ชีวิตเต็มไปด้วยความเสี่ยง!!! เราจะเผชิญหน้ากับมันอย่างไรดี?*

*เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ มหาวิทยาลัยสยาม


การเรียนหนังสือ มีความเสี่ยงมั้ย?

ผมอยากจะบอกว่า “ไม่มี”

แต่ความจริงที่โหดร้าย กลับตะโกนร้องว่า ทุกเรื่องราวในชีวิต ล้วนเต็มไปด้วยความเสี่ยงและโอกาส

การลงทุนด้านการศึกษาเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนพึงกระทำ หากทว่า ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย อาจนับรวมกันเป็นเงินหลายล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เงินเดือนของพนักงานระดับปริญญาตรีกลับน้อยนิดยิ่งนัก

หากคิดเฉพาะผลตอบแทนทางการเงิน อาจไม่คุ้มค่า

แต่ความสุขใจของพ่อแม่ย่อมยากจะประเมินค่าเป็นตัวเงิน

 

ที่น่าเศร้า คือ เราเชื่อกันว่า ระบบการศึกษาสอนให้ลูกของเราเป็นคนดี และรู้จักคิด

เมื่อลองคิดให้ลึก ก็อาจสงสัยว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ

คำตอบนั้น ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล หากลูกของเรารักดี เขาย่อมเก็บเกี่ยวสิ่งดีๆ จากระบบการศึกษาได้มากกว่าเงินที่ลงทุนไป ถึงแม้เงินเดือนระดับปริญญาตรีจะได้ใกล้เคียงกับคนอื่นก็ตาม แต่ในระยะยาว เขาจะสามารถไขว่คว้าสิ่งดีๆ กลับมาได้มากกว่าที่คิด

ในขณะเดียวกัน การฆ่าตัวตายของนักศึกษาในระดับปริญญาตรี เริ่มมีให้เห็นบ่อยครั้ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงสะท้อนชัดเจนว่า การเรียนหนังสือนั้น มีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่าการทำสิ่งอื่นในชีวิต

 

เรื่องเศร้าแบบนี้ ย่อมไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ก็คือ ผู้ปกครองอาจต้องมีความเข้าใจในตัวลูกมากกว่านี้ ทั้งความสามารถในการเรียน และการรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้น

รวมไปถึงการพูดคุย ปลอบประโลม และให้คำปรึกษาเป็นระยะ หรือแม้กระทั่งการให้กำลังใจและทางเลือก ในการตัดใจละทิ้งการเรียน เพื่อไปเลือกคณะที่เหมาะสมกับตัวเองมากกว่า

ซึ่งบางครั้งลูกก็ไม่กล้าเอ่ยปาก เพราะเกรงว่าจะทำให้พ่อแม่เสียใจ

ดังนั้น การพูดคุยและเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งจำเป็น

เราจึงควรตรวจสอบสิ่งต่างๆ ในชีวิตอย่างรอบคอบ เพื่อค้นหาความเสี่ยง และบริหารจัดการให้ทันท่วงที

ในเมื่อโลกนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง เราจึงควรเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยมากที่สุด ใช่หรือไม่

คำตอบคือ มนุษยชาติไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่เฉยๆ เพราะหากเป็นเช่นนั้น พวกเราทุกวันนี้คงจะนอนเหน็บหนาวอยู่ในถ้ำที่มืดมิด

 

การเป็นพนักงานประจำ รับเงินเดือน เก็บออมเงิน และนำไปฝากธนาคาร อาจดูเหมือนทางเลือกที่ดี

ใช่ ใช่ ใช่ นี่คือ ทางเลือกที่ถูกต้องแล้ว แต่คุณจะต้องไม่พลาดเลยนะ นั่นคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่คุณจะโดนกลั่นแกล้งจากเจ้านายคนใหม่ จนกระทั่งต้องออกจากงาน หรือมีความเจ็บป่วยบางอย่างเกิดขึ้น จนกระทั่งคุณไม่สามารถทำงานต่อไปได้

ยิ่งกว่านั้น ในยุคที่เทคโนโลยี AI กำลังเฟื่องฟู นายจ้างก็อาจจะใช้เครื่องจักรมาทดแทนแรงงานของคุณได้ อีกไม่กี่ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การลาออกจากงานประจำ เพื่อมาเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะการนำเงินออมทั้งหมดของคุณเข้ามาเดิมพันกับบริษัทใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว

