รายงานพิเศษ : เมื่อผมผ่าตัดมะเร็งลำไส้ในอเมริกา

เรื่องมันเริ่มต้นมื่อเดือนธันวาคม 2559

เมื่อน้องชายคนถัดจากผมไปสี่คน อายุห่างกัน 10 ปี เกิดเป็นมะเร็งลำไส้ตรงก้นกบ ต้องผ่าตัดออก และต้องให้คีโม

ผมรู้ตัวว่าความเสี่ยงภัยมาเยือนแล้ว เมื่อพี่น้องสายเลือดเดียวกันเป็นมะเร็ง โอกาสที่จะเกิดกับพี่น้องคนอื่นๆ มีอยู่มาก

ผมรีบติดต่อหาคิวส่องกล้องลำไส้ (Colonoscopy) ได้คิวเร็วที่สุดที่ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหารของเขต Berks (Berks Center for Digestive Health) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560

ที่จริงคนข้างกายผมเตือนให้ส่องกล้องลำไส้มาหลายปีแล้ว แต่ผมมัวแต่โอ้เอ้ ไม่ให้ความสำคัญ

ในอเมริกา การส่องกล้องลำไส้เริ่มส่องกันที่อายุ 50 ปี ถ้าส่องแล้วไม่พบอะไร ก็เว้นไป 5 ปีค่อยมาส่องใหม่ แต่ถ้ามีติ่งเล็กๆ ต้องขูดออกไปตรวจ หมออาจนัดให้กลับมาส่องกล้องทุกปี

ก่อนส่องกล้องต้องมีการจาะเลือดตรวจก่อน ดูสภาพร่างกายว่าจะทนการดมยาสลบได้ไหม

ตอนบ่ายก่อนวันส่องกล้องหนึ่งวันจะต้อง “ทำความสะอาดลำไส้” (Clean) กินยาถ่ายล้างลำไส้ครั้งแรก 4 ช.ม. เว้นไป 2 ช.ม. แล้วกินยาถ่ายอีก 4 ช.ม. สิ้นสุดราวเที่ยงคืน เพื่อให้ลำไส้สะอาดจริงๆ วันนี้ไม่ให้กินอาหารอะไรนอกจากเยลลี่สีอ่อน เช่น สีเหลือง สีเขียว ห้ามสีแดง เพราะสีแดงอาจไปเคลือบลำไส้ทำให้ส่องกล้องไม่เห็นผิวผนังลำไส้

ให้กินน้ำผลไม้สีอ่อน เช่น น้ำแอปเปิ้ล น้ำองุ่นและน้ำเปล่าเท่านั้น หลังเที่ยงคืนห้ามกินอาหารและน้ำ

การส่องกล้องทำตอนเช้า หมอดมยาฉีดยาให้หลับในท่านอนตะแคงคล่อมขอบเตียง แล้วหมอส่องกล้องเข้าไปทางรูทวาร

ฟื้นขึ้นมา หมอส่องกล้องชื่อหมอ Daniel Blecker ให้ดูภาพถ่ายหลายมุมของก้อนเนื้อขนาดโต 4 ซ.ม. อยู่ห่างรูทวาร 39 ซ.ม. ก้อนเนื้อนี้ใหญ่ขูดออกมาไม่ได้ ได้แต่ขูดเนื้อเยื่อไปเข้าแล็บ จะรู้ผลอีก 4 วันทำการ

หมอบอกว่า หน้าตาเหมือนเซลล์มะเร็ง ฟังแล้วใจหายวาบ

เช้าวันฟังผลแล็บ หมอ Blecker โทร.มาที่บ้านตั้งแต่เช้าตอน 7 โมงครึ่ง แจ้งข่าวดีว่าผลแล็บไม่พบเชื้อมะเร็ง

แต่อย่างไรก็ตาม การพบก้อนเนื้อโตขนาด 4 ซ.ม. ในลำไส้ จำเป็นต้องผ่าตัดเอาออก

ได้คิวผ่าตัดลำไส้ที่ St. Joseph Hospital เป็นโรงพยาบาลที่คนข้างกายผมเป็น Neonatologist หมอเด็กอ่อนอยู่ที่นี่ แต่ก่อนโรงพยาบาลนี้เป็นของมูลนิธิทางศาสนา ต่อมาเมื่อปีที่แล้ว Penn State University มาเทกโอเวอร์แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Penn State Health Care St. Joseph

