การอพยพ (ต่อ) /จีนอพยพใหม่ในไทย (15) / เงาตะวันออก- วรศักดิ์ มหัทธโนบล (ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2109)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

จีนอพยพใหม่ในไทย (15)

การอพยพ (ต่อ)

แต่ทั้งหมดก็ติดด้วยปัญหาสองประการ
ประการแรก แม้จีนจะประกาศใช้นโยบายเปิดประเทศ แต่ในระยะแรกที่ใช้นโยบายนี้ยังไม่เปิดให้ชาวจีนออกนอกประเทศได้อย่างเสรีมากนัก การออกนอกประเทศในขณะนั้นจะมีกฎระเบียบที่มีรายละเอียดมากมาย
เช่น ต้องมีจดหมายเชิญจากประเทศปลายทางให้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะได้รับอนุญาตให้ออกได้ และแน่นอนว่า บุคคลในกลุ่มนี้โดยมากแล้วจะเป็นข้าราชการ
แต่ชาวจีนกลุ่มนี้เป็นชาวจีนที่อยู่ระดับล่างของสังคม การศึกษาก็ไม่สูง ชาวจีนกลุ่มนี้จึงมีคุณสมบัติที่ห่างไกลเกินกว่าที่จะได้รับอนุญาต
ประการต่อมา ด้วยความที่เป็นชาวจีนระดับล่าง ชาวจีนกลุ่มนี้จึงมีฐานะไม่สู้จะดีนัก และไม่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะเดินทางไปยังต่างแดนด้วยเส้นทางที่เป็นทางการ
จากปัญหาทั้งสองประการดังกล่าวไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ชาวจีนกลุ่มนี้ต่างเห็นพ้องต้องกันในอันที่จะออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยต่างวางแผนการเดินทางด้วยการโดยสารเรือออกจากเกาะไห่หนันไปยังมณฑลกว่างตง
และจากกว่างตงก็ต่อรถโดยสารประจำทางเป็นระยะๆ เพื่อเดินทางต่อไปยังมณฑลอวิ๋นหนัน (ยูนนาน) ครั้นมาถึงคุนหมิงที่เป็นเมืองเอกแล้วจึงเดินเท้ามุ่งลงไปทางใต้ที่ชายแดนจีน-เมียนมา การเดินเท้าของชาวจีนกลุ่มนี้จะพยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางสาธารณะอย่างเช่นถนนให้มากที่สุด
เพื่อตัดปัญหาจากการถูกถามจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
จนเมื่อมาถึงชายแดนจีน-เมียนมาแล้ว ชาวจีนกลุ่มนี้จำต้องเดินเท้าต่อไปโดยผ่านป่าเขา คราวนี้จึงเป็นการหลบหนีออกนอกเมืองโดยแท้ จนเมื่อมาถึงท่าขี้เหล็กของเมียนมาก็เป็นอันสิ้นสุดการเดินทาง
หากนับตั้งแต่ที่เดินเท้าจากคุนหมิงจนถึงท่าขี้เหล็กที่เป็นเมืองชายแดนเมียนมา-ไทยแล้ว ชาวจีนกลุ่มนี้ได้ใช้เวลาในการเดินเท้านานนับเดือนที่เต็มไปด้วยความยากลำบากและอันตราย โดยเฉพาะช่วงที่ต้องเดินเท้าในเขตเมียนมามายังที่ชายแดนไทยนั้น ต้องเดินข้ามภูเขาและฝ่าป่าดงแทบจะตลอดเส้นทาง
จนเมื่อถึงท่าขี้เหล็กแล้วก็ข้ามมายังฝั่งไทยด้วยเส้นทางธรรมชาติ นั่นคือ ข้ามแม่น้ำแม่สายเข้ามายังอำเภอแม่สายของจังหวัดเชียงราย

