คณิต ณ นคร | เมื่อประธานชมรมข้าราชการอัยการบำนาญ ส่งสารถึงอัยการสูงสุด (5)

4.การวิพากษ์วิจารณ์พนักงานอัยการในการทำหน้าที่

เมื่อเร็วๆ นี้พนักงานอัยการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในคดีที่บุตรของผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยในคดีฟอกเงิน และศาลยุติธรรมชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยศาลใช้หลักตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 184 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีว่า

“การวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่า ยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า”

ซึ่งเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 184 นี้ ผู้เขียนได้กล่าวในบทความว่า

เป็นบทบัญญัติที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยแท้

และคำในตัวบทกฎหมายที่ว่า

“ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่า ยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า”

หากพิจารณากันให้ลึกแล้ว เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “โทษ” หรือ “มาตรการบังคับ” ในคดีนั้น หาใช่เรื่องเกี่ยวกับเรื่อง “ผิด” หรือ “ไม่ผิด” แต่อย่างใดไม่

ดังนั้น หากเป็นเรื่องอย่างหลังแล้วศาลเองจักต้องเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาให้เกิดเสียงข้างมากจนได้มากกว่า

คดีที่พนักงานอัยการถูกวิพากษ์วิจารณ์นี้ ปรากฏตามข่าวอีกว่าพนักงานอัยการในชั้นอุทธรณ์ สั่งไม่อุทธรณ์

และเท่าที่ผู้เขียนได้ติดตามข่าวก็ว่า ในที่สุด “อัยการสูงสุด” ก็ต้องทำหน้าที่ชี้ขาดคดีนี้เพราะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการชั้นอุทธรณ์

กรณีเกี่ยวกับเรื่องนี้ในส่วนการทำงานคดีของพนักงานอัยการ ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงในอดีต กล่าวคือ ในขณะผู้เขียนดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดนั้น ผู้เขียนได้กล่าวกับพนักงานอัยการทั้งหลายว่า

ผู้ใดสั่งฟ้องและยื่นฟ้องคดีไปโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เป็นยุติและเชื่อถือได้ ผู้เขียนจะเอาเรื่องพนักงานอัยการผู้นั้น

ถ้าผู้อ่านจะถามผู้เขียนว่า ทำไมผู้เขียนจึงกล่าวเช่นนั้นกับพนักงานอัยการ คำตอบก็คือ

เพราะว่าพนักงานอัยการจะปฏิเสธความรับผิดชอบในการดำเนินการของตนไม่ได้โดยเด็ดขาด

พนักงานอัยการนั้น ต้องรับผิดชอบในการสอบสวนหรือใน “การตรวจสอบความจริงแห่งเรื่อง” หรือใน “การตรวจสอบความจริงในคดี” 4 ประการ คือ

(1) รับผิดชอบในความถูกต้องชอบด้วยกฎหมายของการสอบสวน

(2) รับผิดชอบในความถูกต้องชอบด้วยระเบียบของการสอบสวน

(3) รับผิดชอบในความละเอียดรอบคอบของการสอบสวน และ

(4) รับผิดชอบในความเชื่อถือได้ของการสอบสวน

ในบทความดังกล่าว ผู้เขียนได้เสนอให้มีการแก้กฎหมายด้วย โดยเสนอให้แก้ไขให้องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเป็น “เลขคี่”

หากผู้อ่านจะถามผู้เขียนว่า เมื่อยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้องค์คณะของศาลยุติธรรมเป็นจำนวน “เลขคี่” เรื่องที่เกิดขึ้นจะแก้ไขไม่ให้พนักงานอัยการต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่ คำตอบก็คือ

การที่ศาลยุติธรรมชั้นต้นใช้หลักตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 184 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีว่า

“การวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมาก ยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า”

แล้วพิพากษายกฟ้องนั้น ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาของเรื่องดังกล่าวมานี้

มิใช่เป็นปัญหาเกี่ยวกับ “พนักงานอัยการ” เท่านั้น แต่เป็นปัญหาของ “ศาลยุติธรรม” ด้วย ที่ไม่เพิ่มจำนวนผู้พิพากษาดังที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้ว

แต่ก็ดูเหมือนนักกฎหมายในแวดวงศาลยุติธรรมไม่เคยคิดถึงปัญหานี้ กรณีจึงไม่เคยช่วยกันแก้ไขปัญหานี้เลย

กล่าวคือ เคยปฏิบัติกันมาอย่างไรก็ปฏิบัติกันไปอย่างนั้น บุคคลในแวดวงศาลยุติธรรมดูเหมือนไม่เคยคิดหรือไม่คิดที่จะช่วยในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเลย

ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า

กฎหมายไม่ได้บังคับให้ศาลต้องนั่งพิจารณาสองคน หากศาลยุติธรรมได้นั่งพิจารณามากกว่าสองคนและให้การนั่งพิจารณาให้เป็น “เลขคี่” แล้ว ก็สามารถแก้ปัญหาได้เลย

ผู้เขียนจึงได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” แล้วว่า มาตรา 184 เป็น “บทบัญญัติที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า” เท่านั้น

สำหรับในบ้านเมืองเรานั้นการที่จะให้ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” แก้ปัญหานี้ก็คงจะยากเย็นเช่นกัน

เมื่อปัญหา “ศาลพิจารณา” (Trial Court) สังคมไม่อาจคาดหวังจาก “ฝ่ายนิติบัญญัติ” และจาก “บุคคลในแวดวงศาลยุติธรรม” ได้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่ “ฝ่ายองค์กรอัยการ” ที่จะต้องกระโดดเข้ามาแก้ไขปัญหาของสังคม

เหตุนี้ผู้เขียนจึงใคร่ขอเสนอให้สำนักงานอัยการสูงสุด หรือองค์กรอัยการกระทำดังนี้ คือ

เมื่อมีคดีที่จำเลยเป็นคนสำคัญ ก็ให้พนักงานอัยการผู้ดำเนินคดียื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมชั้นต้น ให้ศาลยุติธรรมชั้นต้นเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาในคดีนั้น โดยให้มีผู้พิพากษาพิจารณาพิพากษาคดีให้มากกว่าสองคน

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เป็นภาระของ “อัยการสูงสุด” ที่จะต้องวางหลักดังต่อไปนี้

อัยการสูงสุดชอบที่จะต้องวางหลักปฏิบัติให้พนักงานอัยการปฏิบัติดังกล่าวให้ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อถือศรัทธาต่อประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อผลักดันปัญหาทั้งหลายทั้งปวงไปที่แวดวงศาลยุติธรรม แทนที่จะแบกปัญหาไว้ที่ตนเอง

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผู้เขียนสังเกต พนักงานอัยการที่ดำรง “อัยการสูงสุด” ดูจะไม่ค่อยมีความกล้าหาญอย่างเพียงพอที่จะแก้ปัญหาของสังคม ทั้งๆ ที่ผู้เขียนได้เคยเขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งเพื่อผลักดันก็ตาม ผลจึงปรากฏว่า

มีอดีตอัยการสูงสุดผู้หนึ่งถูกย้ายไปแขวนที่สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ คสช.ยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

และเมื่อผู้เขียนได้ผลักดันเรื่องเดียวกันกับ “อัยการสูงสุด” คนต่อมาอีกสามคน ก็ไม่มีผู้ใดมีความกล้าหาญอย่างเพียงพอ จนทำให้หนังสือที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นผลักดันถึงอัยการสูงสุด ที่ผู้เขียนได้จัดพิมพ์ขึ้นถึง 3 ครั้ง โดยค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้เขียนที่ใช้ชื่อว่า

“อดีตประธาน คอป. แนะ อสส. ในคดีการก่อการร้าย” ต้อง “ขึ้นหิ้ง” ไปเลย