ทำไมมุสลิม จึงค้าน “ตรวจสอบประวัตินักศึกษา”

ทำไมมุสลิม จึงค้าน “ตรวจสอบประวัตินักศึกษา”

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

จากกรณีกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 กองบัญชาการตำรวจสันติบาลออกหนังสือขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี อยุธยา และสงขลา ให้ส่งรายชื่อนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม

โดยให้ระบุจำนวนนักศึกษามุสลิม จำแนกตามนิกายและภูมิลำเนาของนักศึกษาว่าอยู่ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ยังขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมของนักศึกษามุสลิมอย่างละเอียด

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ได้รับกระแสต่อต้านจากมุสลิมหลายภาคส่วน

ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี กล่าวต่อเรื่องนี้ว่า

“การเลือกปฏิบัติกับนักศึกษาบางกลุ่ม เหตุเพียงเพราะนับถือศาสนาอิสลาม ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ความมั่นคงดีขึ้น แต่จะทำให้พลเมืองของชาติเดียวกันรู้สึกแปลกแยกต่อกันและกันมากขึ้น สร้างความบาดหมางให้ร้าวลึกมากขึ้น หรือความร้าวลึกแบบนี้คือนิยามความมั่นคงของตำรวจสันติบาล?”

เชคริฎอ อะหมัด สมะดี ประธานมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ (ผู้นำศาสนาอิสลามที่มีอิทธิพลทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมมุสลิม) ตั้งคำถาม ปมสันติบาลส่งหนังสือขอข้อมูลนักศึกษานับถือศาสนาอิสลาม เป็นการกระทำที่ไม่สมควร

โดยได้กล่าวในรายการ อัลบายาน (ทีวีไวท์อันเป็นสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมมุสลิมที่ได้รับความนิยมในหมู่คนหนุ่มสาวมุสลิม) ว่า “คำสั่งแบบนี้ออกจากองค์กรสันติบาล ปกติจริง แต่ความไม่ปกติอยู่ตรงที่ว่า เจาะจงมุสลิม ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม หากให้เก็บข้อมูลนักศึกษาทั้งหมดทุกศาสนาถือเป็นเรื่องที่ดี สมมุติว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ส่วนมากมีนักศึกษามุสลิม สันติบาลควรต้องทราบด้วยว่า มีคนพุทธเท่าไหร่ ลักษณะเช่นนี้มีความชอบธรรม ถ้าเปรียบเทียบประเทศซาอุดีอาระเบียออกหนังสือลับ รายงานนักธุรกิจคนพุทธที่เข้าประเทศซาอุดีอาระเบีย คนนับถือศาสนาพุทธจะรู้สึกอย่างไร”

หนังสือดังกล่าวของสันติบาลอยู่ในระบบราชการ ระดับนายกรัฐมนตรีถูกถามเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีตอบว่า เป็นเรื่องปกติเพื่อจัดหาข้อมูล พูดในฐานะเป็นคนบริหารบ้านเมือง การปฏิบัติคำสั่งแบบนี้ไม่ได้ ไม่ชอบธรรม

1. นักศึกษาที่ไปเรียนต้องระบุศาสนา นิกาย ฉะนั้น มหาวิทยาลัยเป็นสายลับให้สันติบาลหรือ?

2. คนทั่วไปเดินตามถนน ไม่สามารถทราบได้ว่าใครนับถือศาสนาอะไร การนับถือศาสนาระบุอยู่ในเอกสารราชการคือบัตรประชาชนก็จริง แต่ถ้าหากนักศึกษาบางคนไม่ระบุว่านับถือศาสนาอะไรตอนสมัครเข้ามหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ต้องไปทำการสืบค้นหรือไม่?

เพราะนักศึกษาบางคน หรือประชาชนทั่วไป ใช้ชื่อ-นามสกุล อาจจะไม่ได้ชัดเจนว่านับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากใช้ชื่อไทย ไม่ได้ใช้ชื่อภาษาอาหรับ

เชคริฎอกล่าวต่อว่า หากพูดถึงด้านสิทธิมนุษยธรรม ย้อนกลับไป 40-50 ปี สมัยก่อนไปจดทะเบียนที่อำเภอ หากใช้ชื่ออาหรับ เจ้าหน้าที่อำเภอจะไม่จดให้ แม้กระทั่งปัจจุบันการเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาอาหรับ จะมีขั้นตอนขอหลักฐานรับรอง ความหมายและอื่นๆ มากมาย แต่เป็นชื่อภาษาอังกฤษ หรืออื่นๆ เหตุใดจึงไม่มีปัญหา?

เชคริฎอกล่าวอีกว่า “ยกตัวอย่าง กิจการฮัจย์ มุสลิมจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ทำไมต้องถูกควบคุมโดยรัฐ เหตุใดศาสนาอื่น พุทธ ฮินดูจะไปแสวงบุญไม่ต้องถูกควบคุม”

นอกจากนี้ “ศาสนสถานอย่างมัสยิดยังต้องรายงานจำนวนสัปบุรุษให้แก่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยทุกปี การกระทำแบบนี้รัฐทำเพื่ออะไร?”

“ต่อจากนี้หากยังไม่มีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติเตรียมออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ความเสมอภาค”

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาผ่านนักการเมือง

18 กันยายน 2562 ที่รัฐสภา เกียกกาย สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) ได้ยื่นหนังสือต่อนายปิยบุตร แสงกนกกุล ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เรื่องการละเมิดสิทธิและการคุกคามนักศึกษามุสลิมในสถานศึกษา

โดยมี น.ส.พรรณิการ์ วานิช รอง กมธ. และนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ เลขาฯ กมธ. เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

ภายหลังมีการเผยแพร่หนังสือของส่วนราชการหน่วยตำรวจสันติบาล ที่มีใจความเกี่ยวกับการได้รับคำสั่งให้ทำการสืบสวนตรวจสอบและประสานข้อมูลกับมหาวิทยาลัยว่ามีนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามหรือไม่ โดยประกอบไปด้วยจำนวนของนักศึกษามุสลิมนิกายที่นับถือ พื้นที่ภูมิภาคที่อาศัย ครอบคลุมไปถึงการรวมกลุ่มของนักศึกษาผ่านชมรมหรือองค์กรต่างๆ

นายอัสรอฟกล่าวว่า ตามการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดและคุกคามความเป็นอยู่ของนักศึกษาและเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ในเรื่องการมีสิทธิและเสรีภาพอย่างเสมอภาค

การกระทำนี้เป็นการกล่าวหานักศึกษามุสลิมอย่างไม่มีมูล ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความหวาดระแวงในความเป็นอิสลามและเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม

มหาวิทยาลัยควรเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่นักศึกษาจะสามารถแสดงความคิดเห็นและเป็นพื้นที่ที่สามารถคุ้มครองซึ่งสิทธิที่นักศึกษาพึงได้รับ

“ทางกลุ่มเราต้องการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยดำเนินการดังนี้ คือ ขอให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลทบทวนและมีคำสั่งยกเลิกหนังสือดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพราะการเลือกเจาะจงขอข้อมูลเฉพาะนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้นับถือศาสนา และเป็นการแทรกแซงสถาบันการศึกษา หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาความรุนแรงและป้องกันความรุนแรงจากแนวคิดสุดโต่ง ควรต้องเริ่มจากการยอมรับว่าแนวคิดสุดโต่งมีในกลุ่มคนทุกศาสนา และการป้องกันที่ดีที่สุดคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวงและสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ยิ่งทำแบบนี้จะเป็นการเพิ่มความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจของประชาชนมากขึ้น” นายอัสรอฟกล่าว

ส่วนนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ จากพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ตนรับทราบว่า ผู้ปกครองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกเป็นห่วงบุตร-หลานของพวกเขาเป็นอย่างมาก หลังได้รับทราบข่าวนี้ ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมความรู้สึกการถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม อันเป็นต้นเหตุของปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ หากฝ่ายเจ้าหน้าที่เห็นว่าชาวมุสลิมเป็นภัยต่อความมั่นคง ก็ให้ดำเนินการเป็นรายบุคคล แต่อย่าเหมารวมเช่นนี้

