สนทนา ผู้ว่าฯ ปัตตานี ส่อง “คณะพูดคุยสันติสุขฯ” ไปได้สวย ย้ำ “มาเลย์” เข้าใจชัดบทบาทคนกลาง

ไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ ผู้ว่าฯ ปัตตานี ส่อง “คณะพูดคุยสันติสุขฯ” ไปได้สวย ย้ำ “มาเลย์” เข้าใจชัดบทบาทคนกลาง

เพิ่งมารับตำแหน่งได้ไม่นานสำหรับนายไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนใหม่ ที่ย้ายมาจากรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วคนปัตตานีคุ้นเคยกับเขาดี เพราะเคยเป็นปลัดอําเภอช่วยราชการ ศอ.บต.ในปี 2549 ปีถัดมาเป็นนายอำเภอยะหริ่ง ปี 2554 เป็นนายอำเภอเมือง จ.ปัตตานี และในปีเดียวกันยังเป็นนายอำเภอสายบุรี

เรียกว่าคุ้นเคยกับเมืองนี้ค่อนข้างลึกซึ้ง

จึงค่อนข้างเข้าใจสภาพปัญหาและความต้องการของชาวปัตตานี

รวมถึงเป็นที่ยอมรับของผู้นำในขบวนการต่างๆ

ใครที่เคยสนทนาหรือทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ ไกรศร จะรับรู้ได้ว่าบุรุษวัย 56 ปีผู้นี้ เป็นคนใจเย็น เรียบง่าย และมีมนุษยสัมพันธ์ดี

ส่วนหนึ่งน่าจะมา บางช่วงในวัยหนุ่มมีโอกาสทำงานร่วมกับฝ่ายการเมือง ในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล

จึงซึมซับและเข้าใจวิถีทางการเมือง ผนวกเข้ากับบุคลิกที่เป็นคนประนีประนอม มีประสบการณ์ในการทำงานภาคประชาสังคม

ที่สำคัญเข้ากับทุกขั้วอำนาจได้ ขณะที่ผู้บังคับบัญชาก็ให้ความไว้วางใจ

นอกจากนั้น เขายังได้รับรางวัลจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักปกครอง อาทิ รางวัลรองชนะเลิศนายอำเภอที่มีผลงานดีเด่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้, รางวัล Best Practice การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของ ป.ป.ส.ภาค 9, รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ปี 2553 เป็นต้น

ด้วยปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงที่ว่า การนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ ปัตตานีครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย โดยเจ้าตัวประกาศสโลแกนในการทำงานไว้ 4 เรื่อง คือ การขจัดภัยยาเสพติด เร่งเศรษฐกิจให้ฟื้นฟู สร้างบ้านเมืองให้น่าอยู่ และเชิดชูคนดี

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม เขาถึงเน้นเรื่องยาเสพติดเป็นอันดับแรก

เจ้าตัวแจกแจงว่า “วันนี้ถ้าเดินไปที่พื้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกมุม ถามว่าปัญหาอะไรที่อยากให้รัฐบาลลงไปแก้เป็นอันดับ 1 คือเรื่องยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น หรือพี่น้องประชาชนทั่วไป เขาเรียกร้องให้ช่วยจัดการเรื่องปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นโอกาสดีที่แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่นี้ชูเรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องแรกในการสนองคืนความสุขให้กับพี่น้องประชาชน”

ที่ผ่านมา ผลจากการสำรวจมีผู้ติดยาประมาณ 7,000-8,000 คน ซึ่งเป็นยอดสะสมมาหลายปี ถือว่าเยอะ จากจำนวนประชากรของปัตตานี 7 แสนกว่าคน ดังนั้น จะต้องไปเริ่มต้นที่การคัดแยกคัดกรองก่อน แล้วนำคนเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนในการดูแลเรื่องยาเสพติดให้เป็นระบบมาตรฐาน

โดยใช้นโยบายผู้เสพผู้ติดคือผู้ป่วยที่ต้องดูแล

และต้องเริ่มจากกวาดบ้านตัวเองให้น่าอยู่

หมายถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องโปร่งใส และไม่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

สําหรับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีนั้น

นายไกรศรมองว่า วันนี้สถานการณ์ดีขึ้น และแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ให้เอาเรื่องของสถิติการเกิดเหตุการณ์หรือการเสียชีวิตของคนมาเป็นตัวเลขในการอ้างอิงก็ตาม

สิ่งที่ชัดว่าสถานการณ์ดีขึ้นคือ 1.เมื่อเกิดเหตุร้าย คดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง จะเห็นว่าคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดลดน้อยลงไป และผู้กระทำผิดจะถูกฟ้องร้องและนำขึ้นสู่ศาล เป็นระบบมากขึ้น 2.รัฐได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการให้ข่าวสาร มีความกล้าและเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ทำให้รู้ตัวผู้กระทำผิด

ประกอบกับการเดินหน้านโยบายเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่ง ช่วง 2-3 ปีนี้ค่อนข้างเป็นรูปธรรม มีความหวัง และทำให้ผู้ประกอบการสนใจที่จะมาเปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ และขยายการลงทุนมากขึ้น

ที่สำคัญ ฝ่ายความมั่นคงได้จัดระบบการทำงาน แทนที่จะดูแลทั่วไปนั้น

วันนี้มีการโฟกัสเรื่องของการควบคุมพื้นที่ปลอดภัย แต่ว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างความเข้าใจ เพื่อให้นักธุรกิจกล้าที่จะมาร่วมลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น

“เรื่องของคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ให้ความชัดเจนแล้วว่าเป็นเรื่องภายในประเทศไทย และอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ จะไม่ได้เดินไปสู่การแบ่งแยกดินแดน นอกจากนี้ ไทยเคารพมาเลเซีย และให้มาช่วยในฐานะผู้อำนวยความสะดวก อีกทั้งมีการเปลี่ยนแปลงตัวแทนในการพูดคุยของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นข้อดี คือ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลที่ทำเรื่องภาคประชาสังคม ผู้เป็นโซ่ข้อกลางที่เชื่อมต่อรัฐกับพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว ภาคประชาสังคมนักวิชาการจะได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยน และร่วมกันกับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปได้ด้วยดี”

ผู้ว่าฯ ปัตตานียังแจกแจงด้วยว่า ท่าทีของมาเลเซียมีความกระตือรือร้น และยึดในหลักการที่ว่าเป็นคนกลางที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ไม่ใช่คนกลางที่มีบทบาทเรื่องไกล่เกลี่ย

ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงความร่วมมือไทย-มาเลเซียให้เห็นว่า วันนี้การพูดคุยไม่ได้อยู่แบบโคมลอย แต่เป็นความร่วมมือของการป้องกันภัยคุกคามด้านการก่อการร้ายระหว่าง 2 ประเทศ

เพราะฉะนั้น มิติการทำงานจะกระชับ มีความสำคัญแนบแน่นผูกพันกันมากขึ้น เพราะมีเป้าหมายที่การป้องกันภัยคุกคามจากการก่อการร้ายด้วยกัน

“ผมคิดว่าเป็นทิศทางที่ดีแล้ว และเป็นความหวังของพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมด้วย วันนี้การพูดคุยเดินมาถึงจุดที่ว่า แกนนำที่เข้ามาร่วมเจรจานั้นมองสังคม มองภูมิภาค มองโลกในเชิงสันติภาพมากขึ้น ในเชิงบวกมากขึ้น พวกเขามีอายุในการทำงาน มีประสบการณ์ บวกกับความมีวุฒิภาวะที่ร่วมกัน ตรงนี้จะทำให้การคลี่คลายต่างๆ สามารถตกผลึกได้เร็วขึ้น สร้างความเข้าใจกันได้มากขึ้น”

“ที่ผ่านมานั้นหลายๆ คนอาจจะใหม่กับองค์กร แล้วถูกสภาพแวดล้อมจำกัดความเคลื่อนไหว แต่วันนี้ประสบการณ์ตลอดระยะเวลาของรัฐบาล 3-4 ปี ได้สร้างความมั่นใจและสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยค่อนข้างชัดเจนขึ้น และได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการยืนยันในหลักการว่านี่เป็นเรื่องของภายในประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องเดินตามกรอบรัฐธรรมนูญ”

หลังจากนี้คงต้องติดตามกันว่าปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ขับเคลื่อนโดยคณะพูดคุยสันติสุขฯ จะบรรลุผลตามที่ผู้ว่าฯ ปัตตานีคาดการณ์ไว้หรือไม่