ท่าทีปัจจุบันของอาเซียน…ต่อญี่ปุ่น/ท่าทีปัจจุบันของอาเซียน…ต่อญี่ปุ่น/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

ท่าทีปัจจุบันของอาเซียน…ต่อญี่ปุ่น

 

มีรายงานข่าวน่าสนใจจากหนังสือพิมพ์ซังเค(産経新聞)คือ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดเผยผลสำรวจท่าทีของประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีต่อญี่ปุ่นประจำปี 2021 ในหัวข้อว่า ท่านคิดว่าประเทศใดเป็น “หุ้นส่วนที่สำคัญ”(重要なパートナー)

คำตอบคือ จีน… มีคะแนนนำ ญี่ปุ่น อย่างชัดเจน

จากคำถามว่า “ในอนาคต ประเทศใด หน่วยงานใด ที่ท่านคิดว่าเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ”

คำตอบคือ จีน 48% ญี่ปุ่น 43% พบว่าจีนมีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทศต่างๆในอาเซียน

จากผลสำรวจนี้ นับเป็น “ข่าวร้าย” ที่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นต้องนำไปวิเคราะห์

อย่างละเอียดเพื่อกำหนดนโยบายด้านต่างประเทศต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นภูมิภาคที่ญี่ปุ่นและพันธมิตรสำคัญคือ สหรัฐฯ กำลังเร่งแข่งขันกับจีนที่แผ่อิทธิพลมาในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง

การสำรวจในหัวข้อทำนองเดียวกันนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว (2019) ญี่ปุ่นมีคะแนนนำจีน 3% ญี่ปุ่นรักษาแชมป์ไว้ได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่ปีเอง จีนก็ทำคะแนนแซงหน้าไปเสียแล้ว

ในปี 2016 ผลการสำรวจ ประเทศที่ตอบว่า ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์สำคัญในอนาคต มี 5 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ต่างจากประเทศไทย กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่ให้คะแนนแก่จีน

ยิ่งย้อนกลับไปหลายๆ ปีก่อน คือ ในปี 2013 ทำการสำรวจ 7 ประเทศในอาเซียน ผลสำรวจน่าภูมิใจมาก คือ ญี่ปุ่นนำห่างจีนถึง 17% ทีเดียว ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจที่พึ่งพิงได้อย่างชัดเจนของบรรดาประเทศในภูมิภาคนี้

การสำรวจประจำปี 2021 ครั้งนี้ มีประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 9 ประเทศ ไม่นับรวมเมียนมา อาจเป็นเพราะคำถามในการสำรวจครั้งนี้ ได้เพิ่มตัวเลือก “ประเทศในอาเซียน” ด้วยก็เป็นได้ที่ทำให้คำตอบ ญี่ปุ่น เป็น ศูนย์ กล่าวคือ บรูไน อินโดนีเซีย ยกให้ประเทศในอาเซียน เป็นหุ้นส่วนสำคัญ ส่วน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เทคะแนนให้ สหรัฐฯ แต่ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ให้คะแนนแก่ จีน เป็นพันธมิตรสำคัญ

มีความเห็นของเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นว่า หากรวมเมียนมาซึ่งมีความสัมพันธ์อันดียิ่งกับญี่ปุ่นแล้ว คะแนนอาจไม่เป็นอย่างที่ปรากฏก็ได้

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา นาย ฟุมิโอะ คิชิดะ(文雄岸田)นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกหลังจากรับตำแหน่ง โดยเยือนกัมพูชาเป็นประเทศแรก และในช่วงวันหยุดยาวโกลเด้นวีกของญี่ปุ่น ต้นเดือนพฤษภาคม นาย คิชิดะ ก็ได้เดินทางเยือนประเทศในภูมิภาคนี้อีก 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ตามลำดับ รัฐบาลนาย คิชิดะ ให้ความสำคัญแก่ภูมิภาคนี้

เมื่อนาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในวันที่ 23 นาย ไบเดน ได้ประกาศจัดตั้ง กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิค (IPEF) (ไอเพฟ)(アイペフ)มีประเทศสมาชิกรวมทั้งหมด 13 ประเทศ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ เกาหลี และอีก 7 ประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้าร่วมด้วย นับเป็นการ “เพิ่มความมั่นใจในตัวเองให้แก่ญี่ปุ่น” ได้ทีเดียว

ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับกลุ่มประเทศอาเซียน อาจนับเป็น “อาวุธ”(武器)สำคัญของการต่างประเทศญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้ ถ้าหากความรู้สึกของสายสัมพันธ์นี้ที่ประเทศต่าง ๆในอาเซียนมีต่อญี่ปุ่นต่ำลงแล้ว ย่อมส่งผลต่อกรอบความร่วมมือในเอเชีย-แปซิฟิค อย่างช่วยไม่ได้

หลังจากเห็นผลสำรวจนี้แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นคงเร่งวิเคราะห์ผลการสำรวจอย่างละเอียดรอบด้าน หาแนวทางแก้ไข และสถานทูตญี่ปุ่นในประเทศเหล่านี้ย่อมมีหน้าที่สร้างความเข้าใจบทบาทของญี่ปุ่นให้ชัดเจน

สื่อดังกล่าวให้ความเห็นว่าสายสัมพันธ์ที่จางลงของประเทศในภูมิภาคนี้ต่อญี่ปุ่น อาจมาจากจำนวนเงินความช่วยเหลือ ODA (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ) ของญี่ปุ่น ในปี 1997 ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือถึง 1.1 ล้านล้านเยน แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 5 แสนล้านเยน ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง ความแน่นแฟ้นก็จืดจางลงได้

ในขณะที่จีนเร่งรุกคืบเข้ามา จัดตั้งนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One belt One road) (一帯一路)เป็นโครงข่ายทางเศรษฐกิจขนาดมหึมา เป็นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศต่าง ๆ ในแถบนี้กับจีนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ปีหน้า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะปรับรูปแบบ “แนวทางความร่วมมือด้านการพัฒนา”(開発協力大綱)ซึ่งเกี่ยวกับนโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเร่งมือสานสัมพันธ์อันแข็งแกร่ง แสดงบทบาทผู้นำที่น่าเชื่อถือให้ได้ เพื่อแข่งขันกับจีนที่ขยายเงินทุนมหาศาลและกำลังครองอิทธิพลในภูมิภาคนี้

นาย คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พยายามนำญี่ปุ่นให้มีบทบาทโดดเด่นในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นการร่วมประชุมกลุ่มประเทศ G 7 การร่วมกับพันธมิตรตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียกรณีรุกรานยูเครน การให้การต้อนรับประธานาธิบดี ไบเดน อย่างอบอุ่นเมื่อเยือนญี่ปุ่น และญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G 7 ที่ฮิโรชิมา ในปีหน้า

หนังสือพิมพ์นิคเคอิ(日本経済新聞)ร่วมกับทีวีโตเกียว ได้สำรวจคะแนนนิยมต่อรัฐบาลนาย คิชิดะ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฎมีคะแนนนิยมสูงสุดนับตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว คือ 66% ชาวญี่ปุ่นเห็นด้วยกับนโยบายร่วมกับสหรัฐฯคานอำนาจจีนในภูมิภาคนี้ 61% และนโยบายร่วมกับประเทศตะวันตกมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียกรณีรุกรานยูเครน 69%

เห็นได้ชัดว่า…คนในประเทศยังคงสนับสนุนรัฐบาลของนาย คิชิดะ ต่อจากนี้จึงเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นจะมีนโยบายอย่างไร ให้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รู้จัก เข้าใจ เห็นความปรารถนาดีของญี่ปุ่น จนมั่นใจยอมรับญี่ปุ่นเป็น “หุ้นส่วนสำคัญ” ด้วย

ไม่เกินความสามารถของนาย ฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น…