ด้าน น.ส.พรรณิการ์กล่าวว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการสร้างความคับข้องใจให้แก่คนมุสลิม และตลอด 15 ปีที่ผ่านมาพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติทางกฎหมายอย่างไม่เท่าเทียม ทั้งกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ กรณีล่าสุดถือเป็นการคุกคามที่มีความรุนแรง เพราะในสถานศึกษาควรจะเป็นที่ที่สิทธิและเสรีภาพถูกคุ้มครอง โดยเราจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาใน กมธ.ต่อไป

การเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมในชายแดนใต้

ในเพจ The Pen อันเป็นสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้ในนามภาคประชาสังคมในพื้นที่หลายองค์กรว่า “การกระทำดังกล่าวเป็นประเด็นอ่อนไหว ที่มีการถกเถียงในกระแสสังคม เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจสืบค้นข่าวกรองเพื่อการติดตาม สอดแนมคนเฉพาะกลุ่มโดยอิงตามศาสนา การกระทำในลักษณะนี้เรียกว่า “religious profiling” และอิงอยู่บนฐานคิดว่าชาวมุสลิมเป็นกลุ่มประชากรที่ต้องสงสัย แปลกแยกจากคนกลุ่มอื่นในสังคม

ปฏิบัติการของกองบัญชาการตำรวจสันติบาลจึงอาจนำไปสู่การตีตรา (stigmatization) นักศึกษามุสลิมให้กลายเป็น “อื่น” และอาจสร้างความขัดแย้งระหว่างศาสนาอันเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประชาชนได้ รวมทั้งการปฏิบัติในลักษณะนี้ขัดต่อมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความเชื่อทางศาสนา

นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of all Forms of Racial Discrimination – ICERD) ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามไว้ ปฏิบัติการนี้จึงไม่มีอำนาจอันชอบธรรมรองรับและขัดต่อกฎหมายไทยและระหว่างประเทศ”

ในขณะที่สภาประชาสังคมชายแดนใต้ (ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลอันดับที่ 2 ระดับประเทศ ในโครงการประกวด นวัตกรรมประชาธิปไตย เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย เชิงคุณภาพ ประจำปี 2562 ณ อาคารรัฐสภาหลังใหม่) มีการนำวาระนี้ถกในเวทีประชุมกรรมการและเครือข่าย เมื่อ 22 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุมมะปริง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีมติให้นำเรื่องนี้ เข้าสู่การขับเคลื่อน และให้เป็นส่วนหนึ่งในข้อเสนอนโยบายสาธารณะของสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ปี 2562 ในประเด็นสิทธิมนุษยชน (20 พฤศจิกายน 2562)

ด้วยเหตุผลที่ว่า สภาประชาสังคมชายแดนใต้เปรียบเสมือนโซ่ข้อกลางที่จะสามารถดึงทุกภาคส่วนของประชาชนร่วมหาทางออกและเสนอนโยบายสาธารณะแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านพื้นที่กลางท่ามกลางความไม่ไว้ใจกันในสงครามความรู้สึก

เสนอแนะ “สร้างพื้นที่กลาง ด้วยเหตุและผล”

สําหรับเรื่องนี้เมื่อเป็นประเด็นสาธารณะและอาจนำสู่ความขัดแย้ง สร้างความเกลียดชัง เพราะหากเราตามสื่อออนไลน์ คอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก พบว่า คนที่ไม่พอใจต่อมุสลิมก็มีไม่น้อย ที่ให้เหตุผลว่า “ถ้าท่าน (มุสลิม) ไม่ผิดจะกลัวอะไร จนเลยเถิดผลักไสมุสลิมให้ออกนอกประเทศถ้าแตะไม่ได้นั้น”

ดังนั้น การสร้างพื้นที่กลางและผลักดันเชิงนโยบาย (Common Space and Advocacy) คือ สร้าง/ขยายพื้นที่กลางให้กับภาคประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยด้วยเหตุและผล

เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอและผลักดันเชิงนโยบายด้วยความรู้แก่ทุกฝ่ายจึงสำคัญและน่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด