ผ่า ป.ป.ช. ความเป็นองค์กรอิสระ ภายใต้รัฐธรรมนูญ และ การฉ้อราษฎร์บังหลวง

“คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีหน้าที่และอํานาจกําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”

ป.ป.ช. ออกประกาศลงวันที่ 21 กันยายน และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 กำหนดผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หลังจากประกาศ กรรมการบางคนในบางองค์กรก็เริ่มลาออก และมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีคนเกี่ยวข้องจำนวนมากอย่างรวดเร็ว

ตามประกาศฉบับนี้ ผู้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ประกอบด้วยคน 7 กลุ่มคือ (1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (3) ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (4) ข้าราชการตุลาการ (5) ข้าราชการศาลปกครอง (6) ข้าราชการอัยการ (7) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง

ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง สรุปจากประกาศได้ว่า ประกอบด้วย

(ก) หัวหน้าในสังกัดต่างๆ คือ ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ (เช่น กองทุนต่างๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก.ล.ต. ฯลฯ) นายกสภา กรรมการสภาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ องค์การมหาชน (รวม 55 รายการ เช่น คุรุสภา สปสช. เป็นต้น)

(ข) ตำแหน่งอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง (เช่น องค์การกระจายเสียงฯ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่า)

(ค) ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด (เช่น นายกสภา กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐ เป็นต้น)

นับว่าเป็นประกาศที่ถี่ถ้วนครอบคลุมทุกประเภทของหน่วยงาน และหน่วยงานที่ไม่จัดประเภท ป.ป.ช.ก็สามารถจัดหาและนำมารวมไว้ได้หมด ทำให้เห็นว่าองค์กรที่อยู่ในภาครัฐแผ่ขยายออกไปมากมายเพียงใด

ใครควรยื่น

สําหรับกลุ่มที่ผู้เขียนได้ข่าวเรื่องการยื่นใบลาออกคือ สปสช. (กลุ่มองค์การมหาชน) และกรรมการสภามหาวิทยาลัย (กลุ่มกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ กับกลุ่มผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด) ตำแหน่งเหล่านี้สมควรหรือไม่สมควรต้องยื่นบัญชี ก็แล้วแต่จะว่ากันไป

คนที่ออกมาให้ความเห็นบางคน ดูเหมือนจะกล่าวเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน

บางคนกล่าวจากประสบการณ์ที่ตนมี

บางคนเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นกรรมการ บางคนเป็นกรรมการ บางคนกล่าวในที่สาธารณะ บางคนกล่าวให้ฟังเป็นการส่วนบุคคล

ขอรวบรวมมาสรุปไว้ แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มองค์กรมหาชน เช่น สปสช. สสส. เป็นตัวอย่าง องค์กรเหล่านี้ได้เงินมาจากภาษีอากรทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือได้สิทธิพิเศษในการจัดเก็บเงินด้วยวิธีการอื่น แล้วนำไปจัดสรรให้กับองค์กรและบุคคลต่างๆ ต่อไป องค์กรเช่นนี้มีโอกาสจะจัดสรรไม่เป็นธรรมหรือไม่เหมาะสมได้มาก กองเชียร์ให้ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินมีมาก ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน

2. กลุ่มกรรมการสภามหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับและมหาวิทยาลัยของรัฐ เสียงแย้งว่ากรรมการมหาวิทยาลัยไม่ควรต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ยกเหตุผลว่าเพราะกรรมการไม่มีอำนาจมากมายอะไร ส่วนเสียงสนับสนุน ป.ป.ช. ที่ให้แจ้งบัญชีทรัพย์สินยืนยันว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจแน่นอน เช่น อำนาจแต่งตั้งอธิการบดี กับอำนาจอนุมัติงบประมาณของมหาวิทยาลัย ซึ่งสำคัญมากทั้งสองเรื่อง แล้วยังมีอำนาจดูแลเรื่องการหาประโยชน์จากทรัพย์สินที่ดินอาคารของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีมากมาย

(การไม่ดูแล ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอำนาจ แต่หมายความว่าไม่ทำหน้าที่ครบถ้วนหรือไม่)

บัญชีทรัพย์สิน vs การฉ้อราษฎร์บังหลวง

ทุจริตที่ทรัพย์สินจะเพิ่มพูนขึ้นคือทุจริตที่มีเงินเข้ากระเป๋ากรรมการ เมื่อเงินไม่ได้เข้ากระเป๋ากรรมการโดยตรง การยื่นบัญชีจะป้องกันการทุจริตแบบนั้นไม่ได้

