แม่หญิงสุดาวดี / ทำดีไม่ได้ดี: เรื่องไม่แฟร์แบบไทยๆ ในกลิ่นกาสะลอง

ละครเรื่อง กลิ่นกาสะลอง นำมาสู่คำถามจั๊ดนักว่าเพราะอะไรซ้องปีบร้ายจะอี้ ทั้งบงการฆ่า ทำร้ายแม่จนเป็นอัมพาต ลวงพี่สาวไปให้ถูกข่มขืน ฯลฯ ยังได้เกิดใหม่เป็นหมอพริมพี่ ทั้งสวย รวย  ชีวิตดี๊ดีมีความสุข แถมนิสัยไม่เลวร้ายเหมือนชาติที่แล้ว

นายแคว้นมั่งพ่อของกาสะลองซ้องปีบก็เช่นกัน ตกนรกหมกไหม้ตอนไหนไม่มีแฟนละครเห็น

ส่วนกาสะลองแสนดีกลับไม่ได้เกิด ต้องกลายเป็นผีทุกข์ทนร่วมร้อยปี

คำอธิบายเดียวที่แฟนละครพอหามาใช้เยียวยาความไม่เข้าใจตรรกะนี้ได้คือชาติก่อนเกิดเป็นซ้องปีบคงทำบุญมามาก จนกระทั่งความชั่วร้ายมากมายที่ทำลงไปก็ทำอะไรไม่ได้

ส่วนกาสะลองนั้น เนียรปาตี ผู้ประพันธ์ เคยตอบเหตุผลที่ “ทำดีไม่ได้ดี” ของกาสะลองในรายการโทรทัศน์ NewsPlus ว่า

“ถ้าใครได้อ่านนิยายก็จะได้เห็นว่าทุกคนก่อนตายจะมีการอธิษฐานว่าถ้าชาติหน้ามีจริง ก็จะขอแบบนั้นแบบนี้ไป แต่อย่างกาสะลองเป็นคนที่เอาจริงๆ ตั้งแต่เล็กก็ถูกสอนให้เป็นคนอดทน อดกลั้นข่มอารมณ์ไว้ จนตัวเองตาย ไม่ได้ขออธิษฐานถึงอะไร แต่อยู่ด้วยสัญญารอความรัก”

ผู้ชมละครยุค 2019 คงประท้วงอยู่ในใจ เหตุผลที่ผู้ประพันธ์พูดโคตรไม่แฟร์เลย! ทำดีมาตั้งนาน ก่อนตายไม่ได้อธิษฐานแค่นั้น ส่งผลเมินขนาด!

แต่เดี๋ยวก่อน! ความไม่แฟร์ใน กลิ่นกาสะลอง นี่ล่ะเข้ากับสิ่งที่รัฐส่งสารมาสู่เรามาตลอดแบบแนบเนียนแต่เราอาจไม่รู้ตัว

ใครเคยมาสนามบินสุวรรณภูมิ คงเห็นประติมากรรม “กวนเกษียรสมุทร” สตอรี่เบื้องหลังประติมากรรมนี้คือเทวดาได้หลอกล่อเหล่าอสูรโดยสัญญาว่าเมื่อช่วยกันกวนเกษียรสมุทรจนน้ำอมฤตที่ดื่มแล้วทำให้เป็นอมตะผุดขึ้นมาแล้วจะแบ่งกันดื่ม

ทั้งเทวดาและอสูรร่วมกันกวนอยู่หลายร้อยปีจนมีสิ่งมหัศจรรย์นานาชนิดผุดขึ้นมาจากเกษียรสมุทร เช่น พระลักษมี นางอัปสร โคสุรภี ม้าขาว ดวงจันทร์ ต้นปาริชาติที่ประทานพรแก่ผู้ขอได้

ไอพิษซึ่งกรุ่นขึ้นมาจนพระศิวะต้องกลืนไว้เพื่อปกป้องจักรวาลมิให้ถูกทำลาย สิ่งสุดท้ายที่ผุดขึ้นมาคือหมอของเทวดาซึ่งถือภาชนะบรรจุน้ำอมฤต