ที่น่าสนใจก็คือ ตอนที่ชาวจีนรายนี้เล่ามาถึงตอนที่อยู่ฝั่งไทยแล้วนั้น ผู้วิจัยคาดว่าสิ่งที่ควรจะเป็นต่อไปคือ เขาคงเดินหาใครที่รู้จักกันมาก่อนเพื่อไปขออาศัยพักพิงชั่วคราว
แต่การคาดการณ์นี้กลับผิดถนัดเมื่อชาวจีนรายนี้ตอบว่า เขาไม่รู้จักใครในเมืองไทยเลยแม้แต่คนเดียว
แต่สิ่งที่เขาทำตอนที่มายืนอยู่ที่ฝั่งไทยก็คือ การมองหาร้านค้าที่มีป้ายชื่อเป็นภาษาจีนโดยมีสมมุติฐานง่ายๆ ว่า ร้านใดที่มีป้ายชื่อภาษาจีน ร้านนั้นย่อมมีคนพูดภาษาจีนได้ และสมมุติฐานของเขาก็ไม่ผิด เมื่อร้านที่เขาเข้าไปนั้นเจ้าของร้านพูดและใช้ภาษาจีนได้จริงๆ
ชาวจีนรายนี้เล่าว่า เขาได้เปิดเผยกับเจ้าของร้านว่าตนเป็นใครมาจากไหนและบอกความต้องการของตนว่าอยากจะได้งาน เมื่อทราบความแล้วเจ้าของร้านจึงฝากงานให้เขาได้ทำในฐานะลูกจ้างในที่แห่งหนึ่ง
ชาวจีนรายนี้ทำงานลูกจ้างไประยะหนึ่งจนคุ้นเคยกับเมืองไทย (แม่สาย) และเมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว เขาจึงเดินทางมายังกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนั้นเขาได้มีสายสัมพันธ์กับชาวจีนไห่หนันมณฑลเดียวกับเขาที่เป็นช่างไม้
และก็คือคนเดียวกันกับช่างตกแต่งภายในที่ผู้วิจัยกล่าวถึงตอนต้น ส่วนตัวเขาก็คือ ช่างไฟฟ้า
ในส่วนของเพื่อนชาวจีนที่ร่วมเดินทางมากับเขานั้นใช้วิธีหาร้านค้าที่มีป้ายร้านภาษาจีนเช่นกัน วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่ชาวจีนกลุ่มนี้ได้หารือร่วมกันมาก่อนแล้ว โดยหลังจากนั้นเขายังคงพบเห็นบางคนอยู่บ้างเป็นบางครั้งบางครา จนเมื่อเข้ากรุงเทพฯ แล้วก็ไม่เคยพบเพื่อนร่วมทางของเขาอีกเลย
ส่วนชาวจีนที่เป็นช่างไม้นั้นเล่าว่า เขาเข้ามายังไทยก็ด้วยมีญาติที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มาจากไห่หนัน ซึ่งเป็นวิธีปกติที่ชาวจีนอพยพในรุ่นแรกๆ มักใช้กันดังได้กล่าวไปแล้ว

เมื่อแรกที่ปลายทาง

การที่ชาวจีนอพยพใหม่มีเมืองไทยเป็นจุดหมายปลายทางเป็นประเด็นที่พึงกล่าวถึงอยู่แล้ว ว่าชาวจีนเหล่านี้คงมีเหตุผลต่างๆ นานาที่จะอธิบายว่าเหตุใดจึงเป็นเมืองไทย แต่เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้วจะทำอย่างไรต่อไปนั้น แม้จะเป็นประเด็นคำถามที่สั้น แต่กลับเป็นประเด็นที่เต็มไปด้วยรายละเอียด
เพราะเป็นประเด็นที่ไม่เพียงจะต้องฉายภาพให้เห็นว่าชาวจีนเหล่านี้ดำรงชีวิตอย่างไรเท่านั้น หากแต่ด้วยเหตุที่แต่ละกลุ่มแต่ละคนเข้ามาในช่วงเวลา เงื่อนไข และสถานการณ์ที่ต่างกัน การกล่าวถึงการดำรงชีวิตในเมืองไทยจึงมีรายละเอียดที่พึงกล่าวถึงอยู่ไม่น้อย
เช่น หากจะกล่าวถึงการใช้ชีวิตในระยะแรกที่เข้ามายังเมืองไทยแล้ว เพียงประเด็นนี้ก็สามารถแบ่งชาวจีนที่เข้ามาในแต่ละช่วงเวลาออกเป็นกลุ่มๆ ได้มากกว่าหนึ่งกลุ่ม ยิ่งหลังจากที่ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางจนชาวจีนเหล่านี้มีอาชีพที่แน่นอนแล้ว ประเด็นที่จะอธิบายก็ยิ่งมีรายละเอียดมากขึ้น
การศึกษาในประเด็นนี้จะดำเนินไปตามลำดับโดยอิงกับความเป็นจริงในแต่ละช่วงเวลา เงื่อนไข และสถานการณ์ของชาวจีนแต่ละกลุ่มแต่ละคน

