คุยกับ ‘ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ’ อ่านแนวคิด ‘พิธา’ นโยบายต่างประเทศที่จะเปลี่ยนไป | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต่างประเทศคนต่อไป นโยบายต่างประเทศเป็นประเด็นที่ควรจะอยู่ในอันดับต้นๆ ที่จะต้องมีการ “ปฏิรูป” กันขนานใหญ่

และกระทรวงการต่างประเทศจะต้องไม่ใช่ “กระทรวงเกรด B หรือเกรด C” อย่างที่นักการเมืองไทยเคยจัดลำดับความ (ไม่) สำคัญเอาไว้

เพราะในโลกแห่งความผันผวนในภาวะการแข่งขันอย่างเข้มข้นเรื่อง “ภูมิรัฐศาสตร์” ท่ามกลางความท้าทายหลากหลายที่โลกไม่เคยเผชิญมาก่อน ประเทศไทยจะ “ตกจากจอเรดาร์ของโลก” อย่างที่เป็นมากว่าสิบปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นอันขาด

เพราะนโยบายต่างประเทศคือหัวใจของการเชื่อมต่อและมีปฏิสัมพันธ์กับโลกในทุกมิติ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, ความมั่นคง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง hard power หรือ soft power

และไม่ว่าเราจะเรียกตัวเองว่าประเทศขนาดเล็กหรือขนาดกลาง

หากเราไม่ยกระดับตัวเองให้เป็น Middle Power เราก็จะตกอยู่ในกลุ่มประเทศที่เดินตาม Super Power ค่ายใดค่ายหนึ่ง

ซึ่งจะทำให้เราต้องติดกับดักของนโยบาย “การทูตแบบตั้งรับ” ที่ทำให้เรากลายเป็นประเทศรั้งท้ายแม้ในมวลหมู่สมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง

แม้ว่าเราเคยเป็นหนึ่งในแกนสำคัญของอาเซียนตั้งแต่ก่อตั้งมากว่า 50 ปีที่แล้วก็ตาม

ดูจากความพยายามจะตั้งรัฐบาลผสมใหม่ที่มีพรรคก้าวไกลที่มีคุณ “ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐตรี (หากฝ่าด่านสมาชิกวุฒิสภาได้) ก็น่าที่คนของพรรคก้าวไกลจะดูแลเรื่องนโยบายต่างประเทศในรัฐบาลใหม่

และแม้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุด้วยประการใดๆ ที่จะทำให้พรรคก้าวไกลไม่อาจจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือถึงขั้นที่ต้องไปเป็นแกนนำฝ่ายค้าน ผมก็ยังเชื่อว่าแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่เอาจริงเอาจังกับนโยบายต่างประเทศในบริบทโลกใหม่วันนี้จะต้องได้รับการพิจารณานำมาปรับใช้

เพื่อให้ประเทศไทยไม่กลายเป็นเพียง “ผู้ติดสอยห้อยตาม” กระแสการเมืองระหว่างประเทศ

ผมติดตามและสัมภาษณ์คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ได้ซักถามแนวความคิดเรื่องนโยบายต่างประเทศหลายประเด็น

ความที่เขาเคยเรียนด้านนโนบายสาธารณะหรือ Public Policy ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมีความสนใจส่วนตัวในเรื่องราวระหว่างประเทศ จึงได้ยินพิธาเล่าถึงความเห็นของตนในเรื่องต่างๆ ที่เวทีระหว่างประเทศถกแถลงกันอย่างสม่ำเสมอ

เช่น จะไม่เอา Bamboo Diplomacy หรือการทูตแบบต้นไผ่ (ลู่ตามลม)

เขาเชื่อในการทูตแบบ ? la carte ไม่ใช่แบบ buffet

อันหมายถึง “อาหารตามสั่ง” ไม่ใช่กิน “บุฟเฟ่ต์” หรือแบบเหมาโหล

พิธาย้ำเรื่องนโยบายต่างประเทศไทยที่ต้องมี “กระดูกสันหลัง” คือมีหลักการที่ชัดเจน

เขาพูดถึงการทำตามกฎกติกาสากลหรือ Rules-Based Order

และเขายืนยันว่าไทยจะต้องรักษาดุลถ่วงระหว่างมหาอำนาจขั้วต่างๆ ให้จงได้

 

เวทีดีเบตตลอดเวลาสองเดือนก่อนการเลือกตั้งนั้น มีการ “วัดกึ๋น” เรื่องหัวหน้าพรรคหรือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีประเด็นนโยบายต่างประเทศมีน้อยมาก

เราจึงไม่สามารถประเมินว่าใครมีวิสัยทัศน์และความเข้าใจในเรื่องระหว่างประเทศในอันที่จะนำพาประเทศไทยไปในแนวทางที่สร้างอำนาจต่อรองให้กับเราได้จริงๆ

เพราะหากมีเวทีถกแถลงกันอย่างจริงจังในเรื่องสำคัญเหล่านี้ ก็จะได้ซักถามถึงเรื่อง “ฐานทัพสหรัฐ” “อิทธิพลจีน” บทบาทของตะวันตกกับจีนในนโยบายต่างประเทศของไทย

และแม้กระทั่งเรื่องบทบาทของ CIA ในรัฐบาลไทย…และนิยามของคำว่า “เสรีนิยม” “อนุรักษนิยม” หรือ “รัฐสวัสดิการ” กับ “สังคมนิยม” ให้กระจ่างชัดกว่าที่ได้ยินได้ฟังในการแสดงความคิดเห็นกันในโซเชียลมีเดีย

ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการใส่สีตีไข่เพื่อจะกล่าวหาใส่ร้ายผู้ที่ตนไม่ชอบ และส่งเสริมเกื้อหนุนฝ่ายที่ตนเห็นพ้องเท่านั้น

โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงและการตีความแต่ละเรื่องที่มีความหลากหลายและสลับซับซ้อนกว่าเพียงแค่ป้ายสีดำหรือสีขาวให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

วันก่อน ผมมีโอกาสสนทนากับ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ช่วยระดมความคิดของพรรคก้าวไกลว่าด้วยการปรับหรือ reset นโยบายต่างประเทศของไทยสำหรับโลกยุคใหม่นี้

จึงมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลายหัวข้อว่าด้วยทิศทางของประเทศไทยในเวทีสากลจากนี้ไป

หากพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เราก็จะมีนายกฯ ที่มีความสนใจและเกาะติดเรื่องราวระหว่างประเทศที่ใกล้ชิดที่สุดคนหนึ่ง…มิใช่ผู้นำประเทศที่ต้องพึ่งพาข้าราชการประจำของกระทรวงการต่างประเทศในการกำหนดทิศทางของประเทศ

ฟูอาดี้ (ลูกชายอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ) เรียนจบเรื่องการเมืองระหว่างประเทศจาก Harvard Kenney School of Government

พิธาไปเรียนฮาร์วาร์ดเหมือนกันใช่ไหม?

“ใช่ครับ พี่ทิมจบปี 2011 ผมจบ 2013 แต่ไม่ทันกันครับ พี่ทิมจบผมก็เพิ่งเข้าไปเรียน ไม่ได้เจอกันที่นั่น แต่ก็เชื่อมต่อกันอยู่ครับ…” ฟูอาดี้เล่า

Kennedy School เป็นวิทยาลัยในสังกัดของมหาวิทยาลัย Harvard ที่เจาะจงเรื่องนโยบายสาธารณะโดยมีโจทย์สำคัญคือ

“จะเอาทฤษฎีทั้งหลายว่าด้วยนโยบายสาธารณะนั้นไปใช้ในทางปฏิบัติหรือโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างไร…”

และต้องสืบเสาะให้ได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่ค้นพบและค้นคว้ามานั้นมันตอบโจทย์ของสังคมอย่างไร

นั่นคือจะต้องไม่ใช่แค่ฟังเล็กเชอร์จากอาจารย์คนดัง จดบันทึกตามที่สอน และสอบเอาคะแนนเพื่อได้ปริญญาเท่านั้น

แต่ต้องเป็นการถกแถลงกันอย่างดุเดือดร้อนแรงเพื่อนำเอาความรู้และทฤษฎีออกไปใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงให้ได้ด้วย

และที่สำคัญคือคำว่า “นโยบายสาธารณะ” นั้นไม่จำกัดเฉพาะเรื่องการเมืองเท่านั้น แต่มิติด้านเศรษฐกิจก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

เพราะโลกแห่งความเป็นจริงในเวทีระหว่างประเทศวันนี้ตอกย้ำว่าการเมืองและเศรษฐกิจเป็นเรื่องเดียวกัน

และคำนิยามของ “ความมั่นคง” ย่อมหมายรวมถึงสังคม, สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน

ดังนั้น หากรัฐบาลใหม่ของไทยยังบริหารแบบแยกกระทรวง และหากนักการเมืองยัง “แบ่งเค้ก” ตาม “โควต้า” ของจำนวน ส.ส. อย่างที่เป็นมาตลอด เราก็จะไม่มีวันที่จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพของประเทศที่แข็งแกร่งเพียงพอในการเสริมสร้างสถานภาพของไทยในเวทีระหว่างประเทศเลย

 

ฟูอาดี้เล่าว่าขณะที่เรียนอยู่นั้น เขาเคยเจอออง ซาน ซูจี แห่งพม่า

“วันนั้น ออง ซาน ซูจี ไปพูดที่ K School (ชื่อย่อของ Kennedy School) ผมไปนั่งฟัง และตั้งคำถามหลายคำถาม ผมน่าจะถูกเขม้นอยู่เหมือนกันเพราะตั้งคำถามตรงๆ กับเธอหลายข้อ…”

ผมถามฟูอาดี้ว่าการที่พิธาไปเรียนที่ K School คงได้รับรู้ถึงประเด็นร้อนๆ ที่เกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก และการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนอย่างเข้มข้นใช่หรือไม่

และเขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากบรรยากาศการเรียนการสอนและการอภิปรายอย่างเผ็ดร้อนมากน้อยเพียงใด

ฟูอาดี้บอกว่า “แน่นอนอยู่แล้วครับ แม้ไม่ต้องเลือกเรียนเฉพาะวิชานั้นๆ โดยเฉพาะเจาะจง เราก็ซึมซับความคิดความอ่านอย่างหลากหลายจากการถกแถลงในวงต่างๆ…และจากผู้คนต่างๆ ที่มาพูด…ซึ่งมีระดับผู้นำประเทศและรัฐบุรุษของชาติต่างๆ…”

K School ไม่ใช่มีเพียงวิชานโยบายสาธารณะด้านการเมืองและความมั่นคงเท่านั้น

หากแต่ยังมีชั้นเรียนหลากหลายเช่น Soft Skill, รวมไปถึงศิลป์และศาสตร์แห่งการสร้างนักการเมืองที่มีคุณภาพ หรือ The Art of Negotiations หรือศิลป์การต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ, แม้แต่เรื่องสงครามและประเด็นที่โยงกับความขัดแย้งทั้งหลาย

เรียกว่าทุกๆ ด้านของ “นโยบายสาธารณะ” ที่มีผลต่อการวางนโยบายของประเทศที่ต้องโยงกับความขัดแย้งระดับโลก

(สัปดาห์หน้า : หน้าตาและโครงร่างของนโยบายต่างประเทศใหม่)