พวงทอง ภวัครพันธุ์ มองเพื่อไทย วันไร้ “ชินวัตร” จุดดับพรรคใหญ่? รัฐบาลทหารนั่งนาน คล้าย “ยุคเปรม”

เชื่อว่าบทบาทของตระกูลชินวัตรในการเมืองไทย จะค่อยๆ ถอยห่างจนหมดอนาคตทางการเมือง รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินภายหลังการไม่มาปรากฏตัวในวันนัดตัดสินคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางกระแสข่าวหลบหนี โดยมี นายทักษิณ ชินวัตร นำเครื่องบินส่วนตัวรอรับ “น้องสาว” ผู้ตกอยู่ใน “ชะตากรรม” ของเกมนี้

รศ.พวงทองประเมินและคาดเดาสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ว่า หลังจากที่ยิ่งลักษณ์และทักษิณหนีคดีทั้ง 2 ราย แม้ว่าจะเป็นคดีที่คนจำนวนมากมองว่าพวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรมก็ตาม แต่มันก็ย่อมเกิดคำถามจากผู้คนในสังคม และทำให้ตระกูลชินวัตรสูญเสียความชอบธรรมทางการเมือง

“จากนี้ไปก็ไม่น่าจะมีคนไหนในตระกูลนี้ที่กล้าจะเอาชีวิตมาเสี่ยงในสนามการเมืองอีก เพราะเห็นได้ชัดว่า “กลุ่มอำนาจเก่า” ไม่มีความปรานีใดๆ ให้กับคนในตระกูลนี้เลย”

“การไปของยิ่งลักษณ์ครั้งนี้ คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อ คสช. และรัฐบาลโดยตรง แน่นอน ทุกคนต้องตั้งคำถามว่าคุณยิ่งลักษณ์ออกไปนอกประเทศได้อย่างไร แบบสบายๆ โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ทางการรู้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการจับตาติดทุกฝีก้าว ถ้าบอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ระแคะระคายเลยก็ต้องตั้งคำถามกับการทำงานของหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ตามชายแดน แสดงว่ามีความล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่”

ส่วนวาทกรรมการหลอกใช้-หลอกคน รศ.พวงทองให้ความเห็นว่า จนถึงวันนี้คิดว่าคุณทักษิณก็ไม่ได้แคร์ แต่คิดว่าคนจำนวนมากมีความเห็นใจสงสารคุณยิ่งลักษณ์ และรู้อยู่ว่า คดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเมือง รู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และไม่อยากเห็นภาพการเข้าเรือนจำ แม้แต่เพียงวันเดียวก็ไม่ต้องการ

ส่วนอนาคตพรรคเพื่อไทย รศ.พวงทองกล่าวว่า จากมุมมองส่วนตัวคิดว่า คงจะแตกออกไปเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยเมื่อขาดศูนย์รวม ขณะเดียวกัน ขบวนการคนเสื้อแดง นปช. อย่างที่ทราบกันคือแกนนำ นปช. หลายคนกำลังเผชิญกับคดีความ และเป็นเป้าหมายต่อไป ทำให้คาดเดาได้ว่านักการเมืองหลายคนในพรรคเพื่อไทยคงจะแยกย้ายกันไป

ส่วนหนึ่งมองว่าการเอาตัวเองเข้าไปผูกกับชินวัตร จะทำให้ยิ่งเสี่ยงหรือตกเป็นเป้าทางการเมืองและหมดอนาคต ซึ่งไม่คิดว่าตระกูลชินวัตรจะมีทายาทคนที่ 3 ขึ้นมานำอีก

ครั้งนี้จึงน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่จะทำให้ตระกูลชินวัตรเริ่มถอยห่างจากการเมืองไทยได้

“สิ่งที่เราจะเห็นหลังจากนี้คือเราจะไม่มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งในทางการเมือง ที่จะมีอำนาจในการต่อรองกับทหาร แม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง ภายหลังจากนั้น ทหารก็ยังคงมีบทบาทในการบริหารประเทศอย่างมาก และมองว่าสถานการณ์ทางการเมืองไทยคงจะย้อนกลับเข้าสู่ยุคของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) ที่กินช่วงเวลายาวนาน และเต็มไปด้วยพรรคเล็กพรรคน้อยที่ไม่มีทางต่อรองกับทหารได้”

รศ.พวงทองกล่าวอีกว่า บทเรียนมากมายในช่วงวิกฤต 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราเห็นคือพรรคที่ได้รับความนิยมจากประชาชนไป “ท้าทายอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่า” ทำให้กลุ่มอำนาจเก่าไม่สามารถที่จะเข้ามาชักใยอยู่เบื้องหลังทางการเมืองแบบที่เขาต้องการได้ ถามว่าแล้วหลังจากนี้จะทำอย่างไร ถ้าพรรคการเมืองไม่สามารถสร้างความนิยมผ่านนโยบายได้ อันนี้เป็นบทเรียนที่พรรคการเมืองต้องรับไป ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อประชาชนด้วย

ขณะเดียวกัน กลุ่มอำนาจเก่ายังมีความเชื่อว่า เขาจะสามารถสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนได้โดยไม่ต้องให้นักการเมืองมีบทบาทมากนัก กลับเชื่อในฝีมือของตัวเอง ปัญหาคือคนส่วนใหญ่เขาไม่ได้คิดอย่างนั้น!

