ไซเบอร์ วอทช์เมน : ประชาธิปไตยตายแล้ว?

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยได้เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ความรุนแรงจากภัยก่อการร้าย กระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนโฉมทั้งมิติภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ ทำให้โครงสร้างรัฐทั่วโลกเผชิญกับภาวะเส้นแบ่งพรมแดนไม่ชัดเจนอีกต่อไป ทั้งประชากร เงินทุน วิทยาการความรู้ หรือแม้แต่ประเด็นปัญหาได้ไหลบ่าข้ามประเทศ

สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นที่คุ้นเคยหรือยากจะเข้าใจสำหรับผู้ที่ยึดติดกับวิถีชีวิตหรือวิธีคิดเดิม ตั้งแต่คนธรรมดาจนถึงผู้นำประเทศ ความท้าทายรูปแบบใหม่นี้ทำให้ตัดสินใจหันมาใช้วิธีพื้นฐานที่สุดสำหรับมนุษย์ธรรมดานั่นคือ การป้องกันตัวเอง

กระแสชาตินิยม การต่อต้านผู้อพยพ จนมาถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และการเข้าควบคุมทรัพยากรและข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นโดยความพยายามรักษาสิ่งที่เคยเป็นอยู่ หรือด้วยเหตุผลเดิมที่ใช้มาตลอดเพื่อเป็นข้ออ้างในการรักษาสถานะอำนาจเดิม (ความมั่นคงของชาติก็เป็นข้ออ้างหนึ่งในจำนวนนี้)

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ความพยายามในการรักษาสถานะอำนาจเดิมหรือผลประโยชน์ที่เคยได้มา โดยเฉพาะกับประชาธิปไตยที่เรียกตัวเองว่ามีกลไกตามระบอบประชาธิปไตยก็กำลังทำให้กลไกเหล่านี้เข้าสู่ทางตันหรือทำให้บิดเบี้ยว เพียงเพื่อจุดประสงค์เดียว การทำให้องค์กรที่มีรากฐานจากระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นเพียงกลไกสนองอำนาจนำเพื่อรักษาสถานะเดิมไว้นับว่าแย่แล้ว ยิ่งสังคมที่ไม่มีวัฒนธรรมหรือค่านิยมประชาธิปไตยด้วยแล้ว จะยิ่งแย่หนักแค่ไหน

หลายคนตั้งคำถามด้วยความกังวลว่า “ประชาธิปไตยตายแล้วจริงหรือ?”

 

ความพยายามทำลายหลักการพื้นฐานและเปลี่ยนกลไกสำคัญให้มีสภาพไม่ต่างกับเครื่องมือรักษาสถานะอำนาจและผลประโยชน์นี้ ถูกเขียนลงในหนังสือ “How Democracy Die” ของสตีเว่น เลวิตสกี้ และแดเนียล ซีบรัตท์ สองอาจารย์รัฐศาสตร์เลื่องชื่อจากฮาร์วาร์ด ออกมาเมื่อปีที่แล้ว แต่เพิ่งเข้าไทยได้สักพัก

และด้วยความเพิ่งมาใหม่จึงเป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่ม ใครที่อยากอ่านภาษาไทยก็ต้องรอนานหน่อย

สำหรับตัวอาจารย์เลวิตสกี้เอง สนใจศึกษาการเมืองเปรียบเทียบในแถบละตินอเมริกาและประเทศกำลังพัฒนา แต่การบริหารประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยนโยบายแบบฉบับขวาจัดประชานิยม และกำลังกลืนกินกลไกรัฐที่ตั้งบนหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจจนเกิดความกังวล และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป หลักประชาธิปไตยของสหรัฐจะตายลงหรือไม่

สองอาจารย์ได้บรรยายในหนังสือว่า สิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามทำอยู่ คือสิ่งที่หลายประเทศเคยทำมาแล้ว