กำหนดวันผ่าตัดวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ก่อนวันผ่าตัดต้องมาตรวจเลือดอีกครั้ง เพื่อดูสมรรถภาพของตับว่าจะรองรับการให้ยาสลบได้ไหม แล้วทำ CAT SCAN สองแห่ง ดูสภาพช่วงทรวงอกและช่วงท้อง

ทุกอย่างผ่านหมด

ก่อนผ่าตัดได้คุยกับหมอผ่าตัด (General Surgeon) ชื่อหมอ Michael J Abboud เขาวาดรูปลำไส้และอธิบายว่าจะผ่าตัดก้อนเนื้องอกโดยตัดมาทางซ้ายราว 5 ซ.ม. และทางขวา 5 ซ.ม. รวมทั้งก้อนเนื้อด้วยจะตัดออกไปราว 14 ซ.ม. หรือเกือบ 6 นิ้วด้วยวิธีส่องกล้อง

หมอ Abboud บอกว่า ถ้ายูมาส่องกล้องลำไส้ก่อนหน้านี้ 5 ปี ก็จะเจอแค่ติ่งเม็ดเล็กๆ เอากล้องขูดออกมาได้ ไม่ต้องผ่าตัด แต่ถ้ายูมาส่องกล้องหลังจากนี้อีกสามปี (ที่เจอก้อนเนื้องอกโต 4 ซ.ม. แล้ว) ก็จะเจอเนื้องอกมะเร็งก้อนโต ต้องทำคีโม ไม่รู้ว่าจะรักษาหายไหม

เป็นคำอธิบายที่คุ้มค่า Visit ที่ต้อง Co-pay จ่ายเพิ่มจากบริษัทประกันสุขภาพอีก $40

ตอนบ่ายก่อนวันผ่าตัดหนึ่งวัน ต้องเริ่มการ “ทำความสะอาดลำไส้” อีกครั้ง ทำทุกอย่างเหมือนเมื่อคราวส่องกล้อง

หมอ Abboud นัดไว้ตอนตี 5 ครึ่ง พอไปถึงก็เริ่มกระบวนการผ่าตัด พยาบาลเอาเอกสารมาให้เซ็น ให้เปลี่ยนชุดเป็นเสื้อคลุมของโรงพยาบาลคลุมมาเหนือหัวเข่า สอดแขนเข้าข้างหน้า ผูกเชือกสองเส้นไว้ข้างหลัง ไม่นุ่งกางเกง ตอนส่องกล้องก็ใส่ชุดอย่างนี้

นอนบนเตียง พยาบาลมาเจาะเลือดต่อเข็มไว้ที่หลังมือทั้งซ้ายและขวา พยาบาลสาวมาโกนขนที่เนินหน้าท้อง ตอนที่เธอเอามือปัดเศษขนออก จั๊กกะจี้ดีแท้

หมอ Abboud มาทักทาย แล้วเปิดเสื้อเอาปากกากาที่พุง ทำเครื่องหมายจุดลงมีดบนหน้าท้อง

หมอดมยาเป็นหมอแขกอินเดียชื่อหมอ Malik เข้ามาทักทาย บอกว่าหน้าตาผมเหมือนเจงกิสข่าน

แล้วพยาบาลเข็นผมไปขึ้นเตียงห้องผ่าตัด มีไฟส่องสว่างอยู่ข้างบน

หมอ Malik เข้ามาที่ข้างเตียงบอกว่าให้ผมนึกถึงตอนเป็นเจงกิสข่านนั่งบนหลังม้า

พอเริ่มจินตนาการ ผมก็หลับผล็อยไปกับฤทธิ์ยาของหมอ Malik

ฟื้นขึ้นมา เจ็บหน้าท้องที่สุดในชีวิต รู้สึกหนักที่หน้าท้องมาก พร้อมปวดท้องฉี่มาก พยาบาลบอกว่าให้ พี้พี้ ฉี่ได้เลย พร้อมชูถุงปัสสาวะให้ดู เพราะเขาต่อสายสวนจากกระเพาะปัสสาวะไว้แล้ว

มีสายระโยงระยางรอบตัวเต็มไปหมด ปลดสายชุดหนึ่งออก แล้วเอาสายชุดใหม่มาแปะรอบอก แปะจนถึงส้นเท้า เป็นสายวัดระบบหายใจ มีเครื่องนวดไฟฟ้าพันที่หน้าแข้งและน่อง สลับกันนวดน่องซ้าย น่องขวาตลอด 24 ช.ม. เพื่อกระตุ้นเลือดที่ไปเลี้ยงที่ส้นเท้าให้ไหลย้อนขึ้นมาที่หัวใจ เพราะสมัยก่อนไม่มีเครื่องกระตุ้นที่น่อง เคยมีคนไข้ผ่าตัดแล้วตายจากเส้นเลือดอุดตัน ไม่ย้อนกลับจากฝ่าเท้าขึ้นไปที่หัวใจ

เขาต่อเครื่องวัดความดันอัตโนมัติที่จะบีบวัดความดันทุก 15 นาที ระบบตรวจสอบทุกระบบเชื่อมเข้าศูนย์ควบคุมคอมพิวเตอร์โดยตรง

หมอ Abboud ถอดเสื้อคลุมแล้ว แต่งตัวตามสบาย เข้ามาบอกว่า ใช้เวลาผ่าตัด 3 ช.ม. แหวะหน้าท้องเอาลำไส้ออกมาตัดออกข้างนอกราว 5 นิ้วกว่า แล้วเย็บต่อใหม่ ยัดกลับเข้าไปข้างใน เย็บปิดหน้าท้องให้เรียบร้อย เนื้อลำไส้ส่วนที่ตัดออกส่งไปเข้าแล็บ จะรู้ผลอีก 4 วัน

เขาฉีดมอร์ฟีนระงับปวดให้ เข็นเตียงไปที่ห้อง Recovering room นอนหลับอยู่ที่นั่น 3 ช.ม. พอเห็นสภาพดีแล้วจึงเข็นเตียงมาที่ห้องพัก เป็นห้องคู่นอนกับคนไข้อีกคนใช้ฉากกั้น มีถุงน้ำแข็งช่วยประคบแผลผ่าตัด

หมอ Abboud มาเยี่ยมตอนค่ำแล้วชมว่าสภาพร่างกายดีมาก

แต่คืนนั้นปวดแผลมาก ต้องให้มอร์ฟีนไป 3 เข็ม

หมอ Abboud มาเยี่ยมตอนเช้า 7 โมงครึ่ง ตรวจดูแล้วบอกว่าสภาพโดยรวมถือว่าร่างกายดีมากสำหรับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดหนึ่งวัน วันนี้จะถอดถุงปัสสาวะออก แล้วให้ลุกเดินในห้อง พรุ่งนี้ให้ออกไปเดินตามทางเดินนอกห้อง

คุยกับหมอ Abboud บอกว่าแผลผ่าตัดที่หน้าท้องผ่านสะดือลงไปข้างล่างยาวประมาณ 5 นิ้ว ดึงลำไส้ออกมาตัดและยัดกลับเข้าไปทางช่องนี้ ด้านซ้ายมือของสะดือเจาะรูหนึ่งรู ด้านขวามือของสะดืออีกหนึ่งรู ตรงข้างล่างด้านขวามือมีแผลผ่ายาวหนึ่งนิ้ว ทุกแห่งใช้สอดกล้องและเครื่องมือเข้าไปปฏิบัติการข้างใน ใช้ผ้าพันขนาดใหญ่พันแผลไว้รอบเอว

มีการให้ออกซิเจนเสียบทางจมูก มีคำแนะนำว่าให้หายใจแรงๆ ลึกๆ เพื่อฟอกปอด จะได้ไม่ติดเชื้อเป็นปอดบวม เดี๋ยวเกิดเรื่องใหญ่

ตอนผ่าตัด หมอเสียบท่อช่วยหายใจใส่ทางปากผ่านลงคอ ฟื้นขึ้นมาเจ็บคอมาก

คืนที่สองหลังผ่าตัดถอดเครื่องช่วยหายใจออก พยาบาลบอกว่าปอดดีมากไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว วันนี้ออกมาเดินนอกห้องไปตามวอร์ดรวม 5 เที่ยว ถึงจะยังเจ็บแผลก็ต้องกัดฟันเดิน เพราะมีสูตรว่าถ้าอยากกลับบ้านเร็วต้องเดินออกกำลังกายให้แข็งแรง

อมแต่น้ำแข็งมาสองวัน เช้าวันที่สามได้กินอาหารมื้อแรกเป็นเยลลี่สีส้ม มื้อกลางวันเป็นซุปอร่อยมาก พอมื้อเย็น Room Service ให้โทร.สั่งอาหารได้

เช้าวันที่สี่ดีใจมากที่เริ่มขับถ่ายตามปกติ หมอ Beatle ผู้ช่วยหมอ Abboud มาถามเรื่องการขับถ่ายและแจ้งผลแล็บเนื้อเยื่อที่ผ่าออกมาว่าพบเซลล์มะเร็งที่ผนังลำไส้ และลามออกมาในต่อมน้ำเหลืองหนึ่งต่อม จากที่ตัดออกมาทั้งหมดสามต่อม แต่ต่อมน้ำเหลืองรองรับเซลล์มะเร็งเอาไว้ ยังไม่ลามเข้าเส้นน้ำเหลือง จึงยังไม่กระจายไปที่อื่น

หมอ Beatle บอกว่ายูโชคดีแล้วที่ผ่าเอามันออกมาได้ทั้งยวง รักษาได้ทันเวลา

ในทุกวันนอกจากหมอเจ้าของไข้หรือหมอผู้ช่วยจะมาราว์ดแล้ว ยังมี Hospitalist หรือ Hospital Doctor เป็นหมอแขกมาราว์ดถามอาการทุกวันเช่นกัน

ส่วนพยาบาลจะมีเคาน์เตอร์หน้าห้องดูแลคนไข้ห้องซ้ายมือสองห้อง ห้องขวามือสองห้อง หนึ่งเคาน์เตอร์จะดูแลคนไข้ 4 ห้อง เครื่องวัดการเต้นหัวใจที่แปะไว้ที่หน้าอกหลายจุด จะรายงานการเต้นของหัวใจผ่านกล่องควบคุมที่เอวไปขึ้นหน้าจอที่เคาน์เตอร์พยาบาลตลอด 24 ช.ม. ดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด

วันที่สี่หลังการผ่าตัด ปลดสายน้ำเกลือออก ปลดเครื่องวัดหัวใจออก กินอาหารตามที่ออเดอร์ทั้งสามมื้อ ขับถ่ายได้ดี เดินออกกำลังกายที่นอกห้องผ่านเคาน์เตอร์พยาบาลไปที่รูปปั้นพระแม่มารีที่ยืนประทานพรให้ผู้ป่วยอยู่ตรงมุมห้อง เดินวันละ 5 เที่ยวได้อย่างสบาย

วัดความดันและวัดไข้ทุก 4 ช.ม. ผลไม่เคยมีไข้

หมอ Rehab Team หรือทีมฟื้นฟูผู้ป่วยมาตรวจสอบ ให้เดินให้ดู ให้ถอดถุงเท้า ใส่ถุงเท้า ปรากฏว่าทำได้ดี ผ่าน พรุ่งนี้กลับบ้านได้

เช้าวันที่ห้าหลังผ่าตัด สั่งอาหารเช้าอย่างที่ชอบแล้วเดินออกกำลังกายรอบวอร์ด สั่งอาหารกลางวัน กินปลากับซุป ตอนบ่ายอำลาพยาบาล กลับบ้านแล้ว

อีก 4 วันต่อมาไปทำ Pet Scan มีกติกาคือจะต้องวัดค่าน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 150 จึงจะเข้ากระบวนการได้ ผมทำได้ 150 พอดีเป๊ะ