อีกหนึ่งปัญหาของกลุ่มอำนาจเก่าคือต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง (ซึ่งไม่มีใครเชื่อ) คุณจะเห็นได้ว่า ในช่วง 3 ปีกว่าที่ผ่านมา มีกลุ่มธุรกิจไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปได้ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง ในที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องว่าคุณรู้จักใคร? คุณมีความสัมพันธ์กับใคร? ในกลุ่มผู้มีอำนาจ กลุ่มนั้นก็ได้ประโยชน์ไป นี่คือระบบที่เป็นอยู่ขณะนี้

ที่สำคัญผู้มีอำนาจไม่เชื่อใน “การมีส่วนร่วมของประชาชน” และไม่มี “การตรวจสอบ”

ส่วนบทบาทของยิ่งลักษณ์หลังจากนี้ รศ.พวงทองคิดว่า คงไม่ได้สู้หรือเคลื่อนไหวใดๆ ที่มีนัยยะทางการเมืองมาจากต่างประเทศ เพราะยังมีเครือญาติและธุรกิจจำนวนมากที่อยู่ในเมืองไทยและเป็นภาระใหญ่

ฉะนั้น คนที่หวังว่ายิ่งลักษณ์จะสู้ในเรื่องหลักการ เรื่องประชาธิปไตย ในเรื่องสิทธิมนุษยชน จากช่วงที่ผ่านมาตลอดการเป็นนายกรัฐมนตรีของเธอ ก็เห็นอยู่ว่าเธอไม่ได้ต่อสู้ในเรื่องพวกนี้ เธอมุ่งที่จะผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ได้สู้การเมืองอย่างเต็มที่

มองว่าเป็นความพยายามที่จะง้อและประนีประนอม กับอีกฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา แต่อีกฝากหนึ่งเขาไม่เอาด้วย นี่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ตระกูลชินวัตรไม่ได้ทำ ทำให้การอ้างเรื่องประชาธิปไตยคงหมดความชอบธรรมไปด้วย

จากนี้เป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งไม่มีความจำเป็นต้องเลื่อนไปอีกแล้ว เพราะพรรคเพื่อไทยอ่อนลง ไม่ใช่ภาระที่ต้องมาคำนึงถึงอีก หลังจากช่วงที่ผ่านมาการเลือกตั้งถูกเลื่อนครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะเขาประเมินแล้วก็ยังกลัวเพื่อไทยจะกลับมา โดยเฉพาะในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนยิ่งมีภาพเปรียบเทียบมากว่าในยุคของยิ่งลักษณ์-ทักษิณเศรษฐกิจดีอย่างไร หลังรัฐประหารเศรษฐกิจย่ำแย่อย่างไร

พูดถึงกลุ่มอำนาจเก่า เราย้อนกลับไปดูรัฐบาลที่ผ่านๆ มา เช่น ในประเทศอื่นๆ ก็มีความเข้มแข็งในส่วนของอำนาจ ในการควบคุมกลไกของรัฐ ในทางการศาล-กระบวนการยุติธรรม และรัฐธรรมนูญ ที่จะอยู่ข้างเดียวกันตลอด แต่วันหนึ่งเมื่อประชาชนทนไม่ไหว ใครก็ต้านไม่ได้

เพราะสิ่งที่ผู้มีอำนาจในยุคนี้ขาด และลดลงเรื่อยๆ คือ “อำนาจแห่งความชอบธรรม” ซึ่งพวกเขาไม่มี!

รศ.พวงทองกล่าวอีกว่า ขณะที่ภาคประชาชนเอง ที่ผ่านมาเริ่มเข้าใจเรื่องของโครงสร้างอำนาจรัฐมากขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายเพียงถึงแค่รัฐบาลเท่านั้น ยังรวมถึงองค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม ระบบกฎหมายทั้งหลาย แล้วก็เห็นว่ามันมีปัญหาอย่างไร

แต่ปัญหาของการเมืองไทยคือสภาวะที่คนชนชั้นนำรวมถึงกลุ่มอำนาจเก่าไม่มีความชอบธรรม แต่ภาคประชาชนอีกฟากหนึ่งอ่อนแอเกินไป จึงยังไม่มีหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง

“เราจะมีภาคประชาชนที่เข้มแข็งได้ ต้องอาศัยการนำของผู้นำที่เสียสละอย่างมาก และปราศจากพวกพ้อง-ผลประโยชน์ทางธุรกิจ”

“ส่วนตัวมองว่าตระกูลชินวัตรข้ามปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ถ้าคุณไปดูในพม่า ออง ซาน ซูจี / หรือข้ามไปดู เนลสัน แมนเดลา คนเหล่านี้เขาสู้แบบไม่มีภาระ ไม่มีธุรกิจของครอบครัวที่ต้องมาดำเนินการ ทำให้เขาอุทิศตัวเองที่จะต่อสู้”

แต่การเมืองไทยเราไม่มีและไม่เคยเป็นแบบนั้น!