ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข : เหตุใดขบวนการนักศึกษาปี 2020 นี้ยังถูกมองว่ามีรัฐบาลต่างชาติหนุนหลัง?

ทุกๆ ครั้งที่มีการออกมาชุมนุม ประท้วง และการแสดงพลังของเหล่าคนรุ่นใหม่ หรือนิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งต่างๆ

กระแสตอบรับที่ได้จากกลุ่มทางการเมืองฝั่งตรงข้าม อย่างเช่น ฝ่ายอนุรักษนิยมนั้น มักจะมาในรูปแบบของคำสบประมาท และคำดูถูกในทำนองที่ว่านิสิต นักศึกษาพวกนั้นยังคงเป็นเด็ก-เยาวชนอ่อนต่อโลก

ไม่มีความคิดอะไรเอาเองจนออกมารวมตัวกันได้เป็นหลักพันหลักหมื่นทั่วประเทศได้ขนาดนี้ และคงโดนล้างสมอง ไม่ก็โดนฝ่ายการเมืองชักจูง หรือบงการอยู่เบื้องหลังแบบลับๆ เป็นแน่แท้

บางครั้งก็ไปไกลจนถึงขั้นบอกว่า “นิสิต นักศึกษาเหล่านี้ถูกจ้างมา”

และตัวละครยอดฮิตที่มักจะถูกกล่าวถึงว่าเป็นผู้บงการ เป็นผู้ชักใยคอยสั่งการให้นักศึกษาเหล่านี้ออกมาก็ไม่พ้น “ประเทศเสรีนิยมฝั่งตะวันตก”

เช่น สหรัฐอเมริกา

 

อย่างล่าสุดก็กิจกรรมที่ทางสถาบันทิศทางไทยจัดขึ้น ซึ่งได้มีการเชิญวิทยากรอย่างคุณอุ๊-หฤทัย ม่วงบุญศรี และนิสิต นักศึกษาจำนวนหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยแห่งต่างๆ เข้ามาร่วมเสวนาภายในชื่อโครงการโซเชียลเสวนา หัวข้อ “เบื้องหลัง พลังบริสุทธิ์ รับใช้ (สหรัฐ) อเมริกา? หรือหลอกเด็กมาชุมนุม?” เพื่อเปิดเวทีถกเถียง และการหารือต่อประเด็นดังกล่าว

ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนหลักวิธีคิด และแง่มุมที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยมองมาที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาที่มีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีมานี้ (โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2019 ที่ผ่านมาจากกระแสความนิยมในพรรคอนาคตใหม่)

ผมเลยลองมานั่งไล่เรียงพิจารณา และหาความสมเหตุสมผลของมวลความคิดชุดดังกล่าวดู

พร้อมๆ ไปกับการเปิดดูรายการโซเชียลเสวนาดังกล่าวของสถาบันทิศทางไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคร่าวๆ

ก็ทำให้พอจะทราบและทำความเข้าใจได้มากขึ้นถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ทางฝั่งอนุรักษนิยมไทยนั้นยังมองนิสิตนักศึกษาในฐานะตัวหมากที่ถูกบงการของใครผู้ใดผู้หนึ่งมาโดยตลอดในทุกๆ โอกาสที่มีขบวนการประท้วงต่อต้านรัฐบาล

ซึ่งเหตุปัจจัยข้อสำคัญประการหลักๆ ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมนำมาโจมตีนั้นก็มาจากเรื่องของ “เงินทุนสนับสนุน/ช่องทางการเงิน” ของฝ่ายที่ออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลนั้นเอง

โดยได้มีการนำข้อมูลและรายละเอียดทางด้านเงินทุนภายในอดีตของขบวนการที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยภายในไทยขึ้นมาเป็นข้อสนับสนุนหลัก

 

ภายในช่วงหนึ่งของรายการเสวนานั้น ทางสถาบันทิศทางไทยได้กล่าวอ้างถึงสถาบัน National Endowment for Democracy (NED) อันเป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินงานภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปีละไม่ต่ำกว่า 20,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือ 630,000,000 บาท)

โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการรณรงค์ และเผยแผ่แนวคิดการปกครองแบบประชาธิปไตยไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกนั้นกำลังให้การสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยภายในประเทศไทยอยู่

ไม่ว่าจะร้านหนังสือ (Book Re:public) เครือข่ายนักวิชาการ (ที่ถูกมองว่าเป็นเสื้อแดง) หรือแม้แต่นิสิต นักศึกษาเองก็อาจจะเป็นเหยื่อของการครอบงำจากองค์กรลักษณะนี้ด้วย

ซึ่งตรงจุดนี้ผมคิดว่าทางสถาบันทิศทางไทยอาจจะนำข้อมูลมาจากสกู๊ปหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจเมื่อช่วงต้นปี 2018 ที่มีการนำเสนอเรื่องเส้นทางการเงินที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนแก่สมาคมและองค์กรที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยภายในไทย ตั้งแต่ Human Rights Watch, สำนักข่าว TCIJ, โครงการ iLaw, มูลนิธิมะขามป้อม ไปจนถึงสำนักข่าว The Isaan Record รวมอยู่ในรายการหน่วยงานที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนกระจายมาจากสถาบัน NED นี้

และยิ่งเมื่อนำไปบวกกับชื่อเสียงเดิมของสถาบัน NED ในปี 2019 ที่ผ่านมาก็ยิ่งจะเข้าใจเหตุผลได้ง่าย ชัดเจนมากขึ้น เพราะชื่อของสถาบัน NED นี้เคยปรากฏออกมาในหน้าสื่อให้เห็นอยู่หลายครั้งจากเหตุการณ์การประท้วงภายในฮ่องกง (ในฐานะผู้ให้เงินทุนสนับสนุน และผู้อยู่เบื้องหลังการประท้วงของกลุ่มขบวนการนักศึกษาฮ่องกง) มาก่อนแล้ว

การกล่าวหาและการมีข้อสมมติฐานเบื้องต้นในกลุ่มอนุรักษนิยมไทยว่านิสิต นักศึกษาภายในไทยนั้นรับเงินจากรัฐบาลต่างชาติ หรือถูกปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ของสหรัฐอเมริกานั้นปั่นหัวให้มาประท้วงต่อต้านรัฐบาลไทย จึงเป็นข้ออ้าง และข้อกล่าวหาที่อาจจะไม่ได้ผิดเสียทีเดียว ถ้าพิจารณาเอาจากสภาพการณ์ในมุมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนโยบายต่างประเทศ

การจะขมวดปมเอาว่าสถาบัน NED นี้เป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือการดำเนินการทูต และการใช้ Soft Power ของสหรัฐอเมริกาในการแผ่อิทธิพลของตนเองไปยังประเทศกำลังพัฒนาก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธได้ยาก

เนื่องจากประเด็นดังกล่าวนั้นมีมิติของความจริงปรากฏให้เห็น และองค์กรดังกล่าวก็มีการให้เงินทุนสนับสนุนแบบให้เปล่า (Grants) เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนาอยู่จริง

ผมจึงคิดว่าเรื่องนี้นั้นไม่ใช่เรื่องที่แปลก ในทางกลับกันก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ หากฝ่ายอนุรักษนิยมในไทยจะมองขบวนการนักศึกษาไปในลักษณะดังว่า

เพราะจากปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งที่ผ่านๆ มาในแถบเอเชียนี้ (ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ฮ่องกง และไต้หวัน) ต่างก็มีรากฐานความเกี่ยวโยงเชื่อมกลับไปหาสหรัฐอเมริกาได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะผ่านสถาบัน NED ที่ให้ทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

การปรากฏตัวบนหน้าสื่อของเจ้าหน้าที่ระดับสูงภายในกระทรวงการต่างประเทศที่ตั้งใจออกมาให้ความเห็นสนับสนุนแนวทางของขบวนการเรียกร้องและต่อต้านรัฐบาลจีน

