ลบพื้นที่ ‘สีเทา’ ที่พัก ‘นักท่องเที่ยว’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

ลบพื้นที่ ‘สีเทา’

ที่พัก ‘นักท่องเที่ยว’

 

ข่าวใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมากเวลานี้คือ เรื่องประเทศจีนกำลังจะเปิดประเทศและอนุญาตให้ชาวจีนออกเดินทางนอกประเทศได้ รวมทั้งขากลับเข้าเมืองจีนก็ไม่ต้องถูกกักตัวด้วย

ในขณะเดียวกันความวิตกกังวลในเรื่องคนจีนจะนำโรคโควิดซึ่งกำลังระบาดเป็นรอบที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้ในประเทศจีนออกมาแพร่ขยายกระจายผลในประเทศต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่คนจำนวนไม่น้อยกำลังครุ่นคิดว่าจะรับมือกันอย่างไร

แน่นอนว่าข่าวใหญ่อย่างนี้จะส่งผลกระทบต่อคนไทยและเมืองไทยมากพอสมควร เพราะเมื่อสองสามปีก่อน จำนวนนักท่องเที่ยวหลายสิบล้านคนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยเป็นคนจีนเสียเข้าไปกว่าครึ่งค่อน

เหลือส่วนแบ่งให้นักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นบ้างพอกระเส็นกระสาย

 

มานึกย้อนหลังทบทวนดูแล้วเราจะพบว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนในครั้งนั้นมีทั้งคุณและโทษเจือกันอยู่

ข้างฝ่ายที่เป็นคุณก็คือเป็นนักท่องเที่ยวที่นำรายได้เข้าประเทศเรามากอย่างเห็นได้ชัด แต่ขณะเดียวกันข้างฝ่ายที่เป็นโทษก็มีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น สิ่งที่เราเรียกว่าทัวร์ศูนย์เหรียญ นั่นหมายความว่าการจัดการท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นจนจบมีคนจีนเป็นผู้จัดการทุกธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เม็ดเงินที่ตกมาถึงมือคนไทยมีน้อยเต็มทีหรือไม่มีเลย

นี่ยังไม่พูดถึงคุณภาพนักท่องเที่ยว เช่น กิริยามารยาทหรือการส่งเสียงดังตามประสาคนจีนปราศรัยกันนะครับ หรือแม้การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมผิดกฎหมายต่างๆ

แต่เอาเถิดครับ อย่างไรก็ตาม เราไม่อยู่ในฐานะที่จะเลือกที่รักมักที่ชังรับนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศแต่ไม่รับนักท่องเที่ยวชาวจีนได้

ระบบเศรษฐกิจและสรรพสิ่งที่สร้างไว้เพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็คำนวณจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดโดยบวกรวมนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าไว้ด้วยแล้วตั้งแต่ต้น

ถ้าเราตัดนักท่องเที่ยวจีนออกไปเสีย กว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวจะไปขึ้นไปถึงตัวเลขที่เราเตรียมไว้ได้ก็คงใช้เวลาอีกช้านาน และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยอย่างไม่มีข้อสงสัย

 

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็อยู่ที่ตัวเราเอง ว่าจะรับมือกับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีนระลอกใหม่นี้อย่างไร สิ่งใดเรื่องไรที่เคยเป็นปัญหามาแต่ก่อนก็ต้องรีบตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราได้แก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้สำเร็จลุล่วงแล้วเพียงใด

ปัญหาธุรกิจสีเทาของชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองไทยเพื่อคิดทำมาค้าขายกับนักท่องเที่ยวชาวจีนในรูปแบบต่างๆ ได้ดูแลกันไปถึงแค่ไหนแล้ว

“ตู้ห่าว” หมายเลขหนึ่งหมดฤทธิ์แล้ว จะมี “ตู้ห่าว” หมายเลขสองหมายเลขสามตามมาอีกหรือไม่

กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นกติกาภายในประเทศของเราได้มีการทบทวนให้เป็นปัจจุบันเพียงพอแล้วหรือยัง และที่สำคัญไม่แพ้กันหรือมากกว่าด้วยซ้ำ คือการบังคับการให้เป็นไปตามกฎระเบียบเหล่านั้น

 

สองวันก่อนผมมีโอกาสนั่งสนทนากับผู้คุ้นเคยรุ่นน้องคนหนึ่ง เราพูดกันถึงเรื่องที่พักอาศัยของนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่จำกัดแต่เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนเท่านั้นนะครับ แต่หมายความรวมถึงนักท่องเที่ยวทุกชาติทุกภาษาด้วย

ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงแรมที่ประกอบกิจการโรงงานเป็นหลักเป็นฐานอย่างแต่ก่อนเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น ตัวผมเองกับหลานสามคนที่เดินทางไปเที่ยวประเทศเดนมาร์กเมื่อกลางปีก่อน เราก็ไม่ได้พักอยู่ที่โรงแรม หากจะใช้ระบบการจองที่เรียกว่า Airbnb จองที่พักของเอกชน ซึ่งเป็นบ้านบ้าง เป็นห้องในอพาร์ตเมนต์ที่เรียกว่าคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ ขนาดเล็กบ้าง

ห้องที่ผมได้พักมีสองห้องนอนกับอีกหนึ่งห้องโถงขนาดใหญ่ มีครัว มีห้องนั่งเล่น มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกทุกอย่างครบถ้วน

