สถานการณ์การเมือง 2565 มีเมฆ แต่ไม่มีฝน/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

สถานการณ์การเมือง 2565

มีเมฆ แต่ไม่มีฝน

 

ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์ทางการเมือง

ซึ่งได้ให้ความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองในปีหน้า 2565 ที่มองว่าคล้ายจะมีการเปลี่ยน

แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร

เพราะ…

 

1.ไม่มีผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ในปัจจุบันสภาพการต่อสู้ทางการเมืองของไทยไม่มีผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีศักยภาพ อยู่ในระดับการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงใหญ่ จะมีก็เพียงแต่หัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งจะนำพรรคตัวเองมาแข่งขันในการเลือกตั้งเท่านั้น

ผู้นำระดับหัวหน้าพรรคในการเลือกตั้งถือว่าเป็นแคนดิเดตนายกฯ ตามระบบเลือกตั้งจึงเป็นเพียงผู้นำเล็กๆ ที่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิวัติให้เป็นประชาธิปไตย เพราะการเลือกตั้งใหม่ก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ในระดับโครงสร้างที่เป็นระบบหรือวิธีการปกครอง แต่เป็นการเปลี่ยนคนเข้ามาเป็นรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งถ้าตามรัฐธรรมนูญ 2560 นี้อาจจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็ได้

2. อำนาจทางการบริหารในปัจจุบันของรัฐบาล ดูจากผลงานการบริหารประเทศ แม้คนส่วนใหญ่ไม่พอใจ แต่นี่เป็นรัฐบาลที่ด้านทนต่อเสียงด่าทั้งในและนอกสภา ดังนั้น พวกเขาจะดื้อด้านอยู่ต่อไป ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะถ้าแพ้ อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนเกมการเมือง หรือเปลี่ยนรัฐบาล โดยหลักการแล้วต้องทำช้าที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งพวกเขามีสิทธิ์อยู่ไปจนถึงปี 2566

สิ่งที่จะเป็นจุดอ่อนจนล้มฝ่ายรัฐบาลได้ คือการแตกแยกภายใน โดยเฉพาะที่เกิดจากพรรคพลังประชารัฐ แต่ถ้าประเมินจากสถานการณ์ล่าสุด พวกเขาจะยุติความขัดแย้งกันชั่วคราวเพื่อแบ่งผลประโยชน์ให้นานที่สุดแล้วค่อยมาฟัดกันตอนเลือกตั้งในอีก 1 ปีข้างหน้า

 

3.อำนาจนิติบัญญัติ

ถ้าดูจากสภาพปัจจุบัน สภาทั้งสองยังคงทำหน้าที่อยู่ อาจมีสภาล่มบ่อยครั้งขึ้น แต่ฝ่ายรัฐบาลมีมากกว่าพอที่จะรักษาอำนาจได้ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของพรรคฝ่ายรัฐบาล จึงจำเป็นจะต้องลากต่อไป เพราะถ้าเกิดการยุบสภา ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่แน่ว่าจะได้รับเลือกกลับเข้ามาใหม่ พวกเขาจึงอยากอยู่จนครบวาระปี 2566

ส่วนวุฒิสภา มี ส.ว.ที่จะมาจากการแต่งตั้ง 250 คนยังทำหน้าที่ยกมือให้รัฐบาลเหมือนเดิม พวกเขาไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีอำนาจเต็มไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567

4. อำนาจตุลาการในที่นี้หมายถึงระบบยุติธรรมทั้งระบบ ที่น่าจับตาดูคือศาล, องค์กรอิสระ และตำรวจ

การตัดสินของฝ่ายตุลาการ ทั้งศาลและองค์กรอิสระ ตามกฎหมาย กลับกลายเป็นแรงกดดันต่อฝ่ายค้าน และคนที่ต่อต้านรัฐบาล ให้โดนยุบพรรค ที่หนักถึงขั้นหลุดตำแหน่ง หรือต้องติดคุก

ตำรวจกลายเป็นผู้ออกหน้าอย่างเต็มตัวในการจับกุมผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้านรัฐบาล

5. อำนาจนอกระบบ มีความเป็นไปได้ว่า ปี 2565 จะมีการขยายกำลังเข้ามาทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และทางทหาร

 

6.กำลังมวลชน ที่เป็นฐานการเมือง จะเคลื่อนย้ายและแบ่งอย่างชัดเจนเมื่อมีการเลือกตั้งจะแบ่งไปหนุนแต่ละพรรคการเมือง เช่น ก้าวไกล เพื่อไทย ปชป. พลังประชารัฐ แต่ในขณะที่ไม่มีเลือกตั้งที่ปรากฏคือการต่อต้านรัฐบาล ที่เห็นชัดเจนคือกลุ่มนักเรียน นักศึกษา

ที่เป็นแรงกดดันรัฐบาลมาตลอดปี 2563-2564 คือกลุ่มนี้ แม้ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ แต่ก็เปิดโปงและสร้างแรงต้านได้บ้าง ถ้าวันใดที่รัฐบาลพลาดเรื่องสำคัญ กลุ่มนี้อาจขยายผลให้ลุกลามได้ สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้คือการใช้กฎหมาย และการจับกุม คุมขัง ซึ่งยิ่งทำให้ความขัดแย้งขยายตัว เยาวชนที่มีความคิดต่อต้านจึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งยังไม่มากพอที่จะกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงแม้แต่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ

7. ปฏิกิริยาจากสื่อ สื่อสารมวลชนที่ดำเนินการเป็นธุรกิจอยู่ต่างได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ สื่อบางด้านต้องปิดตัวเองลงไปผลกระทบนี้มีตั้งแต่สื่อสิ่งพิมพ์สื่อโทรทัศน์ ทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องไม่มีข้อยกเว้น แต่ดูจากการเสนอความจริงก็ยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ไม่มีใครกล้าตีแสกหน้าอย่างที่คุยกัน ทำได้เต็มที่แค่ขุดคุ้ยเรื่องที่มีความผิดชัดเจนออกมาตีแผ่

แต่ในโลก social media มีความรุนแรงกว่าหลายเท่า ทั้งกระจายกว้างไปเรื่อยๆ แต่คนที่อ่านข้อมูล และรู้การเมือง จากทุกสื่อ มีจำนวนน้อยที่กล้าออกมาต่อต้านบนท้องถนน

8. แรงกดดันจากต่างประเทศทางด้านอเมริกาและยุโรปเป็นแรงกดที่มีลักษณะบีบคั้นทางการเมือง เพื่อให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่วันนี้รัฐบาลก็อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง และถ้าติดขัดอะไรก็หันไปหาประเทศจีน

จีนจึงกลายเป็นที่พึ่งของรัฐบาลในทุกด้าน ต่างฝ่ายก็ได้รับผลตอบแทนในทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์อย่างอื่น จึงไม่แปลกที่รัฐบาลชั่วคราวจะมีโครงการค้าขาย ลงทุนร่วมกับจีนมากมาย

 

9.พรรคการเมือง

ยังใช้ยุทธศาสตร์เดิม

ยังสนใจแค่การเลือกตั้ง อยากแก้รัฐธรรมนูญก็เคลื่อนไหวผ่านสภา จึงกล่าวได้ว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่จะมาจากพรรคการเมืองในขณะนี้

พรรคประชาธิปัตย์คงไม่มีการเปลี่ยนกลุ่มผู้นำเพื่อแข่งเป็นนายกฯ คงหวังแค่เพื่อร่วมรัฐบาล

พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนผู้นำตามกฎหมายไปแล้ว แต่จะเอาใครไปแข่งเป็นนายกฯ ถ้าทำเพื่อสู้ในการเลือกตั้ง ก็จะได้เป็นฝ่ายค้านเหมือนเดิม

พรรคก้าวไกลต้องตั้งพรรคสำรองไว้แก้เกมถูกยุบพรรค

การเกิดพรรคการเมืองใหม่ คงไม่มีพรรคที่ตั้งขึ้นมา แล้วไปรอด (มี ส.ส มากกว่า 10 คน) แต่ถ้าทำได้ก็คงหวังแค่ร่วมรัฐบาลเท่านั้น

อย่าประมาทความเข้มแข็งของพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐถือกำเนิดมาระยะเวลาที่สั้นมาก เรียกได้ว่ามีอายุแค่ 3 ปีกว่า สภาพความมั่นคงแข็งแรงของพรรคจากการเลือกตั้งครั้งแรก ทั้งๆ ที่เป็นพรรคใหม่ซึ่งไม่เคยมีฐานเสียงเลย การทำคะแนนได้สูงที่สุด 8.4 ล้าน ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งต่อไป จะยังเป็นฝ่ายได้เปรียบ

ฐานอำนาจ คสช.ที่เป็นรัฐบาลชั่วคราว ( 5 ปี)+รัฐบาลเลือกตั้ง 3 ปี ทำให้กุมกลไกอำนาจรัฐซึ่งสนองนโยบายต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว สามารถกระจายงบประมาณจำนวนมากตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สร้างโครงการลด แลก แจก แถมช่วยคนจน ได้หลายครั้ง

เช่น โครงการบัตรสวัสดิการของรัฐ ล่าสุดปี 2564 มีผู้ถือบัตรสวัสดิการอยู่แล้วที่ 13.6 ล้านคน จะมีการจัดระเบียบใหม่ โดยคาดว่าปีใหม่ 2565 จะมีผู้ลงทะเบียนเพิ่มเป็นประมาณ 15 ล้านคน

นี่คือสิ่งที่ พปชร.ถือเป็นฐานความนิยม ยิ่งอยู่นาน พปชร.จะจัดการระบบการจัดตั้งคะแนนเสียงในท้องถิ่นได้อย่างเป็นระบบและไม่มีปัญหาใดๆ มีความเป็นไปได้ว่า จะสามารถชนะได้คะแนนอยู่ในระดับ 140 กว่าเสียงในสมัยหน้าอีกครั้ง

สุดท้ายเขาให้ดูการเลือกตั้งซ่อม และการเลือกผู้ว่าฯ กทม. ถ้า พปชร.แพ้เยอะ การเลือกตั้งใหญ่จะถูกยืดไปถึงปี 2566 แน่นอน ปีใหม่นี้ก้อนเมฆที่เห็น ยังไม่หนาแน่นพอที่จะเปลี่ยนเป็นน้ำฝน