หรือแม้แต่การที่รัฐสภาและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกตัวปกป้องพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของไต้หวันจากจีนอย่างตรงไปตรงมา

 

อีกทั้งฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยภายในฮ่องกงและไต้หวันเองก็ยังออกอาการดีใจเสียอีกที่รัฐบาลต่างชาติออกตัวอยู่ฝ่ายเดียวกับขบวนการเคลื่อนไหวของตนเอง ไม่ได้มีใครคิดเรื่องการแทรกแซงกิจการภายใน หรือในมิติของการขยายอิทธิพลของต่างชาติสักเท่าไรแม้จะถูกฝ่ายอนุรักษนิยมกระหน่ำโจมตีก็ตาม

กรณีของไทยเองก็เช่นกัน การที่ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยภายในไทยนั้น มีหน่วยงานหรือองค์กรสมาคมบางส่วนที่รับเงินทุนสนับสนุนมาจากต่างชาติ เช่น จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็ย่อมต้องยอมรับกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และข้อกล่าวหาเรื่องการมีนายทุนต่างชาติหนุนหลัง อันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นปกติอยู่แล้ว ถือเป็นราคาที่ต้องจ่ายสำหรับฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย

ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมในปัจจุบันนี้ยังคงหวาดระแวง และแคลงใจสงสัยในขบวนการนักศึกษาอยู่ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเหตุผลประการนี้แล

ไม่ใช่ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นไม่ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง หรือตามความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทันไปเสียทุกคน

หากแต่ฝ่ายอนุรักษนิยมหลายคนนั้นมีประสบการณ์การเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของโลกมานาน จนเห็นว่าการเรียกร้องประชาธิปไตย และขบวนการดังกล่าวนั้นหลายๆ ครั้งเกิดขึ้นจากการมีรัฐบาลต่างชาติเป็นผู้ให้การสนับสนุนบงการอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

(ในบางครั้งขบวนการเหล่านี้ก็ไปถึงขั้นมีส่วนเกี่ยวโยงในความพยายามล้มล้างรัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยมด้วย)

ยกตัวอย่างให้อีกกรณีหนึ่งซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านก็คือ พม่าที่ปัจจุบันกระบวนการสร้างประชาธิปไตยภายในพม่านั้นก็มีเครือข่ายนักวิชาการ และสื่อมวลชนที่ออกตัวเรียกร้องให้อินเดียเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในพม่าเพื่อเป็นบันไดและปัจจัยขับเคลื่อนให้การเมืองในพม่าขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

โดยไม่สนว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้นจะไปทับซ้อนกับประเด็นเรื่องอำนาจอธิปไตย หรือการมีอิทธิพลต่างชาติครอบงำหรือไม่

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยภายในต้องนำไปขบคิด และสรรหามาตรการมารองรับ ว่าจะทำอย่างไรให้ขบวนการของตนเองไม่ถูก Devalue หรือลดคุณค่าโดยข้ออ้างของฝ่ายอนุรักษนิยม

สิ่งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมในตอนนี้โจมตีมาล้วนมีเหตุผล และสามารถเข้าใจได้ทั้งสิ้น

คำว่า “นักศึกษานั้นถูกจ้างมาชุมนุม” ไม่ใช่ถูกกล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆ จากอคติ แต่มันเป็นคำดูถูก ข้อครหาที่ก่อตัวขึ้นมาจากประสบการณ์ และข้อมูลที่ฝ่ายอนุรักษนิยมเขาได้รับรู้ ได้เห็นมาจากอีกแง่มุมหนึ่งของปรากฏการณ์เท่านั้น

หากขบวนการประชาธิปไตยภายในไทยต้องการสร้างความชอบธรรมการเคลื่อนไหวให้ตนเองก็ต้องพิสูจน์ตนเองให้ได้ว่าตนเองนั้นไม่ได้รับเงิน หรือรับจ้างมาจากรัฐบาลต่างชาติให้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลไทย