Beyond Boundary ‘คนไร้พรมแดน’ จาก Seasteading ถึง Off-Grid ‘ชีวิตวิถีใหม่’ ยิ่งกว่า New Normal/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Beyond Boundary ‘คนไร้พรมแดน’

จาก Seasteading ถึง Off-Grid

‘ชีวิตวิถีใหม่’ ยิ่งกว่า New Normal

ก่อนยุค COVID การเข้ามาประกอบธุรกิจของคนจีน ตั้งแต่ซื้อมาขายไปเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการสร้างศูนย์อาหาร และร้านขายของที่ระลึก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาติเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรม

กลายเป็นปรากฏการณ์ และเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ภาครัฐต้องลงมา Action ก็คือ การก่อกำเนิดของ “ทัวร์ศูนย์หยวน”

ไม่เฉพาะเชียงใหม่ และหลายเมืองในโซนภาคเหนือ หรือจะเรียกว่าเกือบทั่วทุกหัวระแหงเลยก็ว่าได้ แม้กระทั่งในกรุงเทพฯ ถ้าใครสังเกตให้ดี จะพบผู้ประกอบการชาวจีน ทั้งรายเล็กรายใหญ่ เดินกันขวักไขว่ และควักกระเป๋าลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย

และไม่เฉพาะในบ้านเรา เพราะในประเทศต่างๆ ล้วนมีคนจีนหนึ่งคนสองคน หรือครอบครัวเล็กๆ สามสี่คน ไปจนถึง มาในรูปแบบองค์กรธุรกิจ ตั้งแต่ SME กระทั่งบรรษัทข้ามชาติอย่าง Alibaba ที่รุกคืบเข้าไปประกอบกิจการค้าขายในหลายชาติ

บางครอบครัวถึงกับขายทรัพย์สินในจีน และอพยพสมาชิก โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายทุนรอนทั้งหมด ไปตั้งรกรากยังต่างแดน

และก็ไม่ใช่เพียงผู้คนสัญชาติจีน ยังมีประชากรในประเทศต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก เริ่มดำเนินปรากฏการณ์ “ข้ามพรมแดน” แบบนี้ในหลายภูมิภาค และเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว

นี่คือรูปแบบของ Beyond Boundary “คนไร้พรมแดน” ชนิดหนึ่ง ซึ่งนอกจาก Beyond Boundary แล้ว ปัจจุบัน กระแสของ Seasteading และเรื่องราวในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Human Flow ของ Ai Weiwei ก็เป็นสิ่งที่หลายคนพูดถึง

Human Flow “คนไร้บ้าน” ถูก “บังคับ” หรือ “สมัครใจ” เนื้อหาว่าด้วย “การอพยพ 2 รูปแบบ” คือ “การอพยพ” ที่ “ถูกบังคับ” ให้เป็น Refugee

กับแบบ Seasteading หรือ “การอพยพ” แบบ “ตั้งใจ” หรือ “สมัครใจ” ย้ายรกรากจากแดนดินถิ่นเกิด ไปแสวงหาโอกาสในแผ่นดินใหม่

แนวคิด Seasteading คือ การตั้งถิ่นฐานถาวรนอกเขตอำนาจของรัฐ ในลักษณะ “บ้านลอยน้ำ” เหนืออาณาบริเวณ “ทะเลสากล” ที่อยู่ห่างจากพรมแดนประเทศใดๆ

จึงมิต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายชาติใด เป็นรูปรอยความตั้งใจของผู้อยู่อาศัย ที่ต้องการมีอิสระเสรี และทำทุกอย่างได้ตามใจต้องการ

ดังเคยมีข่าวสามีภรรยาคู่หนึ่งสร้าง “บ้านลอยน้ำ” หรือ Seasteading บริเวณทะเลนอกชายฝั่ง จังหวัดภูเก็ต บริเวณที่อ้างว่าเป็นเขตน่านน้ำสากล

Seasteading คือรูปแบบการสร้างเขตแดนใหม่บนน่านน้ำ ที่มาพร้อมระบบการบริหารจัดการแบบ “ปกครองกันเอง” โดยต่อรองกับรัฐที่เป็นเจ้าของอาณาเขต

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างชุมชนลอยน้ำกลางท้องทะเลหลวง 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งรัฐ ให้เป็นดินแดนอิสระในอุดมคติที่ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” มีระบบพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และวัตถุดิบรีไซเคิลที่ถูกนำไปใช้เป็นทรัพยากรหมุนเวียน

เป็นการแยกตัวออกจากรัฐ เพื่อค้นหา และสร้างสังคมทางเลือกที่ดีกว่า

 

ล่าสุด ได้มี “ชีวิตวิถีใหม่” ที่เรียกว่า Off-Grid หรือ “การใช้ชีวิตนอกระบบ” ที่ไม่พึ่งพาสาธารณูปโภคส่วนกลาง ทั้งน้ำประปา และไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นๆ

Gary Collins เจ้าของหนังสือแนวคิด Off-Grid หลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น The Beginner’s Guide to Living Off the Grid, Going Off the Grid : The How-To Book of Simple Living and Happiness, Living Off the Grid : What to Expect While Living the Life of Ultimate Freedom and Tranquility

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง The Organic Caveman : How To Make Natural and Sustainable Food Choices for Weight Loss and Health ที่ถือเป็นคัมภีร์ของชาว Off-Grid