เหล่าอสูรเมื่อได้เห็นน้ำอมฤตพากันตะโกนเรียกร้องขอส่วนแบ่ง พระวิษณุจึงแปลงตัวเป็นสาวงามชื่อโมหิณี ยั่วยวนให้อสูรหลงใหลลืมตัว แล้วแบ่งน้ำอมฤตแจกจ่ายแก่เหล่าเทวดาได้ดื่มกันทั่ว จากนั้นเหล่าเทวดาซึ่งได้กำลังจากน้ำอมฤตก็ขับไล่อสูรไปได้

เมื่อมองจากมุมหนึ่งนี่คือการ “ทำดีแล้วไม่ได้ดี” เป็นเหตุการณ์ “ไม่แฟร์” เหตุการณ์หนึ่ง (บางคนอาจบอกว่าก็อสูรชั่วไง ทำงี้ไม่ผิด แต่หลอกเขาทำงานฟรี มันใช่เหรอ)

ทว่าประติมากรรมนี้ได้รับการอธิบายจากอีกมุมมองหนึ่งโดยสถาปนิกผู้ออกแบบว่า “ประติมากรรมนี้ แสดงถึงความสามัคคี มีความเพียรเพื่อให้สิ่งที่ดูยากเย็นเป็นไปไม่ได้นั้นสำเร็จลงได้”[1]

 

ในวรรณคดีไทยที่นักเรียนไทยทุกคนต้องเรียนอย่าง รามเกียรติ์  มีเรื่องเกี่ยวกับยักษ์ชื่อกุมภกรรณซึ่งเป็นยักษ์ที่ดีมีศีลธรรม รักษาไว้ซึ่งสัจจะและความสุจริตยุติธรรม ไม่ทำร้ายใคร มุ่งบำเพ็ญตนอย่างสงบ แต่กุมภกรรณดันเกิดมาเป็นน้องทศกัณฐ์ ตัวร้ายแห่งชาติ

เมื่อทศกัณฑ์ขอให้กุมภกรรณไปรบกับกองทัพพระราม กุมภกรรณผู้เป็นยักษ์ดียังบอกให้ทศกัณฐ์ส่งคืนนางสีดาไปเสีย แต่ทศกัณฐ์ไม่คืน กุมภกรรณจึงจำใจรับอาสาออกรบ สุดท้ายกุมภกรรณต้องศรพรหมมาสของพระรามสิ้นชีวิต

การพ่ายแพ้ของกุมภกรรณ์ได้รับการตีความจากรัฐว่า  “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” และการกระทำของกุมภกรรณ์ที่ออกรบทั้งที่ไม่อยากรบคือการ “เสียสละเพื่อส่วนรวม” แต่อีกมุมมองหนึ่งคือการทำดีถ้าหากอยู่ผิดฝั่ง ความดีที่ทำมากลับสูญเปล่า

มีคนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่ไม่เข้าใจตรรกะว่าทำไมกุมภกรรณที่เป็นยักษ์ที่ดีต้องตาย แต่พิเภกซึ่งเป็นยักษ์ที่หักหลังพี่น้องถึงได้ดีมีความสุข (กาสะลองมีเพื่อนล่ะ)

 

เรื่องสุดท้ายคือเรื่องของ นนทก ยักษ์รับใช้ผู้มีหน้าที่ล้างเท้าให้บรรดาเทวดาที่มาเข้าเฝ้าพระอิศวรอยู่ตีนเขาไกรลาส นนทกโดนเทวดากลั่นแกล้งเสมอ ตบหัวบ้าง ถอนผมเล่นบ้าง จนนนทกหัวล้านโล่ง นนทกจึงเล่าเรื่องที่ถูกกลั่นแกล้งให้พระอิศวรฟัง แล้วทูลขอนิ้วเพชร มีฤทธิ์ชี้ไปที่ใครคนนั้นต้องตาย  พระอิศวรประทานให้

จากนั้นนนทกชี้นิ้วใส่บรรดาเทวดาที่เคยแกล้งตนเพื่อให้หายแค้น เมื่อความทราบถึงพระอิศวร จึงโปรดให้พระนารายณ์ไปปราบ พระนารายณ์จึงแปลงกายเป็นนางอัปสรแล้วชวนนนทกร่ายรำตาม

กระทั่งนิ้วเพชรชี้ไปที่ตัวนนทกเองจนจบชีวิต นนทกนั้นทำชั่วได้ชั่ว แต่เทวดาที่เคยกลั่นแกล้งนนทกจนนนทกคับแค้นไม่ได้รับผลจากการกระทำใดๆ          

             

