รู้หรือไม่? ปรากฏการณ์ “เสื้อผ้ามือ 2” เป็นที่นิยมทั่วโลก

ขึ้นชื่อว่า “สินค้ามือสอง” โดยเฉพาะตลาดเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว หลายคนอาจคิดว่ามีแค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ชื่นชอบและบริโภคของใช้มือสอง แต่หารู้ไม่ว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ก็นิยมด้วยเช่นเดียวกัน

เว็บไซต์ kijiji เปิดเผยการสำรวจเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจมือสอง” (Second-Hand Economy) ในตลาดแคนาดา โดยประมวลผลพฤติกรรมการซื้อขายสินค้ามือสอง ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต รายงานระบุว่า ปัจจุบันชาวแคนาดามีการซื้อขายสินค้ามือสองนับเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละกว่า 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 15% ของปริมาณการซื้อขายสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นใหม่

นอกจากนี้ กลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ก็น่าจับตามองไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อังกฤษ” ที่นับว่าเป็นประเทศที่มีมูลค่าการซื้อขายสินค้ามือสองมากที่สุดในกลุ่มอียู

ขณะที่ “อิตาลี” รายงานชี้ว่าตัวเลขมูลค่าตลาดมีขนาดประมาณ 1% ของจีดีพี หรือราว 18,000 ล้านยูโร

ส่วน “ไอร์แลนด์” พบว่าในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสินค้ามือสองออนไลน์บางแห่งเติบโตขึ้นมากกว่า 215%

แม้แต่ “สิงคโปร์” ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่ประชากรมีรายได้สูงและค่าครองชีพแพงที่สุดแห่งหนึ่ง ก็กำลังตื่นตัวกับเรื่องนี้ ทั้งยังมีสถิติที่น่าสนใจ เกี่ยวกับคนสิงคโปร์ระบุว่า กว่า 76% คนสิงคโปร์มักเลือกที่จะขายสิ่งของที่ตนเองไม่ใช้แล้วแทนที่จะนำไปทิ้งหรือบริจาคออกไป โดยเฉลี่ยจะขายที่สภาพและราคาที่ประมาณ 70% ของราคาซื้อ

ส่วนรูปแบบของการขายที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ ขายผ่านระบบออนไลน์ ในเว็บไซต์ประเภทคลาสสิฟายด์

โดยสินค้าที่นิยมซื้อขายกันมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มเสื้อผ้าและแฟชั่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ความบันเทิงต่างๆ เช่น หนังสือ เครื่องใช้และของเล่นสำหรับเด็ก รวมถึงกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เป็นต้น

แต่สำหรับเสื้อผ้าที่เสียหายหรือขาดหลุดลุ่ยจนไม่สามารถใส่ได้ คุณคิดว่าเสื้อผ้าเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน?

คําตอบก็คือ เสื้อผ้ากองโตเหล่านั้นจะถูกนำไปต่อยัง “ประเทศอินเดีย”

“ปานีปัต” (Panipat) เมืองทางตอนเหนือของอินเดีย และได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งเสื้อผ้ามือสอง” ในทุกๆ ปีจะมีผู้ซื้อและขายเสื้อผ้ามือสองราวๆ พันล้านชิ้นเกิดขึ้นที่นี่ โดยเสื้อผ้ากองโตเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกลำเลียงมาจากสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศที่เราไม่เคยคาดคิด

รายงานของบีบีซี ระบุว่า บริเวณนอกเมืองปานีปัตจะเห็นแถวยาวของรถบรรทุกที่เดินทางมาจากเมืองท่า “กันดลา” (Kandla) ทางตะวันตกของอินเดีย จุดที่เรือนำตู้บรรทุกสินค้าที่อัดเต็มไปด้วยเสื้อผ้าและสิ่งทอจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามายังตลาดการค้าเสื้อผ้ามือสอง ซึ่งนักธุรกิจชาวอินเดียเรียกมันว่า “แหล่งทำลายเสื้อผ้า”

ใครจะคิดว่าปัจจุบันอินเดียถือเป็นประเทศผู้นำเข้าเสื้อผ้าใช้แล้วอันดับหนึ่งของโลก แซงหน้าหลายประเทศอย่างรัสเซียและปากีสถาน และธุรกิจเสื้อผ้ามือสอง ถือกำเนิดขึ้นมานาน ทั้งยังสร้างงานให้คนท้องถิ่นไม่น้อย

ตามหลักกฎหมายของอินเดีย ได้กำหนดการนำเข้าเสื้อผ้าใช้แล้วออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ และเสื้อผ้าที่สวมใส่ไม่ได้ และเพื่อเป็นการปกป้องผู้ผลิตสิ่งทอในประเทศ ผู้นำเข้าเสื้อผ้าที่ใช้แล้วและสามารถสวมใส่ได้ จำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากรัฐบาล

โดยรัฐบาลจะออกใบอนุญาตให้หลังจากได้รับการยืนยันว่าจะไม่นำมาขายในประเทศ แต่จะทำการส่งออกไปยังประเทศอื่นต่อ

แต่ธุรกิจที่น่าสนใจมากกว่าคือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในอินเดียกลับนิยมที่จะนำเข้าเสื้อผ้าที่ขาดหลุดรุ่ยใช้งานไม่ได้เข้ามามากกว่า ด้วยเหตุผลหลักก็คือ ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตใดๆ จากรัฐบาล

ส่วนเสื้อผ้าที่ขาดวิ่นจนไม่สามารถสวมใส่ได้แล้ว พวกเขาจะนำไปรีไซเคิลด้วยการนำไปผลิตเป็น “เส้นใยด้าย” แต่ก่อนหน้าที่จะนำเสื้อผ้ากองโตไปแปลงโฉมใหม่ คนงานอินเดียจะฉีกเสื้อผ้าเป็นชิ้นๆ แล้วแยกตามสีของผ้า โดยจะนำทั้งซิป กระดุม หรือแม้แต่ป้ายยี่ห้อต่างๆ ออกมาก่อน แล้วนำไปเร่ขายตามโรงงานผลิตสิ่งทอต่างๆ ในราคาที่ถูก

ตัวอย่างเช่น “ชันการ์ วูลเลน มิลส์” โรงงานรีไซเคิลเสื้อผ้ามือสองในเมืองปานีปัต โดย นายอัชวินี กุมาร (Ashwini Kumar) ผู้บริหารโรงงาน เล่าว่า “โรงงานแห่งนี้จะมีเสื้อผ้ามากมายตั้งแต่แจ๊กเก็ต กระโปรง เสื้อคาร์ดิแกน เครื่องแบบนักเรียน และมีให้เลือกไม่ว่าจะเป็นแบรนด์หรูหรือแบรนด์ท้องถิ่น และได้ส่งออกไปยังหลายประเทศในเอเชียในปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย”

“ส่วนกองเสื้อผ้าที่ขาดรุ่ยจนนั้นจะนำมารีไซเคิลเป็นเส้นด้ายที่สวยงาม โดยเสื้อผ้าเก่าราว 3 ตัน สามารถผลิตเป็นเส้นใยผ้าได้ถึง 1.5 ตันทีเดียว อย่างไรก็ตาม เส้นด้ายเหล่านั้นอาจจะมีคุณภาพที่ต่ำ แต่ว่าก็ยังสามารถส่งออกขายทั้งตลาดในประเทศและนอกประเทศได้ โดยส่วนใหญ่จะนำมาใช้กับจำพวกผ้านวมหรือผ้าห่มที่ขายถูกๆ ตามท้องถนน หรือบางทีเส้นใยผ้าเหล่านี้จะถูกส่งไปยังโรงงานผลิตสิ่งทออีกครั้ง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย เช่น สึนามิและแผ่นดินไหว เป็นต้น”

ทั้งนี้ “แอฟริกา” กลายเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ผลิตจากเส้นใยเสื้อผ้ามือสองเหล่านี้ รองลงมาก็คือ ตลาดอินเดีย และปากีสถาน แม้ว่าตลาดจะมีขนาดที่เล็กกว่าแอฟริกาอยู่มาก แต่ว่าใครจะรู้ว่าเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้ไม่น้อยเลย