ใน “วรรณวินิจ” นัย “ศัตรูแท้จริงของนักเขียน”

“วรรณวินิจ” หนังสือรวมบทความเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับการอ่าน-วิจารณ์วรรณกรรม เขียนโดย “วัลยา วิวัฒน์ศร” (รศ.ดร.วัลยา วิวัฒน์ศร-อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) ซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2538 (สนพ.จุฬาฯ) หรือเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว

ทุกวันนี้ยังถือเป็นตำราเล่มหนึ่งที่นักอยากวิจารณ์ทุกคนควรได้ศึกษา หรืออย่างน้อยๆ สักครั้งในชีวิตควรได้อ่านกัน

ผู้เขียนเองก็ได้รับความรู้เชิงทฤษฎีจากการอ่านและนำมาปรับใช้จากหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างมาก

บทความหลายชิ้นกล่าวได้ว่า ได้หนังสือเล่มนี้ของครูเป็นต้นแบบ (และโรลองด์ บาร์ธส์ ในลำดับถัดมา, ทฤษฎีของคาร์ล ยุง ก็เป็นอีกเล่มที่ใช้วิเคราะห์และเชื่อมโยงได้ดี)

ตอนหนึ่งซึ่งครูเขียนไว้ดีมาก และเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจศาสตร์การวิจารณ์

“สิ่งจำเป็นสำหรับผู้อ่าน-วิจารณ์ทุกคน คือการอ่านละเอียด อ่านหลายครั้ง การอ่านเพื่อความเพลิดเพลินเป็นสิทธิ์ของผู้อ่าน แต่ผู้อ่านที่จะทำงานวิจารณ์จะต้องไม่อ่านเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น เขามีหน้าที่จะร่วมสร้างความหมาย ชี้นำผู้อ่านทั่วไป ในขณะเดียวกันแม้เขาจะถูกผู้แต่งควบคุมการอ่านของเขาด้วยกลวิธีที่ผู้แต่งใช้ เขาก็มีหน้าที่ชี้แนะผู้แต่งเมื่อกลวิธีนั้นเกิดความบกพร่อง เมื่อเฟืองของเครื่องจักรเกิดชำรุดไปบ้าง เพื่อที่โลกจำลองจะได้สมบูรณ์แบบเพื่อที่การตอบคำถามที่ผู้แต่งตั้งไว้ในตัวบทจะได้เป็นไปโดยไม่มีการเบี่ยงเบนและตรงต่อความคาดหวังของมหาชนร่วมสมัยของผู้วิจารณ์”

ก่อนเริ่มต้นเขียนทุกครั้ง ผู้เขียนจึงอ่านมากกว่าหนึ่งรอบเสมอ ก็เพราะข้อเขียนสะกิดเตือนของครูที่ฝังจำมาตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้อ่าน และการที่ครูกล่าวถึง “ครูของครู” ด้วยความเคารพในเล่ม ก็ต่อยอดให้ผู้เขียนใช้ศึกษาเพิ่มเติมได้อีกทาง โดยเฉพาะในกรณีของนักสัญศาสตร์อย่าง “โรลองด์ บาร์ธส์” ดังความตอนหนึ่งที่ว่าด้วย “แนวคิดพื้นฐาน”

โรลองด์ บาร์ธส์ เขียนไว้ในบทความชื่อ “การวิเคราะห์โครงสร้างเรื่องเล่าเบื้องต้น” ว่า “…บุคคลที่พูด (ในเรื่องเล่า) มิใช่บุคคลที่เขียน (ในชีวิตจริง) และบุคคลที่เขียนมิใช่บุคคลที่เป็น”

อาจารย์เสริมต่อจากสิ่งที่บาร์ธส์เขียนให้กระจ่างว่า

“บุคคลที่พูดคือผู้เล่าเรื่อง บุคคลที่เขียนคือนักเขียนหรือผู้แต่ง หากผู้แต่งเขียนให้ผู้เล่าเรื่องเล่าว่าตัวละครเอกเป็นคนไร้ศีลธรรม มิได้แปลว่าผู้แต่งเป็นคนไร้ศีลธรรม ผู้อ่านจะต้องตระหนักและแยกแยะประเด็นนี้ให้ได้”