ทำไมจึงเป็นประเทศไทย

การที่ผู้อพยพจะมีปลายทางอยู่ที่ดินแดนใดโดยหลักแล้วมักมาจากการพิจารณาว่า ดินแดนนั้นมีปัจจัยที่เอื้อต่อการอาศัยอยู่ของตนหรือไม่ อย่างไร แต่การพิจารณานี้เป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น เพราะถึงที่สุดผู้อพยพจะต้องใช้เวลาเรียนรู้ต่อไปว่า ดินแดนนั้นยังมีปัจจัยอื่นที่ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณา
และบางทีเป็นปัจจัยเชิงลบที่อาจทำให้ตนปรับตัวไม่ได้หรือไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของตน
ถ้าเป็นเช่นนั้นผู้อพยพอาจตัดสินใจหาจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ต่อไป แต่ถ้าปัจจัยอื่นที่ยังไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในตอนแรก แต่เมื่อนำมาพิจารณาแล้วพบว่าเป็นปัจจัยที่ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิต ผู้อพยพก็จะปักหลักอยู่ในดินแดนนั้นต่อไป
เหตุดังนั้น การที่ผู้อพยพมีปลายทางอยู่ที่ดินแดนใด การพิจารณาในเบื้องต้นจึงมีความสำคัญมาก และการที่ชาวจีนอพยพใหม่มีปลายทางที่ไทยจึงมาจากการพิจารณาในเบื้องต้นแล้วว่า ไทยมีปัจจัยอะไรบ้างที่เหมาะที่จะเป็นปลายทางของตน
หากกล่าวโดยรวมแล้ว การที่ชาวจีนอพยพใหม่เลือกไทยเป็นปลายทางนั้นมีอยู่สองปัจจัยหลักคือ
ปัจจัยแรก มีญาติสนิทมิตรสหายอยู่ในไทยที่สามารถให้ความช่วยเหลือตนได้
ปัจจัยที่สอง ไม่มีญาติสนิทมิตรสหายในไทย แต่มีข้อมูลและ/หรือประสบการณ์ที่เกี่ยวกับไทยที่ทำให้เห็นว่าเหมาะที่จะใช้เป็นปลายทางของตน แล้วจึงเข้ามาใช้ชีวิตในไทย
จะเห็นได้ว่า ปัจจัยแรกเป็นปัจจัยที่มิได้มีกับผู้อพยพทุกคน ปัจจัยนี้จึงถือเป็นกรณีที่ค่อนข้างพิเศษ ในขณะที่ปัจจัยที่สองเป็นปัจจัยที่ปรากฏโดยทั่วไปในหมู่ผู้อพยพ ยิ่งในโลกปัจจุบันที่การเข้าถึงข้อมูลก็ดี การมีประสบการณ์ในดินแดนปลายทางอยู่ช่วงหนึ่งตั้งแต่ที่ยังไม่คิดที่จะเป็นผู้อพยพก็ดี
ส่วนหนึ่งมาจากการเอื้ออำนวยของโลกาภิวัตน์ที่ทำให้การเข้าถึงดังกล่าวเป็นไปโดยง่าย
จากปัจจัยข้างต้นจะเห็นได้ว่า ปัจจัยแรกจะมีความได้เปรียบมากกว่าปัจจัยที่สอง อย่างน้อยก็ในเรื่องของความสะดวกและความเสี่ยง ที่ผู้อพยพจากปัจจัยแรกสามารถไว้วางใจได้ในระดับหนึ่ง และมิพักต้องกังวลว่าตนจะถูกกระทำในเชิงลบหรือไม่
ผู้อพยพจากปัจจัยแรกจึงเหลือเพียงการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่เท่านั้น
ในขณะที่ผู้อพยพจากปัจจัยที่สองยังต้องเผชิญกับขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้การอาศัยอยู่ในไทยของตนเข้าที่เข้าทางจนกว่าจะวางใจได้ควบคู่ไปกับการปรับตัว เหตุฉะนั้น ผู้อพยพจากปัจจัยที่สองจึงมีประเด็นที่พึงกล่าวถึงมากกว่าผู้อพยพจากปัจจัยแรก ว่าเหตุใดจึงเลือกประเทศไทยเป็นปลายทางของตน
จากการสัมภาษณ์ผู้อพยพจากปัจจัยที่สองทำให้พบว่า ผู้อพยพจากปัจจัยนี้แบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่เคยเข้ามายังไทยแล้วได้สัมผัสข้อมูลชุดหนึ่งแล้วเห็นว่า ไทยมีองค์ประกอบที่เหมาะสมที่จะทำให้ตนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้
และที่ว่าเคยเข้ามายังไทยนี้โดยรวมแล้วแยกได้สองลักษณะด้วยกัน ลักษณะหนึ่งเข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวทั่วไป แล้วเกิดความรู้สึกที่ดีกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ตนได้สัมผัส
อีกลักษณะหนึ่งเข้ามาศึกษาในไทยที่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นระดับอุดมศึกษา โดยส่วนหนึ่งมาศึกษาภาษาไทยและอีกส่วนหนึ่งศึกษาศาสตร์สาขาอื่นๆ จนเมื่ออยู่ไประยะหนึ่งจึงเกิดความรู้สึกที่ดีกับสภาพแวดล้อมต่างๆ แล้วจึงตัดสินใจที่จะอยู่ในไทย ทั้งนี้ผู้ที่เข้ามาศึกษาภาษาไทยมีแนวโน้มที่จะอยู่ในไทยมากกว่าผู้ที่เข้ามาศึกษาศาสตร์อื่นๆ
ที่สำคัญ ส่วนหนึ่งของลักษณะที่สองนี้ยังมีประเด็นจากที่ตนมีคนรักที่เป็นคนไทยอีกด้วย และเป็นประเด็นที่มีส่วนผลักดันให้ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ไทยอย่างมาก

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป