‘พล.อ.ประวิตร’ ย้ำภารกิจดูแลกลุ่มเปราะบาง พัฒนาทักษะ-อาชีพ

เป็นการกิจสำคัญของรัฐที่จะต้องดูแลประชาชนในทุกมิติ โดยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตก็เป็นเรื่องสำคัญ

ดังที่ปรากฏออกมาเป็นโครงการต่างๆ ของ รัฐบาล ทั้งในเรื่องแก้ไขปัญหาที่ทำกิน การจัดการหนีนอกระบบ การบริหารจัดการภัยแล้ง แก้แล้งแก้น้ำท่วม ตลอดจนเรื่องฝุ่นควันอากาศ ที่แสดง ให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด

การช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาช่วยเหลือเพื่อเพิ่มต้นทุนการทำมาหากิน รวมทั้งการประคับประคองให้ผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างกรณีโควิดระบาดไปได้อย่างนี้ นอกจากบุคคลธรรมดาแล้วยังมีอีก ๆ กลุ่มที่ต้องดูแลช่วยเหลือ

นั่นก็คือ “กลุ่มเปราะบาง” หรือกลุ่มคนที่ ขาดโอกาสในสังคม ซึ่งอาจจะจำกัดความได้กว้างๆ ว่าเป็นกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ เพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลที่ดีเพียงพอตามหลักคิดที่ว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผันจากแนวคิดมาสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง!

การพัฒนาของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแม้ในด้านบวกจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นตัวเลขจีดีพีออกมาเป็นที่น่าพอใจ

แต่ก็ต้องยอมรับว่าอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง หรือกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในชีวิตซึ่งหากปล่อยปละละเลยไป ย่อมทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำขยายตัวมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ รูปแบบของความเหลื่อมล้ำ สามารถสรุปภาพรวมหลักๆ ได้ 3 รูปแบบ ซึ่งก็คือ

1.ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและรายได้

2. ความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายโอกาส ในการเข้าถึงโครงสร้างและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพทั้งในด้านการศึกษา การเข้าถึงสวัสดิการสังคม และการเข้าถึงแหล่งทุนหรือปัจจัยการผลิต

และ 3. ความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจ ทั้งด้านสิทธิทางการเมืองอำนาจต่อรองในการเข้าถึงทรัพยากร และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนาทั้งในระดับประเทศและในระดับท้องถิ่น ส่งผลให้การจัดการทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม

ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในแผนงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างยิ่ง โดยกลุ่มเปราะบางที่รัฐบาลกำหนดนั้น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนพิการ และ ให้การช่วยเหลือตามโครงการต่างๆ อาทิเช่น

การช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเด็กแรกเกิด สำหรับครอบครัวที่ยากจนหรือครอบครัวที่เสี่ยงต่อความยากจน มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี เป็นต้น โดยจะช่วยออกค่าเลี้ยงดูบุตรให้คนละ 600 บาท/เดือน จนเด็กอายุครบ 6 ขวบบริบูรณ์

ขณะที่ผู้สูงอายุ ก็ช่วยเหลือในรูปแบบของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามนโยบายสวัสดิการที่รัฐจัดสรรไว้ให้บุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน

การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะเป็นแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ โดยการช่วยเหลือจะแบ่งตามช่วงอายุ คือ ช่วงอายุ 60 – 69 ปี ได้รับเงิน 600 บาทต่อเดือน ช่วงอายุ 70 – 79 ปี ได้รับเงิน 700 บาทต่อเดือน ช่วงอายุ 80 – 89 ปี ได้รับเงิน 800 บาทต่อเดือน ช่วงอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาทต่อเดือน ถือเป็นการต่อลมหายใจให้กับประชาชน

สำหรับในกลุ่มคนพิการ ความช่วยเหลือนอกเหนือเบี้ยคนพิการที่รัฐบาลช่วยเหลือเดือนละ 800 – 1,000 บาท

พล.อ.ประวิตร เองเล็งเห็นถึงศักยภาพของคนพิการเหล่านี้ ทำให้เกิดโครงการบูรณาการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ซึ่งได้จัดการลง “เอ็มโอยู” ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบาง

เน้นย้ำให้เกิดการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยเฉพาะการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มเปราะบางในทุกมิติอย่างยั่งยืน

และแน่นอนว่าการส่งเสริมให้มีงานทำ เพื่อให้มีรายได้ และตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต เป็นเรื่องสำคัญ พล.อ.ประวิตร จึงกำชับให้กระทรวงแรงงาน บริการจัดหางานในประเทศให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้มีงานทำและมีรายได้ที่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต

ตลอดจนแนะแนวและส่งเสริมการประกอบอาชีพ รวมถึงการพัฒนาผีมือแรงงานให้แก่ครัวเรือนเปราะบาง ให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน นำมาซึ่งการตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณาการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการด้านแรงงานทุกมิติ

โดยมอบหมายกรมการจัดหางาน (กกจ.)แนะแนวอาชีพและหางานให้ทำ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จะพัฒนาทักษะฝีมือและอบรมการประกอบอาชีพอิสระ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จะเข้าไปช่วยดูแลและคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

ด้านสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะเข้าไปดูแลสิทธิประโยชน์เพื่อเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต และสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานจะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานข้อมูลกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ หรือ กพร.ปช. ที่ พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการฯเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพคนพิการโดยเฉพาะ

ผลักดันให้เกิดแผนพัฒนาทักษะให้แก่คนพิการรณรงค์ให้สถานประกอบการจ้างคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 ให้มากขึ้น

รวมทั้งรณรงค์ให้ดำเนินการตามมาตรา 35 คือการจัด 7 กิจกรรมให้แก่คนพิการ เช่น จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงานจัดให้มีอุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกล่ามภาษามือ ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ เป็นต้น เพื่อลดการจ่ายเงินมาตรา 34 ให้น้อยลงซึ่งจะเดินหน้ารณรงค์ให้มากขึ้น ตามแนวทาง”เพิ่มการจ้าง มีการจัดและลดการจ่าย” เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิตคนพิการได้อย่างยั่งยืน

และไม่ใช่แค่เรื่องอาชีพเท่านั้น พล.อ.ประวิตรยังให้ความสำคัญกับกลุ่มนักกีฬาคนพิการ เพราะนักกีฬาคนพิการถือเป็นผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ที่ผ่านมาสร้างชื่อเสียงให้กับวงการกีฬาของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ตามนโยบายดูแลอย่างเป็นรูปธรรมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง