จิ๋วเล่าเรื่องป๋า : กลุ่ม 5 พี คือใคร? สำคัญแค่ไหนต่อรัฐบาลเปรม

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เล่าเรื่อง / บุญกรม ดงบังสถาน เรียบเรียง

เปิดตัวกลุ่ม 5 พีเป็นใคร

ในตอนนั้นต้องยอมรับว่าแม้รัฐธรรมนูญใหม่ได้ประกาศใช้แล้ว มีเลือกตั้งทั่วไปและประกาศผลพรรคไหนได้จำนวน ส.ส.เท่าไรแล้ว แต่ทหารก็ยังไม่พร้อมที่จะปล่อยให้พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งคงจะเกี่ยวกับความมั่นคง

เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ การต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์รัฐบาลยังไม่สามารถเอาชนะได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ทหารเลยไม่วางใจปล่อยให้มีรัฐบาลพลเรือน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงเป็นตัวเลือกที่มีความเหมาะสมที่สุดในขณะนั้นให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ การเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรมไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2521 นั้น “คนนอก” เป็นนายกรัฐมนตรีได้

เนื่องจาก พล.อ.เปรมไม่ใช่นักการเมือง ไม่มีพรรคเป็นของตัวเอง จึงมีอิสระในการจัดวางตำแหน่งรวมทั้งการทาบทามผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.เปรมมีท่าทีประนีประนอมและประสานประโยชน์มากกว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ประกอบกับพรรคการเมืองให้ความไว้วางใจมอบสิทธิ์ให้ท่าน ทำให้สามารถดึงกลุ่มบุคคลที่หลากหลายเข้าช่วยงานท่านได้มาก

เหนืออื่นใดตอนนั้น พล.อ.เปรมเป็นผู้บัญชาการทหารบกและเพิ่งจะพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาไม่นาน อำนาจบารมีจึงมีมากอย่างเต็มเปี่ยม ไม่มีใครจะเหนือกว่าท่านอีกแล้วในขณะนั้น

คือ ได้รับการยอมรับทั้งจากนักการเมือง กองทัพและประชาชน มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ในสถานการณ์ประเทศมีปัญหา ถูกคุกคามจากภายในและภายนอกประเทศ มีการประท้วงในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ หลายฝ่ายจึงเห็นว่า พล.อ.เปรมเป็นบุคคลที่เหมาะสมต่อสถานการณ์และเต็มใจที่จะช่วยงานท่าน

สิ่งสำคัญคือ ยึดมั่น ถือมั่น มีความตั้งใจสูงที่จะทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่มีประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนผ่านการจัดตั้งรัฐบาลของ พล.อ.เปรมอย่างเห็นได้ชัด

ท่านตัดสินใจเด็ดขาด ไม่ลังเล ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก ใครก็ตามทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง ท่านไม่เอาไว้ แม้คนนั้นจะเป็นรัฐมนตรีว่าการสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม

สื่อมวลชนจึงตั้งฉายาให้ท่านว่าเป็น “นักฆ่าลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นคนตรงไปตรงมาของท่าน ซื่อสัตย์ สุจริต เมื่อเห็นว่าผิด ท่านก็จัดการทันที ไม่ลูบหน้าปะจมูก

 

นอกเหนือจากนักการเมืองแล้ว บรรดา “เทคโนแครต” หรือผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเก่งๆ มากคนถูกดึงเข้าไปช่วยงานรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีบ้าง ที่ปรึกษาบ้าง พล.อ.เปรมท่านมีทีมที่ปรึกษาหลายคณะ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น

ปกติแล้ว พล.อ.เปรมให้อิสระในการศึกษา ออกความเห็น เมื่อที่ปรึกษาให้ความเห็นหรือเสนอแนะอะไรท่านจะรับฟัง แต่อำนาจตัดสินใจอยู่ที่ตัวท่าน

มีทีมที่ปรึกษาชุดหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญมาก ทำงานใกล้ชิด พล.อ.เปรม ประสานงานทั้งกับรัฐบาลและกองทัพ ถ้า พล.อ.เปรมมีนโยบายหรือต้องการแก้ปัญหาอะไร ท่านก็จะส่งผ่านมาที่ที่ปรึกษาชุดนี้

เพราะทำงานใหญ่ เกี่ยวกับความมั่นคง การทำงานของที่ปรึกษาชุดนี้จึงค่อนข้างจะเป็นความลับ

