’10 ไฮไลท์แห่งปี 2564′ รัฐประหารในพม่า : วิกฤตการเมืองสู่สงคราม กับความสัมพันธ์เทาๆของไทย

ในเวลาเช้าของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พม่าที่เพิ่งลิ้มรสของประชาธิปไตยได้เพียง 4 ปี ก็กลับสู่่ระบอบเผด็จการทหารอีกครั้ง เมื่อทหารเข้าเคลื่อนพลทั่วกรุงเนปิดอว์ และมีรายงานข่าวการจับกุมบุคคลสำคัญของรัฐบาลพลเรือนโดยเฉพาะพรรคแกนนำอย่างสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดี ทั้ง อองซานซูจี, วี่น-มหยิ่น, ฮานตา-มหยิ่น และผู้นำพรรคอีกหลายคนถูกทหารนำตัว ไปในช่วงเช้าโดยไม่ทราบว่านำตัวไปที่ไหน

ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 พรรคเอ็นแอลดีคว้าชัยชนะแบบถล่มทลาย ได้ที่นั่งในสภา 396 ที่จากทั้งหมด 476 ที่ มากกว่าการเลือกตั้งในคราวก่อนในปี 2558 ส่วนพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของทหารพม่า ได้เพียง 33 ที่นั่ง

ต่อมาในเดือนมกราคมที่่ผ่านมา ได้เกิดข่าวลือจากฝ่ายสนับสนุนพรรคทหาร กองทัพและสื่อหลายช่องทางที่ควบคุมโดยกองทัพ โหมโจมตี กล่าวหาว่าการเลือกตั้งไม่โปร่งใส จนมีความกังวลที่พม่าเสี่ยงเกิดการรัฐประหารจนนานาชาติได้ออกมาแสดงความกังวล

จากนั้น ทหารพม่าก็เข้าควบคุมช่องทางการสื่อสารทั้งหมด สถานีโทรทัศน์ ถนนหนทางทั่วกรุงเนปิดอว์และย่างกุ้งมีรถหุ้มเกราะจอดประจำหลายจุด

ในวันเดียวกัน ทหารพม่าได้ออกประกาศควบคุมประเทศเป็นเวลา 1 ปี และโอนถ่ายอำนาจทั้งหมดให้กับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพพม่า ผู้ที่เคยจับมือเชื่อมสัมพันธ์กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างเป็นผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช.อย่างหน้าชื่นตาบาน อีกทั้งมิน อ่อง หล่าย มีสายสัมพันธ์กับพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีผู้ล่วงลับที่เปรียบดั่งเป็นพ่อบุญธรรม

หลายประเทศแสดงปฏิกิริยาในทิศทางที่ต่างกันไป โดยเฉพาะอาเซียนที่พม่าเป็นชาติสมาชิก ยังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและเรียกร้องให้เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็ว กับกลุ่มที่มองว่าเป็นเรื่องภายใน ซึ่งมีประเทศไทย กัมพูชาและเวียตนาม

ต้านแรงมา-ปราบแรงกลับ แต่พาประเทศลุกโชนด้วยไฟสงคราม

แต่หลังการรัฐประหารผ่านไปไม่นาน ในค่ำคืนหลังการยึดอำนาจ ได้ปรากฎเสียงดังก้องทั่วเมืองย่างกุ้ง จากประชาชนที่นำอุปกรณ์ในครัว ไม่ว่า ตะหลิว กระบวย หม้อ ฝาหม้อ กระทะสแตนเลส มาตีเป็นจังหวะเพื่อแสดงการต่อต้านรัฐประหาร นี่คือจุดเริ่มต้นของการประท้วงและลุกลามกลายเป็นการอารยะขัดขืนครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ที่กินเวลายาวนานจนถึงตอนนี้

การต่อต้านยังออกไปนอกพม่าด้วยอย่าง จอ โม ตุน ทูตพม่าประจำยูเอ็น ก็ประกาศไม่ยอมรับการรัฐประหาร และชู 3 นิ้วกลางที่ประชุมสมัชชาใหญ่ รวมถึงชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในหลายประเทศรวมถึงไทยก็ออกมาจัดการชุมนุมประท้วงต่อต้าน หรือส่งความช่วยเหลือให้กับพี่น้องฝั่งพม่าในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหาร

รัฐบาลทหารพม่ารีบเข้าควบคุมสถานการณ์ด้วยการส่งกำลังตำรวจและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเข้าสกัดการชุมนุมแต่กลับยิ่งมีแต่เติบโตมากขึ้น

แม้ถูกปราบปรามอย่างหนักหน่วง แต่ประชาชนต่างต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าอย่างไม่ลดละ ด้วยกลยุทธ์ที่เรียกว่า ถอดบทเรียนที่ถ่ายทอดกันผ่านสายธารแห่งพันธมิตรชานมจากฮ่องกง ไทย มาสู่หนุ่มสาวชาวพม่า แล้วต่อยอด ปรับปรุงมาเป็นแบบของตัวเอง

ไม่เพียงเท่านี้ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ แพทย์ พยาบาลและครู รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคส่วนอื่นๆแม้แต่ตำรวจ ก็ต่างย้ายมาอยู่เคียงข้างประชาชน ไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลทหารพม่า

นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนธันวาคม มีการชุมนุมน้อยใหญ่หลายครั้งทั่วประเทศ เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าที่ขาดความชอบธรรมและเป็นการทำลายกระบวนการประชาธิปไตยและโอกาสสร้างอนาคตของชาวพม่า จากสี่แยกย่านธุรกิจในนครย่างกุ้ง ใจกลางกรุงเนปิดอว์ มัณฑะเลย์ จนถึงรัฐกลุ่มชาติพันธุ์ ต่างออกมาประกาศไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร โดยเฉพาะรัฐชาติพันธุ์ที่มีกองกำลังที่เข้มแข็งอย่างรัฐกะเหรี่ยง รัฐคะฉิ่น ประกาศไม่ยอมรับพร้อมเตรียมความพร้อมของกำลังพลในการรับมือและปกป้องประชาชนที่ประท้วงอย่่างสันติ

นอกจากอุปกรณ์ครัวที่ถูกใช้ตีเคาะส่งเสียงแล้ว สัญลักษณ์ชู 3 นิ้วที่ปรากฎในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในไทยปี 2563 ก็ปรากฎบนมือชาวพม่าทุกคน มีการสวมอุปกรณ์ป้องกันการสลายการชุมนุมเหมือนกับการชุมนุมในฮ่องกง รวมถึงมีกลยุทธ์ใหม่เช่น การแกล้งรถเสียกลางถนนหรือขับช้าลงหลายคันพร้อมกัน การบอยคอตธุรกิจที่กองทัพพม่าเป็นเจ้าของซึ่งครอบคลุมทุกมิติตั้งแต่โทรคมนาคม,สินค้าอุปโภคบริโภค และยังกดดันบริษัทต่างชาติถอนการลงทุนจากบริษัทของกองทัพพม่า อย่างเช่น บริษัทคิริน ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชื่อดังของญี่ปุ่น การประกาศสไตร์คงาน หรือประท้วงเงียบจนเมืองร้างเงียบงัน

Protesters hold up signs during a demonstration against the military coup in Naypyidaw on February 17, 2021. (Photo by STR / AFP)
จอ โม ตุน ทูตพม่าประจำยูเอ็น ผู้ประกาศไม่ยอมรับอำนาจรัฐบาลทหารพม่าและชูสามนิ้วกลางที่ประชุมสมัชชาใหญ่

แม้แต่สหรัฐฯที่ประณามการรัฐประหารในพม่า วันที่ 5 มีนาคม ทำการอายัดบัญชีกองทุนพม่าจำนวนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท ที่ถูกเก็บไว้ในธนาคารกลางสหรัฐฯ

ในบรรดาชาวพม่าที่ร่วมการชุมนุมไม่เพียงมีคนธรรมดา นักศึกษา คนหาเช้ากินค่ำจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ยังมีบรรดาคนดังมีชื่อเสียงในวงการบันเทิงอย่าง ไป๋ ตากน นายแบบชื่อดังจนถึงนางงามพม่า ออกมาร่วมชูสามนิ้วต่อต้านรัฐบาลทหาร

อีกเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่่อนการชุมนุมต้านรัฐประหาร คือ โซเชียลมีเดีย ที่ไม่เพียงเฟซบุ๊ก ที่ชาวพม่าใช้งานส่วนใหญ่ ยังมีทวิตเตอร์และยูทูป ที่ไหล่บ่าไปพร้อมกับแฮชแท็ก #WhatsHappeningInMyanmar ทำให้รัฐบาลทหารต้องตัดอินเตอร์เน็ตเพื่อสกัดการสื่อสารของผู้ชุมนุม

แต่กิตติศัพท์ของพม่าที่เคยใช้กำลังขั้นรุนแรงด้วยอาวุธในการปราบปรามผู้ชุมนุมไม่ว่าในเหตุการณ์ 888 หรือปฏิวัติจีวรแดงในปี 2551 ก็ยังคงมีการใช้เครื่องมือสลายการชุมนุมตั้งแต่ระดับควบคุมฝูงชนย่าง กระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ไปจนถึงอาวุธสงครามอย่างปืนกลเบา,ปืนไรเฟิลจู่โจม และการทำลายอย่างเป็นระบบต่อประชาชน ทั้งการจับกุมซ้อมทรมาน การอุ้มศพประชาชนที่ถูกสังหารไปให้พ้นสายตาในรูปแบบต่างๆ

‘มะ จาล ซิน’ หรือ ‘แองเจิล’ นางฟ้าประชาธิปไตยแห่งมัณฑะเลย์

ผู้เสียชีวิตถูกจดจำในใจชาวพม่า อย่าง มะ มยะ ต้วย ต้วย ไข่ สาวพม่าในการประท้วงที่เนปิดอว์ ‘มะ จาล ซิน’ หรือชื่อเล่น “แองเจิล” นักศึกษาชาวพม่าเชื้อสายจีนวัย 19 ปี จากเมืองมัณฑะเลย์ จนถึงขิน หม่อง ลัต และซอว์ มยัต ลินท์แห่งพรรคเอ็นแอลดี และคนอื่นๆที่ไม่ทราบชื่ออีกมาก

ทำให้ในปี 2564 มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากวิกฤตการเมืองในพม่า ตามข้อมูลสมาคมผู้ช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง หรือเอเอพีพี องค์กรภาคประชาชนในการติดตามนักโทษทางการเมืองในพม่า ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2564 มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1,382 ราย ถูกควบคุมตัว 8,304 ราย ถูกตัดสินจำคุก 438 ราย ถูกตัดสินประหารชีวิต 39 ราย (ใน 39 คน เป็นเด็ก 2 ราย)

การปราบปรามประชาชนไม่เพียงใช้อำนาจในนามกฎหมายภายใต้รัฐบาลทหาร ยังมีปฏิบัติการทางทหารในช่วงที่การประท้วงกลายเป็นการจับอาวุธสู้รัฐบาล ทั้งการส่งกำลังเผาหมู่บ้าน เมืองน้อยใหญ่ในรัฐชาติพันธุ์ ไปจนถึงการจับกุมชาวบ้านที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้านไปสังหารหมู่และทำการเผา อย่างกรณีสังหารหมู่คริสต์มาสอีฟในรัฐคะยาห์จนมีผู้เสียชีวิต 36 ราย

16 เมษายน 2564 นักการเมืองและสมาชิกสภาที่ชนะการเลือกตั้งก่อนถูกรัฐประหาร กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในนามคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเพื่อความเอกภาพแห่งชาติหรือเอ็นยูจี ขึ้นเป็นรัฐบาลคู่ขนานกับสภาบริหารแห่งรัฐ (เอสเอซี) หรือรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าที่มีผู้นำอย่างมิน อ่อง หล่าย โดยเอ็นยูจี มีคณะรัฐบาลที่ประกอบด้วยผู้แทนจากพรรคเอ็นแอลดี และพรรคการเมืองจากรัฐชาติพันธุ์ไม่ว่า มอญ,กะเหรี่ยง,คะฉิ่น,ชินและฉาน

