ของจริงของปลอม มองกันยังไง ? ชวนเข้าใจในบทบาทของการเลียนแบบ

ของจริงของปลอม

ผู้เขียนเคยสะดุดกับประโยคหนึ่งในหนังสือชื่อ Second Foundation ของไอแซ็ก อาซิมอฟ ประโยคสนทนาสั้นๆ ระหว่างเรื่อง

“Nothing has to be true, but everything has to sound true”

“ไม่ใช่ทุกสิ่งจะเป็นจริง แต่ทุกอย่างต้องดูเสมือนจริง”

เมื่อมานั่งคิดดูแล้ว สิ่งที่เรียกว่าความจริง ของแท้ ทรู หรือแท้ทรู นั้น หลายครั้งขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้รับรู้

เช่นในตอนท้ายของหนังเรื่อง “Life of Pi” เมื่อพระเอกเล่าเรื่องการผจญภัยอันมหัศจรรย์บนผืนน้ำกับเสือเบงกอลชื่อริชาร์ด ให้เจ้าหน้าที่บริษัทเดินเรือญี่ปุ่นฟังเพื่อทำรายงานนั้น เรื่องราวล้วนอัศจรรย์เกินไป น่าค้นหามากเกินไป และเต็มไปด้วยเรื่องเหนือธรรมชาติ เจ้าหน้าที่เลยขอให้พระเอกเล่า (ซ้ำ) อีกเรื่องหนึ่งที่สมจริงมากกว่านี้ จริงจังมากกว่านี้ ให้เป็นเรื่องที่จะไม่ทำให้รายงานของพวกเขากลายเป็นเรื่องขบขัน เพ้อเจ้อ และไม่จริง

จะเห็นได้ว่าสารัตถะของความจริงนั้น ถูกแบ่งออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งคือตัวจริงแท้ของมันเองแม้จะไม่มีใครพบเห็น แต่ก็ดำรงอยู่จริง และอยู่เช่นนั้น ในขณะที่ยังมีอีกซีกหนึ่งเป็นการเลือกรับรู้ความจริงของคน

ในงานสถาปัตยกรรม ทุกวันนี้ตัวเลือกวัสดุในท้องตลาดนั้นมีมากมาย ทั้งของแท้และของเลียนแบบ ปัจจัยในการเลือกใช้ของจริงและของปลอมนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสภาพแวดล้อม เช่น กฎหมาย สภาพพื้นที่ สภาพอากาศ เป็นต้น และเงื่อนไขของบุคคล เช่น งบประมาณ เวลา ความสามารถในการดูแลรักษา เป็นต้น

อย่างเช่น แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์พิมพ์ลายไม้ ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้แผ่นซีเมนต์ผสมใยกระดาษสามารถเก็บลายละเอียดของผิวไม้ได้ครบถ้วน แม้กระทั่งสีของเนื้อไม้

เมื่อแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์มีราคาถูก ดูแลรักษาง่ายกว่าไม้จริง ปลวกไม่กิน จึงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย

เหมือนแผ่นอะครีลิกเรซิ่นที่สามารถปรุงแต่งให้กลายเป็นหินแกรนิตสดใสแวววาวได้ ทำให้การติดตั้งง่ายกว่าหินที่หนักเป็นกิโล การทำงานจึงสะดวกรวดเร็ว จึงเป็นที่พอใจของผู้คน

วัสดุที่ยกตัวอย่างมานั้น ผู้ผลิตทุ่มเทเวลาและความคิดในการทำให้ “ดูเป็นจริง” ถ้ามองแค่ผิวเผินหรือเดินผ่านไปมาก็ยากที่จะแยกแยะความแท้-ความเทียมได้

ส่งผลให้สถาปัตยกรรมในปัจจุบันเต็มไปด้วยของปลอม ของไม่จริง ด้วยสถาปนิกจำเป็นต้องตระหนักในบริบทของความจริง ในด้านความคุ้มค่า ในด้านงบประมาณ ในด้านความรวดเร็วในการก่อสร้าง นำส่ง ไปจนถึงการใช้สอยและการดูแลรักษา สิ่งที่ปรากฏ อาจเป็นแค่ของปลอมที่จริงมากพอ เรียลอีนัฟ ในสายตาของสถาปนิก เจ้าของ และแม่บ้าน

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว รองเท้าบาลองซิเอก้าปลอม อาจเป็นทางเลือกใหม่สำหรับวัสดุแต่งกาย ถูกกว่า กล้าเลอะได้มากกว่า มีหน้าตาสีสันดั่งต้นแบบ และหาซื้อได้ในบ้านเรา

แต่ก็อย่างที่กล่าวมา หลายครั้งคุณค่าของของจริง ของแท้ นั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้รับรู้ บางคนดูไม่ออก บางคนไม่สนใจ แต่ก็มีบางคนที่ทั้งดูออก และทั้งใส่ใจในดีเทลของความจริง

ทำให้ของปลอม ต่อให้ดูจริงมากแค่ไหน ก็ยังเป็นของปลอม ด้วยที่เนื้อแท้มันเป็นเช่นนั้น

ดังนั้น เราควรเข้าใจในบทบาทของของเลียนแบบ และเลือกใช้ในสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างแท้-ปลอม เพื่อที่ตัวดีไซน์นั้นจะยังสามารถก่อสร้าง ดูแลรักษาได้ง่ายโดยไม่ลดคุณค่าของมัน