มีสื่อต่างประเทศเรียกที่ปรึกษาคณะนี้ว่าเป็น “กลุ่ม 5 พี” ซึ่งถ้าตั้งชื่อตามอักษรตัวแรกของที่ปรึกษายังถือว่าไม่ถูกต้อง

เพราะผมก็เป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาชุดนี้และมีอาวุโสน้อยกว่าใคร

 

ทีมที่ปรึกษามี พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและเป็นเพื่อนสนิท พล.อ.เปรมเป็นหัวหน้าทีม ส่วนคนอื่นๆ ประกอบด้วย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คุณปิยะ จักกะพาก อธิบดีกรมประมวลข่าวกลาง พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และผม

ตอนหลังมี พล.ต.อ.เภา สารสิน เลขาธิการ ป.ป.ส. และคุณอาสา สารสิน จากกระทรวงการต่างประเทศเข้ามาสมทบอยู่ในทีมชุดนี้ด้วย เรามีการประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศ เอาข้อมูลข่าวสารมาวิเคราะห์ รวมทั้งภารกิจที่ พล.อ.เปรมมอบหมายให้มาทำ

บทบาทที่ปรึกษาชุดนี้มีความสำคัญอย่างไร คุณปิยะ จักกะพาก เล่าไว้ในหนังสือ “โลกสีขาว”

ดังนี้

 

ทีมงานชุดนี้ทำงานให้ป๋าทุกอย่าง ทั้งเรื่องการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ ต่างประเทศ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลข่าวสารเสนอให้ป๋าตัดสินใจ “เราทำให้ท่านทุกอย่าง เรื่องคอมมิวนิสต์ เรื่องพรรคการเมือง เราทำเข้าแฟ้ม ข่าวต้องก้าวหน้าอยู่เรื่อย”

แม้กระทั่งแชร์แม่ชม้อยที่โด่งดังในสมัยนั้นและมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ระดับนายพลหลายคนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย คณะทำงานชุดนี้ยังต้องจัดการแก้ปัญหาให้ป๋าจนกระทั่งเรียบร้อย

“บางเรื่องเกี่ยวข้องกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องเชิญประธานองคมนตรี นายกฯ มาหมดเลย ดังนั้น หลายเรื่องจึงเปิดเผยไม่ได้”

คณะทำงานชุดนี้ประชุมกันทุกอาทิตย์ เรียกหน่วยข่าวมาประชุม สรุปปัญหาและแก้ไขปัญหาให้รัฐบาล หากมีเรื่องต่างประเทศก็จะให้คุณอาสา สารสิน รับผิดชอบไป

เช่นเดียวกับเรื่องของการเมืองและทหาร ก็เป็นหน้าที่ของ พล.อ.ชวลิตที่จะต้องรับไป คณะทำงานจะประชุมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูล เมื่อได้ข้อตกลงใจแล้วก็จะประสานสั่งการออกไปทันที

ยกตัวอย่างการทลายแหล่งผลิตยาเสพติดของขุนส่า พล.อ.เปรมสั่งการมากับ พล.อ.ชวลิต หลังจากต่างประเทศซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาได้แสดงความวิตกกังวลต่อปัญหายาเสพติด

โดยเฉพาะโรงงานผลิตยาเสพติดรายใหญ่แถบบริเวณชายแดนไทย-พม่า ที่มีขุนส่า เจ้าพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ควบคุมอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยไม่สามารถทำอะไรขุ่นส่าได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่รอยต่อของสองประเทศ และขุนส่าก็มีกองกำลังติดอาวุธคอยคุ้มกันอยู่ การทลายโรงงานผลิตยาเสพติดของขุนส่าจึงทำได้ยากลำบาก

คุณปิยะเล่าอีกว่า เมื่อ พล.อ.ชวลิตรับบัญชาจาก พล.อ.เปรมมา จึงมีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะทำงาน เชิญเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมประมวลข่าวกลาง ป.ป.ส.มาประชุม เอาข้อมูลข่าวสารมาแลกเปลี่ยนกัน เมื่อได้ข้อยุติว่าจะต้องใช้กำลังทหารเข้าไปปฏิบัติการ ก็เป็นหน้าที่ของ พล.อ.ชวลิตที่จะประสานกับกองทัพต่อไป

