เสียงสะท้อน หลัง พล.อ.ประวิตรลงใต้ | กระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้ต้องปฏิรูป ?

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าได้รายงานว่า วันนี้ 26 ตุลาคม 2562 ที่อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามงานพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

รับฟังบรรยายสรุปจาก พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

รวมทั้งได้รับฟังข้อเสนอแนะเพื่อเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดและผลักดัน โดยมี พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมด้วยส่วนราชการในพื้นที่และประชาชนร่วมให้การต้อนรับ

ภายหลังรับฟังบรรยายสรุป รองนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เยี่ยมชมนิทรรศการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและประสบความสำเร็จวิสาหกิจ

จากนั้นร่วมรับฟังความก้าวหน้าการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วยการขับเคลื่อนโครงการปลูกไผ่เศรษฐกิจ “พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต” ที่เน้นการทำเกษตรผสมผสานเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมีรายได้รายวัน รายเดือนและรายปี รวมทั้งเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาความยากจนให้เป็นระบบและครบวงจร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชนที่ต้องดีกว่าเดิมและเพิ่มช่องทางรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรร่วมกับการปลูกพืชเดิมที่สำคัญ

พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบพันธุ์ไผ่ให้กับตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 10 ราย พร้อมกล่าวให้กำลังใจแก่เครือข่ายเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่

รวมทั้งได้เยี่ยมชมการแสดงนิทรรศการผลิตภัณฑ์และการแปรรูปไผ่ในรูปแบบต่างๆ

จากนั้นได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือการส่งเสริมการปลูกกาแฟครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่าได้รับทราบงานนโยบายของรัฐบาลที่นำไปปฏิบัติในพื้นที่จนเกิดเป็นผลสำเร็จหลายโครงการ รวมทั้งการเตรียมการไว้เพื่อดำเนินการในระยะต่อไป

ส่วนราชการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน โครงการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่หลากหลายให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้รายวัน รายเดือน รายปี ให้ได้ผลเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังจะมีการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมแห่งแรกของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาสินค้าฮาลาล ผ่านการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้เป็นสินค้าที่มีความหลากหลายและผลิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับประชาชน

รวมทั้งการขยายผลให้เกิดผลิตผลด้านศิลปะและแฟชั่นมุสลิมไปยังฐานการทำงานในหมู่บ้านให้เป็นไปตามแนวคิด Taobao Village Model และต่อยอดไปยังสถาบันการศึกษาให้เป็นแบบ Taobao University ที่เป็นสถาบันดีไซน์และแฟชั่นสำหรับมุสลิมทั้งภูมิภาคเอเชีย/โลก

เพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเชื่อมไทยและเชื่อมโลกได้อย่างแท้จริง

สำหรับด้านการพัฒนาสังคมจะเร่งรัดการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการป้องกัน และการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพื่อเดินหน้าเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

ผู้นำศาสนาและสถานศึกษาต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติด

ด้านการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกฝ่าย ทุกคน จะต้องร่วมใจกันสืบสาน รักษา ต่อยอดให้เป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

สำหรับประเด็นการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญให้มากที่สุด

การทำงานต้องเชื่อมโยงการพัฒนาเข้าสู่งานอาชีพ ผ่านโครงการของรัฐที่ทำงานร่วมกับเอกชน อาทิ โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทั้ง 4 เมืองต้นแบบ ต้องสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับเยาวชนในพื้นที่ได้

รวมทั้งได้ขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานสตรีและเด็กจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นศูนย์กลางการนำ NGOs

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการต่อจากนี้ โดยถือเป็นนโยบายสำคัญของงานพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่สำคัญ ทั้งการออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกินและการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ นอกจากนโยบายในการชดเชยราคาสินค้าเกษตรแล้ว จะต้องเสริมสร้างกลุ่มวิสาหกิจในพื้นที่ทำการแปรรูปสินค้า

เบื้องต้นได้ให้สำนักงานสวนอุตสาหกรรม เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่

นอกจากนี้จะส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานมากขึ้นในพื้นที่ โดยส่วนราชการจะทำหน้าที่การตลาดและเป็นพี่เลี้ยงให้กับประชาชนอย่างเต็มกำลัง

รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวทิ้งท้าย

จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีๆ ทั้งนั้นที่ท่านได้รับรายงาน และสื่อก็พาดหัวว่า