ป.ป.ช. กับ สตง. จะต้องทำงานอย่างสอดประสานกันอย่างมาก และนอกจากการตรวจสอบแล้ว ต้องตรวจสอบคุณภาพการใช้เงินและผลงานด้วย

การใช้เงินเพื่อตนหรือตนได้ประโยชน์อันไม่ควรได้ แต่ได้มาก็เพราะอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ คำโบราณเรียกว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง

ตัวอย่างเช่น กองทุนที่มีหน้าที่จัดสรรเงิน (แทนสำนักงบประมาณ) อาจจะจัดสรรเอนเอียงเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกเพื่อนพ้องที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดได้เงินหรือจ่ายแจกงานให้คนรู้จักที่พิสูจน์ความสามารถให้โดดเด่นไม่ได้ หรือกรรมการเป็นตัวแทนต่อรองแทนองค์กรของตน แทนที่จะให้เพียงความเห็นและข้อแนะนำจากมุมของผู้ชำนาญการในด้านนั้นๆ ซึ่งเป็นการทำงานแบบมี conflict of role มิได้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์โดยรวมขององค์กรที่ตนกำลังนั่งประชุมในฐานะกรรมการ

ในมหาวิทยาลัย ผู้บริหารอาจเอื้ออำนวยอภิสิทธิ์ต่างๆ ให้กรรมการ โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้คิดอะไรมาก ถือว่าเป็นการตอบแทนน้ำใจ

ทุกหน่วยงาน ไปดูงาน ไปสัมมนา ไปทัศนศึกษา ไปประชุมต่างประเทศ ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่การได้รับและถ่ายทอดความรู้น้อยมาก หรือไม่มีเลย

คุณหญิงจำนงศรีชี้ตัวอย่างกรณีเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์เรื่องบุพเพสันนิวาส และเห็นได้อีกหลายกรณีจากเรื่องหยางหลาป่าง (เวอร์ชั่นหนังสือคือบุรุษบูรพา ทำเนียบหลางหยา เวอร์ชั่นหนังโทรทัศน์ไทยคือ มหาบุรุษผู้พลิกแผ่นดิน)

การตรวจสอบในยุค 4.0

พวกยุค 4.0 สงสัยว่า ป.ป.ช.อยากได้กระดาษรายงานไปทำไม ป.ป.ช.ต้องการรายงานหรือว่าต้องการตรวจสอบกันแน่

การให้รายงานเป็นการยกภาระการรายงานไปให้กับผู้ต้องรายงานทุกคน และเปลืองกระดาษมาก แต่ก็สะดวกกับ ป.ป.ช. ที่มีรายงานเบื้องต้น แต่ถ้าจะยืนยันก็ต้องสืบค้นเพิ่มเติม

แต่ถ้าต้องการตรวจสอบเมื่อมีเหตุ ก็มีทางเลือกอื่น เช่น ให้ผู้ต้องรายงานตามบัญชีรายชื่อทำหนังสือยินยอมให้นายทะเบียนต่างๆ เช่น สถาบันการเงิน เปิดเผยข้อมูลของตนต่อ ป.ป.ช. ได้ในกรณีตามที่กฎหมายระบุไว้ เป็นต้น

เรื่องนี้กระทรวงการคลังรู้ดีและดำเนินการก้าวหน้าไปมากแล้วในเรื่องการเก็บภาษี

ใครๆ ช่วยแก้ที่ระบบด้วย

เหตุผลของพวกที่เห็นด้วยกับการให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ที่ได้ยินมาเองมากที่สุดคือ หวังเห็นการ “เปลี่ยนน้ำใหม่” เมื่อกรรมการหน้าเดิมบางคนลาออกเพราะไม่อยากแจ้งบัญชีทรัพย์สิน แต่น้ำใหม่จะไม่กลายเป็นเหมือนน้ำเก่าก็ต่อเมื่อ “ระบบ” เปลี่ยนไปด้วย

ที่สำคัญคือ

(1) ระบบการคัดเลือกกรรมการ ควรดูผลงานที่ทำมาด้วย ไม่ใช่ดูแค่ว่าเคยอยู่ในตำแหน่งใด คนบางคนเก่งเรื่องสร้างโปรไฟล์ สร้างเครือข่าย มีตำแหน่งดีๆ ทว่า ผลงานต่อองค์กรและประเทศชาติไม่ปรากฏชัด