“คณะทำงานชุดนี้ได้ทำงานให้กับป๋าและชาติบ้านเมืองหลายอย่าง เราทุกคนมีความเข้าใจกันและรับผิดชอบ เพราะเป็นภารกิจเพื่อชาติบ้านเมือง”

 

เช่นเดียวกับคุณประสงค์ สุ่นศิริ หนึ่งในคณะทำงานเล่าว่า

ยาเสพติดในตอนนั้นเห็นว่าถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุ ปัญหาก็จะไม่สิ้นสุด จากข้อมูลข่าวกรองต่างๆ ที่กรมประมวลข่าวกลางส่งเข้ามาและแลกเปลี่ยนข่าวสารกับข่าวกรองของต่างประเทศ ก็มีความเห็นว่าโรงงานผลิตยาเสพติดมีอยู่มากบริเวณชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขุนส่าซึ่งตอนนั้นเข้ามาตั้งอยู่ที่บ้านหินแตก

“ประชุมหารือกันและป๋าเปรมก็ฟังจากพวกเรา ผลสุดท้ายต้องใช้กำลังทหารเข้าไปกดดันในพื้นที่ชายแดนและใช้กำลังทางอากาศโจมตีโรงงานผลิตยาเสพติดตั้งแต่เชียงราย มาเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน”

ในส่วนของการปฏิบัติการนั้นใช้กำลังของรบพิเศษบวกกับทหารพรานค่ายปักธงชัยรวมกำลังพลทั้งหมด 62 นาย นำโดย พ.อ.อรพันธ์ วัฒนวิบูลย์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 2 ลพบุรี (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น ปัจจุบันยศพลเอก เกษียณแล้ว)

พล.อ.อรพันธ์ วัฒนวิบูลย์ เล่าว่า เมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาจึงจัดกำลังคัดเลือกมือดี มีความเข้มแข็ง กล้าหาญ เราถูกผู้ใหญ่กำชับมาให้ใช้กำลังน้อย เพราะเป็นการทำงานที่ล่อแหลม โดยจัดรูปแบบหน่วยจู่โจมเฉพาะกิจเรียกว่า “หน่วยเฉพาะกิจเสือดำ” และเรียกยุทธการบ้านหินแตก

เมื่อทุกอย่างพร้อมจึงนำกำลังเข้าปฏิบัติการเมื่อปลายเดือนกันยายน 2524 แม้จะจับขุนส่าไม่ได้ เนื่องจากมีกำลังติดอาวุธและหลบหนีไปก่อน แต่ก็สามารถทำลายโรงงานผลิตยาเสพติดได้ทั้งหมด

 

ทั้งหมดที่ผมนำมากล่าวนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนานแล้ว แต่ที่ต้องอ้างถึงเพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า พล.อ.เปรมนั้นท่านมีที่ปรึกษาหรือทีมงานหลายคณะ แต่ละคณะก็มีความรับผิดชอบต่างกันไป เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง เป็นต้น เมื่อสั่งการแต่ละเรื่อง พล.อ.เปรมจะติดตามความคืบหน้าตลอด ไม่มีลืม

หรือแม้แต่เรื่องที่ท่านไม่ได้สั่งเอง เป็นคณะทำงานศึกษาเสนอขึ้นไป ท่านก็จะรับฟัง ซึ่งทุกคนสามารถให้ความเห็นได้ พล.อ.เปรมไม่ใช่คนที่มีอัตตาสูง ท่านจะนิ่ง ฟัง ไม่มีอารมณ์ฉุนเฉียวเวลาคำพูดหรือข้อเสนอแนะอาจจะไม่ถูกใจท่าน เมื่อได้ข้อตกลงแล้วท่านก็จะตัดสินใจแล้วสั่งการให้ไปปฏิบัติทันที

หลายเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ หากตัดสินใจไม่ดีอาจจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือกับตัวท่าน พล.อ.เปรมเอง แต่ท่านไม่ได้วิตกในสิ่งเหล่านี้ เพราะท่านบริสุทธิ์ใจ ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวหรือต้องการมีอำนาจเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว พวกพ้องหรือคนใกล้ชิดท่าน

ดังนั้น การตัดสินใจของท่านจึงปลอดโปร่ง กล้าหาญและพร้อมที่จะรับผิดชอบกับผลที่จะตามมา

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงได้เห็นการลดค่าเงินบาท ปลดรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าไม้ซุงพม่า ปลดผู้บัญชาการทหารบกในสมัย พล.อ.เปรม