ไทยเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง “อินเดีย-ปากีสถาน” ในบริบทการก่อการร้ายได้อย่างไร? 

ภัยจากการก่อการร้ายถือเป็นประเด็นความมั่นคงร่วมสมัยที่มีอยู่ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ไทยซึ่งมีประสบการณ์กับเรื่องนี้ ทั้งเหตุล่าสุดคือเหตุระเบิดแยกราชประสงค์ในปี 2558 หรือสถานการณ์ยืดเยื้อกว่า 10 ปีที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นเครื่องการันตีปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญเหมือนกับหลายประเทศทั่วโลก

นอกจากภัยการก่อการร้ายที่กระทบกับไทยโดยตรง ไทยก็กลายเป็นพื้นที่สงครามการก่อการร้ายทางอ้อมให้กับกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติที่ใช้ไทยเป็นทางผ่าน สถานที่หลบซ่อนตัวของสมาชิก จุดแลกเปลี่ยน และแม้กระทั่งการปฏิบัติการต่างๆ ทั้งที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความมั่นคง แต่ก็กลับยังมีการเคลื่อนไหวเล็ดลอดผ่านระบบกลไกของไทยได้ง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ

ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มีกลุ่มก่อการร้ายเกี่ยวข้องก็มีหลายประเทศที่เราได้ยินกัน ไม่ว่าอิหร่านที่สนับสนุนกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ หรือกลุ่มไอเอส ที่อาจจะกลับมาหลังการบุกโจมตีชาวเคิร์ดโดยกองทัพตุรกี

แม้แต่ประเทศคู่ขัดแย้งใกล้บ้านเราอย่างอินเดีย-ปากีสถาน สองประเทศคู่รักคู่ชัง ก็มีความเชื่อมโยงกับภัยการก่อการร้ายด้วย

 

ความขัดแย้งระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน มีที่มายาวนานตั้งแต่การประกาศเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษในช่วง 1947 จากประเทศหนึ่ง แตกออกเป็นหลายประเทศ อินเดียและปากีสถานต่างมีข้อพิพาทกันในแคว้นจัมมู-แคชเมียร์

ที่แม้ถึงจะมีมติขององค์การสหประชาชาติแล้วก็ตาม แต่ท่าทีเผชิญหน้ากันของทั้ง 2 ประเทศก็ยังไม่ยุติ และยังคงมีความรุนแรงยืดเยื้อตามมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วไทยไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา สตราเตจิก นิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เว็บไซต์ข่าวความมั่นคงรายงานอ้างว่าหน่วยข่าวกรองของปากีสถานหรือไอเอสไอ ได้บั่นทอนระบบกลไกของไทยเพื่อช่วยนายซายิด มูซาเกียร์ มุดดาสซาร์ ฮุสเซน หรือที่รู้จักกันในชื่อมูฮัมหมัด ซาลีม หรือมุนนา จินกรา คนสนิทของดาวูด อิบราฮิม แห่งกลุ่มก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ “ดี-คัมปะนี” ผู้ต้องสงสัยเหตุระเบิดในนครมุมไมหรือบอมเบย์ในเวลานั้นเมื่อปี 1993

ศาลอุทธรณ์ของไทยได้กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่ตัดสินก่อนหน้านี้ให้ส่งตัวนายจินกราไปยังอินเดีย ซึ่งจินกรากระทำผิด 7 กระทง ตั้งแต่ฆาตกรรม จนถึงครอบครองอาวุธผิดกฎหมาย 

 

ตามข้อมูลของศาลไทยระบุศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินจากคำแถลงที่ให้โดยสถานทูตปากีสถาน ไม่ใช่หลักฐานเชิงเอกสารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคดี

ตั้งแต่ปี 2000 ที่จินกราถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาฆาตกรรมจากการลอบสังหารนายโชตา ราจัน สายลับอินเดียที่เคยร่วมกับดี-คอมปะนี แต่ได้แยกทางกับดาวูดในกรุงเทพฯ โดยนายจินกราเข้าไทยด้วยพาสปอร์ตปลอมภายใต้ชื่อ “โมฮัมหมัด ซาลีม”

นับตั้งแต่ถูกจับกุมดำเนินคดี ไอเอสไอใช้วิธีการต่างๆ เพื่อขออภัยโทษ จนทำให้จินกราถูกลดโทษจากจำคุก 35 ปี ลดลงเหลือ 16 ปี และนายจินกราถูกปล่อยตัวเมื่อปลายเดือนธันวาคมปี 2016

 

แต่เรื่องยังไม่จบ เพราะตามคำร้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนของอินเดีย ทางการไทยจึงจับกุมจินกราอีกครั้ง คราวนี้การต่อสู้ในศาลอินเดียใช้หลักฐานทั้งลายนิ้วมือเพื่อยืนยันสัญชาติของจินกรา รวมถึงตัวอย่างดีเอ็นเอ ในขณะที่ไอเอสไอใช้พาสปอร์ตเพื่อตอบโต้อินเดียในเรื่องการถือสัญชาติ พร้อมกับเตือนทางการไทยว่า การส่งตัวจินกราให้อินเดียจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของไทยกับปากีสถาน

อย่างไรก็ตาม ด้วยหลักฐานที่มี ศาลชั้นต้นตัดสินว่าจินกราถือสัญชาติอินเดียและสั่งให้ส่งตัวกลับไปให้อินเดีย แต่ก็ไม่เกิดขึ้น จนในเดือนสิงหาคมปีที่แล้วได้ยื่นอุทธรณ์อีกครั้ง

ล่าสุดสื่อภาคอังกฤษของไทยรายงานเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า ทางการไทยได้ส่งตัวนายซาลีมให้กับปากีสถานแทนที่จะส่งให้อินเดียตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ แม้ฝั่งอินเดียจะกล่าวว่าผู้ต้องหาถือสัญชาติอินเดียภายใต้ชื่อมุนนา จินกรา ซึ่งเป็นคนที่ทางการอินเดียต้องการตัว เพราะมีความใกล้ชิดกับดาวูด อิบราฮิม 1 ใน 10 ผู้ต้องหาหนีคดีที่กรมสอบสวนกลางของสหรัฐ หรือเอฟบีไอ ต้องการตัวมากที่สุด

ด้านแหล่งข่าวในรัฐบาลอินเดียกังวลว่า กรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยครั้งนี้ นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย จะร่วมการประชุมกับ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนในประเด็นความร่วมมือหลายด้าน

และสำหรับประเทศไทย ต้องติดตามกันต่อไปว่า อินเดียจะหารือกับไทยในเรื่องภัยการก่อการร้ายอันเนื่องจากการส่งตัวซาลีมไปให้ปากีสถานด้วยหรือไม่