‘สุชาติ ชมกลิ่น’ รมว.แรงงาน เปิดกระบวนการดูแลเยียวยาโควิด

เป็นอีก 1 กระทรวงสำคัญที่เป็นกลไกของรัฐบาลขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับกระทรวงแรงงาน ที่รับหน้าที่ดูแลกระบวนการขั้นตอนการเยียวยาประชาชนในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพื่อตอบสนองความคาดหวังที่มีอยู่สูง

ดังเช่นที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องการดูแลจุดตรวจคัดกรองโควิด สถานที่ฉีดวัคซีน และการดูแลแคมป์คนงานที่ถูกสั่งปิด

จนมาถึงการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งล็อกดาวน์ และปิดกิจการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนฉับพลัน

และแน่นอนว่าเบื้องหลังของภารกิจ มีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นคีย์แมนสำคัญผลักดันแนวนโยบาย และคำสั่งต่างๆ ให้มีผลออกมาเป็นรูปธรรม

ล่าสุด นายสุชาติ ให้สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับมาตรการและขั้นตอนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดเพื่อทำความเข้าใจขั้นตอนเงื่อนไขการช่วยเหลืออย่างชัดเจน โดยให้ยึดคำสั่งของ ศบค. ในการสั่งปิดกิจการต่างๆ เป็นหลัก ซึ่งสามารถแบ่งพื้นที่คือ 10 จังหวัด ที่ล็อกดาวน์ก่อน ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา และเพิ่มเติมอีก 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา

โดยการเยียวยา แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ครอบคลุม 9 กิจการ คือการเยียวยาของประกันสังคม ของผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จะได้รับการชดเชยรายได้ครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน ซึ่งทยอยจ่ายกันไปเรียบร้อย

ส่วนมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมจากรัฐ ที่ใช้เงินกู้ ก็คือการเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 33 อีก 1 เดือน เดือนละ 2,500 บาท ซึ่งจะมีผู้ประกันตนส่วนนี้ประมาณ 2.8 ล้านคน

รวมทั้งเจ้าของกิจการ 1.6 แสนราย ที่จะได้รับการช่วยเหลือสำหรับลูกจ้างอีกหัวละ 3 พันบาท แต่ไม่เกิน 200 คน โดยเริ่มโอนไปแล้วระหว่างวันที่ 4-6 ส.ค.

ส่วนใน 3 จังหวัดที่ถูกล็อกดาวน์ถัดมาจะโอนผ่านพร้อมเพย์ให้ในวันที่ 9 ส.ค.

เงินจำนวนนี้เบิกจ่ายไว้เรียบร้อย โอนได้ทันที ทุกคนได้ตามสิทธิ์ ไม่มีตกหล่น เพียงอย่างเดียวที่ต้องมีคือบัญชีพร้อมเพย์ ทั้งของลูกจ้าง และเจ้าของกิจการ

อีกส่วน ก็คือการเยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 หัวละ 5,000 บาท ที่ล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนในมาตรา 40 แล้ว 3.1 ล้านคน หลังจากตรวจสอบสิทธิ์ ให้ชัดเจนว่าเป็นผู้ประกันตนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจริง ก็จะนำยอดทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในวันที่ 10 ส.ค. และโอนเงินได้ในวันที่ 24 ส.ค. ก็จะจบกระบวนการเยียวยารอบ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ศบค. มีคำสั่งล็อกดาวน์เพิ่มอีก 16 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง รวมทั้งขยายเวลาควบคุม การเยียวยาก็ต้องเพิ่มขึ้นตาม

ซึ่งนายสุชาติ ระบุว่า หลังจากโอนเงินเยียวยา ล็อต 13 จังหวัดหมด กระทรวงแรงงานจะเร่งทำข้อมูลของทั้ง 29 จังหวัดไปพร้อมๆ กัน ซึ่งอาจมีขั้นตอนพิเศษอยู่บ้าง คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ 16 จังหวัดที่ประกอบอาชีพอิสระ แต่ยังไม่ได้ลงทะเบียนผู้ประกันตน มาตรา 40 ได้มีช่วงเวลาดำเนินการ

เมื่อเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน ก็จะเร่งเสนอข้อมูลทั้งหมด ประสานกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อทำเรื่องเบิกงบประมาณในส่วนของเงินกู้เยียวยาปัญหาโควิด เพื่อกำหนดเวลาโอนเงินช่วยเหลือประชาชนต่อไปอย่างรวดเร็วที่สุด

ไม่เพียงแค่นั้นในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ยังได้หารือถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระที่อายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่สามารถลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้เพราะอายุเกิน โดยเฉพาะในอาชีพแท็กซี่รับจ้าง ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม แสดงความเป็นห่วงมาก จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปบูรณาการกับสภาพัฒน์ฯ เพื่อจะได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาทนี้ด้วย ทั้งนี้ในการตรวจสอบไม่ใช่เรื่องยากเพราะมีทั้งใบขับขี่สาธารณะและทะเบียนผู้ขับรถสาธารณะอยู่แล้ว สามารถนำข้อมูลมาบูรณาการได้เลย

“สรุปได้ว่าสำหรับประชาชนใน 13 จังหวัด 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบ จะได้รับเงินเยียวยา 2 เดือน คือในรอบ ส.ค. นี้เป็นรอบแรก และในรอบ ก.ย. เป็นรอบถัดไป ส่วนในอีก 16 จังหวัด จะได้รับเยียวยา 1 เดือน และจะจ่ายพร้อมกันทั้ง 29 จังหวัด ซึ่งจะดูแลครอบคลุมทั้งหมด ทั้งผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน”

ส่วนที่จำเป็นต้องเลือกเยียวยา 9 กิจการนั้น รมว.แรงงาน ระบุว่า เป็นเพราะงบประมาณเรามีอยู่จำกัด ในแต่ละประเทศที่เยียวยาแบบหว่านแห ก็เพราะเขาไม่มีข้อมูล แต่นี่เรามีข้อมูลทั้งหมด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เงินที่มีให้ได้ประโยชน์สูงสุด ถึงมือผู้เดือดร้อนที่แท้จริง และไม่ต้องกังวล หากมีคำสั่งขยายเวลาล็อกดาวน์ รัฐบาล และกระทรวงแรงงาน ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือดูแลประชาชนอย่างเต็มที่

เหมือนที่ผ่านมาที่เราดูแลเรื่องแคมป์คนงาน เมื่อมีคำสั่งปิดแคมป์ ก็ดูแลทั้งการเยียวยา ส่งข้าวส่งน้ำ เราส่งข้าวถึง 1.25 ล้านกล่อง ตลอดโครงการ ไม่เพียงช่วยเหลือแรงงานในแคมป์ แต่ยังช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย สมาคมภัตตาคารให้ได้มีรายได้ในช่วงที่ยากลำบาก พร้อมกับเร่งการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดในแคมป์คนงานให้ได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราทำได้แล้วเกินครึ่ง ตรวจคุณภาพชีวิต ทั้งระบบสุขอนามัยในแคมป์คนงานจำนวน 588 แคมป์ ซึ่งผ่านมาตรฐานคุณภาพแล้ว 482 แคมป์

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะพยายามมากเพียงใด นายสุชาติระบุว่า คงต้องยอมรับว่าปัญหาโควิดเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ที่ต้องบูรณาการทุกหน่วยงาน ร่วมมือร่วมใจกันฝ่าฝันวิกฤตนี้ไปให้ได้ ซึ่งในที่สุดแล้วก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคนตามที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานตั้งใจไว้นั่นเอง