จุดยืนไทย ในบริบทสถานการณ์โลก/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

จุดยืนไทย

ในบริบทสถานการณ์โลก

 

สถานการณ์โลกที่มีความขัดแย้งและการสู้รบในยูเครนเป็นฉากทะมึนอยู่เบื้องหลังในเวลานี้ ขยับเขม็งเกลียวขึ้นอีกระดับหนึ่งด้วยหลากเรื่องหลายประเด็น

ในทางหนึ่ง จู่ๆ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำอหังการของรัสเซีย ก็ออกมากล่าวหาแบบไม่อ้อมค้อมว่า สหรัฐอเมริกาเข้าไปมีเอี่ยวอยู่กับการสู้รบภายในยูเครน “โดยตรง”

ในอีกทางหนึ่ง แนนซี เพโลซี แกนนำพรรคเดโมแครตที่ครองอำนาจทั้งในรัฐสภาและฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกา ออกเดินทางเยือนไต้หวันอย่างเอิกเกริก ไม่ว่าทางการจีนจะออกอาการกราดเกรี้ยว คุกคามคาดโทษอย่างไร

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนถึงกับขมวดคิ้วถามตัวเองว่า หรือสงครามใหญ่ระดับสงครามโลกกำลังจะระเบิดขึ้น

แล้วก็อดไม่ได้ที่จะถามต่อเนื่องว่า ถ้าหากสถานการณ์ที่ว่านั้นเกิดขึ้นจริง ประเทศเล็กๆ อย่างไทยควรวางตัว กำหนดท่าทีและวางตัวเองอย่างไร? ในเวลานี้ จุดยืนของเราเอนเอียงไปในทางไหนกันแน่ระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีน? หรือเรากำลังตกอยู่ใต้อิทธิพลของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปแล้วหรือไม่?

 

ภาวะอึมครึมที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ทำให้ผมหวนไปนึกถึงข้อเขียนของชอว์น คริสพิน แห่งเอเชียไทม์ส ออนไลน์ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เมื่อ 9 มิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง

ผมนึกถึงบทความชิ้นที่ว่านี้ขึ้นมา เพราะข้อสรุปของผู้เขียนบ่งชี้ไปในทิศทางที่ออกจะตรงกันข้ามกับความคิดทั่วไปที่เชื่อกันว่า รัฐบาลไทยในปัจจุบันนี้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับทางการจีนเป็นพิเศษ

จริงอยู่ ในตอนแรกเริ่มความโน้มเอียงไปในทิศทางของจีนเห็นชัดเจนอย่างยิ่ง เพราะแรงผลักดันจากปัญหาการรัฐประหารในประเทศไทย จีนเริ่มรุกทั้งทางการทูต เศรษฐกิจและความมั่นคงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

แต่คริสพินชี้ว่า 8 ปีผ่านไป “จีนเริ่มเห็นชัดเจนว่าไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการและแสวงหาจากประเทศไทยทั้งหมด” และเริ่ม “เปลี่ยนยุทธวิธีทางการทูตจากนุ่มนวลเป็นแนวทางแข็งกร้าวมากขึ้นทุกที”

ถึงขนาดทำให้เกิดความพยายามที่จะ “ดิสคอนเน็กต์” จากทางฝ่ายไทยขึ้นเลยทีเดียว

อย่างน้อยที่สุดก็เริ่มมองกลับไปยังสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรสำคัญในภูมิภาคอย่างญี่ปุ่น มากขึ้นตามลำดับเพื่อหาหนทาง “ถ่วงดุล” และหา “ทางเลือก” ทางการทูตออกมาอย่างเปิดเผย

ผู้เขียนระบุถึงสัญลักษณ์ในเรื่องดังกล่าวว่า แรกสุด เห็นได้ชัดจากโครงการรถไฟความเร็วสูง ภายใต้แนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ของไทย ซึ่ง “ยังคงอยู่บนแผ่นกระดาษ” มาช้านาน แม้ว่าจะมีการ “เร่งรัด” อย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการอยู่หลายครั้งหลายหนก็ตาม

คริสพินย้ำว่า กรณีรถไฟความเร็วสูงล่าช้าดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดจากความเฉื่อยเนือยของระบบราชการไทยอีกต่อไป แต่เป็นการล่าช้าจากการ “ดำเนินนโยบายที่ไม่ประกาศ” ต่างหาก

คริสพินอ้าง “เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย” ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดกรณีดังกล่าว ไม่ใช่แค่เพราะเหตุผลที่ว่า โครงการนี้จะทำให้การขาดดุลการค้าของไทยที่มีต่อจีนพุ่งขึ้นไปอีก จากระดับที่เคยสูงขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ในช่วงระหว่างวิกฤตโควิดที่ผ่านมา

หากแต่ยังมีปัจจัยทางด้านความมั่นคงให้เป็นกังวลอีกด้วย หลังจากพบว่าทางการจีนเข้าเกาะกุมพื้นที่ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายแห่งในลาว ภายใต้โครงการให้สัมปทานแลกกับหนี้ที่เกิดจากโครงการรถไฟความเร็วสูงในฝั่งลาวอีกด้วย

คริสพินอ้างว่ามี “นักสังเกตการณ์, บุคคลในแวดวงการทูตและเจ้าหน้าที่ทางการไทย” บางคนเชื่อว่า จีนมีนโยบาย “ปิดล้อม” ไทยกลายๆ โดยอาศัยอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และชัดเจน ทั้งในลาว, กัมพูชา และเมียนมา

“เจ้าหน้าที่จากสภาความมั่นคงแห่งชาติผู้หนึ่งได้แสดงความกังวลเป็นการส่วนตัวกับนักการทูตจำนวนหนึ่ง เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างที่จีนสร้างขึ้นในลำน้ำโขงในพื้นที่ประเทศลาว ในรูปของสถานีเติมน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับเรือล่องแม่น้ำ”

ซึ่งเชื่อว่า จีนจะใช้เป็นข้ออ้างในการเพิ่มการลาดตระเวนด้านความมั่นคงเพิ่มมากขึ้นและเข้ามาใกล้กับพรมแดนของไทยมากยิ่งขึ้นในที่สุด

 

คริสพินระบุว่า นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทางการไทยปฏิเสธแผนการระเบิดสันดอนในลำน้ำโขงโดยให้เหตุผลไว้ว่า เพื่อเปิดทางให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่สามารถแล่นล่องมาตามลำน้ำได้มากขึ้น

เขาชี้ให้เห็นด้วยว่ามีกาสิโนในพื้นที่บริเวณชายแดนลาว-จีน อย่างน้อย 1 แห่งที่มีสนามบินให้บริการแขกวีไอพี แต่รันเวย์สนามบินดังกล่าวยาวผิดปกติ จนสามารถปรับใช้เพื่อการบินทางทหารได้หากต้องการ

ความกังวลดังกล่าวเมื่อสมทบกับการทำความตกลงระหว่างจีนกับกัมพูชาว่าด้วยการเข้าใช้ประโยชน์จากฐานทัพเรือเรียม ซึ่งตั้งอยู่ริมขอบอ่าวไทยในประเทศกัมพูชา กับการเปิดฉากรุกทางการทูตในเมียนมาอีกครั้งหลังเกิดรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมา ก็ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความพยายามในการ “ปิดล้อม” ขึ้นมาอย่างชัดเจน

ชอว์น คริสพิน ระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เกิดขึ้นแม้แต่ภายในกองทัพ โดยชี้ว่า มีความพยายามจะล้มโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน เพื่อโยกเอางบประมาณในส่วนดังกล่าวมาใช้ในการจัดซื้อฝูงบิน เอฟ-35 จากสหรัฐอเมริกาแทน

ข้อสังเกตต่างๆ เหล่านี้ ทำให้คริสพินสรุปว่า ไม่ว่าในอดีตจะเป็นอย่างไร แต่ในเวลานี้ สหรัฐอเมริกากำลังเอาชนะทางการทูตเหนือจีนได้ ในประเทศไทยครับ