นั่นทำให้ในเวลาต่อมา ผู้เขียนเรียนรู้จักแยกแยะระหว่างเรื่องแต่งกับตัวตนของผู้ประพันธ์ออกจากกัน ไม่ผสมปนเปหรือผนวกรวมเข้าด้วยกัน โดยเชื่อว่าสอดคล้องไหลลื่นเป็นส่วนหนึ่งกับตัวผู้แต่งหรือมีสัดส่วนของความจริงกลมกลืนอยู่ในนั้น

เมื่อผู้เขียนริอยากเป็นนักวิจารณ์ ไม่เกินเลยนักที่จะบอกว่าผู้เขียนเริ่มต้นอ่านอย่างใคร่รู้และเพลิดเพลินจนลืมเวลา สนุกกับการสังเกต คิด วิเคราะห์ตามตัวบท ตามประสบการณ์เก็บเล็กผสมน้อยไม่ต่างจากเด็กเริ่มหัดเดินเตาะแตะ กิจกรรมแรกของผู้เริ่มต้นทุกคนจึงน่าจะเรียกได้ว่าเริ่มจากการอ่านไม่ต่างกัน

ในหนังสือวรรณวินิจ ครูจึงชี้ทางศิษย์ ด้วยบทเปิด “การอ่านและการรับรู้กับการวิจารณ์” เป็นอันดับแรกสำหรับมือใหม่ เพื่อความเข้าใจตรงกัน ก่อนนำไปสู่เนื้อหาบทอื่นๆ ในลำดับถัดมาว่า

“…ก่อนที่จะเป็นผู้วิจารณ์เขาคือผู้อ่าน ไม่ว่าผู้อ่าน-วิจารณ์จะมีความรู้ว่าด้วยกลวิธีการแต่งนวนิยายดีเพียงใด จะมีประสบการณ์ในการเขียนบทวิจารณ์มามากเพียงใด แต่ถ้าเขาไม่ได้อ่านเรื่องที่กำลังจะวิจารณ์อย่างละเอียด เขาก็จะเป็นผู้วิจารณ์ที่ดีไม่ได้”

ผู้วิจารณ์ที่ดีไม่ได้ ในที่นี้หมายความว่า มีความรู้อย่างกะพร่องกะแพร่ง มิรู้กว้างขวางทั้งในประเด็นของความรู้ทางภาษา ความรู้ทั่วไป วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ และที่สำคัญอาจจะเป็นเพียง “นักอ่านเพื่อความบันเทิงเริงรมย์อย่างง่ายๆ เช่น สนุก หรือไม่สนุก”

อย่างที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี เขียนไว้ในบทความ “ศัตรูแท้จริงของนักเขียน” (จากหนังสือ “พลังการวิจารณ์ : วรรณศิลป์) งานชิ้นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานของอดีตบรรณาธิการเครางามสำนักช่อการะเกดเคยเขียนไว้และชวนคิดต่อว่า เราอยากจะเป็นเพียงนักวิจารณ์ที่เป็นมิตรกับนักเขียนประเภทแรก “มิตรภาพชั่วคราว” หรือประเภทหลัง “มิตรภาพถาวร” จากการเป็นนักอ่านที่เข้มข้น เอาจริงเอาจัง และมีอยู่จำนวนน้อย

“แต่นับวันก็จะเป็นจำนวนน้อยที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเขาไม่ได้อ่านหนังสือเพียงเพื่อเอาความสนุกอย่างเดียว หากแต่ยังหวังเอาความคิด ศิลปะการประพันธ์หรืออะไรสักอย่างติดกลับไปไว้ในความทรงจำด้วย”

สอดรับกับที่อาจารย์หยิบยกมุมมองของ “ฮันส์ โรเบิร์ต เย้าส์” นักวิชาการชาวเยอรมัน กล่าวถึงสุนทรียศาสตร์แห่งการรับรู้ ว่า ความหมายของงานวรรณกรรมอยู่ในความสัมพันธ์ “เชิงสนทนา” ระหว่างตัวงานกับมหาชนในแต่ละยุคสมัย ความสัมพันธ์เชิงสนทนานี้หมายความว่าตัวงานบอกอะไรกับผู้อ่านและผู้อ่านบอกอะไรกับตัวงาน (ตัวแทนของงานก็คือผู้แต่ง และตัวแทนของผู้อ่านก็คือผู้วิจารณ์) การรับรู้ของแต่ละยุคสมัยจะแตกต่างไปตามความคาดหวังของมหาชนในยุคนั้นๆ

