ธเนศวร์ เจริญเมือง / จรัลรำลึก : 3 กันยายน 2563 เส้นทางเดิน 25 ปีแรกของจรัล มโนเพ็ชร (จบ)

อ.จำเหลาะเป็นครูคนสำคัญของจรัล มโนเพ็ชร อีกท่านหนึ่ง

หนุ่มช่างเคี่ยน จบที่ยุพราช ไปต่อที่เทพศิรินทร์ ได้ปริญญาโท 2 ใบ (พาณิชยศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์) จากธรรมศาสตร์ แล้วได้ทุนไปเรียนจบปริญญาโทที่ Wayne State Univ. รัฐมิชิแกน

วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพเปิดสอน พ.ศ.2500 อ.จำเหลาะมาเป็นครูรุ่นแรก

ท่านสอนวิชาบัญชี พิมพ์ดีด ลูกคิด ให้สาขาบัญชีที่จรัลเรียน

วันหนึ่ง ท่านร้องเพลง Edelweiss (2502) ในงานโรงเรียน ร้องทั้งภาคภาษาอังกฤษและฉบับภาษาไทยที่ท่านแปล

“Edelweiss, Edelweiss

Every morning you greet me

Small and white, clean and bright

You look happy to meet me.

Blossom of snow may you bloom and grow…”

“ดอกไม้ขาว ขาวราวแก้ว

ที่เพริศแพร้ว ใจผู้คนครอง…

ฝนหยาดเลี้ยง ชีวิตให้ยั่งยืน

เพื่อให้คืน ดังเช่นชีพที่ไร้ ไร้เสรี

สู่ความมีอิสระแห่งปวงชน…”

เท่านั้นเอง หลังเลิกเรียน จรัลก็วิ่งตามครูไป ขอเรียนการแต่งเพลงจากครู

ต่อจากนั้น จรัลได้เรียนรู้เรื่องเพลงและแทบทุกเรื่องในอเมริกาจาก อ.จำเหลาะ

เขาไปขลุกอยู่ที่บ้านของครูบ่อยครั้งหลังเลิกเรียน

ครูเป็นคนสมถะ สร้างบ้านกระโจม กินอยู่และแต่งกายเรียบง่าย บ้านของครูอยู่ที่เชิงดอยสุเทพ หลังวิทยาลัยเทคนิค เป็นม่อนดอย เรียกว่า “ม่อนผาดำ” ไม่มีไฟฟ้า หรือน้ำประปา

ครูจำเหลาะเล่นออร์แกน ท่านชอบร้องเพลง และแต่งเพลง 70 กว่าชิ้น เช่น เพลง “เมืองแมนแดนดอกไม้” “กล้วยไม้เอย” “แม่ฮ่องสอน”

เมื่อผู้เขียนไปพบท่านที่บ้าน (ต้นสิงหาคม 2563) ทุกอย่างยังคงเดิม เพิ่มเพียงเครื่องไฟฟ้า

อ.จำเหลาะเล่าว่า วิธีแต่งเพลงมี 3 แบบ คือ เริ่มที่เสียงที่มีอยู่ในธรรมชาติ, แต่งเนื้อเพลงก่อน หรือแต่งเนื้อร้องและทำนองพร้อมๆ กัน ท่านสอนให้ฟังเสียงที่มีในธรรมชาติให้มากๆ และภาษาไทที่เป็นภาษาเสียง

หลายปีที่จรัลไปขลุกที่บ้านของครู อ.จำเหลาะเล่าว่า จรัลแต่งเพลง “บ้านบนดอย” และ “ไล่เหล่า” ที่นั่น

ส่วนเพลง “พี่สาวครับ” จรัลแต่งในห้องเรียน ภาควิชาบัญชีนั้น ที่ไหนๆ ก็มีนักศึกษาหญิงเป็นส่วนใหญ่

 

อ.วิถีเป็นคนลำปาง จบชั้นมัธยมปลายที่ฮ่องกง และจบปริญญาตรี-โทจาก UCLA ด้านศิลปะกับสิ่งแวดล้อม เริ่มงานสอนที่เทคนิคพายัพก่อนที่จะย้ายไปสอนที่ มช. เมื่อท่านเริ่มสอน จรัลเรียนจบแล้ว

ปี 2517 จรัลอายุ 23 ปี ไปเยี่ยมบ้าน อ.วิถีกับเพื่อน บ้านอยู่ในซอยสันติธรรม หลังร้านผ้าไหมชินวัตร ถนนห้วยแก้ว จากนั้นจรัลกับเพื่อนๆ ก็เป็นแขกของบ้าน อ.วิถีแทบทุกเย็น