การทำ Pet Scan เพื่อตรวจดูว่ามีมะเร็งอยู่ที่อวัยวะส่วนไหนบ้าง

ใช้วิธีฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำ รอ 45 นาทีให้ยากระจายทั่วตัว แล้วเอาตัวเข้าอุโมงค์ที่หนาวมาก Scan ตั้งแต่หัวถึงตีน ถ้ามีมะเร็งอยู่ที่อวัยวะส่วนไหน จะมีไฟแดงขึ้นบนจอ

ผล ไม่มีไฟแดงขึ้นที่ตรงไหนเลย แสดงว่าไม่มีเซลล์มะเร็งในร่างกาย

คุยกับหมอมะเร็ง (Oncologist) Dr. Marc A. Rovito หมอบอกว่า การที่พบมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองถือว่าเป็นมะเร็งขั้นที่ 3 แต่เป็นขั้นที่ 3A คือยังไม่กระจายเข้าเส้นน้ำเหลือง ยังมีขั้นที่ 3B, 3C แล้วจึงถึงมะเร็งขั้นที่ 4 ที่กระจายไปที่อวัยวะอื่นแล้ว

จึงแนะนำให้คีโม (Chemo) เพื่อขจัดเซลล์มะเร็งที่อาจตรวจไม่พบหนึ่งเซลล์ รวมทั้งเพื่อป้องกันปัญหาจากมะเร็งในภายภาคหน้าทั้งมวล

ผมจึงต้องกลับไปหาหมอศัลยกรรม Dr. Abboud อีกครั้ง ทำการผ่าตัดที่ใต้ผิวหนังตรงไหปลาร้าด้านซ้าย ใส่ Port ต่อสายเข้าเส้นเลือดหัวใจ เพื่อเอา Pump มาต่อให้คีโม

การผ่าตัดใช้เวลา 30 นาที แต่ผมหลับไป 3 ช.ม. คราวนี้หมอดมยาเป็น African American ชื่อ Dr. Monroe

แล้วก็ถึงวันนัดให้คีโมครั้งแรก

คุยกับหมอ Rovito อีกครั้ง หมออธิบายว่าจะมีการให้คีโม 12 ครั้ง แบ่งเป็นอาทิตย์เว้นอาทิตย์ รวมเวลา 24 อาทิตย์ ผลข้างเคียงส่วนมากจะปรากฏในการให้คีโมครั้งที่ 6-8 แล้วค่อยมาปรับปรุงวิธีการให้คีโมกันใหม่

หมอ Rovito บอกว่ามะเร็งขั้นที่ 3 อัตรารอดจากการให้คีโมแล้วอยู่ได้นานเกิน 5 ปี เท่ากับ 78.5%

ในห้องให้คีโม มีเก้าอี้พร้อมอุปกรณ์เรียงเป็นแถว พยาบาลเข้ามาอธิบายเรื่อง Pump ให้คีโมที่ต่อเข้า Port ถ้ามีผลข้างเคียงให้โทร.เข้าศูนย์ได้ตลอด 24 ช.ม. ศูนย์จะโทร.ขอคำแนะนำจากหมอ Rovito ทันที

การให้คีโมในห้องนี้ใช้เวลา 3 ช.ม.ครึ่ง ตอนนอนให้คีโมมีหนังสือให้อ่าน มีจอทีวีให้ดูเหมือนบนเครื่องบิน มีน้ำหวานและอาหารบริการ ส่วนคีโมที่เหลืออีกครึ่งจะใส่ Pump แขวนห้อยคอไว้แล้วต่อเข้า Port ให้คีโมไหลเข้าร่างกายทุกๆ 5 นาที นาน 48 ช.ม. พอครบกำหนดเวลาเป๊ะ จะมีสัญญาณเตือนยาหมด

ต้องไปที่โรงพยาบาลถอดปั๊มออก ฉีดน้ำยาทำความสะอาด Port เว้นไปหนึ่งอาทิตย์รอให้คีโมคราวต่อไป

วิธีการให้คีโมแบบนี้จะมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ไม่ทรมานเหมือนการให้คีโมต่อเนื่องนานครั้งละ 7 ช.ม.

บทความนี้หวังว่าจะมีผู้อ่านอย่างน้อยหนึ่งคน ที่อ่านแล้วรีบไปส่องกล้องลำไส้โดยพลัน