ข้อยกเว้นของการ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ข้างต้นล้วนรับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ เมื่อไทยรับศาสนาพราหมณ์เข้ามาผสมผสานกับพุทธเพื่อเป็นหลักในการปกครอง เรื่องชนชั้นของพราหมณ์ได้รับการไฮไลท์และคัดสรรออกมาผลิตซ้ำอย่างมีนัยยะสำคัญ

คติเรื่องการ “ทำดี” อาจไม่ได้ดีเท่ากับการมี “ฐานานุศักดิ์ที่ดี” เช่นยักษ์หรืออสูรทั้งสามกรณีข้างต้น ปรากกฏบ่อยครั้งทั้งในแบบเรียน เป็นคติเบื้องหลังกฎหมายโบราณ เป็นท้องเรื่องของศิลปการแสดง และเป็นหัวใจของพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งแม้จะผสมผสานกับศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาที่เชื่อในศักยภาพและปัญญาของมนุษย์มากกว่าวรรณะและชาติกำเนิด แต่ประเด็นนี้ในศาสนาพุทธกลับไม่ได้รับการเน้นย้ำ

ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่รัฐเน้นย้ำ ตีความ และขยายความออกไปกว้างขวางคือการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งพ่วงด้วยผลกรรมซึ่งติดตัวมาจากชาติปางก่อน

แนวคิดอย่าง “การเวียนว่ายตายเกิดทำให้สัตว์ทั้งหลายมีเหตุที่สะสมมาหรือกรรมต่างกัน ผลที่เกิดขึ้นย่อมต่างกัน จะให้ทุกๆ คนมีความสุข มีความทุกข์เสมอกัน มีอะไรทุกอย่างเท่ากันหมดคงเป็นไปได้ไม่” ได้รับการผลิตซ้ำบ่อยครั้งในละครไทย

และแม้จะใช้ถ้อยคำ เหตุปัจจัย หรืออธิบายจากฐานของศาสนาที่แตกต่างกันระหว่างพุทธกับพราหมณ์ แต่มีโครงเรื่องสอดคล้องกันนั่นคือ “เวรกรรมที่ติดตัวจากชาติปางก่อนหรือฐานานุศักดิ์ที่ไม่เท่ากันทำให้คนไม่เท่ากันและไม่ได้รับความยุติธรรมเท่ากัน”

 

การอธิบายเช่นนี้ส่งผลให้ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” มีความคลุมเครือ ย้อนแย้ง และเป็นอะไรได้หลายอย่าง ที่ไม่ใช่ความยุติธรรมในความหมายของรัฐสมัยใหม่ซึ่งวัดกันที่ชาตินี้เท่านั้น

“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” อาจเป็นการช่วยให้ผู้คนมีหิริโอตัปปะก่อนก่อกรรมชั่วซึ่งนับเป็นเรื่องดี แต่บางครั้งอาจเป็นการกริ่งเกรงผู้มีศักดิ์สูงกว่าด้วยความเชื่อว่ามีบุญไม่เท่ากันซึ่งทำให้ผู้กริ่งเกรงนั้นเป็นประชากรที่เชื่องเชื่อ

การกดปราบผู้มีศักดิ์ต่ำกว่า เช่นการที่ตำรวจซ้อมทรมานผู้ต้องหาฐานะยากจนเพื่อรีดคำสารภาพแต่แทบไม่ทำเช่นนี้กับคนที่มีศักดิ์สูงกว่า

การลำพองใจว่าเพราะทำบุญมามากจึงศักดิ์สูง มีความชอบธรรมจะทำอะไรก็ได้แม้แต่ทำร้ายผู้อื่น ซึ่งเป็นคำอธิบายกรณีของซ้องปีบด้วย ฯลฯ

 

“การทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว” ใน กลิ่นกาสะลอง นำมาซึ่งการค้นหาคำตอบให้วุ่นและติดค้างในใจหนักหนาของแฟนละครว่าทำไม ผลจึงไม่เป็นอย่างเหตุตามที่ได้เรียนหนังสือมา

ฟังธรรมมา หรือตามที่ละครเรื่องอื่นแสดงให้เห็น เช่นการด่าพ่อแม่ทำให้เกิดเป็นเปรตวัดสุทัศน์หรือนางอิจฉาต้องเป็นบ้า