จากนั้นในวันที่ 5 พฤษภาคม รัฐบาลเอ็นยูจีได้ประกาศจัดตั้งกองทัพพิทักษ์ประชาชนหรือพีดีเอฟ เมื่อประชาชนที่ประท้วงอย่างสันติ ตัดสินจับอาวุธและฝึกการรบในพื้นที่รัฐชาติพันธุ์ พร้อมกับประกาศสงครามปฏิวัติประชาชนทั่วประเทศ เพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่า

นับตั้งแต่การจัดตั้งกองกำลังพีดีเอฟ การสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังฝ่ายต่อต้านเป็นไปอย่างดุเดือด มีปฏิบัติการกองโจรจากพีดีเอฟ เข้าโจมตีป้อมตำรวจ เสาสัญญาณสื่อสารและเสาไฟฟ้าของฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า พร้อมกับการรุกรบของกองกำลังชาติพันธุ์ต่อกองทัพพม่าในฐานที่มั่นที่มีอยู่ทั่วประเทศ

ทางฝ่ายกองทัพรัฐบาลทหารพม่าก็ตอบโต้ฝ่ายต่อต้าน ทั้งส่งกำลังพลแนวราบเข้าโจมตีหมู่บ้าน โจมตีกองกำลังในหลายพื้นที่ ซึ่งทำได้เพียงผลัดรุกผลัดถอย ไม่สามารถกุมชัยได้เด็ดขาด แต่กองทัพพม่ามีกำลังรบทางอากาศซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการโจมตีเพื่อเคลียร์พื้นที่ก่อนส่งทหารราบเข้ายึดพื้นที่ สร้างความเสียหายให้กับกองกำลังชาติพันธุ์และพีดีเอฟไม่น้อย

การรบไม่เพียงเกิดขึ้นในแผ่นดินพม่า แต่ยังขยายแนวรบประชิดชายแดนไทยในภาคตะวันตก การรบอย่างหนักหน่วง ทำให้ประชาชนพม่าจำนวนหลายพันคคนหนีการสู้รบข้ามเข้าไทยอย่างสิ้นหวัง ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยเอง ก็มีวิธีการรับมือที่ไม่ชัดเจนพอๆกับความสัมพันธ์อันคลุมเครือเต็มไปด้วยความคลางแคลงใจกับรัฐบาลทหารพม่า

ทำให้ไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดยืนต่อสถานการณ์พม่าทั้งในสื่อไทยและต่างประเทศ ไปจนถึงโซเชียลมีเดีย

ไทย-พม่า : เมื่อผู้นำรัฐบาลไม่ชัดเจน ประเทศเหมือนไร้จุดยืน?

การรัฐประหารในพม่าคราวนี้ สร้างเสียงไม่เห็นด้วยกับหลายประเทศ แม้แต่ไทยโดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ ที่สืบทอดอำนาจจากคสช.ต่างออกมาสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วง แต่ในส่วนรัฐบาล ตลอดหลายปีมานี้ ความน่าเชื่อถือในเวทีต่างประเทศถดถอยลงมาก กระนั้นในระดับภูมิภาคก็มีความสัมพันธ์อันดีทั้งทางการเมืองระดับรัฐบาลและเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวกับกับการลงทุนของบริษัทไทยในพม่าจำนวนมาก สถานการณ์การเมืองอันตึงเครียดครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลไทยวางตัวลำบาก ถ้าไม่เอารัฐประหารก็ต้องเกิดความบาดหมางกับผู้นำรัฐบาลทหาร แต่ถ้ากอดคอฉันมิตรกับพม่า ก็จะพลอยโดนหางเลขเสียงประณามจากประชาคมโลกด้วย

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ วันนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า เดินทางเข้าไทยอย่างเงียบๆ โดยเข้าพบผู้นำไทย ก่อนต่อมาเข้าพบดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศไทย และเรทโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย แม้รายละเอียดการพบกันจะไม่มีการเปิดเผย ก็สามารถตีความถึงความพยายามทางการทูตของอาเซียน แต่ภาพการพบกันของหม่อง ลวิน, ดอน และเรทโน ถูกวิจารณ์อย่างหนักในสื่อโซเชียลของพม่าและรวมถึงชาวไทยที่ติดตามข่าวและสนับสนุนผู้ประท้วงในพม่า

20 มีนาคม ในช่วงที่นานาชาติประณามรัฐบาลทหารพม่าในการใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมจนบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู ได้ออกมาแฉว่า ทางทหารไทยแอบส่งเสบียงให้แก่กองทัพพม่า เป็นข้าวจำนวน 700 กระสอบ ถูกวางไว้ที่ริมฝั่งสบเมย ในช่วงที่ทหารพม่าอีกฝั่งถูกกำลังเคเอ็นยูตัดเส้นทางส่งเสบียง

แม้ทางกองทัพภาคที่ 3 ของไทยได้ออกมาปฏิเสธข่าวนี้ แต่ก็ถือเป็นเรื่องฉาวของไทยในประเด็นระหว่างประเทศที่สะท้อนจุดยืนว่า รัฐบาลไทยสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าอย่างลับๆ

ภาวะลำบากเช่นนี้ ทำให้ในตอนนั้น ประยุทธ์ กล่าวกับสื่อเมื่อเดือนเมษายนว่า สลับซ้บซ้อนและอยากให้เหตุการณ์สงบโดยเร็ว พร้อมกับเสนอให้ ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ร่วมประชุมอาเซียนวาระพิเศษที่กรุงจาร์กาตาร์ของอินโดนีเซียเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า จนเกิดข้อเสนอ 5 ข้อ เพื่อให้สถานการณ์พม่าคลี่คลายและพาประเทศกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม มิน อ่อง หล่าย กลับเมินข้อเสนอ 5 ข้อและยิ่งใช้กำลังปราบปรามหนักขึ้นไปอีก

สถานการณ์การเมืองในพม่าค่อยๆกลายเป็นสงครามกลางเมือง การสู้รบขยายตัวไปถึงรัฐกะเหรี่ยงที่กองกำลังเคเอ็นยูตั้งมั่นอยู่พร้อมกับกำลังของกองทัพพิทักษ์ประชาชน จนทำให้ในช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคม เกิดคลื่นผู้อพยพหนีตายจากสงครามกลางเมืองเข้าไทยโดยเฉพาะแม่สอด

ด้วยสถานะกฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องผู้ลี้ภัยนั้น ไทยไม่ได้ลงสัตยาบันกฎหมายระหว่างประเทศใดๆเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นเรื่องวิธีคิดเกี่ยวกับความมั่นคงแบบยุคสงครามเย็นที่มีอิทธิพลต่อนโยบายระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาไทยต้องกลายเป็นผู้ลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย แต่ก็ยังมีช่องว่างทางกฎหมายบวกกับแรงกดดันจากต่างประเทศ ทำให้ไทยรับผู้อพยพไว้ชั่วคราวแล้วค่อยผลักดันหรือส่งตัวกลับประเทศในโอกาสที่เหมาะสม

ล่่าสุด มีชาวพม่าอพยพเข้าไทยจากการหนีภัยสงครามแล้วเกือบ 4,000 คน และการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้าน ได้มีกระสุนและลูกจรวดลอยเข้ามายังไทย สร้างความเสียหายกับบ้านเรือนและความขวัญเสียให้กับประชาชนฝั่งไทย จนกองกำลังนเรศวรออกมาประท้วง และประกาศพร้อมตอบโต้หากมีกระสุนหรือจรวจถูกยิงข้ามเข้าฝั่งไทย

ทั้งนี้ ประยุทธ์ กล่าวกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ว่า รัฐบาลไทยจะยึดหลักการแก้ไขปัญหาสถานการณ์เมียนมาตามแนวทางที่อาเซียนได้ตกลงไว้ และได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมและกองทัพช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม

สถานการณ์การเมืองในพม่าที่กำลังกลายเป็นสงครามกลางเมือง ในปี 2565 นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อและความสูญเสียจะมีมากขึ้นเรื่อยๆและจะกลายเป็นประเด็นร้อนในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นโดยเฉพาะการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและรัสเซียที่มีจุดยืนต่างกัน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องในพม่าที่ขอให้มีการแทรกแซงจากภายนอกเพื่อยุติความรุนแรงที่กำลังรุนแรงโหดเหี้ยมยิ่งกว่าการกวาดล้างชาวโรฮิงญาหลายเท่า