“บิ๊กป้อมชี้งานชายแดนใต้ก้าวหน้า เศรษฐกิจดีขึ้น ความรุนแรงลดลง”

แต่ก็มีเสียงระเบิดที่อำเภอบันนังสตาจังหวัดยะลา (https://workpointnews.com/2019/10/26/southern-border-provinces/)

ท่านพูดว่าสถานการณ์ในวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ได้รับทราบงานนโยบายของรัฐบาลที่นำไปปฏิบัติในพื้นที่จนเกิดเป็นผลสำเร็จหลายโครงการ ทั้งๆ ที่ช่วงดังกล่าวก็มีเสียงระเบิดที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

อย่างไรก็แล้วแต่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงสะท้อนที่ท่านยังไม่ถูกรายงานก็มีมากมาย (แต่ท่านคงรู้ข่าวในเชิงลึก) ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอเพื่อผู้รับผิดชอบนำไปปรับปรุง

ดังนี้

1.ความรุนแรงลดเพียงสถิติ แต่คนของรัฐยังโดนหมายความว่าอย่างไร

จะให้ประชาชนสบายใจ อยู่เป็นสุขและคิดอย่างไร

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เพราะขนาดวันที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่และหลังจากท่านเดินทางกลับยังมีระเบิดต้อนรับ

อีกอย่าง ภาพที่สื่ออย่างไทยพีบีเอสรายงานข่าวว่า “เจ้าหน้าที่วางกำลังคุมเข้มตลอดเส้นทางหลวงสาย 418 ปัตตานี-ยะลา ระหว่างการเดินทางลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ใน จ.ยะลา เพื่อติดตามงานด้านการพัฒนาพื้นที่ จว.ชายเเดนภาคใต้ เเละตั้งสวนอุตสาหกรรมในสามจังหวัด (โปรดดู https://www.facebook.com/?/pcb.269468448?/2694692583915008/?) แสดงถึงความไม่รู้สึกปลอดภัยยังสูงอยู่

หากพิจารณาปัจจุบันพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ซึ่งถือเป็นคนของรัฐอยู่ทั้งสิ้น 164 แห่ง จากเป้าหมายทั้งหมด 288 ตำบล

โดย ชคต.ก่อตั้งขึ้นในปี 2556 ตามแผนการถ่ายโอนภารกิจการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ จากทหารหลักสู่กองกำลังประจำถิ่นและกองกำลังประชาชน

อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายปกครอง และบรรจุ อส.เข้าไปเสริมปฏิบัติการ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยให้กับชุมชนของตนเอง โดยมีภาครัฐสนับสนุนและให้สวัสดิการ

สถาบันข่าวอิศราได้สรุปสถิติปี 2562 พบว่าชุดคุ้มครองตำบลยังเป็นเป้าหมายโจมตีไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งไม่นับปีอื่นๆ อีกหลายครั้ง (ปี 2556 5 ครั้ง 2557 ไม่มี ปี 2558 2 ครั้ง 2559 3 ครั้ง 2560 8 ครั้ง 2561 10 ครั้ง)

กล่าวคือ 10 มกราคม 2562 มีคนร้ายก่อเหตุยิงเจ้าหน้าที่ อส.ชุดคุ้มครองตำบลประจันเสียชีวิต 4 นาย ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ รปภ.โรงเรียนบ้านบูโกะ หมู่ 5 ต.ประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี

2 เมษายน 2562 มีคนร้ายซุ่มยิงฐานชุดคุ้มครองตำบลดอน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ

23 กรกฎาคม 2562 มีคนร้ายบุกโจมตีจุดตรวจและฐานปฏิบัติการ ชคต.บ้านกอแลปิเละ ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ทำให้ทหาร ชรบ. และ อส. เสียชีวิตรวม 4 นาย

16 กันยายน 2562 มีคนร้ายลอบวางระเบิดดักสังหารเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองตำบลนาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ขณะทำหน้าที่ รปภ.ครูกลับบ้าน ทำให้ อส.เสียชีวิต 2 นาย

จากที่ชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ซึ่งถือเป็นคนของรัฐยังโดนถล่มซึ่งนักวิชาการที่ศึกษาความรุนแรงชายแดนใต้สรุปตรงกันว่าน่าจะมาจากผู้เห็นต่างจากรัฐที่ใช้กำลังอาวุธ ที่มีเป้าหมายทางการเมืองเรื่องเอกราชหรือรัฐไทยเรียกว่าแบ่งแยกดินแดน