การลงทุนในตลาดหุ้น จึงอาจเป็นทางสายกลาง ระหว่างการเป็นพนักงานประจำ ซึ่งมีความเสี่ยงน้อย แต่ก็ได้ผลตอบแทนน้อย และการเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วต้องทุ่มเงินออมทั้งหมดเข้าไปเดิมพันกับการสร้างธุรกิจใหม่

พวกเราสามารถเลือกนำเงินเก็บบางส่วน เข้าไปทยอยซื้อหุ้น ลงทุน และเรียนรู้ได้ โดยไม่ต้องทุ่มให้หมดหน้าตัก เหมือนกับการทำธุรกิจ

การลงทุนในหุ้น คือ การเป็นเจ้าของ “ส่วนหนึ่ง” ของธุรกิจเท่านั้น เราจึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปบริหารธุรกิจ แต่อาศัยการศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบถึงความสามารถและโอกาสของบริษัทนั้น ที่จะเติบโต สร้างผลกำไร และขยายกิจการต่อไปในอนาคต

 

ในทางทฤษฎี โอกาสที่บริษัทซึ่งเราเข้าไปถือหุ้น จะปิดกิจการและล้มละลาย ย่อมมีอยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควรจะหวาดกลัว แต่กระนั้น หากเราเลือกบริษัทที่มีชื่อเสียง มีผลกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีผู้บริหารที่เก่งและมีวิสัยทัศน์ โอกาสที่จะล้มละลายก็จะมีไม่เกิน 30% ยิ่งถ้าเราหมั่นตรวจสอบบริษัทอย่างสม่ำเสมอ เราก็อาจจะมองเห็นถึงปัญหาได้ก่อนคนอื่น และขายหุ้นทิ้งออกมาก่อนได้

เมื่อเราเข้าใจถ่องแท้ โอกาสที่จะขาดทุน 100% จากการซื้อหุ้น ก็แทบจะไม่มี

สิ่งที่เป็นไปได้มากกว่า คือ โอกาสขาดทุน 20-30% เมื่อเราประเมินบริษัทนั้นผิดพลาด และรีบถอนตัวออกมาก่อนที่ราคาหุ้นจะทรุดตัวลงไปมากกว่าเดิม

แน่นอนว่า แม้แต่หุ้นที่พื้นฐานกิจการดีมาก ก็ยังมีวันที่ราคาทรุดฮวบไปมากถึง 50% แต่เหตุการณ์แบบนี้ ก็ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ที่สำคัญกว่านั้น คือ เมื่อเวลาผ่านไป หากผลประกอบการของบริษัทยังดีเหมือนที่เคยเป็นมา โอกาสที่ราคาหุ้นจะฟื้นตัวกลับไปที่เดิม หรือสูงกว่าเดิม ก็มีอยู่ค่อนข้างมาก

สิ่งที่เราต้องระวังในการเล่นหุ้น มีอยู่ประมาณ 3 อย่าง นั่นคือ

1. พื้นฐานกิจการของบริษัท ทั้งความสามารถของผู้บริหาร ความสามารถในการทำกำไร และความสามารถในการแข่งขัน จะต้องมีความโดดเด่นเป็นเลิศ ซึ่งแน่นอนว่า หุ้นเหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าหุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่เราก็ควรจะซื้อหุ้นแบบนี้ หากว่าราคามีความเหมาะสม แพงได้ แต่อย่ามากเกินไป

2. ราคาหุ้นที่เข้าซื้อ ไม่ควรสูงเกินไป ซึ่งเราก็มีวิธีการประเมินได้หลายแนวทาง ซึ่งจะนำเสนอในครั้งต่อๆ ไป

3. ความซื่อสัตย์และธรรมาภิบาลของผู้บริหาร ซึ่งเราไม่คาดหวังให้ผู้บริหารต้องดีงาม 100% เพราะทุกคนย่อมมีผลประโยชน์แอบแฝง ขอเพียงแค่พวกเขามีความจริงใจ 70% ก็เพียงพอแล้ว

สุดท้ายแล้ว วิธีลดความเสี่ยงจากการเล่นหุ้น ที่เป็นเรื่องง่ายๆ แต่คนไม่ค่อยใส่ใจทำ ก็คือ การทยอยเข้าซื้อ และขายหุ้น

ความผันผวนขึ้นลงของตลาดหุ้น ทำให้เรายากจะประเมินถึงมูลค่าหุ้นที่แท้จริงได้

การทุ่มซื้อหุ้นเข้าไปเพียงครั้งเดียว อาจทำให้ได้ราคาที่แพงเกินไป และเมื่อตระหนักรู้ในภายหลัง เราก็ไม่สามารถแก้ตัวอะไรได้อีก เพราะไม่มีเงินให้ซื้อแล้ว

