การรวมตัวของบุคลากรทางการแพทย์ คือกุญแจสำคัญ ของการสร้างรัฐสวัสดิการสำหรับประชาชน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ภายใต้กระแสที่ประชาชนรับรู้กันทั่วไปถึงสภาพเงื่อนไขการทำงานที่ย่ำแย่ของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ในระบบการให้บริการสาธารณสุขไทย

หมอรุ่นใหม่ลาออกเนื่องด้วยสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ วัฒนธรรมอำนาจนิยมในองค์กร ไล่ลงมาถึงระบบค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลต่อเวลาพักผ่อน คุณภาพชีวิต

ซึ่งบางครั้งสังคมก็เกิดความเข้าใจผิดว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มแพทย์ขัดกับสวัสดิการของประชาชน หรือเราเข้าใจเป็นสมมุติฐานเบื้องต้นว่าหมอต้องทำงานหนัก หมอต้องอุทิศตน

ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้รับเชิญให้พูดคุยกับสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในประเด็นความสำคัญของการมีสหภาพแรงงาน

ผมจึงพบว่าสังคมบางครั้งก็ตีความไปไกล เพราะสิ่งที่ผมพบคือ แพทย์รุ่นใหม่ที่มีตั้งแต่นักศึกษาแพทย์ ปี 5 ถึงแพทย์ฝึกหัด หรืออาจารย์หมอ ส่วนใหญ่แล้วปรารถนาให้การรักษาผู้ป่วยเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด เรื่องเงินและค่าตอบแทนสำคัญแต่เป็นเรื่องรอง

ทั้งหมดอยากให้คนไข้และประชาชนทั่วไปเข้าถึงสวัสดิการที่ดีไม่มีค่าใช้จ่าย

ดังนั้น ข้อสรุปสำคัญจากการพูดคุยที่ผมอยากสื่อสารคือ การรวมตัวกันของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ไม่ได้เป็นสิ่งตรงข้ามกับผลประโยชน์ของประชาชน

แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อบุคลากรทางการแพทย์สามารถรวมตัวกันได้ เพื่อค่าจ้าง และสวัสดิการที่เป็นธรรม จะเป็นเสาค้ำยันระบบสวัสดิการของประชาชนเช่นเดียวกัน

 

เมื่อปีที่แล้วการประท้วงของพยาบาลในสหราชอาณาจักรชูป้ายหนึ่งที่น่าสนใจว่า “We Strike to Save NHS” หรือแปลได้ว่า “พวกเรานัดหยุดงานเพื่อรักษาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

ความหมายของมันคือ การที่หมอ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการที่เป็นธรรม มากกว่าการเสียสละ หรือการอุทิศตนอันเป็นช่องว่างที่พวกอภิสิทธิ์ชนที่มีทรัพยากรในมือล้นเหลือนำเงินไปปรนเปรอกับงบประมาณด้านความมั่นคง และการอุดหนุนธุรกิจขนาดใหญ่

แต่เมื่อถึงงบประมาณที่เกี่ยวกับประชาชน เช่น เรื่องการรักษาพยาบาล พวกเขากลับเรียกร้องให้บุคลากร “เสียสละ” และรับค่าตอบแทนเป็น “เกียรติยศ และเสียงปรบมือ”

ทำให้ผู้ใช้แรงงานในภาคสาธารณสุข ในระดับสากลออกมาร่วมประท้วงยืนยันว่าการดูแลบุคลากรสาธารณสุข คือผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชน

เมื่อพิจารณาในกรณีของไทย ผู้เขียนลองสรุปถึงผลประโยชน์สำคัญที่จะได้เมื่อบุคลากรทางการแพทย์สามารถรวมตัวดังนี้

 

1.เมื่อได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เป็นธรรม เมื่อบุคลากรทางการแพทย์สามารถต่อสู้เพื่อเงินเดือนที่เหมาะสมและสวัสดิการที่ยุติธรรมได้ จะทำให้พวกเขาสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพ เป็นอิสระจากความไม่แน่นอนและไม่เป็นประชาธิปไตยในที่ทำงาน

2. เมื่อเงื่อนไขการทำงานดีขึ้น หากมีสหภาพแรงงานผู้ปฏิบัติงานจะทำให้สามารถต่อสู้เพื่อเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้นได้ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงขั้นตอนและเวลาที่เหมาะสมในการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาอาชีพของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าร่วมการฝึกอบรมและการพัฒนาที่ต่อเนื่องเพื่อเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และองค์กรระยะยาว

3. สนับสนุนสภาวะทางจิตสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานสนับสนุนการดูแลสภาวะทางจิตของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งอาจมีความเครียดทางอารมณ์อันอาจส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วย การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานที่มีแนวคิดในการสนับสนุนสภาวะทางจิตของบุคลากรทางการแพทย์สามารถช่วยลดความเครียดและเสริมสร้างสภาวะทางจิตที่เหมาะสมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ได้ เกิดการสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงานได้ดีมากขึ้น

4. การสนับสนุนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้พวกเขาสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ทางวิชาการกันและกัน ซึ่งสามารถประสานงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย

การมีความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลสามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพการดูแลผู้ป่วยและเพิ่มโอกาสในการแก้ไขปัญหาทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อน หรือเหตุเร่งด่วนที่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากการทำงานข้ามส่วนได้

 

ในทางตรงกันข้ามการที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่มีการรวมตัว ซึ่งส่งผลต่อค่าจ้าง และสวัสดิการ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เกี่ยวพันเพียงแค่คุณภาพชีวิต แต่เกี่ยวพันกับคุณภาพของระบบสวัสดิการด้วย จะส่งผลให้คุณภาพการดูแลที่ลดลง

การไม่ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมหรือเวลาพักผ่อนที่เพียงพออาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานที่มีความเครียดและกดดันมากขึ้น อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถให้การดูแลที่มีคุณภาพสูงสุดแก่คนไข้ได้ ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดข้อผิดพลาดทางการแพทย์เพิ่มขึ้นได้

การทำงานที่มีการกดดันและเครียดเนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างหรือเวลาพักผ่อนที่เพียงพออาจเพิ่มโอกาสในการเกิดความผิดพลาดทางการแพทย์ การตัดสินใจที่ไม่ถูกต้องหรือการประเมินผิดพลาดอาจเกิดขึ้นเมื่อบุคลากรทางการแพทย์อยู่ในสภาวะที่เครียดและมีการเหมาะสมไม่เพียงพอในการพักผ่อน

นอกจากนี้ การขาดค่าจ้างที่เหมาะสมหรือเวลาพักผ่อนที่เพียงพออาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกไม่พอใจหรือไม่พร้อมในการให้บริการแก่คนไข้ อาจทำให้มีการลดคุณภาพของการสื่อสารหรือการช่วยเหลือที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลให้คนไข้รู้สึกไม่พอใจหรือไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม

จากข้อมูลเบื้องต้นนี้ผู้เขียนชวนให้ผู้อ่านทุกท่านมองเห็นถึงปัญหาใหญ่ว่า หากเราปรารถนาสังคมที่ยุติธรรมมากกว่า สวัสดิการดีกว่านี้

เราจำเป็นต้องส่งเสริมให้บุคลากรทุกภาคส่วนสามารถรวมตัวกันได้อย่างเสรี เพื่อรับรองทั้งเสรีภาพ ประสิทธิภาพ และหลักการมนุษยธรรมในการให้บริการแก่ประชาชน