เป็นห้องที่อยู่ในอาคารชุดซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งกลางเมือง ไปไหนมาไหนสะดวก

การได้พักผ่อนในที่พักอย่างนั้นห้าคืนติดกันเป็นการนอนค้างอ้างแรมที่มีความสุขมาก

 

ถามว่ากิจการอย่างนี้ในเมืองไทยมีบ้างหรือไม่ ตอบว่ามีและมีมากเสียด้วย

ขณะเดียวกันปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่พักประเภทนี้ก็ยังต้องการดูแลการแก้ไขจัดการอีกมากเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เจ้าของห้องชุดในอาคารชุดที่เราเรียกว่าคอนโดมิเนียมมีความประสงค์จะนำห้องชุดของตัวเองออกให้บริการกับนักท่องเที่ยวในลักษณะนี้ ถึงแม้กฎหมายจะไม่ได้ห้ามปรามอะไรไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด

แต่ในภาคปฏิบัติก็มักเกิดความเห็นที่ต่างกันอยู่บ่อยครั้งระหว่างเจ้าของห้องชุดที่ประสงค์จะนำห้องออกให้บริการในระบบ Airbnb กับนิติบุคคลอาคารชุด ว่าสามารถทำได้หรือไม่

เพราะนิติบุคคลอาคารชุดหลายแห่งไม่ประสงค์จะให้มีคนเดินเข้าเดินออกในขณะเป็นผู้เช่าเรื่องสั้นลักษณะนี้มากหน้าหลายตา เนื่องจากห่วงกังวลในเรื่องความปลอดภัยของส่วนรวมหรือเจ้าของร่วมรายอื่น

ถ้าข้อบังคับนิติบุคคลของอาคารชุดพูดเรื่องนี้ไว้ชัดเจนก็หมดปัญหา ไม่ต้องโต้เถียงกันว่าทำได้หรือทำไม่ได้ และถ้าจะทำต้องทำตามกติกาอะไรบ้าง เช่น ต้องจ่ายค่าบำรุงส่วนกลางเพิ่มมากขึ้นเพราะมีการใช้สอยพื้นที่ที่เกิดความสึกหรอมากกว่าการอยู่อาศัยตามปกติ

แต่นิติบุคคลอาคารชุดบางแห่งที่ไม่ได้มีข้อบังคับเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ ก็ “ตีกิน” โดยอ้างถึงพระราชบัญญัติโรงแรม และเขียนประกาศขู่ว่า ถ้าเจ้าของห้องชุดรายใดฝ่าฝืนทำอย่างนี้ก็จะไปแจ้งความให้จับกุมในฐานะทำผิดกฎหมายอาญาในเรื่องกฎหมายโรงแรม

 

จะผิดจะถูกอย่างไร ผมตั้งใจจะไม่วินิจฉัยเรื่องนี้ในบทความคราวนี้

เพียงแต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า กติกาที่ไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดก็ดี หรือพระราชบัญญัติโรงแรมที่ไม่ได้พูดเรื่องนี้ไว้ให้ชัดเจนก็ดี ถ้าทำให้ชัดเสีย ปัญหาที่ต้องโต้เถียงกันหรือเป็นพื้นที่สีเทาก็จะหมดไป

ความรู้ความเข้าใจของคนว่ากฎหมายหรือข้อบังคับอยู่อย่างไรก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะถ้ารู้แล้วก็ไม่ต้องทะเลาะกันหรือทะเลาะกันน้อยลง

ขณะเดียวกันโอกาสที่ใครจะมาทำมาหากินหรือมารีดนาทาเร้นนอกระบบก็จะพลอยลดลงไปด้วย

ผมนึกว่าสมัยนี้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมายหลายอย่าง ถ้าต้องการให้เกิดความปลอดภัยหรือตรวจสอบได้ การพูดคุยปรึกษาในรายละเอียดว่าเราจะรับมือกับธุรกิจ Airbnb อย่างไรให้เกิดความปลอดภัย ขณะเดียวกันก็เป็นรายได้ที่ช่วยประคองฐานะทางเศรษฐกิจของเจ้าของห้องชุดได้โดยไม่ต้องทำผิดกฎหมาย ก็จะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้เป็นอันมาก

เรื่องเทคโนโลยีจะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาอย่างไรขอเชิญท่านผู้รู้ว่ากันต่อไป

อยากให้คนไม่รู้อย่างผมพูดขยายขี้เท่อไปเลย ฮา!

 

หรือถ้าจะมองให้เห็นภาพใหญ่ที่กว้างขวางออกไป เมืองไทยของเราก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน

นั่นคือเราควรทำกฎหมายบ้านเราให้ทันสมัยโดยนึกถึงเทคโนโลยีและกระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วนำมาใช้ประโยชน์ เมื่อสร้างความชัดเจนขึ้นแล้ว คนที่อยากทำตามกฎหมายก็สะดวก คนที่ทำผิดกฎหมายก็เห็นได้ชัดเจน

เจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยากหากินนอกลู่นอกทางก็จะหมดทางหากิน

นี่เพิ่งขึ้นปีใหม่มาได้ไม่กี่วัน คนเขียนคอลัมน์นี้ดูพูดจาเป็นนักกฎหมาย สมกับที่เรียนมามากขึ้นเป็นกอง

น่าจะเป็นผลกระทบมาจากปัญหาโลกร้อนนะครับ

ผมถึงได้วิปริตไปถึงเพียงนี้ ขอได้โปรดให้อภัย