(2) ติดตามผลงานระหว่างทำหน้าที่กรรมการ ว่ามีคุณค่าเพิ่มให้กับองค์กรหรือไม่ เพื่อแยกคนที่พูดสวย กับคนที่มี “มูลค่าเพิ่ม” ผ่านการคิดและพูดสิ่งที่ทำได้จริงและเป็นประโยชน์ออกจากกัน อย่างน้อยที่สุดคือ กรรมการทุกคนต้องเปล่งเสียงลงมติในทุกวาระการประชุม (เป็น open vote system) และจดบันทึกไว้ แทนวิธีปฏิบัติปัจจุบันที่ใช้มติเอกฉันท์ คือเสียงเงียบ “ไม่ค้าน แปลว่าเห็นด้วย” ซึ่งทำให้ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบกับเรื่องใดอย่างเฉพาะเจาะจง การศึกษาด้านพฤติกรรมศาสตร์ในต่างประเทศกล่าวว่า การที่คนต้องออกเสียงดังลงมติ กระตุ้นให้คนนั้นใช้จิตสำนึกมากกว่าการลงมติโดยไม่ต้องส่งเสียง และมติที่ลงไว้ยังเป็นประวัติจุดยืนของกรรมการรายบุคคลอีกด้วย

ส่วนเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่อยู่บนเส้นสีเทาระหว่างความควรกับไม่ควร ความเหมาะกับไม่เหมาะ ต้องอยู่ที่จิตสำนึกส่วนบุคคลแล้ว

สำหรับผู้เขียน ไม่คิดว่าการยื่นบัญชีจะเป็นประโยชน์ในการปราบทุจริตในมหาวิทยาลัย และยื่นหนังสือลาออกแล้ว ไม่ว่า ป.ป.ช.จะเปลี่ยนมติหรือไม่ก็ไม่มีผลในการเปลี่ยนใจ แต่เห็นด้วยกับการให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบได้ เพราะผลข้างเคียงที่อาจจะมีประโยชน์คือ ปรามคนบางคนได้ หรือทำให้การทุจริตต้องคิดหลายชั้นให้แนบเนียนขึ้น

มหาวิทยาลัยอาจจะเสียกรรมการบางคนที่ตั้งใจทำงาน และมีข้อเสนอแนะและคุณูปการต่อมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งไป แต่ถ้าผู้บริหารมหาวิทยาลัยตั้งใจทำงาน และตั้งใจรับข้อคิดของผู้ทรงคุณวุฒิมาใช้จริงๆ ความเป็นหรือไม่เป็นกรรมการก็คงไม่สำคัญ คนที่ตั้งใจ “ให้” กับอุดมศึกษา “ให้” กับเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของชาติ ถือว่าเกียรติภูมิของตนอยู่ที่ผลของงานที่ทำ ถ้ามีโอกาสก็ทำ ไม่ติดกับตำแหน่งว่าเป็นกรรมการหรือไม่เป็นกรรมการ

ไม่ได้ติดกับว่าจะได้เงินหรือไม่ได้เงินจากตรงไหนอยู่แล้ว

ป.ป.ช. จะยกเลิกหรือจะยืนยัน

มีข่าวเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ว่า นายกรัฐมนตรีจะส่งตัวแทนรัฐบาลไปพูดคุยหารือกับ ป.ป.ช. ว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

ด้วยเนื้อความไม่กี่บรรทัด ป.ป.ช.นำตัวไปสู่จุดท้าทายความหมายของคำว่า “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” เป็นภาระหน้าที่ของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ในตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. ที่จะวางต้นแบบของความเป็นอิสระขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อิสระของ ป.ป.ช. จะหมายถึงการรับฟังและหาทางแก้ปัญหาให้กับประเทศตามวิถีของตน หรือว่าอิสระคือดึงดันทำตามที่คิดไว้แล้วโดยไม่ฟังเหตุผลผู้ใด จนในระยะยาวอาจจะกลายพันธุ์ไปเป็นองค์กรตรวจสอบที่ใช้อำนาจไม่เป็นธรรม

ในการตรวจสอบและถ่วงดุล ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ตาชั่งไม่ควรจะเอียงไปข้างหนึ่งข้างใดจนประเทศนี้เดินหน้าไม่ได้ เพราะท้ายที่สุดคือประเทศชาติที่ผูกพันทุกคนเอาไว้ด้วยกัน