ข้อเสนอแนะ (ส่วนหนึ่งปรับจากรายงานนักวิชาการจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ https://deepsouthwatch.org/th/node/11899) คือ

จริงอยู่ จำนวนเหตุการณ์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์โดยภาพรวมดีขึ้น ในขณะเดียวกันยังคงมีความสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะเหตุที่เกี่ยวข้องกับผู้เห็นต่างจากรัฐที่ใช้กำลังอาวุธ ที่กระทำต่อชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) และหน่วยความมั่นคงไม่ว่าทหารหรือตำรวจตามปรากฏเป็นข่าว

ซึ่งนักวิชาการจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้มองว่า

“เนื่องจากยังไม่มีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกกลุ่ม”

เพราะฉะนั้น การหาวิถีทางเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุขกับทุกกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐโดยเฉพาะกลุ่มติดอาวุธมีความสำคัญสำหรับการลดจำนวน เหตุการณ์ความรุนแรง และเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวในระยะสั้น

อำเภอใดที่มีจำนวนเหตุการณ์รุนแรง เช่นอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ควรได้รับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จากทั้งภาครัฐและประชาสังคมเพื่อคอยคลี่คลายสถานการณ์ หลังจากพื้นที่นี้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์จำนวนมาก

ในขณะที่พัฒนาการทางการเมืองมีการเปิดกว้างมากขึ้นหลังมีการเลือกตั้งแต่นักวิชาการและประชาสังคมบางคนกลับถูกฟ้องจากแม่ทัพภาคที่สี่อันจะส่งผลต่อปัจจัยเอื้อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ/สันติสุข ในขณะที่กระบวนการสันติภาพซึ่งไทยได้เปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุย

ซึ่งคาดการณ์ว่ารัฐบาลใหม่มาเลเซียภายใต้การนำของอันวาร์ อิบรอฮีมก็จะมีการเปลี่ยนตัวนายรอฮีม นูร์ เช่นกัน (จากการเปิดเผยของคณะทำงานท่านอันวาร์ อิบรอฮีม ซึ่งเชิญผู้เขียนร่วมในเวทีเสวนา “Peaceful Coexistence Strengthening The Malaysia-Thailand Relationship” ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 23 ตุลาคม 2562)

2.กระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้ต้องปฏิรูป

ตลอด 15 ปี ไฟใต้ต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมมีปัญหา อันเป็นปัจจัยเอื้อให้เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายพิเศษ

ก่อนรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงมาในพื้นที่นั้น กำลังถามหาความยุติธรรมเช่นกรณีการตายของอับดุลเลาะ อิซอมุสอสั งคมกำลังตั้งคำถาม

แม้แต่นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลาที่ยิงตัวตายในศาลยังถูกแทรกแซง

หรือว่าวันที่ 25 ตุลาคม 2562 วันครบรอบ 15 ปีโศกนาฏกรรมตากใบ คำถามผู้คนทั้งไทยและเทศยังคงถามหาความยุติธรรม ซึ่งสอดคล้องกับทัศนะ “อันวาร์ อิบรอฮีม” กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปตานี “สันติภาพต้องคู่กับความยุติธรรม” ซึ่งท่านพูดในเวทีเสวนา “Peaceful Coexistence Strengthening The Malaysia-Thailand Relationship” ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีตัวแทนนักวิชาการ ประชาสังคมชายแดนภาคใต้ ประเทศมาเลเซีย ประมาณ 50 คน (รวมทั้งผู้เขียน) ร่วมเสวนาในประเด็นกระบวนสันติภาพชายแดนใต้เพื่อให้ได้สันติภาพอย่างครอบคลุมยั่งยืนในประเด็น สังคม ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การพัฒนา และการศึกษา

(โปรดดูรายละเอียดที่ผู้เขียนได้รายงานใน http://spmcnews.com/?p=21157&fbclid=IwAR3REWGTEXO_flIBMMhBLKa1gsNBZmu76EhcUQ4JWyY-MNhh7vc24Sld_m4)

กล่าวโดยสรุปที่รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังไม่ได้รับฟังจากรายงานคือ ข้อเสนอทุกภาคส่วนให้รัฐปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้เป็นข้อเสนอจากเวทีกรุงเทพมหานครและชายแดนใต้