เย้าส์เชื่อว่า นักวิจารณ์คือพยานที่ยืนยันความคาดหวังของมหาชนในแต่ละยุค

อย่างไรก็ตาม เย้าส์ตระหนักชัดเจนถึงข้อจำกัดของงานวิจารณ์ เพราะนักวิจารณ์ก็คือผู้อ่านซึ่งไม่สามารถแยกตัวเองจากความเป็นส่วนหนึ่งของ “ประวัติศาสตร์” ของยุคสมัยของเขาได้ และซึ่งไม่สามารถปฏิเสธจิตใต้สำนึกของเขาได้เช่นกัน

เย้าส์ยืนยันว่า ไม่มีความสำนึกที่บริสุทธิ์และอยู่ในภาวะวัตถุวิสัยต่อตัวบท การเชื่อว่ามีเป็นการสร้างภาพลวงตาหลอกตัวเอง การคิดไปว่ามีเป็นความไร้เดียงสาหรือการไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ทั้งนี้เพราะผู้วิจารณ์ย่อมมีความสนใจเฉพาะ ผลประโยชน์เฉพาะ ความปรารถนาและความจำเป็นเฉพาะ รวมทั้งมีประสบการณ์ซึ่งถูกกำหนดโดยสังคมและชนชั้นของเขา และโดยชีวิตส่วนตัวของเขา

ผู้วิจารณ์จึงควรตระหนักในข้อจำกัดนี้

นักวิจารณ์จึงเป็นเพียง “หน่วยหนึ่ง” ของนักอ่าน เหมือนอย่างที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวไว้

“การวิจารณ์เป็นเพียงกระจกส่งผลงานของนักเขียน ถึงกระจกจะขัดให้ขึ้นเงาแวววาวเพียงใด ถ้าหากเจ้าของเรือนร่างหน้าตาอัปลักษณ์ รูปร่างที่สะท้อนออกมาก็ย่อมอัปลักษณ์ ไม่มีวันหลอกลวงใครได้ ตรงกันข้าม แม้กระจกจะอัปลักษณ์ บิดเบี้ยว หากแต่เจ้าของเรือนร่างมีหน้าตางดงาม มีบุคลิกดี แม้ไปที่ไหน เวลาใด ก็จะงดงามไม่เปลี่ยนแปลง…กระจกที่ไหนก็ไม่อาจกล้ามาบิดเบือนได้

“นักวิจารณ์จึงไม่ใช่ศัตรูของนักเขียน นักวิจารณ์เป็นเพียงกระจกส่องระยะสั้นของนักเขียน แต่นักอ่านที่เอาจริงเอาจังต่างหากคือกระจกส่องระยะไกล นักอ่านที่เอาจริงเอาจังคือกระจกส่องสภาพสังคมทั้งมวล นักอ่านที่เอาจริงเอาจังคืออนาคตของประเทศ นักอ่านที่เอาจริงเอาจังคือ นามธรรมทางกาลเวลาที่เป็นศัตรูอันแท้จริงของนักเขียน แต่หาใช่นักวิจารณ์อย่างใดไม่”

ในฐานะนักวิจารณ์ฝึกหัด หนังสือ “วรรณวินิจ” ยังถือเป็น “ต้นแบบ” เป็นครูของผู้เขียนเสมอมา ผู้เขียนยังคงอ่านอย่างใคร่กระหายทุกคราวครั้งที่หยิบยกหนังสือสักเล่มมาเขียนวิจารณ์และอยากเป็น “มิตรภาพถาวร” กับนักเขียนมากกว่า “มิตรภาพชั่วคราว” ที่มีจำนวนมาก แต่อ่อนแอ และหลอกง่าย

แม้ถึงที่สุด “นักวิจารณ์” จะเป็นเพียง “หน่วยหนึ่ง” และเอาเข้าจริง อาจไม่สลักสำคัญใดเลย…

ข้อมูลประกอบการเขียน

บทความ “ศัตรูแท้จริงของนักเขียน” จากหนังสือ “พลังการวิจารณ์ : วรรณศิลป์”