บทเรียนจากอิสราเอล ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน / บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

บทเรียนจากอิสราเอล

ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน

 

เวลานี้ “อิสราเอล” เป็นชาติผู้นำของโลกในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน ล่าสุดมีประชากรอิสราเอลคิดเป็นสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส และรับไปแล้วอย่างน้อย 1 โดส มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ แม้แต่สหรัฐอเมริกายังคงดำเนินการได้ช้ากว่าด้วยตัวเลขสัดส่วนที่ 12 เปอร์เซ็นต์ และ 21 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ขณะที่ไทยมีผู้ฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 โดสแล้วนับจนถึงวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมาเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ และฉีดอย่างน้อย 1 โดส มีสัดส่วน 0.8 ของจำนวนประชากร

โดยมีการคาดการณ์กันว่า หากไทยยังคงฉีดวัคซีนด้วยอัตราความเร็วเท่านี้ ประชาชนไทยจะได้รับวัคซีนครบทุกคนอาจต้องรอกันนานกว่า 30 ปีก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ทุกๆ ประเทศต่างมีลักษณะเฉพาะด้านภูมิศาสตร์ ประชากร ระบบสาธารณสุข ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่ส่งผลต่อการขนส่งและแจกจ่ายวัคซีน

สำหรับอิสราเอลแล้วเป็นประเทศขนาดเล็กมีประชากรราว 9.2 ล้านคน มีขนาดพื้นที่พอๆ กันกับจังหวัดนครราชสีมาที่ 22,145 ตร.ก.ม. สัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีคิดเป็นสัดส่วน 12 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด เท่ากันกับประเทศไทย แต่ยังน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาที่ 16 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงญี่ปุ่นที่ 28 เปอร์เซ็นต์

อิสราเอลเริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนเมื่อเดือนธันวาคมปี 2020 เวลานั้นอิสราเอลได้เปรียบในเรื่องของสภาพอากาศที่ไม่หนาวจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม อิสราเอลก็เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นระลอกที่ 3 พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกถึง 6 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บางพื้นที่พบสูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์

โดยอิสราเอลเองก็มีปัญหาเช่นเดียวกับหลายๆ พื้นที่ในโลก คือมีประชากรกลุ่มน้อยที่อาศัยในชุมชนแออัดจำนวนมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลและหลักการทางวิทยาศาสตร์ ละเมิดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และได้รับวัคซีนช้ากว่าคนกลุ่มอื่นๆ

คำถามก็คือนอกเหนือจากข้อได้เปรียบเรื่องจำนวนประชากร ภูมิศาสตร์แล้ว อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้อิสราเอลก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจนสามารถประกาศได้ว่า “เอาชนะโควิด-19 ได้แล้ว”

และล่าสุดก็ได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการการสวมใส่หน้ากากในที่สาธารณะที่เป็นสถานที่เปิดแล้วเป็นครั้งแรก

 

ตัวแปรสำคัญที่ถูกมองว่านำไปสู่ความสำเร็จมีหลายเรื่องด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือการการเข้าถึงแหล่งผลิตวัคซีนได้อย่างมั่นคง

วัฒนธรรมการเตรียมพร้อมและการซักซ้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งรวมถึงการมีผู้ให้บริการสาธารณสุขระดับชุมชนที่ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี

การมีระบบประวัติสาธารณสุขดิจิตอลที่นอกจากจะสามารถตามหากลุ่มเสี่ยงและติดต่อกับคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร้รอยต่อ และแน่นอนว่าแม้มุมมองคนนอกจะมองว่ายอดเยี่ยม แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกใดๆ สำหรับชาวอิสราเอล

นับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม รัฐบาลอิสราเอลออกประกาศชัดเจนให้มีการฉีดวัคซีนให้กับคนกลุ่มแรกไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ ผู้พักอาศัยในบ้านพักคนชรา และผู้มีอาการป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง มีการแบ่งหน้าที่ในการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มต่างๆ อย่างจัดเจน ทำให้ไม่เกิดความสับสนจากประชาชน ลดปัญหาคอขวด หรือการแย่งกันลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์อย่างที่หลายๆ ประเทศต้องเผชิญ

ระบบข้อมูลออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพก็ช่วยให้การฉีดวัคซีนดำเนินไปอย่างราบรื่น เช่น การนำแพลตฟอร์มลงทะเบียนการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กมาปรับใช้สำหรับโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 และนำมาใช้ในการเฝ้าระวังผลข้างเคียง รวมถึงการทำวิจัยประสิทธิภาพวัคซีนจากกลุ่มประชากรได้อีกด้วย

อีกตัวแปรความสำเร็จก็คือการให้ความสำคัญกับการวางแผนจากส่วนกลางและกรอบการตอบสนองกับการแพร่ระบาด โดยอิสราเอลมีหน่วยงานกลางในการรับผิดชอบเรื่องนโยบาย การขนส่ง ขณะที่หน่วยงานปกครองท้องถิ่นจะถูกจำกัดบทบาทลง ลดความสับสนที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในการเข้ารับวัคซีน

ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึง ก็คืออิสราเอลสามารถจัดสรรงบประมาณฉุกเฉินจากภาครัฐสำหรับการจัดหาและแจกจ่ายวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังสามารถทำข้อตกลงกับผู้ผลิตวัคซีนอย่าง “ไฟเซอร์” เพื่อสั่งซื้อวัคซีนจำนวนมากได้เพียงพอต่อจำนวนประชากรของประเทศได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

 

บทเรียนเหล่านี้จากประเทศอิสราเอล ถูกนำไปใช้กับหลายๆ ประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา, แคนาดา และอังกฤษ ที่จะนำกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินการฉีดและติดตามผลวัคซีนให้กับประชาชนไปปรับใช้ต่อไป

นอกจากอิสราเอลจะเดินนำหน้าทุกประเทศในแง่ของการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมแล้ว อิสราเอลยังเตือนถึงความท้าทายที่จะรออยู่หลังจากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนจนสามารถควบคุมโรคไว้แล้วด้วย

ไม่ว่าจะเป็นอัตราการฉีควัคซีนสำหรับกลุ่มประชากรบางกลุ่มที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เช่น กลุ่มชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับ รวมไปถึงกลุ่มยิวเคร่งศาสนา ที่มีสัดส่วนประชากรฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มอยู่ที่ไม่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับชาวอิสราเอลกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ในสัดส่วน 89 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากคนกลุ่มนี้มีระดับความเชื่อมั่นรัฐบาลน้อย และการแพร่กระจายข่าวสารผิดๆ จากกลุ่มต่อต้านวัคซีน

เช่นเดียวกับกลุ่มเคร่งศาสนาที่เกิดข่าวลือว่าวัคซีนอาจส่งผลกับการเจริญพันธุ์ ซึ่งภารรัฐก็ต้องเร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนในช่องทางต่างๆ รวมไปถึงดึงบุคคลที่เป็นผู้นำทางความคิดของกลุ่มคนเหล่านี้มาสร้างความรู้ที่ถูกต้องด้วย

ความสำเร็จและความท้าทายที่รออยู่ถูกบอกเล่าผ่านความสำเร็จของประเทศอิสราเอล และแน่นอนว่า จะสามารถเป็นบทเรียนที่ดีให้กับประเทศอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่ได้สนใจเขตแดน เชื้อชาติ หรือศาสนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ที่ภาครัฐควรจะมองอิสราเอลเป็นตัวอย่างเพื่อนำไปสู่การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ครอบคลุมอย่างเร็วที่สุด

และนั่นคือเส้นทางไปสู่การเกิดภาวะ “ภูมิคุ้มกันหมู่” ที่เป็นทางรอดเดียวของการกลับสู่ภาวะปกติในเวลานี้