จิ๋วเล่าเรื่องป๋า (9) : รอยร้าวสองนายพล สู่ ปลด พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าเรื่อง/ บุญกรม ดงบังสถาน เรียบเรียง

แม้ฝ่ายรัฐบาลสามารถเอาชนะฝ่ายปฏิวัติในเหตุการณ์ 9 กันยายน 2528 โดยไม่ได้สูญเสียกำลังมากนัก

มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 5 คน บาดเจ็บ 60 คน ทรัพย์สินสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ถูกฝ่ายปฏิวัติยิงถล่มได้รับความเสียหาย

แต่รัฐบาลเปรม 4 ยังคงเผชิญมรสุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง พรรคร่วมรัฐบาลขัดแย้งกันเอง ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านคือพรรคชาติไทยได้ออกเดินสายโจมตี พล.อ.เปรมไม่หยุดหย่อน

ปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่าง พล.อ.เปรม กับ พล.อ.อาทิตย์ แม้เรื่องจะผ่านมาแล้ว เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การลดค่าเงินบาทที่ พล.อ.อาทิตย์ไม่พอใจรัฐบาลอย่างรุนแรง แต่อาจจะทำให้พล.อ.อาทิตย์เกิดความรู้สึกว่าท่านได้พ่ายแพ้ทั้งสองครั้งสองครา

เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่มีกระแสข่าวในช่วงนั้นว่าพรรคฝ่ายค้านจับมือกับทหารใหญ่บางคนกำลังหาทางบีบ พล.อ.เปรมให้ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ที่สำคัญ การต่ออายุราชการให้ พล.อ.อาทิตย์รอบสองยังคาราคาซังอยู่ หลังจากต่อให้คราวที่แล้วจะสิ้นสุดในวันที่ 31 สิงหาคม 2529

ปัญหานี้ พล.อ.เปรมจะจัดการอย่างไร

 

การปลดชนวนนี้ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ เพราะ พล.อ.อาทิตย์ควบทั้ง 2 ตำแหน่ง คุมทั้ง 3 เหล่าทัพ ศูนย์อำนาจยังเหนียวแน่นอยู่มาก จนยากที่จะเขย่าสำเร็จ

ในระหว่างนี้ ทหารฝ่าย พล.อ.อาทิตย์ออกมากดดัน พล.อ.เปรมตลอดเวลา พล.อ.จุไท แสงทวีป รองผู้บัญชาการทหารบก จัดแถลงข่าวที่หอประชุมกองทัพบก เร่งรัฐบาลต่ออายุให้กับ พล.อ.อาทิตย์ โดยขู่เป็นนัยว่าถ้าปล่อยให้ถึงเดือนเมษายนอากาศมันร้อน

ร้อนหรือไม่ร้อน พล.อ.เปรมไม่ได้สนใจ ท่านมีวิธีการจัดการของท่าน โดยไม่ปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อถึงเดือนเมษายนและก็ไม่ได้ทำตามคำขู่ของ พล.อ.จุไทด้วย

14 มีนาคม 2528 พล.อ.เปรมประกาศชัดไม่ต่ออายุให้ พล.อ.อาทิตย์ นั่นหมายความว่า พล.อ.อาทิตย์จะได้นั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปจนสิ้นสุดการต่ออายุราชการในปี 2529

การปลดชนวนระเบิดเวลาครั้งนี้ของ พล.อ.เปรมทำได้เฉียบขาดมาก ทหารฝ่าย พล.อ.อาทิตย์ เช่น พล.อ.จุไทก็ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน แม้กระทั่ง พล.อ.อาทิตย์ซึ่งปกติท่านจะโผงผาง ไม่ค่อยจะยอมคน แต่ครั้งนี้กลับเงียบ

คงรู้สถานการณ์ดีว่าขัดขืนไปก็เท่านั้น ไม่มีทางที่จะเอาชนะ พล.อ.เปรมได้เลย การนิ่งของ พล.อ.อาทิตย์ทำให้คนเข้าใจว่าท่านคงรู้ชะตากรรมตัวเองดี จึงต้องประคองตัวเพื่อรอถึงวันเกษียณเท่านั้น

แต่จริงๆ แล้วไม่เลย ความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านคือ พรรคชาติไทยมีกระแสข่าวมาตลอดว่าได้รับการสนับสนุนจากทหารใหญ่บางคน เพื่อต้องการบีบ พล.อ.เปรมให้พ้นจากตำแหน่ง

 

เมื่อใช้กำลังทหารทำรัฐประหารไม่สำเร็จ จึงเหลือทางเดียวคือ การใช้วิถีทางรัฐสภา ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ บีบให้ พล.อ.เปรมลาออก เพราะท่านไม่ชอบที่จะให้ไปพูดในสภา และยอมไม่ได้เช่นกันที่จะให้ ส.ส.ยืนด่าท่านกลางสภา

ถึงเกิดข่าวลือมาตลอดว่าท่านจะลาออกจากตำแหน่งทุกครั้งที่ถูกฝ่ายค้านกดดันหนักๆ เข้า แต่ทหารและพรรคร่วมรัฐบาลให้กำลังใจและยืนยันสนับสนุนท่านตลอดมา

ในช่วงนั้นเราจึงได้เห็นทหาร “ตบเท้า” ไปให้กำลังใจและแสดงพลังสนับสนุน พล.อ.เปรมที่บ้านสี่เสาฯ ประจำ โดยไม่เลือกจะเป็นวันเกิดของท่านหรือวันปีใหม่หรือไม่

จนกลายเป็นเรื่องปกติเมื่อถึงวันเกิดของท่านหรือวันปีใหม่ คณะรัฐมนตรีและข้าราชการผู้ใหญ่ก็จะไปอวยพรท่านที่บ้านสี่เสาฯ

พล.อ.เปรมก็จะให้โอวาท ขอให้ทุกคนทำความดี มีความสุข ความเจริญ ส่วนผู้บัญชาการเหล่าทัพก็จะประกาศสนับสนุนยืนเคียงข้างท่าน

ทำให้ความอึมครึมทางการเมืองสลายไปได้

 

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการถอดสลักระเบิดเวลาเรื่องการไม่ต่ออายุให้ พล.อ.อาทิตย์ใช่ว่าจะทำให้ พล.อ.เปรมลดแรงกดดันจากทหารบางส่วน ในสถานการณ์ที่ยังคุกรุ่นซึ่งเพิ่งจะผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมา 2 ครั้ง และความขัดแย้งในระดับนำยังดำรงอยู่ย่อมทำให้ พล.อ.เปรมไม่ไว้วางใจใครทั้งนั้น

เคยมีบทเรียนมาแล้ว ขนาดคนใกล้ชิดและเคยสนับสนุนท่านก็ยังคิดที่จะโค่นอำนาจท่านได้เลย

ในส่วนของการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลนั้นดูเหมือนว่าจะมีความขัดแย้งทั้งในพรรคและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน เมื่อผสมโรงกับพรรคฝ่ายค้านที่ขย่มรัฐบาลไม่หยุดหย่อนก็ยิ่งสร้างปัญหาให้กับรัฐบาล

และที่สุดรัฐบาลเปรม 4 ถึงคราวต้องอวสาน ไปต่อไม่ได้

 

กล่าวคือ วันที่ 1 พฤษภาคม 2529 รัฐบาลเสนอพระราชกำหนด 9 ฉบับเข้าสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏว่าพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 (2529) ได้เสียงสนับสนุน 142 เสียง คัดค้าน 147 เสียง รัฐบาลแพ้โหวตหวุดหวิด 5 เสียง

เป็นเหตุให้ พล.อ.เปรมประกาศยุบสภาในค่ำวันเดียวกันและให้มีเลือกตั้งใหม่วันที่ 27 กรกฎาคม 2529

สาเหตุที่รัฐบาลแพ้โหวตในสภาคงมาจากปัญหาความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล แต่การไม่ต่ออายุให้ พล.อ.อาทิตย์จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเสียงสนับสนุนรัฐบาลหรือไม่นั้นไม่อาจคิดได้

แต่ที่แน่ๆ รัฐบาลรู้ล่วงหน้าว่าพระราชกำหนดฉบับนี้มีปัญหา อาจจะถูกคว่ำในสภา เนื่องจากนายบรรหาร ศิลปอาชา เลขาธิการพรรคชาติไทยในขณะนั้นได้เตือนคนของรัฐบาลก่อนไปอังกฤษว่าให้ระวังกฎหมายฉบับนี้จะไม่ผ่านสภาแน่นอน

 

หลังจากยุบสภาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 ไม่ถึงเดือนและยังไม่ทันได้เลือกตั้งด้วยซ้ำ ก็ถึงคราวที่ พล.อ.เปรมได้ตัดสินใจสำคัญอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ถือว่า พล.อ.เปรมเสี่ยงกว่าทุกครั้งเมื่อเปรียบเทียบการลดค่าเงินบาท รวมไปถึงกรณีกองทัพเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลไม่เห็นด้วยก็ตาม

และดีไม่ดีถ้าตัดสินใจผิดพลาด อาจส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของท่านรวมไปถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม 2529 ด้วย

นั่นคือคำสั่ง “ปลด” พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เหลือตำแหน่งเดียวคือผู้บัญชาการทหารสูงสุด คำสั่งลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2529 พร้อมกับแต่งตั้ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เสนาธิการทหารบกเป็นผู้บัญชาการทหารบก

ขณะนั้นหนังสือพิมพ์รายวันพาดหัวข่าวตัวไม้ขึ้นหน้าหนึ่งทุกฉบับว่า “ปลด” พล.อ.อาทิตย์

การปลด พล.อ.อาทิตย์เจ้าของฉายา “บิ๊กซัน” ถ้าเป็นคนอื่นคงไม่กล้าทำ เพราะท่านควบ 2 ตำแหน่งทั้งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด หลังปราบคณะผู้ก่อการรัฐประหาร พล.อ.อาทิตย์ยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาพระนคร มีอำนาจสั่งการทั้ง 3 เหล่าทัพรวมทั้งตำรวจด้วย

แต่เพราะความเป็น พล.อ.เปรมนี่เองจึงทำให้เรื่องใหญ่ๆ สำคัญแบบนี้เกิดขึ้นได้

อยากตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องปลด พล.อ.อาทิตย์ว่าทำไม พล.อ.เปรมถึงตัดสินใจสั่งปลด พล.อ.อาทิตย์ก่อนเลือกตั้งทั่วไปเพียง 3 เดือนเท่านั้น ทำไมไม่รอให้มีรัฐบาลใหม่ถึงค่อยจัดการ จึงได้แค่สงสัยว่าเรื่องนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือเปล่า

เพราะถ้าไม่จัดการก่อน ด้วยความเป็น พล.อ.อาทิตย์ซึ่งมีบทบาทและเพื่อนฝูงอยู่มาก อาจจะส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อการเลือกตั้งก็ได้

 

สํหรับผลเลือกตั้งวันที่ 27 กรกฎาคม 2529 ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ 100 เสียง ชาติไทย 63 เสียง กิจสังคม 51 เสียง สหประชาธิปไตย 38 เสียง ประชากรไทย 24 เสียง รวมไทย 19 เสียง ราษฎร 18 เสียง กิจประชาคม 15 เสียง เป็นต้น

พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคใหญ่รวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นสนับสนุน พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบเป็นรัฐบาลเปรม 5 ประกอบด้วย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย กิจสังคม ราษฎร

สาเหตุที่พรรคชาติไทยได้ร่วมรัฐบาลเปรม 5 ทั้งๆ ที่ตอนเป็นฝ่ายค้านพรรคชาติไทยได้เดินสายโจมตี พล.อ.เปรมนอกสภามาตลอด เป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคจาก พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร มาเป็น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นั่นเอง

ถ้าไม่เปลี่ยนหัวหน้าพรรค โอกาสที่พรรคชาติไทยจะได้ร่วมรัฐบาลแทบไม่มีเลย เนื่องจาก พล.อ.เปรมไม่พอใจกรณีของ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร

รัฐบาลเปรม 5 ทำท่าจะบริหารด้วยความราบรื่น เนื่องจากมีเสียงสนับสนุนในสภามาก ความกดดันจากทหารก็ไม่มีเมื่อจัดการกรณีของ พล.อ.อาทิตย์ได้เรียบร้อยแล้ว คลื่นลมทางการเมืองน่าจะสงบไปพักใหญ่

แต่คาดการณ์ผิดหมด รัฐบาลเปรม 5 ไม่ได้แตกต่างกับรัฐบาลเปรมชุดที่ผ่านๆ มาซึ่งมักจะมีปัญหาความขัดแย้งภายในของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาล

เมื่อเห็นว่าเข็ญต่อไม่ไหว พล.อ.เปรมก็ใช้วิธียุบสภาเลือกตั้งใหม่