‘อยากในอำนาจ’ บังตา

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

‘อยากในอำนาจ’ บังตา

 

แม้จนป่านนี้ ทั้งที่การทำงานของสภาผู้แทนราษฎรหมดสภาพไปแล้ว โดยสะท้อนจากการล่มแล้วล่มอีก จนแทบความหวังในความรับผิดชอบของ ส.ส.ให้ใครถามถึง

ทั้งที่ควรจะยุบสภาทิ้งจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อรักษาภาพของรัฐสภาไทยไม่ให้เน่าไปทุกมิติ

แต่สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งที่มาและที่อยู่อาศัยยามเน่าเฟะของนักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นฐานความชอบธรรม ยังไม่ชัดว่าจะยุบสภา เพื่อให้ชัดเจนในกำหนดการเลือกตั้งเมื่อไร

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังถูลู่ถูกังกันกว่า 8 ปีในเก้าอี้นายกรัฐมนตรีด้วยอาศัยการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่ายังไม่ครบตามข้อห้าม

กลับเป็นว่าในความเคลื่อนไหวทางการเมืองของทุกพรรค นักการเมืองทุกคน หรือแม้แต่ประชาชน เป็นความรู้สึกในโหมดหาเสียงเลือกตั้งไปแล้ว

ไม่เพียงแต่ละพรรคเดินสายหาเสียงกันครึกโครม นักการเมืองทุกคนต่างทำกิจกรรมเพื่อสร้างคะแนนกันเข้มข้น ไม่เว้นแม้แต่ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ยังไม่ยอมยุบสภาด้วย

แต่นั่นไม่สำคัญเท่าประชาชน ในประเด็นที่นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนเชื่อว่า “ตัดสินใจไปแล้วว่าจะเลือกใคร หรือเลือกพรรคไหน” เป็นส่วนใหญ่ โดยชี้ให้ดูดัชนีที่พอมีอยู่คือผลสำรวจของสำนักโพลต่างๆ ที่เปอร์เซ็นต์ของ “ผู้ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร” น้อยลงเรื่อยๆ ทุกครั้งที่สำรวจ

หากเป็นเช่นนั้นจริง คือประชาชนเลือกไปแล้ว

แล้วประชาชนส่วนใหญ่เลือกแบบไหน เลือกใคร

 

มีผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” เรื่อง “นักการเมืองไทย ไปทางไหนดี” ที่จะเป็นคำตอบในคำถามนี้ได้

จาก “คิดว่านักการเมืองไทย ณ วันนี้ กับ 5 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง” ร้อยละ 47.02 เห็นว่าเหมือนเดิม, ร้อยละ 44.68 เห็นว่าแย่ลง, ร้อยละ 8.30 เห็นว่าดีขึ้น

ในคำถามอยากได้นักการเมืองแบบใด ร้อยละ 79.22 อยากได้ที่มีความรับผิดชอบ มีผลงาน ทำงานเร็ว แก้ปัญหาเร็ว, ร้อยละ 77.83 เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์, ร้อยละ 76.70 เป็นนักบริหารมืออาชีพ มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ

เมื่อถามว่าพฤติกรรมของนักการเมืองแบบใดที่เบื่อหน่าย หรืออยากให้หมดไป ร้อยละ 87.50 ตอบว่าพูดแต่ทำไม่ได้ ไม่รักษาสัญญา พูดใส่ร้ายป้ายสี

ร้อยละ 83.68 ใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูก เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง

ร้อยละ 78.99 ไม่โปร่งใส ทุจริต คอร์รัปชั่น

 

หากเป็นไปเหมือนที่นักวิเคราะห์ทั้งหลายสรุปไว้ว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกพรรคไหน” หากย้อนไปดูพฤติกรรมของผู้นำแต่ละพรรค หรือผู้ที่พรรคหยิบขึ้นมาชูเป็นชัดขาย น่าจะพอเดากันออกว่าในใจของประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจ เลือกพรรคไหน ไม่เลือกพรรคไหน

พรรคไหนที่ผู้นำมีผลงาน มีความรับผิดชอบ เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์พวกพ้อง โปร่งใส ไม่ทุจริต

พรรคไหนที่พูดแล้วไม่รักษาสัญญา ใช้อำนาจเอื้อพวกพ้อง คอร์รัปชั่น

ในโลกยุคข้อมูลข่าวสารท่วมทะลัก ภาพของแต่ละคนปรากฏให้เห็นได้ไม่ยากว่าเป็นผู้นำพรรคแบบไหน

ใครบ้างไม่รู้ว่านักการเมืองไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือสถาปนาตัวเองและพวกพ้องขึ้นมามีอำนาจ แต่ละคนสร้างเรื่องราวไว้อย่างไร

หากเชื่อว่าประชาชนรู้ และตัดสินใจไว้แล้วว่าจะร่วมสร้างการเมืองที่มีคุณภาพให้ประเทศชาติอย่างไร น่าจะมีหลายคนที่จะต้องรู้ตัวเองไม่ควรเสนอหน้ามาเป็นตัวเลือกอีกในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ทว่า กลับไม่เป็นเช่นนั้น