ทั้งการแทรกแซงโครงสร้างและกลไกของรัฐของนิโคลัส มาดูโร่ ประธานาธิบดีคิวบา เพื่อรักษาอำนาจ การใช้อำนาจรัฐ

และการรัฐประหารโค่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยในปี 2557

การใช้กลไกรัฐเพื่อทำให้ประเทศเป็นอนุรักษนิยมเชิงศาสนาอย่างต่อเนื่องของเทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี

การนั่งในอำนาจยาวนานของสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

หรืออีกหลายประเทศในแอฟริกา ตะวันออกกลางที่กำลังทำอยู่

ไม่ว่าประเทศใดที่ใช้วิธีอย่างรวดเร็วอย่างการใช้กำลังทหาร หรือเชื่องช้าแต่แนบเนียนผ่านการใช้อำนาจผ่านกลไกรัฐในระบอบประชาธิปไตย

แต่เป้าหมายมีสิ่งเดียวคือ การลดทอนและทำลายอุปสรรคเพื่อนำไปสู่การรักษาอำนาจและสืบต่ออำนาจให้ยาวนานที่สุด

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ คนที่ปรารถนาขึ้นสู่อำนาจไม่ว่าผ่านการใช้กำลังทหารและเข้ามาผ่านกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย แต่ตัวชี้วัดได้ 4 ด้านนี้จะแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้มีพฤติกรรมที่มีความเป็นเผด็จการอำนาจนิยมแค่ไหน

ตัวชี้วัดที่ 1 : การปฏิเสธ (หรือขาดความมุ่งมั่นต่อ) กฎของเกมตามระบอบประชาธิปไตย

โดยดูจาก

1. พวกเขาปฏิเสธรัฐธรรมนูญและมีท่าทีแสดงออกถึงความเต็มใจที่จะละเมิดหรือไม่?

2. พวกเขาสนับสนุนความจำเป็นในการใช้มาตรการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การยกเลิกการเลือกตั้ง การละเมิดหรือระงับเนื้อหารัฐธรรมนูญ การประกาศห้ามกับองค์กรต่าง และจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิทางการเมืองหรือไม่?

3. พวกเขาแสวงหาเพื่อใช้ (หรือสนับสนุนในการใช้) วิธีการนอกรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล เช่น การรัฐประหาร การก่อจลาจลด้วยความรุนแรง หรือการตั้งมวลชนประท้วงเพื่อบังคับให้เปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่?

และ 4. พวกเขาพยายามบ่อนทำลายความชอบธรรมในการเลือกตั้ง เช่น การไม่ยอมรับผลคะแนนที่มีความน่าเชื่อถือ หรือไม่?

ตัวชี้วัดที่ 2 : การปฏิเสธความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

โดยดูจาก

1. พวกเขาบรรยายอีกฝ่ายเป็นผู้มุ่งโค่นล้มหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่?

2. พวกเขาอ้างหรือไม่ว่าฝ่ายคู่แข่งกำลังสถาปนาภัยคุกคามให้เกิดขึ้น ทั้งต่อความมั่นคงของชาติหรือกระทบวิถีชีวิต?

3. พวกเขาบรรยายอย่างเลื่อนลอยต่อฝ่ายคู่แข่งว่าเป็นฆาตกร ซึ่งกระทำผิดกฎหมาย (หรือเข้าข่ายว่าจะทำ) ให้ตัดสิทธิคุณสมบัติไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ได้อีกหรือไม่

4. พวกเขากล่าวหาอย่างไร้หลักฐานว่าอีกฝ่ายทำงานให้ต่างชาติหรือเป็นการทำงานให้กับรัฐบาลต่างชาติโดยเฉพาะชาติที่เป็นศัตรูหรือไม่?

ตัวชี้วัดที่ 3 : “อดทนอดกลั้น” หรือ “ส่งเสริมสนับสนุน” ความรุนแรง

โดยดูจาก

1. พวกเขามีข้อตกลงกับกลุ่มอาชญากรรม กองกำลังกึ่งทหาร กลุ่มติดอาวุธ กลุ่มกองโจรที่ก่อความรุนแรงอย่างผิดกฎหมายหรือไม่

2. กลุ่มการเมืองหรือพันธมิตรมีการส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มมวลชนเข้าโจมตีคู่แข่งหรือไม่?

3. พวกเขารับรองโดยปริยายต่อการใช้ความรุนแรงของผู้สนับสนุนด้วยการปฏิเสธอย่างไม่ต้องสงสัยที่จะเอาผิดหรือลงโทษหรือไม่?

และ 4. พวกเขาชื่นชมหรือปฏิเสธที่จะประณามการกระทำความรุนแรงทางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญไม่ว่าในอดีตหรือที่ใดในโลกหรือไม่?

ตัวชี้วัดที่ 4 ความพร้อมในการลดทอนเสรีภาพฝ่ายตรงข้ามรวมถึงสื่อ

โดยดูจาก

1. พวกเขาสนับสนุนกฎหมายหรือนโยบายที่จำกัดสิทธิพลเมือง เช่น การขยายเพิ่มอำนาจในกฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายจำกัดการชุมนุม การวิจารณ์รัฐบาลหรือบางกลุ่มองค์กรหรือไม่?

2. พวกเขาคุกคามที่จะใช้กฎหมายหรือบทลงโทษอื่นต่อผู้ออกมาวิจารณ์ในฝ่ายตรงข้าม กลุ่มประชาสังคมหรือสื่อหรือไม่?

และ 3. พวกเขาชื่นชมมาตรการปราบปรามของรัฐบาลอื่น ไม่ว่าในอดีตหรือประเทศไหนในโลกหรือไม่?

 

ตัดชี้วัดทั้ง 4 ด้านนี้ ทุกท่านสามารถใช้ศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมและวิธีคิดของผู้มีอำนาจในโครงสร้างรัฐ ผ่านคำพูด บทสัมภาษณ์ คำปราศรัยหรือนโยบายหรือกฎหมาย คำสั่งแต่ละฉบับที่ออกมาได้ว่ามีความโน้มเอียงไปทางเผด็จการหรือไม่

อีกเรื่องที่สำคัญคือ กลไกรัฐหรือการแสดงออกใดตามระบอบประชาธิปไตย หากไม่อยากจะเผชิญการรวบอำนาจและใช้กลไกให้แสดงออกไปในทางเผด็จการ มีสิ่งที่ไม่ได้บรรจุลงในบทบัญญัติกฎหมายใด นั้นคือ ค่านิยมและวิธีคิดที่ต้องเป็นประชาธิปไตย ที่จะนำไปสู่การแสดงออกและปฏิบัติต่อสิ่งรอบตัว ทั้งผู้คน สังคมและโครงสร้างรัฐให้เป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกหล่อหลอมตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งต้องถามทุกท่านว่า เราถูกสอนต่อการแสดงออกและเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบประชาธิปไตยที่เคารพความคิดและการแสดงออกของผู้คน และอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างที่แม้จะสุดโต่งในความรู้สึก ความเชื่อ และการรับรู้ของเราซึ่งไม่เหมือนกับอีกฝ่ายหรือไม่

การเมืองไทยหรือสหรัฐ หรือที่ไหนในโลก หากคนทุกคน ย้ำว่าทุกคน! ไม่ยอมรับวิธีคิดหรือสร้างวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย ยังคงมีรูปแบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแต่สังคมยังมีการลำดับชั้นอำนาจ ความยอมศิโรราบและปราบปรามผู้เห็นต่างด้วยความเกลียดชังว่าจะมาทำลายสิ่งที่เชื่อและเทิดทูน ไม่ว่าในชีวิตในโลกปกติหรือโลกเสมือน

ประชาธิปไตยอาจตายตั้งแต่รากฐานในตัวเราเสียแล้ว