พวกเขายึดชานหน้าบ้านเป็นที่สังสันทน์เรื่องชีวิตในแง่มุมต่างๆ สลับด้วยการร้องเพลง-เสียงกีตาร์จนดึกดื่น

อ. วิถีไม่เพียงแต่มาจากครอบครัวคหบดีจีน-คนเมืองที่โดดเด่นของลำปาง ท่านมีทัศนะด้านศิลปะที่เฉียบคม

สร้างบ้านตึกชั้นล่างและชั้นบนเป็นไม้ รูปทรงแบบล้านนา ผสมผสานอาคารสมัยใหม่กับบ้านท้องถิ่น และตกแต่งด้วยศิลปะล้านนาในแต่ละห้อง ไม่ใช่เห่อแต่ของใหม่ แล้วทิ้งของเก่า

นับเป็นคนรุ่นแรกๆ ที่นำศิลปะท้องถิ่นไปเจิดจรัสในบ้านตึกสมัยใหม่อย่างน่าทึ่ง

หน้าบ้านมีเรือนหม้อน้ำ ยุ้งข้าว และน้ำบ่อ

ท่านเล่าว่า จรัลทึ่งและชื่นชอบบรรยากาศดังกล่าวมาก บ้านแบบผสม ชานกว้างหน้าบ้าน มีต้นไม้ใหญ่รายรอบ คือบรรยากาศแบบ “เมืองๆ” คือเวทีการร้องเพลงและการเสวนาค้นหาความหมายของชีวิตและสังคมสำหรับจรัลและปัญญาชนคนหนุ่มกลุ่มนั้น

ด้วยทัศนะสมัยใหม่จากโลกตะวันตกและความรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมล้านนา คำถามว่าศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะอยู่อย่างไรในยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกถาโถมเข้ามา

บ้านของ อ.วิถีให้คำตอบหนึ่งแก่จรัล วงสังสันทน์และความคิดเห็นต่างๆ ต่อแนวเพลงเป็นโรงเรียนแห่งใหม่ให้จรัลได้ซึมซับ

หลายครั้ง คนกลุ่มนี้ย้ายเวทีสังสันทน์ไปที่บ้านริมฝั่งปิงที่สันป่าตองของสถาปนิกนักคิดจากจุฬาฯ นามว่าจงรักษ์ ศิริตัน เพลงที่เขาร้องก็คือเพลงอันเกิดจากเพลงที่เขาสั่งสมและเรียนรู้จากครูสำคัญๆ ก่อนหน้า บวกกับฐานศิลปวัฒนธรรมและดนตรีล้านนาที่ได้มาตั้งแต่เด็ก

พ่อน้อยสิงห์แก้วใช้วัยหนุ่มราว 15 ปี (จากอายุ 16-31 ปีจึงแต่งงาน) แอ่วสาว พบปะผู้คนในตัวเมืองเชียงใหม่และอำเภอรอบๆ ก็คงจะไม่ต่างจากที่จรัลเดินทางไปตามที่ต่างๆ ในช่วงวัยหนุ่ม ผ่านทุ่งนา ขึ้นเขาลงห้วยสัมผัสวิถีชีวิต ขนบประเพณี ชุมชนเมือง-ชนบท และชาติพันธุ์ต่างๆ ในเขตป่าเขา

อ.วิถีแนะนำว่า การเดินทางสำรวจบ้านเมืองเป็นการเรียนรู้ชั้นเยี่ยม และพาจรัลไปเยือนแม่แจ่ม ฯลฯ บวกกับการเป็นนักอ่านและค้นคว้า นั่นคือข้อมูลอันอุดมสำหรับการแต่งเพลงของจรัล

สมแล้วที่วสันต์ ปัญญาแก้ว นักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา มช. จะเรียกผลงานเพลงของจรัลว่า “ล้านนาคดี”

 

นั่นคือความเป็นจรัลในวัย 25 ปี (พ.ศ.2519) ที่ร้องเพลงมากมายขับกล่อมผองเพื่อน ทั้งเพลงฝรั่งและเพลงที่ทยอยแต่งตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ในการสังสันทน์เฮฮาหลายครั้ง ที่บ้านสันป่าตอง ช่วงปี 2518 ศ.ดร.สมพงษ์ วิทยศักดิ์พันธ์ นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ มช. เล่าว่า จรัลร้องเพลงคำเมืองล้วนๆ

25 ปีของการก้าวย่างของชีวิตเข้าสู่วัยเบญจเพส คือ

1. หน่อเนื้อของพ่อ-แม่ที่ลูกชายคนนี้รับมา

2. พรสวรรค์ของเขา

และ 3. สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากครูสว่าง อ.จำเหลาะ และ อ.วิถี และปัญญาชนคนอื่นๆ ตลอดจนทักษะดนตรีของเพื่อนวัยรุ่นในเมือง และการเดินทางท่องเที่ยวบ่อยครั้ง

จรัลลาออกจากงานสมุห์บัญชี และเดินทางมากขึ้นบนเส้นทางดนตรี-เสียงเพลง

เขาเลือกงานที่เขารักและมีความฝัน ด้วยประสบการณ์ที่มากมาย

จากคำถามในบทเพลง “คนเราต้องเดินทางบนถนนกี่สาย กว่าจะมีคนยอมรับ… เพื่อนเอ๋ย คำตอบนั้นอยู่ในสายลม” (Blowin” in the Wind) เพลงต่อต้านสงครามเวียดนามอันเป็นเพลงโปรดของจรัล และเพลง Donna Donna, 500 miles, Lemon Tree, If I had a hammer, Man Cone into Egypt ฯลฯ อันไพเราะ กินใจ และแสนจะเรียบง่าย

และในบรรยากาศบ้านแบบ “คนเมือง” ของ อ.วิถี และศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่จรัลรับและสั่งสมมาตลอด 25 ปี

จรัลเริ่มต้นการเดินทางด้วยเพลงคำเมืองและใช้กีตาร์เป็นเสียงดนตรีนำ

 

และด้วยหูที่ฟังเพลงไพเราะพร้อมกับสายตาเฉียบคมของนักธุรกิจนามมานิตย์ อัชวงศ์ ที่ค้นพบเพชรงามเม็ดนี้

จึงปรากฏเป็นเพลงโฟล์กซองคำเมือง ชุดอมตะ ชุดแรก ที่โด่งดังคับฟ้าเมืองไทยทันที

นับตั้งแต่เพลง “น้อยไจยา” เพลงคำเมืองอันเก่าแก่ที่บรรเลงด้วยเสียงกีตาร์ (ที่ยังไม่เคยมีใครเล่นกับเพลงนี้) แต่เนื้อเพลงและทำนองแสนจะไพเราะคุ้นเคยเริ่มออกอากาศครั้งแรกกลางเมืองเชียงใหม่ ในคืนวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2520

น่าสังเกตว่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา การต่อสู้ทางการเมืองและอุดมการณ์ได้ย้ายเวทีจากภายในเมืองหลวงไปเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขา ผู้คนในเมืองกำลังแสวงหา เมื่อเสียงเพลงชุดแรกของจรัลดังขึ้นในช่วงต้นปี 2520 ด้วยภาษาคำเมืองที่แปลกออกไป มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคม (อุ๊ยคำ สาวมอเตอร์ไซค์) ประวัติศาสตร์ (น้อยไจยา เสเลเมา) และวัฒนธรรม-วิถีชีวิตของชาวบ้านที่สนุกสนาน ฟังสบายๆ (พี่สาวครับ ผักกาดจอ ของกิ๋นคนเมือง ลืมอ้ายแล้วกา คนสึ่งตึง)

จึงไม่แปลกเลยที่เพลงชุดนี้ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นยิ่งในตอนนั้น ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วประเทศตลอดมา

จรัลเริ่มต้นที่ดนตรีและเพลงพื้นเมืองที่บ้าน จากนั้นก็ร้องเพลงฝรั่งแบบวัยรุ่นที่โรงเรียน และเข้าสู่การเรียนสายอาชีพ และแต่งเพลงที่เขาถนัด บวกกับการเดินทางท่องเที่ยวและบ้านแบบครึ่งตึกครึ่งไม้กลางเมืองเชียงใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลง ทั้งหมดนี้ได้ก่อรูปความเป็นจรัลดังปรากฏในเพลงชุดแรก — เพลงคำเมือง ที่มีทั้งประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม มีทั้งสาระ, ข้อคิด และความสนุกสนานม่วนงัน

เมื่อเพลงชุดแรกได้รับความสำเร็จอย่างดี จากเพลงทั้งหมด 9 ชิ้น เป็นเพลงของศิลปินคนอื่น 3 ชิ้น ก็ถึงเวลาที่จะก้าวต่อไป นั่นคือแต่งเองทั้งหมดและมีลักษณะ 3 ประสาน

ดังเราจะเห็นเพลงในชุดต่อๆ มา…