‘Thaksin Shinawatra’ Theory and Thought : อ่านชีวิต-ความคิดตกผลึก 73 ปี ของ “ทักษิณ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผ่านมากว่าทศวรรษ ชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร” ยังคงเป็นที่ถูกกล่าวขานและจดจำ จากผู้ใกล้ชิดที่สนับสนุนและศรัทธาในตัวอดีตนายกรัฐมนตรีอันเป็นที่รักของประชาชน หรือตามหลอกหลอนจากกลุ่มคนฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ชอบจนถึงขั้นเกลียดชังและสาปแช่งว่าเป็นนักการเมืองฉ้อโกงหรือนโยบายที่ส่งผลทางลบ แต่เพียง 5 ปีเศษในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้พลิกโฉมการเมือง และสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง พร้อมกับสร้างชื่อให้ถูกจดจำในแบบที่แตกต่างกัน

แม้ต้องลี้ภัยหลังถูกรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ผ่านมาแล้ว 16 ปี แต่ชื่อของทักษิณ ยังคงปรากฎให้เห็นหรือได้ยินเสมอ

จนเมื่อช่วงไม่กี่ปีมานี้ เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนามากขึ้น ก็ได้ทลายกำแพงกั้นที่เรียกว่าระยะทาง กาลเวลาและช่วงวัย ออกมาสื่อสาร ภายใต้ชื่อ “โทนี่ วู้ดซัม” (Tony Woodsome) ร่วมสนทนากับคนหลากหลายวัย ทั้งคนที่เคยร่วมสมัยการเมืองยุคไทยรักไทยหรือเติบโตรับรู้หลังยุคไทยรักไทย ทำให้รอยต่อความทรงจำต่อชายที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ยังไม่เคยเลือนหายและยิ่งถูกกล่าวถึงมากขึ้น จากสภาพการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไทยในเวลานี้

ล่าสุด ชีวิตแต่ละช่วงก้าวย่างกว่า 7 ทศวรรษ จากผู้นำชาวไทย สู่คนแดนไกล ถูกเรียบเรียงเป็นหนังสือ “Thaksin Shinawatra Theory and Thought จะเรียกเป็นหนังสือแนวบอกเล่า ที่เป็นเสมือนการสรุปบทเรียนชีวิตตลอด 73 ปี จากผู้ประกอบการที่ล้มลุกคลุกคลานหลายครั้ง สู่นักธุรกิจมากวิสัยทัศน์ จนมาเป็นนักการเมืองที่สั่งสมประสบการณ์และกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของไทย และมาใช้ชีวิตในฐานะคนเดินทางหลังต้องลี้ภัยการเมืองจากการถูกรัฐประหาร

หนังสือเล่มนี้ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยส่วนแรกคือ ผลงานในนโยบายที่ทำในช่วงเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์, 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ กองทุนหมู่บ้าน จนถึงการปฏิรูประบบราชการ และสิ่งที่จะต่อยอดจากนโยบายที่ได้วางรากฐานแล้ว เช่น Soft Power, ธนาคารหมู่บ้าน,การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, ไทยทันสมัยและศูนย์กลางแห่งภูมิภาคอินโดจีน  (บท Thaksin & Theory และ Thaksin & Thought)

ส่วนที่สอง เรียกว่าเป็น การเล่าเรื่องชีวิตที่ทักษิณใช้ชีวิต ตั้งแต่การพินิจสำรวจตัวเอง ทั้งการกระทำ การตัดสินใจและความคิด มุมมองต่อครอบครัว ซึ่งทักษิณเน้นส่วนนี้เป็นพิเศษ ทำให้สะท้อนถึงตัวตนในแบบทักษิณที่ห่วงใยคนในครอบครัวทั้ง คุณหญิงพจมาน ลูกๆทั้ง 3 คน (พานทองแท้,พิณทองทา,แพทองธาร) แสดงความรู้สึกนี้เป็นพิเศษในช่วงชีวิตที่ต้องอยู่ต่างแดนโดยไม่มีโอกาสกลับไทยได้อีก และการที่ต้องอยู่ร่วมกับหลานๆที่วัยห่างกันมาก ว่าต้องอยู่ร่วมเข้าใจชีวิตและความคิดพวกเขายังไง การแสวงหาจุดมุ่งหมายชีวิตที่ผ่านมาหลายปี สายตาของตัวเองที่มีต่อเพื่อน คู่่แข่งจนถึงปรปักษ์ ไปจนถึงความคิดเกี่ยวกับอนาคตการเมืองไทย ประชาธิปไตย และการสานต่อทางการเมืองที่ลูกสาวคนสุดท้องอย่างแพทองธาร เลือกที่จะเดิน

เนื้อหาส่วนนี้ ถือว่ามีการผสมทั้งบทสัมภาษณ์ที่เพิ่มเติมซึ่งไม่เคยปรากฎที่ไหน และมีทั้งที่เคยกล่าวถึงใน CARE Talk หลายวาระ ซึ่งทำให้เห็นจุดมุ่งหมายที่ทักษิณกระทำและแสดงความคิดออกมาเสมอนั้นคือ การส่งเสริมศักยภาพประชาชน (People Empowerment) ไม่ว่าจะให้เพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงครอบครัวและหลานๆ ตลอดจนถึงประชาชนจำนวนมาก ควรได้ฐานยืนที่มั่นคงแบบเสมอหน้าทั้งในรูปธรรมและนามธรรม เพื่อสามารถ ค้นหา เรียนรู้ ไปไขว่คว้าเติมเต็มความฝัน เจตจำนง จุดมุ่งหมายในแบบของตัวเองได้

และสิ่งที่ทำให้ทักษิณได้เห็นในที่สุดหลังเจอทุกเรื่องราวในชีวิตนั้นคือ “ความรักและความเอื้ออาทร” ต่อตัวเองที่เข้าใจและรักตัวเอง ยอมรับความผิดพลาดล้มเหลวที่เคยทำ ถึงขั้นบอกว่าตัวเองโง่เขลากับบางเรื่อง ต่อครอบครัวที่เลือกใช้ทุกนาทีให้กับพวกเขาให้ได้มากที่สุด และต่อมิตรสหายและประชาชนที่คอยสื่อสาร ให้แง่คิด กำลังใจในทุกโอกาส

อีกสิ่งที่น่าสังเกต ในส่วนนี้คือ ไม่เพียงเนื้อหาที่อัดแน่น แม้แต่ภาพประกอบในหนังสือ ส่วนใหญ่มีแต่ภาพครอบครัวในทุกช่วง โดยเฉพาะภาพครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้า ซึ่งเน้นย้ำความต้องการของทักษิณให้ผู้อ่านได้รู้ว่า ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า “ครอบครัว” (นึกถึงเสียงโดมินิก ทอเร็ตโต้ด้วยเพื่อเพิ่มความอิน)

ส่วนที่ 3 คือบทของครอบครัวที่มาบอกเล่าเรื่องราวของทักษิณในฐานะสามี ในฐานะพ่อ จากสายตาของภรรยาและลูกๆ ที่ทำให้เห็นมิติชีวิตที่มีทั้งสุขและทุกข์ ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งที่ทักษิณต้องเจอ

ส่วนที่ 4 คือ คนรอบข้างทักษิณ ที่ร่วมงาน ร่วมฝ่าฟันหลายเรื่อง ได้ออกมาเล่าเรื่องของพวกเขาที่มีต่อทักษิณ ตั้งแต่อดีตคนเดือนตุลาที่ออกมาทำงานการเมือง ร่วมคิดเพื่อสร้างนโยบายรากฐานระบบสาธารณสุขไทย ไปจนถึงคนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของทักษิณ พวกเขารู้สึกเช่นไร และกล่าวถึงทักษิณที่ให้โอกาสที่สองกับพวกเขายังไง ต้องอ่านส่วนนี้เป็นพิเศษ

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลไทยรักไทย ในฐานะทีมงานผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงทักษิณในงานเปิดตัวหนังสือวานนี้ ว่า ในฐานะที่ตัวเองทำงานมาหลายอาชีพ แต่ตัวเองก็เลือกทำงานกับทักษิณในปี 2536 ซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 29 แล้ว การที่จะทำงานได้ จะต้องทำด้วยความสุขและมีคุณค่าในระดับปัญญาชน นี่เป็นการตอบคำถามที่ว่า นี่เป็นสิ่งสำคัญ ที่สื่อสารว่า ทักษิณ มีเสน่ห์ดึงดูดต่อตัวเองและทีมงานให้ทำงานได้ยาว เราได้สิ่งที่ท่านมีคือความสามารถหนึ่งคือ การมีวิสัยทัศน์ (Visionary) การมองไปยังอนาคต มีความสามารถในการดึงดูดความคิดดีๆจากคนรอบข้างที่ดึงมาใช้ และนำพาไปสู่การกระทำ

หนังสือเล่มนี้ เริ่มขึ้นจากดำริของลูกๆทั้ง 3 ซึ่งตั้งใจเป็นหนังสือครบรอบปีที่ 72 ก็เลยรวบรวมความคิดและเขียนเป็นปี ระดมความคิดว่าอยากทำอะไรให้เป็นของขวัญให้กับพ่อ เลยพยายามระดมความคิดกับคนใกล้ชิดเพื่อถ่ายทอด

“ถามว่าขณะนี้ เราต้องการอะไร ท่านอยากสื่อสารอะไรตั้งแต่ ร่วมคลับเฮ้าส์ คืออยากให้เห็นตัวตน ความคิดของท่าน แต่ถ้ามองจากรุ่นผมคงไม่ใช่ ดังนั้น ต้องมองจากความอยากที่เกิดขึ้นจากคนรุ่นใหม่ นี่คือเป้าหมายสำคัญ พอออกมาถือว่าน่าทึ่ง เพราะเนื้อหาสะท้อนคำถามจากคนรุ่นใหม่” นพ.พรหมินทร์ กล่าว

ขณะที่ ชาคริต ชาญรุ่งสกุล ซีโอโอบริษัท ไฟน์วันวัน กล่าวว่า สนใจติดตามทักษิณตั้งแต่ทำเพจเจอร์และโฟนลิงก์ หรือโทรศัพท์มือถือสมัยที่อยู่ราชวัตร สนใจว่าคนนี้เป็นใครกัน ตอนนั้นมีหนังสือชื่อ อัศวินคลื่นลูกที่ 3 ก็สนใจว่าคลื่นลูกที่ 3 คืออะไร หนังสือเล่มนี้ เรียกว่าท่านยังเหมือนเดิม พูดถึงกล้องโทรทรรศน์ เจมส์ เว็บบ์ ซึ่งล้ำหน้ามาก คนที่เป็นนักธุรกิจ ไม่ได้ทำตรงสายงานแต่ทำไมสนใจ เวลาพูดออกมา จะไม่พูดออกมาเชิงเทคนิคแต่พูดด้วยภาษาง่าย พอพูดอะไรใหม่ๆในช่วงปี 1990 ทำให้ผมสนใจ

“จำได้ว่า 2-3 ปีที่แล้ว ได้ผมท่าน แล้วนั่งฟัง คุยไปคุยมา คนวัย 70 คุยเรื่องบล็อกเชนได้เป็นฉากๆ ว่าจะต้องเกิดขึ้น ทำต้องเอามาใช้และใช้ยังไง ไม่ใช่วันนี้ที่เรื่องบล็อกเชนแมสไปแล้ว ผมว่าเป็นนักธุรกิจที่น่าอัศจรรย์มาก” ชาคริต กล่าว

ปิดท้ายหนังสือเล่มนี้ด้วย พื้นที่ให้กับหลานๆ ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับปู่ทักษิณ ที่คอยอยู่ใกล้ชิดในทุกๆโอกาส

ถือเป็นหนังสือที่อ่านแล้วได้หลากอารมณ์ และจะได้รับความอบอุ่นของครอบครัวที่ก็เหมือนครอบครัวทั่วไป ไม่ได้เป็นครอบครัวแสนวิเศษหรือเปี่ยมสุข แต่ยังมีช่วงทุกข์ทน ยากลำบาก ที่ทุกอย่างผ่านไปได้ เพราะการยึดมั่นในสิ่งที่ใครหลายคนต้องการนั้นคือ “ความรักและเอื้ออาทร”

หนังสือเล่มนี้ จำหน่ายในราคา 726 บาท สามารถไปหาซื้อได้ที่บูธ i39 ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 23 ตุลาคม ทราบว่าเปิดตัววันแรกมีคนสนใจและซื้อหามาอ่านอย่างคับคั่งแล้ว ใครอยากได้มาครอบครองจะต้องรีบหน่อย และวันเสาร์นี้ (15 ตุลาคม) ในช่วงเย็น ทักษิณ จะมาเซ็นหนังสือแบบระยะไกลกับผู้ซื้อในงานด้วย