ขณะเดียวกัน การรอซื้อหุ้นในราคาที่ถูกสุดๆ เพียงครั้งเดียว ก็อาจทำให้เราไม่ได้หุ้นเลย เพราะราคาอาจจะลงมาถึงจุดหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าราคาที่เราตั้งใจไว้ และก็ดีดตัวกลับขึ้นไป ไม่ยอมลงมาอีกแล้ว

การขายหุ้นก็เช่นเดียวกัน หากเราขายไปหมดเพียงครั้งเดียว หุ้นก็อาจจะทะยานสูงขึ้นไปอีก ขณะเดียวกัน หากเราตั้งราคาไว้สูงมาก หุ้นก็อาจไปไม่ถึงจุดที่เราตั้งใจไว้

โดยเฉพาะพนักงานประจำ ที่มีเงินเข้ามาทุกเดือน เราย่อมสามารถแบ่งเงินบางส่วนไว้ใช้ซื้อหุ้นได้ ซึ่งจะทำให้เราเป็นเจ้าของธุรกิจไปทีละน้อย นอกจากสร้างความรู้สึกดีที่ได้มีธุรกิจและขุมทรัพย์ผลิตเงินเป็นของตัวเองแล้ว เรายังสร้างโอกาสในการรับผลกำไรจากหุ้นได้เรื่อยๆ ด้วยการทยอยขายหุ้นที่ซื้อมาออกไปบ้าง เมื่อราคาหุ้นขึ้นไปสูงกว่าที่เราคาดหมายไว้

คำถามสุดท้าย คือ หากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 แล้วโลกแตกสลาย หุ้นที่เรามีจะกลายเป็นไร้ค่าหรือไม่

นี่เป็นคำถามที่ตอบง่ายมาก เพราะเมื่อถึงตอนนั้น แม้แต่ชีวิตของเรายังเอาไม่รอดเลย จะมาห่วงกระไรกับหุ้น ยังไม่นับเงินสด เครื่องประดับ หรือแม้กระทั่งนาฬิกาหรูหรา ก็อาจจะกลายเป็นสิ่งไร้ค่าเช่นกัน

 

ยังคงมีคำถามอีกมากมายให้เรารู้สึกหวาดกลัวกับหุ้น แต่ก็อย่างที่พูดถึงไว้ในตอนต้นแล้วว่า ทุกสิ่งในชีวิตย่อมเต็มไปด้วยความเสี่ยง

สิ่งที่เราทำได้คือ การเรียนรู้ วิเคราะห์ และแยกแยะให้ดี เราก็จะพบคำตอบที่เหมาะสม

ในภาวะที่ยากลำบาก เศรษฐกิจผันผวน หรือสงครามเล็กๆ ที่ทำให้ธุรกิจชะงักงัน ชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องย่อมเต็มไปด้วยความเสี่ยง ซึ่งย่อมรวมถึงบริษัทที่เราทำงานอยู่ด้วย

หากทว่า เมื่อสิ่งเลวร้ายผ่านพ้นไป ธุรกิจที่แข็งแกร่ง มีผู้บริหารที่ฉลาดในการบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ก็จะสามารถฟื้นฟูกิจการของตัวเองได้เหนือกว่าคู่แข่ง

ผมก็หวังว่า หนึ่งในธุรกิจที่แข็งแกร่งนั้น จะเป็นหุ้นที่ท่านถือไว้ในมือ ซึ่งในอีกหลายปีข้างหน้าจะสามารถสร้างผลตอบแทนให้ท่านอย่างงดงาม

บางคนอาจคิดว่า เราเก็บเงินไว้ซื้อตอนที่เกิดวิกฤตดีมั้ย หรืออาจรอให้วิกฤตเริ่มฟื้นตัวแล้วจึงค่อยเข้าไปซื้อ น่าจะดีที่สุด

ผมก็อยากตอบสั้นๆ ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า เราไม่มีวันรู้หรอกว่า วิกฤตจะเกิดขึ้นเมื่อใด และหากว่าวิกฤตไม่เกิดขึ้นอีกเลย ในชั่วชีวิตนี้ เราก็จะพลาดโอกาสดีๆ ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

จงอยู่กับปัจจุบัน ประเมินสิ่งต่างๆ อย่างรอบด้าน และลงมือทำ

May the force be with you.