Gary Collins กล่าวว่า “การใช้ชีวิตนอกระบบ ไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่ไปซื้อของตามร้านค้า หรือไม่เอาขยะออกมาทิ้ง เพียงแต่การใช้ชีวิตนอกระบบ คือการที่ไม่เชื่อมต่อกับระบบสาธารณูปโภคของส่วนกลางเท่านั้น”

โดย “ระบบสาธารณูปโภค” ในความหมายของ Gary Collins คือเครือข่ายไฟฟ้า พลังงาน และน้ำประปา ที่เชื่อมต่อเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้คน

ซึ่งในปัจจุบัน แม้จะยังมีประชากรที่ใช้ชีวิตแบบไม่พึ่งพาระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางอยู่ไม่มากนัก Gary Collins คาดว่ามีประชากรโลกเพียง 1% ที่ใช้ชีวิตแบบนอกระบบ

 

ช่วงที่ COVID ระบาดหนัก มีผู้คนจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต และย้ายตัวเองออกไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพราะการโยกย้ายทำได้ง่ายดายมากขึ้นจากเครือข่ายคมนาคมยุคใหม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าถึงพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงการจัดเก็บพลังงานเหล่านั้น ที่ก็ทำได้อย่างสะดวกมากขึ้นเช่นกัน

Sheri Koones นักเขียนหญิงอีกคนหนึ่งซึ่งมีผลงานเกี่ยวกับ Off-Grid คือหนังสือ Prefabulous + Almost Off the Grid : Your Path to Building an Energy-Independent Home ระบุว่า ทุกวันนี้ มีผู้สนใจที่จะใช้ชีวิตนอกระบบมากขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับพลังงานมีราคาสูง และการพึ่งพาระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางก็พบปัญหามาก

“Off-Grid บางคนยังเชื่อมต่อกับระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางอยู่ แต่เมื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และผลิตไฟฟ้าได้เกินความต้องการ พวกเขาก็จัดส่งพลังงานดังกล่าวไปขายให้กับบริษัทผลิตไฟฟ้าอีกทอดหนึ่ง เรื่องแบบนี้มีให้เห็นมากในปัจจุบัน” Sheri Koones กระชุ่น

การ “ใช้ชีวิตนอกระบบ” มีหลากหลายรูปแบบ เช่น Dry Camping หรือการใช้ชีวิตใน “รถบ้าน” RV (Recreational Vehicle) ที่มีห้องนอน ห้องน้ำ พร้อมสรรพ แต่ไม่มีการเชื่อมต่อกับระบบน้ำไฟ Sheri Koones กล่าว และว่า

“ขณะที่บางคนเลือกที่จะใช้ชีวิตนอกระบบในเมืองที่บ้านมีราคาสูง และบางส่วนเลือกก็ที่จะอยู่ในกระท่อมเล็กๆ ซึ่งห่างไกลจากชุมชน” Sheri Koones สรุป

 

Jon Bang สถาปนิกแห่ง Anacapa Architecture บริษัทรับสร้างบ้านสำหรับ “การใช้ชีวิตนอกระบบ” โดยเฉพาะ กล่าวว่า ในช่วงปี-สองปีที่ผ่านมา มีผู้ให้ความสนใจ “การใช้ชีวิตนอกระบบมากขึ้น”

“แม้บ้านของ Anacapa จะมีต้นทุนสูง เนื่องจากบริษัทเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ในการดึงพลังงานจากแสงอาทิตย์ และการจัดเก็บพลังงานดังกล่าวในรูปแบบแบตเตอรี่ รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ช่วยลดการใช้น้ำในชีวิตประจำวันของมนุษย์” Jon Bang กล่าว และว่า

สำหรับผม “การใช้ชีวิตนอกระบบ” หมายถึง “ชีวิตที่เรียบง่ายตามธรรมชาติ ไม่ต้องวุ่นวายกับเพื่อนบ้าน”

“วัสดุในการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการใช้ชีวิตนอกระบบ มีราคาแพง เพราะขนส่งมาจากพื้นที่ห่างไกล อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่ไม่มีงบประมาณมากมาย การเลือกใช้ชีวิตแบบนอกระบบอาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด”

Jon Bang สรุป

 

Gary Collins กลับมาเตือนเราว่า สำหรับโลกของ Off-Grid แล้ว เรื่อง “การใช้ชีวิตนอกระบบ” นี้ ถ้าคุณศึกษาจากแค่ใน YouTube แล้วคิดว่ารู้ทุกอย่างแล้ว คุณอาจเอาตัวไม่รอดก็เป็นได้

“ตอนผมเป็นเด็ก ผมมีชีวิตที่โตมาอย่างยากจนในชนบทของประเทศสหรัฐ ประสบการณ์ดังกล่าวช่วยให้ทุกวันนี้ผมประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตนอกระบบ เนื่องจากผมรู้จักวิธีล่าสัตว์ เพาะปลูกอาหาร ตัดต้นไม้ และหาแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค” Gary Collins กล่าว และว่า

“การใช้ชีวิตนอกระบบ” ต้องพร้อมที่จะทำงานหนัก เพราะไม้จะไม่หักเอง ถ้าคุณไม่ลงมือตัด และน้ำก็จะไม่มีให้ใช้ ถ้าคุณไม่ไปตักมา

“มีคนเสียชีวิตให้เห็นอยู่ตลอดเวลาจากการเลือกใช้ชีวิตนอกระบบ หรือ Off-Grid เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเข้าถึงการแพทย์แบบฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุจากการตัดไม้ เป็นต้น” Gary Collins ทิ้งท้าย