ท้าทาย ‘สืบทอดอำนาจ’

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

ท้าทาย ‘สืบทอดอำนาจ’

 

อํานาจการเมืองที่ซ้อน 2 ระบบมาทำงานร่วมกันเป็นระบบเดียว

หนึ่ง อำนาจของอภิสิทธิ์ชน ที่เข้ามาควบคุมอำนาจรัฐด้วย กองกำลังติดอาวุธ เครือข่ายราชการ ทุนผูกขาด มีร่วมกันสร้างกฎกติกาอำนาจ และกลไกการบังคับใช้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง พร้อมกับเป็นเครื่องมือทำลายคู่แข่ง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญมา จนถึงกฎหมายรองๆ ลงมา วุฒิสมาชิกพร้อมกับเครือข่ายในองค์กรอิสระที่กฎหมายให้อำนาจไว้ท่วมท้น ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าได้สถาปนาคณะบุคคลขึ้นมาใช้อำนาจรัฐอย่างทรงพลานุภาพ ให้ “การสืบทอดอำนาจ” ดำเนินไปอย่างที่ไม่มีอะไรต้านทานได้ พร้อมกับก่อสภาวะขวัญผวาให้เกิดขึ้นกับผู้ที่ยืนอยู่คนละข้าง ที่ต้องเสี่ยงกับชะตากรรมซึ่งปฏิเสธไม่ได้ และไม่มีใครช่วยได้

เป็นกลไกหลักของ “ระบบสืบทอดอำนาจ”

สอง ในรูปของอำนาจประชาชน ผ่าน ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา

ซึ่งในความเป็นจริงเป็นเพียงการสร้างภาพรัฐบาลประชาธิปไตยให้ใช้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมทั้งในสายตานานาชาติ และตอบโต้ข้อกล่าวหาการสืบทอดอำนาจของฝ่ายตรงกันข้ามเท่านั้น

เพราะในความเป็นจริงขบวนการได้มาซึ่งผู้แทนราษฎรเป็นที่รับรู้กันอยู่ว่า มีการใช้กลไกสารพัดเพื่อพลิกแพลงผลการเลือกของประชาชนให้เป็นไปในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อ “กลุ่มสืบทอดอำนาจ” และ “ทำลายฝ่ายตรงกันข้าม” เกิดการนับคะแนนการเลือกตั้งแบบที่สร้างความรู้สึกรับได้ยากว่ามีความเป็นธรรม

พร้อมๆ กับขบวนการจัดการกับ “พรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม” ด้วยกฎหมายและกลไกที่ออกแบบไว้

ทั้ง 2 ระบบถูกจัดการให้เชื่อมร้อย ประสานให้ส่งผลไปในทางเดียวกัน จนเชื่อมั่นได้ว่าปิดหนทางของความพ่ายแพ้ ไม่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะตัดสินใจอย่างไรในการเลือกตั้งก็ตาม

 

ครั้งก่อนหน้านั้นเป็นเช่นนั้น

แต่การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 ถูกจับตามองว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยนแปลงบางอย่าง

แน่นอนว่า โดยกติกาและกลไกอำนาจที่ถูกออกแบบไว้ให้สนองการสืบทอดอำนาจอย่างทรงพลัง ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างที่สถาปนายังอยู่ครบ และหนักแน่นในการยึดมั่นในแนวทางตามเป้าหมายของการออหกแบบไว้

แต่ความหวังว่าจะไม่เลวร้ายเช่นครั้งที่ผ่านมา คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับศูนย์รวมอำนาจที่ก่อนหน้านั้นรับรู้กันในนาม “ระบบ 3 ป.”

วันนี้ชัดเจนว่า “พี่น้อง 3 ป.แห่งบูรพาพยัคฆ์” อย่างน้อยเลือกที่จะสร้าง “พรรคคนละพรรค”

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ป.น้องเล็ก แต่มี “อำนาจมาก” เลือกใส่เสื้อ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” อันเป็นเครือข่าย “กปปส.” เป็นตัวหลัก

ขณะ “พี่ใหญ่ ป.ป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เลือกพาตัวเองขึ้นสู่ผู้นำหนึ่งเดียวของ “พรรคพลังประชารัฐ”

โดย “ป.ป๊อก น้องกลาง-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” เลือกที่จะ “พอ” เดินออกจากสนาม

เพราะเส้นทางที่ต้องแยกกันเดินเช่นนี้ ทำให้มีความเชื่อว่า “พลังการสืบทอดอำนาจ” จะอ่อนลง

อย่างไรก็ตาม ความกังขาของผู้คนยังอยู่ที่ “แยกกันจริงหรือไม่”

ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ชัดเจน จะมีแต่เพียงความเชื่อ

 

ผลสำรวจ “นิด้าโพล” ล่าสุดเรื่อง “พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปะทะพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)” ใน “ความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะจับมือกันในการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า” ร้อยละ 38.40 เห็นว่าเป็นไปได้มาก, ร้อยละ 30.07 ตอบว่าค่อนข้างเป็นไปได้, ร้อยละ 18.32 เห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลย, ร้อยละ 11.76 เห็นว่าไม่ค่อยเป็นไปได้

สรุปคือส่วนใหญ่เห็นว่า “ไม่ได้แยกกันเดินจริง พร้อมที่จะกลับมาจับมือกันสืบทอดอำนาจต่อไป”

แต่อย่างที่บอก นั่นเป็นเพียงความเชื่อ เพียงความเชื่อจะส่งผลอย่างไรต่อการเลือกตั้ง

หากกระแสเบื่อหน่าย “สืบทอดอำนาจ” มีอยู่จริง ความเชื่อนี้จะนำสู่ “การไม่เลือกทั้ง 2 พรรค”

สำหรับคนที่ชื่นชอบปรารถนาระบบสืบทอดอำนาจ ความเชื่อนี้จะนำสู่ “ผลการเลือกตั้งที่กระจายไป” ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อพรรคใดในเป้าหมายจำนวน ส.ส.

เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้กติกาและกลไกสืบทอดอำนาจยังทำงานเต็มที่ แต่ในความเต็มที่จะต้องแบ่งว่าจะให้น้ำหนักการดูแล “ป.ไหน” มากกว่า

อำนาจย่อมควบคุมการผูกขาดได้ยากขึ้น