กลิ่นกาสะลอง ตอนที่ 1-14 ทำให้คนดูจำนวนมาก “อึดอัด” บางคนตั้งคำถามว่าถ้าเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วแล้วได้ชั่วไม่จริงตามนั้นเสียแล้ว

ชีวิตนี้จะมีหลักยึดอะไรได้อีก เยาวชนจะเรียนรู้อะไรจากละครเรื่องนี้

 

จริงๆ แล้วการ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์เสมอไป และจริงๆ ความดียังมีความแปรผันสูงเพราะนิยามความดีแต่ะละคนไม่เหมือนกัน

ในวรรณกรรมฝรั่งเศสเรื่อง เหยื่ออธรรม ให้ภาพจุดจบของคนทำดีไว้อย่างน่าสนใจผ่านเรื่องราวของเมอสิเยอร์มาเบิฟ นักพฤกษศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนสุภาพ รักและขยันทำงาน รักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ ใจดี มีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ และเกลียดการลักขโมยคดโกง

เมื่อสังคมฝรั่งเศสขณะนั้นเสื่อมทรามลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมเขาก็ฐานะแย่ลง แต่กระนั้นเมื่อการอชว์เด็กจรจัดแห่งกรุงปารีสโยนกระเป๋าเงินเข้าบ้านเขาเพื่อเจตนามอบเงินให้เขาทางอ้อมเขากลับไม่เก็บมาเป็นของตน แล้วเอากระเป๋าเงินนั้นไปให้ตำรวจประกาศหาเจ้าของ

เมอสิเยอร์มาเบิฟผู้ไม่สนใจความอยุติธรรรมในสังคมฝรั่งเศสขณะนั้นมากไปกว่าต้นไม้ของเขาต้องขายหนังสือแสนรักไปทีละเล่มเพื่อประทังชีวิต ในที่สุดเขาก็หมดตัว[2]

 

การฉายภาพอย่างชายนักพฤกษศาสตร์ผู้นี้ให้อะไรแก่สังคม? และสร้างหลักยึดใดให้แก่สังคม? ไม่รู้ว่าคนฝรั่งเศสเคยตั้งคำถามบ้างหรือไม่

แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการที่นักเขียนหรือสื่อมวลชนให้ภาพสังคมตามที่เป็นจริง มักนำมาซึ่งการเรียกร้องวิธีการแก้ไขปัญหา เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคมากขึ้น ตลอดจนสวัสดิการสังคม

ขณะที่การกล่่าวว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ในแง่หนึ่งเป็นการปัดความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของรัฐ เพราะปัญหาทั้งหมดของประชาชนกลายเป็นปัญหาทางศีลธรรรมไป โง่เพราะไม่ขยันเรียน ไม่เกี่ยวกับการศึกษาไม่มีคุณภาพ จนเพราะเครียดแล้วกินเหล้า

แต่ขณะเดียวโครงสร้างสังคมไม่เอื้อให้คนจนได้เลื่อนฐานะ เช่นไม่ปลดปล่อยที่ดินที่กระจุกอยู่ในมือคนรวยไม่กี่คนแต่ปริมาณที่ดินนั้นมหาศาล ป่วยเพราะไม่ออกกำลังกาย แต่ไม่จัดหาสวนสาธารณะ ทางจักรยาน หรือกระทั่งเวลาเพื่อออกพักผ่อนออกกำลังกายให้ประชาชนอย่างเพียงพอ ฯลฯ

ถ้ามอง กลิ่นกาสะลอง นอกแว่นเรื่องบุญบาป ไม่ต้องคิดว่าทำชั่วได้ดีหรือได้ชั่วและมองจากโอกาสที่เรามีนั่นคือการอยู่ในยุค 2019 สถิติมากมายบอกว่าครอบครัวไม่ใช่สถานที่ที่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่นเท่านั้น

แต่มีความเป็นไปได้ว่าคนเราจะถูกทำร้ายจากสมาชิกในครอบครัวไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายจากคนในครอบครัวอย่างนายแม่และกาสะลองมีสิทธิออกจากครอบครัวและยุติบทบาทในครอบครัวได้ โดยที่กระทรวง พม. หรือมูลนิธิปวีณาไม่ควรพยายามเหนี่ยวรั้งไกล่เกลี่ยให้คืนดีกัน (เหมือนกรณีเอส จักกฤช กับภรรยา) และรัฐควรเยียวยาความเจ็บปวด ช่วยเหลือทางกฎหมาย และช่วยหาทางออกให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำได้เริ่มต้นชีวิตใหม่

ส่วนคนที่มีแนวโน้มว่าอาจเป็นโรคทางจิตเวชอย่างซ้องปีบควรได้พบจิตแพทย์โดยที่จ่ายเงินไม่สูงมากนักตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรงนัก โดยการปรึกษาจิตแพทย์อาจเป็นสวัสดิการ/การอุดหนุนจากรัฐ มหาวิทยาลัย หรือบริษัทที่ซ้องปีบทำงานอยู่ เพื่อซ้องปีบจะได้คลี่คลายปมต่างๆ เพื่อไม่ให้พัฒนาไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นเต็มรูปแบบ

โรงเรียนควรสอนนักเรียนเรื่องการเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเองและผู้อื่นตั้งแต่เด็กเพื่อไม่ให้กาสะลองยอมให้ใครรังแกและเคารพเนื้อตัวร่างกายของตนเอง ฯลฯ 

ประวัติศาสตร์ทั่วโลกบอกเราว่าการมองว่าทุกคนเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องพิจารณาจากชาติที่แล้ว ไม่มองว่ามีชาติหน้าให้รอรับความเป็นธรรม แต่จะเอาความเป็นธรรมชาตินี้ นำมาซึ่งวิธีการมากมายที่จะแก้ไขปัญหาร่วมสมัยและสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

ตัวละครอย่างพละจาก ฮอร์โมนส์ ทำให้เรารู้ว่าคนเป็นเอดส์สามารถอยู่ร่วมสังคมกับคนปกติและมีชีวิตยืนยาวได้ด้วยยาต้านไวรัสซึ่งพัฒนาไปมาก

อรุณาจาก เมีย 2018  ทำให้รู้สึกว่่าผู้หญิงมีพลังที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง และการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเจออะไรบ้าง

กาสะลองและฝีมือยอดเยี่ยมของญาญ่าไม่ควรเกิดมาเพื่อพูดสิ่งเดียวกับละครเมื่อ 50 ปีก่อนพูดนั่นคือ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ซึ่งมีความหมายกำกวมหลายชั้นในสังคมไทยและไม่รู้ว่าทำแล้วได้ตามนั้นหรือเป็นเพียงอุดมการณ์จากรัฐเพื่อจุดประสงค์ในการปกครอง

ส่วนนายแคว้นกับนายแม่ เรื่องการไม่ให้ความรักลูกเพียงพอจนลูกเป็นเด็กมีปัญหาก็เป็นประเด็นของละคร 50 ปีที่แล้วเช่นกัน

เราต้องการละครที่พูดสิ่งใหม่ๆ มากกว่านี้

————————————————————————–

หมายเหตุ        

สุดท้ายแล้ว กลิ่นกาสะลอง  จบอย่างที่ผู้ชมไม่อึดอัด นั่นคือชาติถัดมากาสะลองกลับมาเกิดใหม่เป็นลูกพริมพี่และหมอทรัพย์กลับมาเกิดใหม่เช่นกัน ละครจบอย่างไม่ผิดจากบรรทัดฐานทำดีได้ดีที่ผู้คนยึดถือ ละครช่อง 3 อีกเรื่องที่คนดีถูกระทำมาทั้งเรื่องอย่าง ปี่แก้วนางหงส์ ก็จบโดยหลังจากถูกกระทำมาตลอดก็ได้เกิดใหม่ที่มีความสุข ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในชาติก่อนหน้าซึ่งแฟนละครก่นด่ามากมายเป็นไปได้ว่าอาจถูกมองข้ามไปเป็นส่วนหนึ่งของวิบากกรรมก่อนเจอความสุข

[1] https://www.facebook.com/PopEyeViewPage/posts/1076905539106286/

[2]วิกเตอร์ อูโก. เหยื่ออธรรม ภาคที่ 4 เพลงยาวบนถนนปลูเมต์, น.173-186,  407-412. (วิภาดา กิตติโกวิท แปล), 2553, ทับหนังสือ, กรุงเทพฯ.

[2]วิกเตอร์ อูโก. เหยื่ออธรรม ภาคที่ 3 มาริอุส, น.221-234  (วิภาดา กิตติโกวิท แปล), 2553, ทับหนังสือ, กรุงเทพฯ.