่งเป็นหลักฐานเพื่อการติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่อไป

 

เมื่อเร็วๆ นี้มีคำถามและคำตอบเกี่ยวกับเรื่องสหรัฐกับไทยในหลายประเด็น

สื่อ The Matter ตั้งคำถามไปที่สถานทูตสหรัฐ ก็ได้รับคำตอบที่น่าสนใจ ซึ่งปรากฏในเพจของสถานทูตด้วยเช่น

ถาม : สหรัฐมีฐานทัพอยู่ในไทย?

ตอบ : ไม่จริง สหรัฐไม่ได้มีฐานทัพใดๆ อยู่ในประเทศไทย

ถาม : สหรัฐพยายามควบคุมสื่อไทย ผ่านนักธุรกิจที่ชื่อ จอร์จ โซรอส (George Soros) ใช่หรือไม่?

ตอบ : ไม่จริง สหรัฐสนับสนุนเสรีภาพสื่อในทั่วโลก และสื่อที่เป็นอิสระนั้นถือเป็นรากฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย และเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจได้อย่างรอบรู้ และรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย

ถาม : สหรัฐอยู่เบื้องหลังการเลือกตั้งของไทย และทำให้พรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะมาได้ ใช่หรือไม่?

ตอบ : ไม่จริง ดังที่เอกอัครราชทูต (โรเบิร์ต) โกเดค บอกกับทุกคนว่า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สมาชิกพรรคการเมือง วุฒิสมาชิก และองค์กรภาคประชาสังคม ว่าสหรัฐไม่สนับสนุนผู้ลงสมัครเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองใดๆ

เราไม่ได้มีผลการเลือกตั้งที่ต้องการอย่างเฉพาะเจาะจง และความสนใจของเราคือระบอบประชาธิปไตย

เราหวังว่าจะได้ร่วมงานกับรัฐบาลที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศไทย และมีแต่คนไทยด้วยกันเองเท่านั้น ที่จะได้เลือกว่าใครควรจะมาเป็นรัฐบาลของประเทศตัวเอง

ถาม : สหรัฐพยายามแทรกแซงให้เกิดสงครามในภูมิภาคอาเซียน เพื่อขายอาวุธ และคานอำนาจกับจีน ใช่หรือไม่?

ตอบ : ไม่ใช่อย่างแน่นอน สหรัฐไม่เคยแสวงหาความขัดแย้งกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

เราเชื่อว่าสิ่งสำคัญคือต้องเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารเอาไว้เสมอ

สหรัฐเป็นเพื่อนและผู้ให้ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมาโดยตลอด และมุ่งมั่นที่จะแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติและครอบคลุม

 

ส่วนคำถามเกี่ยวกับบทบาทของจีนในไทยก็มีหลากหลายประเด็น

ที่น่าสนใจข้อหนึ่งคือ “ทุนจีนสีเทา” และอิทธิพลของจีนในไทยในด้านต่างๆ

เอกอัครราชทูตจีนหาน จื้อเฉียง ออกมาเตือนว่าต้องระมัดระวังกลุ่มที่มีเจตนาซ่อนเร้น ใช้เรื่องทุนสีเทาเพื่อทำลายความสัมพันธ์จีน-ไทย

ท่านทูตคงจะกังวลเรื่องความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่กลุ่มมิจฉาชีพจีนที่เข้าสร้างเรื่องอื้อฉาวในประเทศไทยซึ่งอาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของจีนเสื่อมเสีย

และอาจจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของสองประเทศได้

ท่านทูตหานจึงแถลงว่า

“เมื่อเร็วๆ นี้มีรายงานมากมายเกี่ยวกับทุนสีเทาในสื่อของไทย สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ

“จีนกำหนดให้พลเมืองและบริษัทจีนในต่างประเทศปฏิบัติตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมของประเทศปลายทางอย่างเคร่งครัด ให้ประกอบธุรกิจที่ถูกกฎหมาย และตอบแทนสังคมอย่างจริงจัง และพวกเขาก็ทำเช่นนั้นจริง

“มีบริษัทจีนในไทยจำนวนมากกระตือรือร้นกับการทำกิจการเพื่อสาธารณะประโยชน์พร้อมๆ กับการพัฒนาธุรกิจของพวกเขา ซึ่งความพยายามและคุณประโยชน์ที่พวกเขาได้ทำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้นเป็นที่ประจักษ์

“มีชาวจีนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การพนันออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นต้น

“ทั้งนี้ ฝ่ายจีนสนับสนุนให้ฝ่ายไทยดำเนินการปราบปรามกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอย่างเต็มที่

“และในความเป็นจริง หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของจีนและไทยได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการปราบปรามแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติอยู่แล้ว และได้ประสบผลสำเร็จอย่างมาก”

ท่านทูตจีนเสริมว่า

“สิ่งที่ผมต้องการเน้นย้ำคือ ชาวจีนที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในประเทศไทยนั้นมีจำนวนน้อยมาก

“เราควรแยกแยะคนเหล่านี้ออกจากพลเมืองจีนและบริษัทจีนในประเทศไทย บางกลุ่มที่มีเจตนาซ่อนเร้น ใช้เครือข่ายการสื่อสารเพื่อทำลายภาพพจน์ของประเทศจีน สร้างความขัดแย้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความแตกแยกระหว่างจีนกับไทย ซึ่งเราต้องระมัดระวังอย่างมาก…”

 

ปีนี้ ไทยกับสหรัฐฉลองความสัมพันธ์ 190 ปี และไทยกับจีนได้เปิดสัมพันธ์ทางการทูตมาแล้วเป็นปีที่ 48 แม้ว่าในทางปฏิบัตินั้นไทยกับจีนได้มีการติดต่อไปมาหาสู่กับมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว

วันนี้ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของประเทศทั่วโลก

ความท้าทายของไทยในภาวะความผันผวนปรวนแปรของการเมืองระหว่างประเทศคือการที่จะรักษาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับทั้งสองมหาอำนาจอย่างต่อเนื่อง

และให้สองมหาอำนาจนี้ยืนยันทั้งในคำแถลงในในทางปฏิบัติว่า

จะไม่หว่านล้อม, กดดันบังคับให้ไทยต้อง “เลือกข้าง” ในเกมการแย่งชิงอำนาจและอิทธิพลในเวทีระหว่างประเทศ

นั่นย่อมขึ้นอยู่กับการปรับตัวของไทยเองต่อสถานการณ์ที่ยุ่งยาก, สลับซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากขึ้นทุกวัน